ปริศนาตัวมอม (๔) จาก “หมา” เปลี่ยนเป็นสัตว์ผสม
ทองแถม นาถจำนง
การเปลี่ยนแปลงรูปสัตว์ที่เคารพนับถือของทุกชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงตามระดับพัฒนาการทางสังคม เช่นรูป “หลง 龙 – มังกรจีน” มีลักษณะผสมระหว่างสัตว์หกชนิด นักวิชาการชาวจีนสันนิษฐานว่าเกิดจากการรวมสัญลักษณ์โทเทม Totem ของหลายเผ่ากลายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หัวเซี่ย (จีนดั้งเดิมแถบลุ่มแม่น้ำหวงเหอ)
การเปลี่ยนแปลงรูปเคารพจาก “หมา” เป็นสัตว์ที่มีลักษณะผสมผสาน คงจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงมาในระยะสองพันปี จนกระทั่งกลุ่มชนเผ่าไทที่ได้รับวัฒนธรรมจากอินเดีย เปลี่ยน “มอม” เป็น “สิงมอม” – สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่มีลักษณะผสมระหว่าง หมา-เสือ-สิงห์-แมว-ค่าง มีฤทธิ์เดชมาก
ลายสักสิงมอม (ที่เหนือหัวเข่าของผู้ชาย) เป็นที่นิยมในชาวไทใหญ่, ลาวล้านนา, ลาวอีสาน (ช่างสักในอีสานมักสืบเชื้อสายจากคนไทใหญ่หรือกุลา)
ลายผ้าทอ “สิงมอม” ก็ยังแพร่หลายอยู่ใน ชาวลื้อ, ไทแดง, ไทใหญ่
“ลายสิงมอม” มีความหมายมาก ดังโคลง “ท้าวฮุ่งขุนเจื๋อง” บรรยายว่า ขุนเจื๋องสวมเสื้อลายสิงมอมออกทำสงคราม
“แต่นั้นท้าวคาดผ้า ผืนดาย ดอกเครือ
ของแพงมวลแม่เมือง ประสงค์ให้
ลายเจือเกี้ยวสิงห์มอม เมียงม่าย
ทรงอยู่เค้าดูเข้ม คาบเหลียว”
ผ้ากั้ง ของชาวไทแดง บ้านซำใต้ Sam Tai แขวงหัวพัน ลาย “มอมมานเงือก” เงือกอยู่ในท้องมอม บนตัวมอมมี “ขวัญ” ของผู้ชาย ลายคนหรือขวัญในผืนนี้น่าจะหมายถึงขวัญลงมาเกิดเป็นคน
“ผ้ากั้ง” กั้นประตูห้องของบ่าว-สาว แต่งงานใหม่นิยมใช้ลายนี้ ภาพจากหนังสือ TENDING THE SPIRITS โดย Ellison Banks findly
อ่าน : ปริศนาตัวมอม (๑) หมานำพันธุ์ข้าวมาให้คน
อ่าน : ปริศนาตัวมอม (๒) บูชาหมา
อ่าน : ปริศนาตัวมอม (๓) การบูชาหมาในยุคดึกดำบรรพ์