บันทึกการเดินทางในลาว ครั้งยังเป็นภาคอีสาน : เอเจียน แอมอนิเย ตอนที่ 2

บันทึกการเดินทางในลาว ครั้งยังเป็นภาคอีสาน : เอเจียน แอมอนิเย ตอนที่ 2

จารึกในพระสุพรรณบัตร
จารึกในพระสุพรรณบัตร แต่งตั้งเจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช
แผนที่เมืองอุบล_เอเจียน_เอมอนิเย
แผนที่เมืองอุบล ตามการสำรวจของเอเจียน เอมอนิเย

บันทึกการเดินทางในลาว (ดินแดนภาคอีสาน) เอเจียน แอมอนิเย (ผู้บันทึกการสำรวจ) ปี พ.ศ.2438-2440 ตอนที่ 2 จากพิมูลไปอุบล
เรียบเรียงโดย : Kay Intarasopa
8 พ.ค. 2558

คณะสำรวจได้เดินทางออกจากเมืองพิมูลมังสาหาร ด้วยเรือลำเล็ก 4 ลำแล่นขึ้นแม่น้ำมูล เพื่อไปเมืองอุบล ผ่านหมู่บ้านหลายหมู่บ้าน ซึ่งแต่ละหมู่บ้านมีวัดทุกหมู่บ้าน มีการทำนาในฤดูแล้งโดยอาศัยน้ำจากแม่น้ำมูล พวกเขมรเรียกว่า “แซรปรัง (Sre Prang)” และพวกคนลาวเรียก “นาแซง”

กระทั่งเดินทางถึงเมืองอุบล ผู้บันทึกเล่าว่า “ประชาชนส่วนใหญ่เป็นพวกคนลาว แต่ก็มีคนเผ่าส่วยหรือสุ่ยอยู่มากมาย โดยเฉพาะทางทิศตะวันตกของอำเภอแจ้อัม และจะมีอีกทางทิศใต้ระหว่างอุบลและภูคำ จำนวนคนในทะเบียนที่ผมเก็บข้อมูลมาได้นั้น มีความแตกต่างกันมาก บางคนบอกว่ามีจำนวน 20,000 คน บางคนว่ามี 30,000 ถึง 40,000 คน ขึ้นบัญชีในทะเบียนภายใน และยังมีอีกกว่า 20,000 คนในทะเบียนภายนอก ทั้งหมดรวมเป็น 60,000 คน พวกที่มีชื่อในทะเบียนนั้นต้องจ่ายเงิน 2 บาท หรือ 2 บาทกับ 2 สลึง ต่อคน เป็นค่าภาษีอากรประจำปี ซึ่งต้องส่งไปบางกอก”

เมืองอุบลนี้มีเมืองเล็กเมืองน้อยจำนวน 12 เมืองที่ขึ้นกับเมืองอุบลคือ

1. เมืองพาง มีพวกคนลาวและพวกคนเผ่าส่วยหรือกวย
2. เมืองผาลาน
3. เมืองน้ำหนาว ก็มีพวกคนลาวและเผ่าส่วย
4. เมืองเสนางค์นิคม
5. เมืองแจ้อัม (น่าจะเป็นเมืองเจียมหรือโขงเจียม)
6. เมืองเกษมหรือเกษมสีมา สถาปนาขึ้นในปี 1882 โดยเจ้าเมืองอุบล อยู่ทางเหนือเมืองอุบล มีกระท่อมอยู่ประมาณ 100 หลัง
7. เมืองพนา เมืองนี้สถาปนาขึ้นในปี 1881 โดยเจ้าผู้ครองเมืองอุบล เมืองนี้แต่ก่อนเป็นหมู่บ้านผาลาว มีบ้านเรือน 200 หลัง
8. เมืองหนุมานมณฑล อยู่ห่างจากเมืองอุบล 5 วัน
9. เมืองตะกาน (ตระกาลพืชผล) อยู่แถบเซบ่อ ห่างออกไปประมาณ 1-2 วันจากเมืองอุบล
10. เมืองสองคอน
11. เมืองมหาชนะชัยหรือตานาไซ อยู่แถบตะวันตกแถบแม่น้ำชี มีพวกคนลาวอาศัยอยู่
12. เมืองพิมูล (พิมูลมังสาหาร)

