บุรีรัมย์

ข้อมูลประจําจังหวัด มีพื้นที่ทั้งหมด ๑๐,๓๙๓.๙๔๕ ตร.กม. ทิศเหนือติดต่อกับ จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม และ จ.สุรินทร์ ทิศใต้ติดกับ จ.สระแก้ว และราชอาณาจักรกัมพูชา ทิศตะวันออก ติดกับ จ.สุรินทร์ และทิศตะวันตก ติดกับ จ.นครราชสีมา 

ลักษณะพื้นที่ของบุรีรัมย์มีรูปลักษณ์คล้ายเต่าหันหัวไปทางทิศเหนือ เป็นเมืองชายแดน มีทิวเขาพนมดงเร็กกั้นเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชาประมาณ ๔๒ กม. มีด่านช่องเขาที่ประชาชนทั้งสองประเทศใช่เดินทางติดต่อค้าขายกันมาแต่โบราณ เช่น ช่องตะโก ช่องตากิ่ว ช่องโอบก ช่องบาระแนะ เป็นต้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า คนบุรีรัมย์กว่าร้อยละ ๖๐ พูดภาษาเขมร ส่วนใหญ่เป็นคนใน อ.กระสัง อ.ประโคนชัย และ อ.เมืองฯ อีกส่วนหนึ่งพูดภาษาไทยอีสาน คือ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใน อ.พุทไธสง อ.สตึก อ.ลําปลายมาศ และพูดไทยโคราชในแถบอําเภอที่อยู่ติดกับ จ.นครราชสีมา ได้แก่ อ.หนองกี่ อ.นางรอง และ อ.ปะคํา และด้วยเหตุที่บุรีรัมย์มีพื้นที่ติดต่อกับ จ.นครราชสีมา และ จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นเมืองแห่งปราสาทหินเช่นเดียวกัน นักท่องเที่ยวบางคนจึงถือโอกาสจัดโปรแกรมเที่ยวร่วมกับจังหวัดใกล้เคียงเป็นเส้นทางสายปราสาทหิน เริ่มตั้งแต่ปราสาทหินพิมาย ปราสาทเขาพนมรุ้ง ปราสาทเมืองตํ่า ปราสาทศีขรภูมิ กระทั่งเดินทางต่อไปถึงปราสาทเขาพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ เพื่อชมลวดลาย และความงามของศิลปะขอมอันเกิดจากการสรรค์สร้างราวนฤมิตของช่างโบราณ

บุรีรัมย์เป็นพื้นที่ราบสูงค่อนข้างมาก เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เกิดจากการเย็นตัวของลาวาและหินภูเขาไฟ เป็นจังหวัดที่สํารวจพบซากภูเขาไฟมากที่สุด ปล่องภูเขาไฟมีปราสาท หรือวัดโบราณตั้งอยู่ เช่น เขาพนมรุ้ง เขาพระอังคาร เขากระโดง เป็นต้น พื้นที่ลาดตํ่าจากทิศใต้สู่ทิศเหนือจนจดแม่นํ้ามูล มีลํานํ้าไหลผ่านหลายสาย แต่เมื่อถึงหน้าแล้ง ตามลําห้วยเล็ก ๆ จะแห้งขอด

คนบุรีรัมย์ส่วนใหญ่ทํางานภาคเกษตรกรรม ปลูกข้าวหอมมะลิและพืชไร่ต่าง ๆ เช่น มันสําปะหลัง อ้อย ยางพารา มะม่วงหิมพานต์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการทําประมงในบริเวณเขื่อนลํานางรอง เลี้ยงปลานํ้าจืดและกุ้งก้ามกราม ด้านอุตสาหกรรมโดยมากเป็นโรงงานขนาดเล็ก เช่น โรงสีข้าว โรงแปรรูปไม้ โรงโม่หิน โรงงานนํ้าตาลทรายขาว โรงงานมันอัดเส้น เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการทอผ้าฝ้ายและผ้าไหมในช่วงว่างเว้นจากการเก็บเกี่ยวข้าว เป็นอุตสาหกรรมในครอบครัวที่สร้างรายได้เข้าจังหวัดปีละไม่น้อย

