ปรากฏการณ์ลุงพล (๒)

ปรากฏการณ์ลุงพล (๒)

หมู่บ้านยูทูปเบอร์ บ้านกกกอก

สื่อเก่าที่ถูกโค่น (media disruption)

กรณีลุงพลเป็นวัฒนธรรมชาวบ้าน “เก่าแต่ใหม่” เพราะเดิมทีแต่ไหนแต่ไรก็มีวัฒนธรรมเช่นนี้ในสังคม เกิด “กระแส” ไม่ว่าข่าวลือข่าวจริงที่แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว  บางกระแสทำให้เกิดผู้ดีผู้ร้าย เกิด “ฮีโร่” เกิด “ไอดอล” หรือเกิด “ฆาตรกร” ที่สังคมด่วนตัดสินเป็นศาลเตี้ยเสียเอง กรณีลุงพลเป็นทั้งสองอย่าง

ผู้คนอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับใครในรายละเอียด อยากรู้ชีวิตในครอบครัวคนอื่น ซีรีส์ต่าง ๆ ทางทีวีไม่ว่ายุคไหนจึงมีคนติดคนตามมากมาย คิดถึง “เจ้าพ่อดัลลัส” ซีรีส์อเมริกันที่คนติดทั่วโลก แม้แต่ที่เยอรมันที่สื่อวิจารณ์ว่าเป็นละครทีวี “น้ำเน่า” แต่โพลสำรวจปรากฏว่าเรตติ้งสูงสุด  เมืองไทย คนรุ่นเก่าก่อนคงจำเรื่องนี้ได้ รวมถึงเรื่องโอชิน ซีรีส์ญี่ปุ่นหรือเกาหลี ที่สะท้อนชีวิตของคนในครอบครัว ที่คนติดกันงอมแงม

วันนี้ทีวีมีคู่แข่งที่มาโค่นแล้ว ใคร ๆ ก็มีช่องทีวีของตนเองได้ ไม่เห็นต้องลงทุนเป็นร้อยเป็นพันล้าน แค่มีสมาร์ทโฟนก็ไลฟ์ได้ เปิดช่องยูทูปได้ ถ้าเกิดเป็นไวรัสก็จะไปได้เร็ว ดังกรณีลุงพล  วันนี้คนจึงเลิกดูทีวีกันมากแล้ว แม้แต่ข่าวก็รอดูที่เขาตัดข่าวเด่น ๆ มาออกยูทูป ดีกว่าเสียเวลาดูข่าว “ชาวบ้าน” ที่ไปเจาะทำข่าวกันเป็นชั่วโมง ๆ

วันนี้ทีวีจึงเป็น “โปรดักชั่นเฮ้าส์” ที่ผลิตรายการไปลงยูทูป ตัดข่าวให้กระชับเอาไปลงทันที  บางข่าวมีคนดูหลายล้าน มากกว่าที่นั่งดูหน้าจอใหญ่ที่ออกตามโปรแกรม ไม่เชื่อไปถามเอเจนซี่โฆษณาก็ได้ ว่าหดหายไปเท่าไร

วันนี้ทีวีมีคู่แข่งที่น่ากลัวไม่ใช่ “มืออาชีพ” แต่เป็น “ชาวบ้าน” ที่กลายเป็นยูทูปเบอร์ ซี่งมีมากมาย จนทีวีต้องไป “ขอ” บางคลิปมาออกช่องของตน ไม่ได้มีแต่ลุงพลป้าแต๋น แต่มีลุงน้อย ลุงมี ป้ามา นักจับปลาตัวยง ถ่ายทำเอง ได้ปลากั้ง ปลาคัง ปลาค้าว ตัวเป็นสิบกิโลขึ้น คนดูก็ติดตามเป็นล้านวิว

เช่นเดียวกับการตกปลาด้วยอวน ตาข่าย ด้วยยกยอ ที่แม่น้ำโขง แม่น้ำต่าง ๆ การไปตกปลาในบ่อที่ต้องจ่ายค่า “ลงทะเบียน” 100-1,000 บาทหรือมากกว่า ได้ปลาที่เลี้ยงไว้ในบ่อสาธารณะที่ห้ามจับ จนปลาโตมาก สามารถใช้แห ใช้ยกยอไปจับได้ เป็นที่สนุกสนาน ได้คนละหลายสิบกิโล หรือเป็นร้อยก็มี เหล่านี้มีหลายล้านวิว

รายการชมตลาดอาหารพื้นบ้านในจังหวัดต่าง ๆ ทั้งตามข้างทาง ตลาดเล็กใหญ่ มีอาหารป่า อาหารหากินยากมากมาย น่าดูชมมาก  มีหลายเจ้าถ่ายทำต่อเนื่องทางอีสานและข้ามไปฝั่งลาว บางคลิปมีคนดูหลายล้าน ทั้ง ๆ ที่อาหารพื้นบ้านก็คล้าย ๆ กัน แต่ดูแล้วเพลินดี แปลกใหม่ (exotic) และชวนให้ไปหาซื้อมาทำกินบ้างถ้าอยู่ใกล้