ในจำนวนเมืองที่กล่าวมานี้ ไม่ได้กล่าวถึงเมืองอำนาจ (อำนาจเจริญในปัจจุบัน) ซึ่งขึ้นกับเมืองเขมราฐ

ตามคำบอกเล่าของคนในพื้นที่ บอกว่าเมืองอุบลนี้ได้สถาปนาขึ้นโดยพวกขุนนางที่อพยพมาจากทางทิศเหนือ จากหนองบัวลำภู ซึ่งเดิมมาจากแถบเมืองเวียงจันทน์ อดีตเมืองเอก เจ้าพระตามีลูกสาวคนหนึ่งซึ่งงดงามมากที่สุด ได้พาลูกสาวหนีจากการถูกบีบบังคับจากเจ้าอนุ เจ้าผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ (น่าจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนของชาวบ้าน ความจริงน่าจะเป็นพระเจ้าสิริบุญสาร) ซึ่งมีความประสงค์จะเอานางเข้าไปไว้ในวังนางสนม ทั้งสองพากันอพยพลงมาทางใต้พร้อมด้วยบุตรธิดาและลูกน้อง ลงมาขอความช่วยเหลือและความคุ้มครองจากเจ้าผู้ครองเมืองจำปาสัก พระโพธิเจ้า แล้วก็ได้มาสร้างบ้านเมืองอยู่ที่ริมแม่น้ำมูล ที่หมู่บ้านชาลาเม ซึ่งเป็นเมืองเอก เรียกว่าเมืองอุบลรัตนธานี ในสมัยเดียวกันนั้นตระกูลนี้ยังได้สร้างเมืองเขมราฐอยู่ทางทิศตะวันออกและเมืองยโสธร ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเหนือเมืองอุบล ต่อมาก็ได้เข้าร่วมกับพวกสยามช่วยกันจับเจ้าอนุ และทำลายล้างเมืองเวียงจันทน์

ภายหลังมาประมาณปี 1861 (พ.ศ.2404) พระยายมราช รัฐมนตรีสยามก็ได้สร้างเมืองขึ้นใหม่ ขึ้นกับเมืองอุบล มีเมืองพิมูล ตะกาน มหาชนะชัย แต่ละเมืองมีจำนวนพลเมือง 2,000 คน

ข้าพเจ้าขอขยายความต่อเกี่ยวกับการสร้างเมืองอุบลและเรื่องราวเกี่ยวกับพระวอพระตา ที่ยังเป็นที่สับสนกัน เนื่องจากความเข้าใจและการรับรู้ของแต่ละแห่งแตกต่างกัน

ขอเท้าความเรื่องราวทั้งหมดขึ้นไปในสมัยพระเจ้าสุริยะวงศาธรรมิกราช ซึ่งเป็นกษัตริย์ล้านช้างที่ครองราชย์ ยาวนานกว่า 57 ปี ภายหลังกษัตริย์องค์นี้สวรรคตลง อาณาจักรล้านช้างได้เกิดความแตกแยกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน อาณาจักรที่เคยยิ่งใหญ่ แตกย่อยเป็น 3 อาณาจักร (ดังจะได้กล่าวต่อไป)

ในราวปี พ.ศ.2201 พวกจีนฮ่อบุกโจมตีเมืองเชียงรุ่ง แห่งอาณาจักรไทลื้อสิบสองปันนา เจ้าอินทกุมาร ได้พาน้องสาวชื่อเจ้าจันทรกุมารี รวมทั้งเจ้าปางคำ (น้าเจ้าอินทกุมาร) อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระเจ้าสริยะวงศาธรรมิกราช ซึ่งเป็นพระญาติทางฝ่ายพระมารดา ภายหลังเจ้าจันทรกุมารีได้อภิเษกกับเจ้าราชบุตรของพระเจ้าสุริยะวงศาฯ ให้กำเนิดโอรสคือเจ้ากิ่งกิจและเจ้าอินทโสม (ภายหลังทั้งสององค์ได้ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครหลวงพระบาง)