บุรีรัมย์มีแม่นํ้ามูลและแม่นํ้าชีเป็นสายสําคัญของจังหวัด มี ๒๓ อําเภอ จํานวนประชากรรวม ๑,๕๕๓,๗๖๕ คน (ข้อมูลเดือนธันวาคม ๒๕๕๗ จากเว็บไซต์สํานักงานสถิติแห่งชาติ และอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม ๑ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน)

ต้นไม้ประจําจังหวัด: กาฬพฤกษษ์

ดอกไม้ประจําจังหวัด: ดอกฝ้ายคํา

คําขวัญประจําจังหวัด: เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม

ดวงตราประจําจังหวัด: รูปเทวดาร่ายรําอยู่หน้าปราสาทเขาพนมรุ้ง ภาพเทวดาร่ายรํา หมายถึงดินแดนแห่งเทพเจ้า ท่าร่ายรํา หมายถึง ความสําราญชื่นชมยินดี ซึ่งตรงกับพยางค์สุดท้ายของชื่อจังหวัด

ตราประจำจังหวัดบุรีรัมย์แผนที่จังหวัดบุรีรัมย์

บุรีรัมย์ตํานํ้ากิน

 “บุรีรัมย์ตํานํ้ากิน” เป็นคําพังเพยในอดีตที่แสดงถึงภาวการณ์ขาดแคลนนํ้าในบริเวณพื้นที่อันเป็นเขตการปกครองของจังหวัดบุรีรัมย์ในอดีต และแสดงถึงความเฉลียวฉลาดของชาวบุรีรัมย์สมัยก่อน ที่นําเอาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติมาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนนํ้า กรรมวิธีที่ได้ชื่อว่าเป็นการตํานํ้ากิน คือ การขุดหลุมดินขนาดย้อมขึ้นก่อน ตักเอาโคลนตมในบ่อสระหรือบึง มาใส่หลุมที่ขุดไว้ ยํ่าด้วยเท้าจนเป็นเลน หรือนํามาใส่ครุไม้ไผ่ยาชัน แล้วตําด้วยไม่ให้ โคลนเลนมีความหนาแน่นสูงขึ้น ปล่อยทิ้งไว้ให้ตกตะกอน นํ้าจากโคลนเลนจะปรากฏเป็นนํ้าใสอยู่ข้างบนตักไปใช้บริโภคได้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เรื่องการขาดแคลนนํ้าให้ลุล่วงไปได้

“บุรีรัมย์ตํานํ้ากิน” อยู่ในความทรงจําและความภาคภูมิใจในอดีตของชาวบุรีรัมย์ในฐานะที่เป็นคําพังเพยอันแสดงถึงความยากลําบากและทรหดอดทนของบรรพบุรุษผู้บุกเบิกแผ่นดินให้ประโยชน์ตกทอดแก่ลูกหลาน เหลน ในปัจจุบัน และในฐานะที่นําความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติมาใช้ประโยชน์แก้ปัญหาการขาดแคลนนํ้าได้อย่างเฉลียวฉลาด ปัจจุบันภาวะเรื่องนํ้าของจังหวัดบุรีรัมย์เปลี่ยนแปลงไปมาก กรมชลประทานสร้างอ่างเก็บนํ้าขนาดต่าง ๆ เพิ่มขึ้น และสํานักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทก็ได้ปิดกั้นทํานบเหมืองฝาย และขุดลอกห่วย หนอง คลอง บึง สร้างอ่างเก็บนํ้าขนาดเล็ก สร้างสระนํ้ามาตรฐานขึ้นเป็นจํานวนมาก นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นสร้างถังเก็บนํ้าฝน สระนํ้า บ่อนํ้าตื้นบ่อบาดาล หอถังจ่ายนํ้า โดยสร้างเพิ่มขึ้นทุกปี ทําให้ความหมายและภาพพจน์ของคําพังเพยดังกล่าวหมดไปแล้วในปัจจุบัน