รายการกินอาหาร ท่องเที่ยว เป็นรายการที่ใครก็ทำได้และทำกันมาก บางคนทำเก่ง ๆ มีคนดูหลายล้าน รวมแล้วคนเดียวอาจรวมได้ร้อยล้านพันล้านแล้ว  ดนดังนักร้องนักแสดง อาชีพต่าง ๆ หันมาเปิดช่องยูทูปกันทั้งนั้น แต่ละคนแสดงศักยภาพของตนเองได้เต็มที่ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนมีวิวเป็นแสนเป็นล้าน หรือประสบความสำเร็จ

บางคนบางอาชีพ (อย่างคนที่ท่านกำลังอ่านบทความของเขา) ทำไปเท่าไรก็คงมีคนติดตามไม่มาก และก็ไม่แน่ใจว่า วิวที่ขึ้นเขาวัดกันที่ดูกันหมด ดูแค่คลิกเข้าไปหรือดูอ่านสามในสี่หรือเท่าไรจึงขึ้นตัวเลขให้ แต่ถ้าหากว่าคนที่ได้อ่าน ได้ดูช่องยูทูปที่ผมทำ แม้น้อยวิวน้อยคนดูคนอ่านคนฟัง แต่มีคนได้ประยชน์ ได้แรงบันดาลใจ นำไปขยายต่อ อาจเป็นผลแบบลูกโซ่นิวเคลียร์ที่วัดไม่ได้ด้วยวิวก็เป็นได้ (ปลอบใจตัวเอง)

แต่ก็มีข้อสังเกตว่า การทำสื่อเช่นนี้กลายเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้ยูทูปเบอร์ไม่น้อย มีคนทำเป็นอาชีพมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในยามวิกฤติโควิดที่ต้องอยู่บ้าน มีเวลาก็เลยหางานทำ (แก้เซ็งแก้จน) บางคนก็คิดอะไรได้ใหม่ ๆ เป็นนวัตกรรมที่ทำให้รวยก็มี

แต่ก็มีข้อสังเกตว่า ตัวเลขวิวในยูทูปนั้นอาจไม่น่าเชื่อถือทั้งหมด มีวิธีการมากมายที่ทำให้ตัวเลขวิวสูงขึ้น บางอย่าง “จ้าง” ให้ยูทูปจัดการให้ บางอย่างก็ทำเอง เราจึงเห็นจำนวนหลายร้อยล้านถึงพันล้านของ 10 อันดับแรกของไทยอย่างไม่ค่อยน่าเชื่อถือ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเพลง ยกเว้นเรื่องราวเด็กและวัยรุ่นที่ไวรัสมาก ๆ

แม้แต่การทำคลิปที่คิดว่าเป็นธรรมชาติอย่างการหาปลา ก็อาจจะมีการ “เมคอัพ” ได้ มีคนตั้งข้อสังเกตว่า การตกปลาได้ตัวใหญ่ ๆ มากมายขนาดนั้น ไม่ใช่เอาปลาเก่าไปใส่เบ็ดแล้วถ่ายทำหรือการไปยกลอบขึ้นมาปลาเต็มลอบตั้ง 10 หลังในน้ำตื้น ๆ ที่ไม่ได้บอกว่าที่ไหนอย่างไร  คนก็สงสัยว่าทำไมมีแต่ปลานิล และมากมายเกือบเต็มลำเรือ ไม่ใช่ไปเอาปลานิลจากกระชังจากบ่อมาใส่ลอบแล้วถ่ายทำหรือ

หลายอย่างคงทำปลอมทำหลอกไม่ได้ แต่ธุรกิจทำได้ทุกอย่างให้เกิดกระแส ให้คนเข้ามาดู แบบที่เมื่อก่อน ทีวีก็ทำทุกอย่างเพื่อเรตติ้ง วันนี้ยูทูปก็ทำทุกอย่างเพื่อเรตติ้งเหมือนกัน  ความโลภอยากได้อยากมีในโลกทุนนิยมบริโภคนิยมมีทุกรูปแบบทุกสมัย ไม่ปรานีใคร

วันนี้ยุคของทีวีแบบเก่าคงหมดไปแล้ว ทีวีจะอยู่ได้ด้วยการปรับตัว ทำอะไรที่ยูทูปเบอร์ทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดีเท่า ต้องสร้างอัตลักษณ์ใหม่ เอกลักษณ์ใหม่ เพราะไม่นานคนทำทีวีนั่นเองจะออกไปเป็นยูทูปเบอร์ เหมือนที่คุณสุทธิชัย หยุ่น และหลายคนกำลังทำอยู่ และดูเหมือนจะดีกว่าตอนอยู่ทีวีมากนัก