ส่วนเจ้าราชบุตรซึ่งภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าอุปราช ได้ลอบเป็นชู้กับเมียของมหาดเล็ก จนพระเจ้าสุริยะวงศาลงโทษด้วยการประหารชีวิต ทำให้พระองค์ไม่มีรัชทายาทในการสืบราชสมบัติ จนเป็นปัญหาความแตกแยกในเวลาต่อมา

เจ้าอินทกุมารได้เสกสมรสกับธิดา (บางตำราว่าแต่งกับนางคำ)พระเจ้าสุริยะวงศาฯ ให้กำเนิดเจ้าองค์นกหรือองค์ดำ (ภายหลังได้เป็นเจ้านครเชียงใหม่)

ส่วนเจ้าปางคำ พระเจ้าสุริยะวงศาธรรมิกราชได้ให้สิทธิ์ในการปกครองเมืองหนองบัวลุ่มภูและเมืองใกล้เคียง ตามตำนานเมืองจำปาสักนั้นเล่าว่า เจ้าปางคำได้นางเภาธิดาเจ้าเมืองจำปาสักเป็นภรรยา (ภายหลังมีบุตรคือเจ้าพระตา)

เรื่องราวความวุ่นวายได้เกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าสริยะวงศาฯ สวรรคตลงในปี พ.ศ.2238 ไม่มีรัชทายาทที่จะครองราชย์ต่อ กลุ่มขุนนางต่างแย่งชิงอำนาจกันเป็นใหญ่ ก่อนหน้านี้เองพระเจ้าสุริยะวงศาฯ ก็ได้กำจัดพระญาติฝ่ายราชบิดาจนเกือบหมดสิ้น ด้วยความที่พระองค์ทรงระแวงว่าจะมีใครคิดแย่งชิงอำนาจ หนึ่งในนั้นคือเจ้าชมพู ลูกของพี่ชายเจ้าสุริยะวงศาฯ ที่ถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมืองเว้ เวียดนาม

โดยเจ้าชมพู มีแสนทิพย์นาบัวทหารคนสนิทที่คอยช่วยเหลือไปด้วย เจ้าชมพูมีโอรสชื่อพระไชยองค์เว้ ภายหลังเจ้าชมพูตาย แสนทิพย์นาบัวได้แม่พระไชยองค์เว้เป็นเมีย มีบุตรอีกสองคนคือ ท้าวนองและท้าวราชวงศา

พระไชยองค์เว้นี้เองได้รวบรวมไพร่พลและขอกำลังจากเวียดนามบุกยึดนครเวียงจันทน์ไว้ได้ ภายหลังได้ขึ้นครองราชย์พระนามว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 แต่ผู้คนก็นิยมเรียกว่า พระไชยองค์เว้ ส่วนท้าวนอง ตั้งให้เป็นเจ้าอุปราชนอง ขึ้นไปรักษาเมืองหลวงพระบาง

ในรัชกาลของพระไชยองค์เว้นี้ขุนนางและเชื้อพระองค์ไม่ให้การยอมรับ จึงมีศึกสงครามตลอดรัชกาล เช่นเจ้าเมืองละคร (นครพนม) เจ้าเมืองหนองบัวลุ่มภู (เชื้อสายเจ้าปางคำ) รวมทั้งเจ้ากิ่งกิจและเจ้าอินทโสมที่ภายหลังหนีออกจากเวียงจันทน์ แล้วไปขอกำลังจากเมืองเชียงรุ่ง ยกมาตีและยึดเมืองหลวงพระบางไว้ได้ เจ้าอุปราชนองต้องหนีลงมาเวียงจันทน์

พระไชยองค์เว้เห็นว่าจะต้านกำลังจากเจ้ากิ่งกิจจากหลวงพระบาง ตลอดจนเมืองอื่นๆรอบเวียงจันทน์ที่ไม่ให้การยอมรับได้ จึงส่งสารไปขอความช่วยเหลือจากพระเพทราชา แห่งอาณาจักรอยุธยา ภายหลังกองทัพอยุธยายกพลขึ้นมา ได้เจรจาขอให้ทั้งสองปรองดองกัน จนกระทั่งได้แบ่งปันดินแดนกันปกครอง อาณาจักรล้านช้างจึงแตกออกเป็น 2 อาณาจักรคือ ล้านช้างเวียงจันทน์และล้านช้างหลวงพระบาง ในปี พ.ศ.2250