ประวัติความเป็นมา

บุรีรัมย์ไม่ได้มีฐานะเป็นเมืองใหญ่หรือเป็นศูนย์กลางของเมืองต่าง ๆ เหมือนเมืองอุบลฯ และ นครราชสีมา หากแต่เติบโตจากการรวมชุมชนและหมู่บ้านเล็ก ๆ ขึ้นเป็นหัวเมือง มีหลักฐานว่าเคยมีกลุ่มคนเข้ามาอาศัยอยู่ในบุรีรัมย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยค้นพบเครื่องมือเครื่องใช้ยุคหิน และยุคโลหะ เครื่องปั้นดินเผา และโครงกระดูกมนุษย์ที่ ต.บึงเจริญ อ.บ้านกรวด ส่วนการตั้งชุมชนคงตั้งขึ้นในสมัยทวารวดี เพราะมีร่องรอยการขุดคูเมืองและคันดินจนเป็นปราการล้อมรอบ และพบโบราณวัตถุอื่น ๆ อีกจํานวนมาก เช่น ใบเสมา พระพุทธรูปแกะสลักที่สําคัญคือพระพุทธรูปนาคปรก ซึ่งพบที่บ้านฝ้าย ต.เมืองฝ้าย อ.หนองหงส์ เป็นพระพุทธรูปทวารวดีที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศ

จากจารึกในถํ้าเปิดทอง อ.นางรอง ที่กล่าวว่าเจ้าชายจิตรเสนแห่งอาณาจักรเจนละ ทรงสร้างศิวลึงค์ขึ้นเพื่อประกาศชัยชนะตามคําบัญชาของพระชนกชนนี แสดงถึงอิทธิพลของขอมโบราณที่แผ่ขยายมาถึงบริเวณนี้ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ มีปราสาทหินและอิฐศิลปะขอมโบราณกระจายกันอยู่ใน จ.บุรีรัมย์กว่า ๖๐ แห่ง โดยเฉพาะปราสาทเขาพนมรุ้งที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๘

ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เมื่อขอมเริ่มเสื่อมอํานาจลง บุรีรัมย์ก็ถูกทิ้งเป็นเมืองร้าง จนกระทั่งใน สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายจึงเริ่มปรากฏชื่อ “เมืองบุรีรัมย์” เป็นหัวเมืองอยู่ใต้การปกครองของเมืองนครราชสีมาร่วมกับเมืองอื่น ๆ ได้แก่ นครจันทึก ชัยภูมิ พิมาย และนางรอง ต่อมาใน พ.ศ.๒๓๒๑ ตรงกับสมัยธนบุรี พระยานางรองคบคิดกับเจ้าโอ เจ้าอิน และอุปฮาดเมืองจําปาสักแห่งเมืองลาวตั้งตัวเป็นกบฏ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ ๑) ยกทัพไปปราบระหว่างเดินทัพผ่านดินแดนแถบนี้ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้พบเมืองร้างตั้งอยู่ที่ลุ่มแม่นํ้าห้วยจระเข้มาก เห็นว่ามีชัยภูมิดี จึงสั่งให้บูรณะเมืองขึ้นใหม่ โดยตั้งศาลหลักเมืองที่ข้างต้นแปะใหญ่ (บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองบุรีรัมย์ในปัจจุบัน) ให้ชื่อว่า “เมืองแปะ” แล้วชักชวนชาวเขมรป่าดงที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณใกล้เคียงให้เข้ามาตั้ง หลักแหล่งทํามาหากินในบริเวณนี้

ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองแปะเป็นเมืองบุรีรัมย์ หมายถึงเมืองแห่งความรื่นรมย์ยินดี มีพระนครภักดีศรีนราเป็นเจ้าเมืองขึ้นต่อเมืองนครราชสีมา จากนั้นก็เปลี่ยนไปขึ้นกับเมืองลาวฝ่ายเหนือ โดยมีหนองคายเป็นศูนย์กลางการปกครอง แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายกลับมาขึ้นกับมณฑลนครราชสีมาอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า “บริเวณ นางรอง” ประกอบด้วย เมืองบุรีรัมย์ นางรอง รัตนบุรี ประโคนชัย และพุทไธสง จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ จึงยกฐานะเมืองบุรีรัมย์เป็น จ.บุรีรัมย์ แล้วลดฐานะเมืองอื่น ๆ เป็นอําเภอ


