ปีที่สร้างพระธาตุพนมในตำนานอุรังคธาตุ

ปีที่สร้างพระธาตุพนมในตำนานอุรังคธาตุ

พระธาตุพนมเป็นศาสนสถานสำคัญของลุ่มแม่น้ำโขง เป็นที่ประดิษฐานพระธาตุหัวอกของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า “อุรังคธาตุ” ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม สถานที่ตั้งขององค์พระธาตุพนมเป็นเนินดินสูงกว่าบริเวณโดยรอบประมาณ ๒ เมตร เรียกตามตำนานอุรังคธาตุว่า “ภูกำพร้า” อยู่ห่างจากด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำโขง ประมาณ ๕๐๐ เมตร ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ ๘๐๐ กิโลเมตร กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนองค์พระธาตุพนมให้เป็นโบราณสถานของชาติ ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

โดยการรับรู้ของคนทั่วไป มักเล่าสืบต่อกันว่า พระธาตุพนมสร้างขึ้นหลังพุทธปรินิพพาน ๘ ปี หรือประมาณ พ.ศ. ๘ โดยอ้างว่ามาจากข้อมูลในตำนานอุรังคธาตุ แต่ในความเป็นจริงนั้น ตำนานอุรังคธาตุกลับกล่าวถึงปีที่สร้างพระธาตุพนมไว้แตกต่างกัน อีกทั้งข้อมูลในตำนานกับข้อค้นพบทางโบราณคดี ถือเป็นสาระสำคัญจากหลักฐานต่างประเภทที่อาจตรงกันหรือต่างกัน ซึ่งจะได้นำมาเปิดผ้าม่านกั้งในครั้งนี้

ข้อค้นพบทางโบราณคดีเกี่ยวกับพระธาตุพนม

หลังจากการพังลงขององค์พระธาตุพนมเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๘ ทำให้ได้ทราบข้อมูลจากการขุดค้นทางโบราณคดีว่า ชั้นในสุดขององค์พระธาตุพนมเป็นอาคารก่ออิฐ ด้านทิศตะวันออกมีกรอบประตูหินทราย ตามแบบแผนของเทวาลัยที่ใช้ประกอบพิธีกรรมของชุมชนโบราณลุ่มแม่น้ำโขง ข้อมูลทางโบราณคดีที่ค้นพบหลังจากการพังทลายลงทั้งองค์ขององค์พระธาตุพนมนี้ ทำให้นักวิชาการสันนิษฐานยุคสมัยของการก่อสร้างองค์พระธาตุพนมในยุคแรกแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มแนวคิด คือ

๑. กลุ่มที่เชื่อว่ามีผังตามแบบศาสนสถานศิลปะเขมรแบบสมโบร์ไพรกุก หรือแบบไพรกเม็ง

๒. กลุ่มที่เชื่อว่าคล้ายกับปราสาทในศิลปะจามที่สร้างในสมัย ฮัวล่าย (Hoa – Lai) และ ดงเดือง (Duog Doung)

นักวิชาการกลุ่มแรก สันนิษฐานว่า โครงสร้างอาคารก่ออิฐในชั้นในสุดขององค์พระธาตุพนม มีผังการก่อสร้างตามแบบศาสนสถานศิลปะเขมรแบบสมโบร์ไพรกุก หรือแบบไพรกเม็ง ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ โดยถูกสร้างให้เป็นเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู จากการค้นพบพระพิมพ์ดินเผารูปพระไตรรัตนมหายานในศิลปะเขมรแบบบายน จึงสันนิษฐานได้ว่า ต่อมาพระธาตุพนมได้ถูกปรับให้เป็นพุทธสถานนิกายมหายานในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘

ส่วนนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง สันนิษฐานว่า องค์พระธาตุพนมมีรูปร่างคล้ายกับปราสาทในศิลปะจามที่สร้างในสมัย ฮัวล่าย และ ดงเดือง ที่เคยรุ่งเรืองในเวียดนามช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ เนื่องจากลักษณะของเสาอิฐติดผนังขององค์พระธาตุพนมมีแถบลวดลายประดับเหมือนกับปราสาทในศิลปะจาม