เจ้ากิ่งกิจราชสถาปนาเป็นพระธรรมกิจล้านช้าง กษัตริย์พระองค์แรกของอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง สถาปนาเจ้าอินทโสมเป็นเจ้าอุปราช ต่อมากลุ่มของพระครูโพนสะเม็กได้แยกตัวออกมาสร้างอาณาจักรใหม่ ซึ่งแยกตัวออกจากเวียงจันทน์ ในนามอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก ในราวปี พ.ศ.2257 เป็นอันว่าอาณาจักรล้านช้างที่ยิ่งใหญ่แตกออกเป็น 3 อาณาจักร
หลังจากพระไชยองค์เว้สิ้นพระชนม์ ขุนนางได้เชิญเจ้าองค์ลอง โอรสพระไชยองค์เว้ขึ้นครองราชย์ สร้างความไม่พอใจให้เจ้าอุปราชนองเป็นอย่างมาก ภายหลังเจ้าอุปราชนอง(ท้าวนอง)จึงนำกำลังยึดอำนาจจากเจ้าองค์ลองได้สำเร็จ ขึ้นเป็นกษัตริย์มีนามตามใบจุ้มว่า พระโพสาทธรรมิกราช บางตำราบอกว่าท้าวนองกับเจ้าองค์ลองเป็นคนเดียวกัน แต่จากหลักฐานใบจุ้มซึ่งมีพระนามและตราประทับ (พระราชลัญจกร) ชี้ให้เห็นว่าเป็นคนละคนกัน

เจ้าองค์บุญและเจ้าดวงหน้า (น้องชาย) โอรสเจ้าองค์ลองหนีออกจากเวียงจันทน์ได้ ไปพักพิงอยู่ที่เมืองหนองบัวลุ่มภู ซึ่งขณะนั้นเจ้าพระวอหรือพระวอพระตา (บางแห่งว่า พระวรราชวงศา บางแห่งว่าพระวรปิตา) บางแห่งก็ว่าพระวอกับพระตาคือคนเดียวกัน บางแห่งบอกเป็นคนละคน

หลังจากนั้นประมาณ 10 ปี กำลังจากเมืองหนองบัวลุ่มภูของเจ้าองค์บุญและเจ้าพระวอ (น่าจะเป็นลูกพระตา) ได้ยกเข้ามายึดเมืองเวียงจันทน์จากท้าวนอง (พระโพสารทธรรมิกราช) ไว้ได้

เจ้าองค์บุญขึ้นครองนครเวียงจันทน์ พระนามว่า พระเจ้าสิริบุญสาร ในปี พ.ศ.2294 ตั้งเจ้าดวงหน้าน้องชาย เป็นเจ้าอุปราช

ในปีพ.ศ.2303 เกิดความขัดแย้งกันขึ้นระหว่างพระเจ้าสิริบุญสารกับเจ้าพระวอ ทำนองว่าเจ้าพระวอไม่พอใจในตำแหน่งที่ได้ ดังในพงศาดารเมืองเวียงจันทน์ ฉบับย่อบอกว่า “สักราชได้ ๑๒๒ (จ.ศ.๑๑๒๒ พ.ศ.๒๓๐๓) ปีกดสี เจ้าแผ่น(น่าจะเป็นเจ้าพระวอ)หนีจากเมือง”

เจ้าพระวอไม่พอใจจึงอพยพผู้คนจำนวนมากกลับไปยังเมืองหนองบัวลุ่มภู สร้างป้อมปราการขึ้นให้มั่นคง ขนานนามใหม่ว่า “นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน”

ส่วนในเรื่องที่เล่ากันว่าพระเจ้าสิริบุญสารอยากได้ลูกเจ้าพระวอเป็นเมีย แต่ไม่พระวอไม่ยอมนั้น คงมีความน่าเชื่อถือน้อย เพราะขณะนั้นพระเจ้าสิริบุญสาร อายุก็มากเกือบ 70 ปีแล้ว คงไม่คิดเรื่องพวกนี้

ความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าสิริบุญสารกับเจ้าพระวอ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ที่ตกลงกันไม่ลงตัว อีกส่วนหนึ่งคือความไม่วางใจพระวอ เพราะพระวอมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับเจ้านครหลวงพระบาง ซึ่งมีเชื้อสายเมืองเชียงรุ่งสิบสองปันนาเหมือนกันดังได้กล่าวมาแล้ว ล้านช้างเวียงจันทน์และล้านช้างหลวงพระบางนั้นก็เป็นอริต่อกัน

ส่งผลให้เวียงจันทน์ทำศึกกับเมืองหนองบัวลุ่มภูหลายปี กระทั่งเวียงจันทน์ตีเมืองหนองบัวแตก เจ้าพระวออพยพผู้คนไปพึ่งเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เจ้านครจำปาสักซึ่งมีความสนิทเป็นเครือญาติกันตั้งแต่สมัยเจ้าปางคำ ภายหลังมีปัญหากับเจ้าไชยกุมาร จึงอพยพผู้คนมาตั้งยัง “ดอนมดแดง” และมีหนังสือมายังเมืองนครราชสีมา ขอเป็นเมืองในข้าขอบขัณฑสีมากรุงธนบุรีของสยาม

ภายหลังพระเจ้าสิริบุญสารทราบเรื่องว่าเจ้าพระวอหนีมาอยู่ดอนมดแดงและขอเป็นเมืองขึ้นกับสยาม จึงส่งพระยาสุโพนำกำลังมาตี และจับตัวพระวอประหารชีวิต ท้าวก่ำ ท้าวคำผง ลูกของพระวอจึงมีหนังสือแจ้งไปยังกรุงธนบุรี จนเป็นเหตุให้สยามอ้างเหตุผลในการยกทัพมาตีอาณาจักรล้านช้าง

ซึ่งหากเป็นข้ออ้างที่ว่าสยามน่าจะยกทัพมาตีอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ แต่กลับยกทัพตีทั้งอาณาจักรล้านช้างจำปาสักและอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ โดยมีทัพจากอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางยกทัพมาช่วยสยามตีเวียงจันทน์ เพราะทั้งสองเป็นอริต่อกัน

ภายหลังสยามก็ยกทัพขึ้นไปตีล้านช้างหลวงพระบางด้วย กระทั่งอาณาจักรล้านช้างทั้งสามตกเป็นเมืองขึ้นของสยาม ในปี พ.ศ.2322 พลเมืองลาวจำนวนมากถูกกวาดต้อนมายังสยาม

ในการนี้ทัพเจ้าคำผงก็เป็นส่วนหนึ่งการช่วยสยามตีเวียงจันทน์ โดยที่เจ้าคำผงบุตรของเจ้าพระวอนี้ รู้จักที่ตั้งและชัยภูมิของเวียงจันทน์เป็นอย่างดี

พระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ให้พระยาราชสุภาวดี อัญเชิญท้องตราตั้งขึ้นมาตั้งเป็นเมืองอุบลราชธานี ให้เจ้าคำผงเป็นเจ้าเมือง นามว่า “พระปทุมราชวงศา” เจ้าทิตพรหมเป็นอุปฮาด เจ้าก่ำเป็นราชวงศ์ เจ้าสุดตาเป็นราชบุตร

ต่อมาในราวปี พ.ศ.2335 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเมืองอุบลขึ้นเป็นเมืองประเทศราช แต่งตั้งให้พระประทุมราชวงศาเป็น “พระประทุมวรราชสุริยวงศ์” (คำผง) เจ้าครองเมือง ”อุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช” เมื่อวันจันทร์ เดือน 8 แรม 13 ค่ำ จุลศักราช 1154 ปีชวด จัตวาศก ตรงกับวันที่ 16 กรกฎาคม 2335

ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Kay Intarasopa

อ่านในเว็บ e-shann.com
ตอนที่ 1 จากจำปาสักไปพิมูล
ตอนที่ 2 จากพิมูลไปอุบล
ตอนที่ 4 จากมุกดาหารไปสกลนคร หนองหาน
ตอนที่ 5 จากหนองหานไปหนองคาย เวียงจันทน์
ตอนที่ 6 จากอุบลไปยโสธร
ตอนที่ 7 ประวัติความเป็นมาเมืองยโสธร
ตอนที่ 8 จากยโสธรไปกุดสิน ธาตุพนม

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com