ปราสาทหินพนมรุ้ง อําเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์

การเดินทาง

หากสะดวกเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวจากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข ๑ (พหลโยธิน) ถึงสระบุรี เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒ (มิตรภาพ) จากนั้นแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๔ (สีคิ้ว – เดชอุดม) ผ่าน อ.หนองกี่ อ.นางรอง แล้วเลี้ยวซ้ายสู่ตัวจังหวัดบุรีรัมย์

รถโดยสารประจําทางก็มีให้บริการทุกวันจากกรุงเทพฯไปบุรีรัมย์ รถไฟมีทั้งสายกรุงเทพฯ – อุบลราชธานี กรุงเทพฯ – สุรินทร์ และนครราชสีมา – อุบลราชธานี ทั้งที่เป็นขบวนรถด่วน รถเร็ว รถธรรมดา และรถดีเซลราง

สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตั้งอยู่ในตัวเมือง ทางไป อ.ประโคนชัย

          วนอุทยานเขากระโดง เป็นที่ตั้งของภูเขาไฟโบราณซึ่งยังคงปรากฏร่องรอยปากปล่องให้เห็นชัดเจน สูง ๒๖๕ เมตร อยู่ห่างจากตัวเมือง ๖ กิโลเมตร มีพันธุ์ไม้พื้นเมืองบนยอดเขา มีสระนํ้าซึ่งเชื่อกันว่าเป็นปากปล่องภูเขาไฟ บนยอดเขามีลานกว้าง ประดิษฐานพระสุภัทรบพิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่คู่เมืองบุรีรัมย์ ใกล้เคียงกันมีซากโบราณ สถานก่อด้วยศิลาแลง ปัจจุบันสร้างมณฑปครอบ และประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจําลอง

            นอกจากนั้นแล้ว ยังมีต้นไม้ที่มีลักษณะแปลก และยากจะอธิบายมีป้ายเขียนชื่อบอกไว้เป็นภาษาเขมรว่า “ขะนุยขะมอยจ์” แปลว่า ต้นโยนีนางผีสาวว่ากันว่าผลของมันเหมือนมาก

          ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ อยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เป็นแหล่งเก็บรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์

          ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกัน มาหลายสมัย ปราสาทพนมรุ้งอาจเป็นปราสาทขอมโบราณแห่งเดียวที่สร้างอยู่บนภูเขาสูงคล้ายปราสาท ในยุโรป เป็นเทวาลัยที่ประทับของพระศิวะ ส่วนปราสาทเมืองตํ่าที่สร้างบนพื้นราบ ห่างกัน ๘ กิโลเมตร ศาสนสถานของฮินดู มีอายุกว่า ๑,๐๐๐ ปี เดิมเป็นที่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ราว ๒,๐๐๐ ปี มาแล้ว

            แหล่งเตาเผาโบราณ นักโบราณคดีได้สํารวจพบเตาเผาและเครื่องปั้นดินเผาโบราณจํานวนมาก ที่อําเภอบ้านกรวด พบว่ามีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๙ เตาเผาสมัยขอมเหล่านี้ได้ใช้ในการผลิตเครื่องถ้วยเขมร เพื่อเป็นสินค้าป้อนให้กับเมืองต่าง ๆ ในกัมพูชา กรมศิลปากรได้ขุดแต่งเตา โบราณ ๒ แห่ง คือ เตาสวาย และเตานายเจียน ซึ่งอยู่ห่างจากอําเภอบ้านกรวด ๕ และ ๑๐ กิโลเมตร ส่วนเครื่องปั้นดินเผาบางส่วนเก็บไว้ที่หอศิลปกรรม บ้านกรวดในบริเวณที่ว่าการอําเภอฯ