ตำนานอุรังคธาตุมาจากไหน

ถึงแม้ว่า ข้อมูลที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีจะชี้ให้เห็นว่า องค์พระธาตุพนมองค์เดิมที่พังทลายลงมามีการสร้างไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๑ แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้คนเคารพต่อองค์พระธาตุพนมในฐานะพระมหาธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกหัวอกของพระพุทธเจ้าคือ เรื่องราวของพระธาตุพนมที่ถูกจารึกบนใบลาน พบว่ามี ๓ สำนวน ได้แก่

. นิทานพระมหาธาตุพนม เป็นเรื่องราวการอัญเชิญพระอุรังคธาตุมาที่ภูกำพร้า มีเนื้อความสั้น

. อุรังคธาตุนิทาน เป็นเรื่องราวเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับการก่อสร้างพระธาตุพนม ตอนท้ายมีการบันทึกประวัติศาสตร์ลุ่มแม่น้ำโขงในช่วงหลังรัชกาลพญาสุริยวงศาธรรมิกราช

. ตำนานอุรังคธาตุ มีเนื้อความยาว บอกเล่าถึงเรื่องราวการเสด็จเลียบโลกในลุ่มแม่น้ำโขงของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และการบรรจุพระอุรังคธาตุไว้ที่ภูกำพร้า รวมถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในลุ่มแม่น้ำโขง

สันนิษฐานว่า ตำนานอุรังคธาตุ ถูกเรียบเรียงมาจาก นิทานเก่าแก่ที่มีอยู่เดิม ๓ นิทาน คือ ศาสนานครนิทาน ปาทลักษณนิทาน และอุรังคธาตุนิทาน โดยผู้เรียบเรียงคือ “พระยาศรีไชยชุมพู” ข้าราชสำนักมีหน้าที่เป็นหัวหน้ามหาดเล็กในรัชสมัยพญาสุริยวงศาธรรมิกราช โดยน่าจะเรียบเรียงขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ.๒๑๗๖– ๒๑๘๑ โดยนำเค้าเรื่องของ “อุรังคธาตุนิทาน” ซึ่งเป็นนิทานการสร้างอูบมุงอุรังคธาตุที่ภูกำพร้า ซึ่งพญาโพธิสาลราชได้รับมาจากเมืองอินทปัตถนคร ใน พ.ศ.๒๐๗๐ มาประกอบกับ “ปาทลักษณนิทาน” ซึ่งเป็นนิทานการประทับรอยพระพุทธบาทในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง และ “ศาสนานครนิทาน” ซึ่งเป็นนิทานพุทธทำนายเกี่ยวกับวงศ์กษัตริย์ของอาณาจักรล้านช้าง

การเรียบเรียงตำนานอุรังคธาตุเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพญาสุริยวงศาธรรมิกราชหลังการปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าล้านช้างเพื่อเป็นสื่อในการแสดงความสำคัญว่าพญาสุริยวงศาธรรมิกราชเป็นผู้มีสิทธิธรรมในการครองราชย์เพราะเป็นผู้สืบทอดอำนาจมาจากทั้งทางราชวงศ์และพุทธวงศ์เป็นการแสดงบารมีในฐานะพระมหากษัตริย์คู่บุญกับอูบมุงอุรังคธาตุ ซึ่งเปน็ สัญลักษณ์ศูนยก์ ลางอำนาจของกลุ่มเมืองศรีโคตรบอง และเมืองในดินแดนอีสาน เช่น หนองหาญน้อย หนองหาญหลวง และสาเกตนคร

การเรียบเรียงตำนานอุรังคธาตุของพญาศรีไชยชุมพู จากนิทานทั้ง ๓ เรื่องเข้าด้วยกัน โดยใช้ระยะเวลาในการเรียบเรียงไม่มากนัก ทำให้พบว่ามีข้อมูลที่ขัดแย้งกันเองในการกล่าวถึงปีที่มีการสร้างพระธาตุพนมในตำนานอุรังคธาตุ อีกทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับพระธาตุพนมที่จารึกสืบต่อกันมาแต่โบราณทั้ง ๓ สำนวน ต่างมีสาระสำคัญเกี่ยวกับปีที่สร้างพระธาตุพนมแตกต่างกัน จึงมีผู้ตีความการสร้างอูบมุงอุรังคธาตุจากตำนานอุรังคธาตุแตกต่างกันออกไป