เสียดายว่า ระบบการศึกษาบ้านเราไม่ปรับตัว ไม่สร้างแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ที่ใช้ไอทีใหม่ ที่ใคร ๆ เขาก็ทำกัน แต่มหาวิทยาลัย โรงเรียนต่าง ๆ ไม่ทำ ทั้ง ๆ ที่มีคน มีความรู้ มีทักษะ มีเทคโนโลยี มีคอนเทนท์ แต่ไม่มีวิสัยทัศน์ที่มองทะลุ (“ส่องซอด”ในภาษาอีสาน) จึงยังคงรอให้โควิดหายจะได้ไปเรียนในห้องสี่เหลี่ยม หรือไม่ก็คิดแต่ออนไลน์ใช้ Zoom ใช้แอปต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่มีอีกมากมายหลายวิธี

ก็ดูคนที่สอนภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะฝรั่งที่พูดไทยเก่ง ๆ รู้วิธีสอนดี ๆ มีคนติดตามเป็นแสน มีวิวเป็นล้าน สอนภาษาน่าสนใจ น่าติดตาม  คนเหล่านี้น่าจะเรียกว่าเป็นการศึกษาทางหลัก แต่เราไปเรียกเขาว่า “ทางเลือก” หรือ “ทางรอง”  มีการเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ มากมายผ่านยูทูป มหาวิทยาลัยกลับไม่ “ร่วมขบวน” ไอทียุคใหม่เพื่อปฏิรูป

การศึกษาบ้านเราคงตกรถไฟขบวนนี้ เหมือนที่ตกมาหลายขบวนแล้ว วิ่งแบบ “ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง” คล้ายเสียงกระทบรางของรถไฟ เขาไปถึง 4.0 เราจึงยัง 0.4 มะงุมมะงาหราอยู่กับวิธีคิดวิธีทำแบบเดิม ๆ  ยังรอให้โควิดหายจะได้กลับไปเรียนไปสอนในห้องสี่เหลี่ยมเหมือนเดิม เพื่อ “เพิ่มเวลาเรียน ลดเวลารู้” (?)

ไม่ทราบว่า “ปรากฏการณ์ลุงพล” เป็นหัวข้อการเรียนรู้ของนักเรียนหรือนักศึกษาหรือไม่ เห็นคุยนักว่าปฎิรูปการเรียนเป็นแบบฟินแลนด์ที่เอา “ปรากฏการณ์” เป็นตัวตั้ง  ดูเหมือนว่า มีการจัดการไปเรียนนอกสถานที่ที่บ้านกกกอก ไม่ทราบไปเรียนอะไรอย่างไร หรืออาจเพียงไปถ่ายรูปกับลุงพล ไปเพราะเป็นข่าวดังมาก ไป “มุง” กับเขา

ปรากฏการณ์ลุงพลสอนเราให้รู้ว่า สังคมไทยแม้ใช้เครื่องมือดิจิทัล แต่ยังคิดและมีพฤติกรรมอะนาล็อค ยังคิดแบบโบราณ ยังไม่ “สว่างทางปัญญา” (enlightened) ยังสนใจแต่เรื่อง “บ้าน ๆ” ยังเป็น “ไทยมุง” แต่มุงผ่านโซเชียลมีเดีย เข้าไปมุงดูยูทูปกันเป็นแสนเป็นล้านในเรื่องที่ “ไร้สาระ” “ไม่ประเทืองปัญญา”

คนที่ส่งเสริมปัญญาส่วนใหญ่ ไม่ได้ลุกขึ้นมาใช้โซเชียลมีเดียอย่างที่ “ชาวบ้าน” เขาทำกัน จึงเกิดปรากฏการณ์ลุงพลที่เป็น “วัฒนธรรมฝูง” อย่างที่นิทเช่ปรามาสคนในยุคของเขา ไปตามเพื่อนโดยไม่ต้องคิดอะไร เฮไปแล้วก็เฮมา สาระไม่ได้ ปัญญาไม่เกิด มีแต่มนุษย์มานา ไม่มี “อภิมนุษย์” ที่คิดเป็น มีความเป็นตัวของตัวเอง

บ้านเมืองเจริญพัฒนาเขาวัดกันที่คุณภาพของคน ไม่ได้วัดกันที่จำนวนวิวในยูทูป หรือเวลาที่ใช้ในโซเชียลมีเดีย ที่ไทยทำสถิติอยู่อันดับต้นของเอเชีย

“เสรี พพ”  6 มิถุนายน 2021

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com