            วัดโพธิ์ย้อย ตั้งอยู่ที่ตําบลปะคํา วัดนี้เป็นที่เก็บ รักษาโบราณสถาน – วัตถุที่พบในบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ ทับหลัง ใบเสมา ชิ้นส่วนเสากรอบประตูและฐานศิวลึงค์ ทับหลังซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าพระประธาน สลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ บริเวณที่ตั้งวัดโพธิ์ย่อยสันนิษฐานว่า ในอดีตเคยเป็นสถานที่ตั้งอโรคยาศาล เนื่องจากอุโบสถซึ่งสร้างขึ้นใหม่ตั้งอยู่บนฐานโบราณสถานเก่าแก่ก่อด้วยศิลาแลง ทางด้านหลังอุโบสถมีร่องรอยของสระนํ้าโบราณรูปสี่เหลี่ยม และจารึกที่เรียกว่าจารึกด้านปะคํา

            ปราสาทหนองหงส์ ตั้งอยู่ที่ อ.โนนดินแดง ตัวปราสาทเป็นปรางค์ ๓ องค์ ก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่บนฐาน ศิลาแลงฐานเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปรางค์ทั้ง ๓ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง องค์กลางขนาดใหญ่กว่าสององค์ที่ขนาบข้าง แต่เดิมเคยมีทับหลังประดับจําหลักลาย ในบริเวณนี้มีวิหาร หรือบรรณาลัยอีก ๑ หลัง อาคารทั้งหมดล้อมรอบด้วยกําแพงศิลาแลง มีซุ้มประตูด้านหน้าและด้านหลัง มีคูนํ้าล้อมรอบอีกทีหนึ่ง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖

            สวรรค์ของนกที่ห้วยตลาด อําเภอเมืองฯ แหล่งกักเก็บนํ้าขนาดใหญ่ของกรมชลประทาน เป็น สวรรค์ของนักดูนกหลายเผ่าพันธุ์อย่างแท้จริง เพราะพื้นที่เป็นเกาะแก่งเล็กแก่งน้อยกลางนํ้ามีหญ้า ขึ้นเต็ม มีนกเป็นแสนตัวมาอาศัยอยู่ ทั้งเป็นที่อยู่ของนกหนีหนาวมาจากจีนอีกหลายพันถึงหมื่นตัว

อนุสรณ์สถานวีรชนประชาชน – อีสานใต้

อนุสรณ์สถานวีรชนประชาชน – อีสานใต้

สร้างเป็นสถูปรูปร่างคล้ายลูกกระสุนปืน ตั้งอยู่ริมทางหลวงสาย ๒๒๔ บ้านโคกเขา อ.ปะคํา จ.บุรีรัมย์ สถานที่แห่งนี้เป็นจุดแรกในเขตงานอีสานใต้ ที่เสียงปีนแห่งการต่อสู้แตกขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ (เขตงานอีสานใต้นี้ครอบคลุมตั้งแต่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ไปจนถึงฉะเชิงเทรา นครนายก และจันทบุรี) นับเป็นเขตงานใหญ่เขตหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในยุคนั้น เมื่อสิ้นสุดการต่อสู้ อดีตสหายได้รวบรวมขุดค้นศพของสหายที่เสียสละชีวิตไปในระหว่างการต่อสู้ที่แยกย้ายกันฝังไว้ตามป่าเขาเอามาฌาปนกิจและบําเพ็ญกุศลทางศาสนา แล้วเก็บอัฐิใส่โกศมารวมกันไว้ที่อนุสรณ์สถานฯ แห่งนี้ และทุกวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมในทุกปี มิตรสหายจะจัดงานบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่สหายผู้จากไป

รอยพระพุทธบาทคู่ และพระพุทธรูปปางปรินิพพาน

ประดิษฐานอยู่บนเพิงหินใกล้หลักเขต ชายแดนไทย – กัมพูชา หลักที่ ๒๗ ทางด้านทิศใต้ ของบ้านราษฎร์รักแดน หรือบ้านบาระแนะ