อูบมุงอุรังคธาตุ สร้างช่วง ๓ เดือนแรกหลังพุทธปรินิพพาน

ภาพลวดลายประดับพระธาตุพนม ที่มาของการประมาณอายุว่าสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๕

ร่องรอยข้อมูลอันนำไปสู่การตีความว่า อูบมุงอุรังคธาตุที่ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันในชื่อพระธาตุพนม สร้างขึ้นในช่วง ๓ เดือนแรกหลังพุทธปรินิพพานนั้น มาจากข้อความตอนหนึ่งที่ปรากฏในตำนานอุรังคธาตุ และอุรังคธาตุนิทาน แต่ไม่พบในนิทานพระมหาธาตุพนม โดยเนื้อหาของตำนานอุรังคธาตุและอุรังคธาตุนิทาน ได้กล่าวถึงคณะพระอรหันต์จำนวน ๕๐๐ มีพระมหากัสสปะเป็นประธานได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุมายังดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อนำมาประดิษฐานไว้ที่ภูกำพร้า

ในครั้งนั้น พญาทั้ง ๕ ได้แก่ พญาสุวรรณภิงคารแห่งเมืองหนองหาญหลวง พญาคำแดงแห่งเมืองหนองหาญน้อย พญาอินทปัตถนครแห่งเมืองอินทปัตถนครพญาจุลณีพรหมทัตแห่งเมืองจุลณีพรหมทัต และพญานันทเสนแห่งเมืองศรีโคตรบองได้ร่วมกันก่ออูบมุงอุรังคธาตุ

เนื้อหาที่เป็นข้อมูลว่า อูบมุงอุรังคธาตุควรสร้างในช่วง ๓ เดือนแรกหลังพุทธปรินิพพาน ถูกบันทึกไว้ในตำนานอุรังคธาตุในเหตุการณ์หลังจากพญาทั้ง ๕ สร้างอูบมุงอุรังคธาตุเสร็จแล้ว ความว่า

“ยามนั้น มหากัสสปเจ้าพาอรหันตาเจ้าทั้งห้าร้อยวัตรปทักขิณ ๓ รอบ แล้วจีงเมือ…ว่าดังนี้แล้ว อรหันตาเจ้าทังหลายจีงเสด็จหนีไปทางอากาศ สู่เมืองราชคฤหาเพื่อจักสังคายนาธรรม ซะแล”

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า การสังคายนาพระไตรปิฎกเกิดขึ้นครั้งแรกหลังพุทธปรินิพพานประมาณ ๓ เดือน ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์

ดังนั้น เรื่องราวในตำนานอุรังคธาตุและอุรังคธาตุนิทานที่บันทึกไว้ว่า หลังจากสร้างอูบมุงอุรังคธาตุ เสร็จแล้ว พระมหากัสสปะพร้อมทั้งพระอรหันต์ทั้งห้าร้อยจึงได้เหาะกลับไปยังเมืองราชคฤห์เพื่อสังคายนาธรรม จึงเป็นสาระสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า อูบมุงอุรังคธาตุสร้างขึ้นในช่วง ๓ เดือนแรก หลังพุทธปรินิพพาน

อูบมุงอุรังคธาตุ สร้างประมาณ พ.ศ.๘

ร่องรอยข้อมูลอันนำไปสู่การตีความว่า อูบมุงอุรังคธาตุที่ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันในชื่อพระธาตุพนม สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.๘ นั้น มาจากข้อความตอนหนึ่งที่ปรากฏในอุรังคธาตุนิทาน และนิทานพะมหาธาตุพนมแต่ไม่พบในตำนานอุรังคธาตุ โดยเนื้อหาในอุรังคธาตุนิทานและนิทานพระมหาธาตุพนม ได้บอกปีที่มีการอัญเชิญพระอุรังคธาตุมายังดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อนำมาประดิษฐานไว้ที่ภูกำพร้า ไว้ว่า