รอยพระพุทธบาทคู่พระพุทธรูปปางปรินิพพาน
แหล่งหินตั้ง แหล่งท่องเที่ยวใหม่กลางป่าตาพระยาผาหินตัด ชายแดนไทย – กัมพูชาผาหินตัด ชายแดนไทย – กัมพูชา

แหล่งหินตั้ง แหล่งท่องเที่ยวใหม่กลางป่า ตาพระยาใกล้จุดชมวิวผาหินตัด ชายแดนไทย – กัมพูชา

เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ซึ่งถูกค้นพบใน เขตป่าอุทยานแห่งชาติตาพระยา ถนนสายเส้นทาง หลักเขตแดนที่ ๒๘ บ้านราษฎร์รักแดน ห่างจากหมู่บ้านราษฎร์รักแดน หมู่ ๙ ต.หนองแวง ประมาณ ๔ กิโลเมตร โดยจุดที่พบหินตั้งดังกล่าวจะต้องเดินเท้าเข้าไปในป่าประมาณ ๔๐๐ เมตร ลักษณะของหินตั้งที่ค้นพบจะเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ ตั้งทับซ้อนกัน ๒ ชั้น นํ้าหนักก้อนละไม่ตํ่ากว่า ๓,๐๐๐ ตัน ก้อนล่างวัดเส้นรอบวงได้ ๑๒ คนโอบหรือประมาณ ๒๔ เมตร ความสูงของหินตั้งจากพื้นดินประมาณ ๒๐ เมตร ที่เกิดจากธรรมชาติสร้างขึ้น ซึ่งบริเวณหินก้อนล่างยังปรากฏภาพวาดของพระพุทธเจ้านั่งสมาธิอยู่ด้านหน้า ๑ รูป ด้านข้าง ๒ ข้าง รวม ๓ รูป ส่วนก้อนบนมีลักษณะคล้ายใบหน้าคน มีดวงตา ๒ ข้าง จมูก และปาก ทั้งยังพบร่องรอยการจุดธูปเทียน กราบไหว้รอบหินตั้ง พร้อมทั้งมีการนํากิ่งไม้มาวาง คํ้ายันรอบหินด้วยซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงที่มีความเชื่อว่าหินดังกล่าวเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จึงได้มากราบไหว้บูชา

ห่างออกไปประมาณ ๗ กิโลเมตรทางทิศใต้ยังมีจุดชมวิว “ผาหินตัด” ซึ่งเป็นหน้าผาสูงอยู่ติดแนว ชายแดนไทย – กัมพูชา ใกล้กับหลักเขตแดนที่ ๒๘ เป็นเขตรอยต่อระหว่างบ้านทับทิมสยาม ๐๓ ต.ทัพไทย อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว กับบ้านราษฎร์รักแดน หมู่ ๙ ต.หนองแวง อ.ละหานทราย ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่สวยงามท่ามกลางบรรยากาศเย็นสบาย เนื่องจากมีต้นไม้ขนาดใหญ่และผืนป่าที่สมบูรณ์ล้อมรอบ พื้นที่ปัจจุบันยังมีสัตว์ป่าหลากหลายชนิดอาศัยอยู่ชุกชุม เมื่อมองลงไปด้านล่างจะเห็นหมู่บ้านของประชาชนฝั่งประเทศกัมพูชาที่อาศัยอยู่ติดแนวชายแดน

นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าชื่นชม เช่นกู้สวนแตง แหล่งทอผ้าไหมบ้านนาโพธิ์ แหล่งหินตัด บ้านห้วยจระเข้มาก ซึ่งเป็นร่องรอยภูเขาหินทรายที่ขอมโบราณเกณฑ์คนมาตัดทอนเป็นแท่ง ๆ เอาไปสร้างปราสาทพนมรุ้งและอีกหลายปราสาทในอีสานใต้ สภาพจริงปัจจุบันจากซากตัดหินทําให้กลายเป็นสวนหย่อมหินเต็มพื้นที่หลายตารางกิโลเมตร มีความสวยงาม ร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้ป่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ควรเป็นสวนสาธารณะอย่างยิ่ง ฯลฯ

จารึกพระบรมราชโองการ รัชกาลที่ ๕

ความจริงที่เพิ่งค้นพบที่ช่องตะโกบุรีรัมย์

ช่วงปลายของการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์ฯ ตามแนวชายแดนไทย – เขมร ที่บุรีรัมย์ ตํารวจตระเวนชายแดน (ตชด.) พบว่าบนเทือกเขาพนมดงเร็กต่อกับพนมมาลัยของเขมร ในเส้นทางหลวง ๓๔๘ บุรีรัมย์ – ตาพระยา ที่ช่องตะโก มีรอยพระหัตถ์พระปรมาภิไธย รัชกาลที่ ๕ อยู่ที่ก้อนหินใหญ่ ทําให้รู้ว่า รัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จฯ ไป ชายแดนอีสานใต้มาแล้ว คาดกันว่าพระองค์อาจเสด็จฯ ตรวจแนวป้องกันชายแดนมิให้ฝรั่งเศสที่ครองอินโดจีนอยู่ช่วงนั้นรุกเข้ามายึดแผ่นดินไทย

ไหว้พระขอพร

วัดเขาอังคาร วัดโคกงิ้ว วัดหงษ์ (วัดศีรษะแรด)

เทศกาลงานประเพณี

งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง จัดเป็นประจําทุกปีในวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๕

งานดอกฝ้ายคําบาน ดอกฝ้ายคําเป็นดอกไม้ที่มีถิ่นกําเนิดจากทวีปอเมริกา ในจังหวัดบุรีรัมย์พบที่ บริเวณเขาพนมรุ้งเพียงแห่งเดียว จัดงานในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. ของทุกปี บริเวณปราสาทเขาพนมรุ้ง

ประเพณีแข่งเรือยาวจังหวัดบุรีรัมย์ กําหนดจัดในวันเสาร์ – อาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายน ของทุกปีที่ลํานํ้ามูลทางเหนือของที่ว่าการอําเภอสตึก ซึ่งเดิมชาวสตึกจะแข่งขันพายเรือกันในหมู่ญาติมิตร ถือเป็นการสักการะเจ้าพ่อวังกรุดที่สถิตอยู่ในวังนํ้าวนชื่อ วังกรุด ชาวบ้านเชื่อว่าเจ้าพ่อวังกรุดเป็นผู้ปกปักรักษาแม่นํ้ามูล ซึ่งเป็นแม่นํ้าสําคัญของภาคอีสาน

งานมหกรรมว่าวอีสานบุรีรัมย์ จัดขึ้นที่สนามกีฬาอําเภอห้วยราช วันเสาร์ – อาทิตย์แรกในเดือน ธันวาคมของทุกปี

งานนมัสการพระเจ้าใหญ่วัดหงษ์ จัดขึ้นในวัน ขึ้น ๑๔ คํ่า ถึงวันแรม ๑ คํ่า เดือน ๓ ของทุกปี

งานนมัสการรอยพระพุทธบาทจําลอง ในวันมาฆบูชาของทุกปี ชาวบ้านใน อ.เมืองฯ และอําเภอ ใกล้เคียง จะไปทําบุญกันพร้อมหน้าที่วัด พระพุทธบาทเขากระโดง แล้วเดินขึ้นเขากระโดง เพื่อนมัสการรอยพระพุทธบาทและพระสุภัทรบพิตร

สินค้าและของฝากขึ้นชื่อ

ผ้าไหมบ้านนาโพธิ์ ผ้าฝ้ายพุทไธสง กุ้งจ่อมหรือปลาจ่อม กระยาสารทประโคนชัย ขาหมู มะพร้าวเผานางรอง กล้วยฉาบพนมรุ้ง หัวผักกาดหวานอบนํ้าผึ้ง (หัวไช้โป๊) นํ้าผึ้งหวาน กุนเชียง ไก่ย่างที่ลําปลายมาศ ขาหมูตุ๋นยาจีนสูตรต้นตํารับ เสื้อสูทไหมฝ้าย แขนสั้น แขนยาว ไข่เค็มพอกดิน มู่ลี่ไหล กุ้งอร่อยที่สตึก

 

๑๐ ร้านอาหารแนะนําเมื่อไปเยือนเมืองบุรีรัมย์

          รุ่งเรืองภัตตาคาร, ไมตรีจิต, สวนอาหารบ้านเสาะ, ลักขณาขาหมู, บ้านกับต้นไม้, พบสุข, ลาบ เป็ดตี๋น้อย, ครัวกังหันซึ่งมีสํารับกับข้าวสําคัญ เช่น แกงสะเงิม คือแกงกะทิหอยขมใส่ใบตําลึง นํ้าแกงมีรสเข้มข้นถึงเครื่อง เพราะใช่พริกแกงตําเอง และขนมจีนนํ้ายาปลาโดก ซึ่งนํ้ายาจะใช่ปลาดุกแทนปลาช้อน ใส่นํ้าปลาร้าลงไปผสมกับปลาดุกที่โขลกแล้ว ไม่ต้องใส่กะทิ กินกับขนมจีนและผักแกล้ม

อ้างอิง/ภาพประกอบ

กระทรวงมหาดไทย. (๒๕๒๖). ประวัติมหาดไทยส่วน ภูมิภาคจังหวัดบุรีรัมย์. บุรีรัมย์: สํานักงานจังหวัดบุรีรัมย์; และ สํานักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงฯ.

กรมศิลปากร. (๒๕๑๖). เมืองในภาคอีสาน.พระนคร: พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยา อุดรธานี (จิตร จิตตะยโศธร) ณ ฌาปนสถาน วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี วันที่ ๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖.

กองบรรณาธิการ. (๒๕๕๓). นายรอบรู้ : บุรีรัมย์. กรุงเทพฯ: สารคดี.

เกียรติประวัติ ธนรัฐลือสกล. (๒๕๕๕). ประวัติศาสตร์ ไทย ๗๗ จังหวัด. กรุงเทพฯ: ไทยควอลิตี้บุ๊คส์.

ชนิดา ศักดิ์ศิริสัมพันธ์, บรรณาธิการ. (๒๕๕๐). ท่องเที่ยวไทย. กรุงเทพฯ: หน้าต่างสู่โลกกว้าง.

ดวงธิดา ราเมศวร์. (๒๕๓๗). ประเทศไทย ๗๖ จังหวัด. กรุงเทพฯ: มายิก.

ถวิล มนัสน้อม. (๒๕๔๔). ไทยรัฐนําเที่ยวทั่วไทย. กรุงเทพฯ: สุวีริยาสาส์น.

ธวัช ปุณโณทก. (๒๕๔๗, ตุลาคม – ธันวาคม). นาม เมืองในภาคอีสาน. วารสารอีสานศึกษา

สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัย มหาสารคาม.๒(๕): ๕๓ – ๖๔.

ธวัชชัย ปทุมล่องทอง. (๒๕๔๖). เกร็ดน่ารู้ประเทศไทย ๗๖ จังหวัด. กรุงเทพฯ: นํ้าฝน.

บัญชา นวนสาย. (๒๕๕๖). ประวัติศาสตร์การขยายตัว ของชุมชนในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๖๘ – ๒๕๕๐. วิทยานิพนธ์ ศศ.ม.(ประวัติศาสตร์). มหาสารคาม: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

ราชบัณฑิตยสถาน.(๒๕๔๕). อักขรานุกรมภูมิศาสต์ ไทย เล่ม ๑ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ ๔ (แก้ไข เพิ่มเติม). กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน.

เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ ข่าว กทม. – ภูมิภาค เว็บไซต์สํานักงานจังหวัดบุรีรัมย์ เข้าถึงได้จาก www. buriram.go.th

เว็บไซต์สํานักงานสถิติแห่งชาติ เข้าถึงได้จาก www. nso.go.th

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (๒๕๕๓). บุรีรัมย์ มาจากไหน?. กรุงเทพฯ: แม่คําผาง.

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com