“บัดนี้จักจาแต่เดิมพระพุทธเจ้านิพพานไปได้ ๘ ปี ปลาย ๗ เดือน เดือน ๑๒ เพ็ญ วัน ๔ (พุธ) ฤกษ์ชื่อว่า กิตติกา วันนั้น ยังมีมหากัสสปเจ้าแลอรหันตาเจ้าทั้งหลาย ๕ ร้อยตน เป็นประธาน มีบริวารจึงนำเอามายังอุรังคธาตุพระพุทธเจ้ามาสู่ภูกำพร้า…”

ส่วนในนิทานพระมหาธาตุพนม ว่า

“คัมภีร์วิเศษมหาอุปเทศธานุพนมบุรมมาแต่พระเจ้าก็เสด็จเข้าสู่นิรพาน นานประมาณว่าได้ ๙ ปี ปลาย ๗ แม้นว่าเมื่อเดือน ๑๒ เพ็ญ วันพุธ บรสุทธิ์ด้วยสวัสดีมีกับด้วยนักขัตฤกษ์ ถืกหน่วยชื่อว่า กิตติกา…ยามนั้น พระมหากัสสปเถรเจ้ากับทั้งอรหันตาเจ้าทั้งหลายอันได้ ๕ ร้อยตนเป็นประธาน จีงพร้อมกันนำเอายังธาตุหัวอกแห่งสัพพัญญูเจ้า ๒๔ ลูก มาตั้งไว้ในที่ภูกำพร้า

จะเห็นได้ว่า เรื่องราวการสร้างอูบมุงอุรังคธาตุที่แพร่หลายในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงใน ๒ สำนวนนี้ ได้กล่าวถึงวันเดือนปีที่มีการอัญเชิญพระอุรังคธาตุมาที่ภูกำพร้า ว่าเป็นช่วงประมาณ ๘ – ๙ ปีหลังจากพุทธปรินิพพาน

ข้อความเกี่ยวกับปีที่สร้างอูบมุงอุรังคธาตุนี้ต่างแพร่หลายอยู่ทั่วไปในดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขง จึงทำให้ยากที่จะสรุปลงไปว่าควรยึดถือเนื้อความใดเป็นหลัก ถึงกระนั้น หลังจากพระธาตุพนมได้พังทลายลงทั้งองค์ในวันจันทร์ที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๘ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน๙ ปีเถาะ เวลาประมาณ ๑๙.๓๘ น. นั้น ทำให้มีการศึกษาเกี่ยวกับพระธาตุพนมในเชิงวิชาการทั้งจากหลักฐานโบราณคดีและตำนานอย่างจริงจัง

ประเด็นของการสร้างพระธาตุพนมจากเอกสารใบลานที่มีเนื้อหาขัดแย้งกันนี้ พระมหาสม สุมโน ได้สรุปไว้อย่าน่าสนใจในบทความ “ความเป็นมาของวัดสร้างสมัยใด? ใครเป็นผู้สร้าง? เพื่อประโยชน์อะไร” ในหนังสือ “ประมวลภาพประวัติศาสตร์พระธาตุพนมและภาพโบราณวัตถุค่ามหาศาลในกรุพระธาตุพนม” (หน้า ๑ – ๒) ที่พิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๒ ดังจะยกเนื้อความมาดังนี้

“…ในตำนานพระธาตุพนมนั้น พระโบราณจารย์ท่านจดหมายเหตุไว้ว่า พระธาตุสร้างครั้งแรกโดยพญาทั้ง ๕ หัวเมือง พระมหากัสสปะเป็นประธานพระอรหันต์ ๕๐๐ นำพระอุรังคธาตุจากชมพูทวีปมาบรรจุ เสร็จแล้วกลับคืนสู่ชมพูทวีปที่กรุงราชคฤห์เพื่อจำพรรษาและทำปฐมสังคายนาพระธรรมวินัย ดังนี้

ถ้าถือตามนี้ก็คำนวณได้ว่า สร้างพระธาตุพนมยุคแรก เมื่อพระพุทธเจ้าเข้าสู่นิพพานแล้วราวไม่เกิน ๒ เดือน เพราะทำปฐมสังคายนาเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วได้ ๓ เดือน (เดือน ๙ เพ็ญ) สร้างครั้งแรกได้เพียงชั้นเดียว

ครั้นต่อมาตำนานบอกว่า พระพุทธเจ้าเสด็จนิพพานแล้ว ๗ ปี ๗ เดือน (ที่จริง ๖ เดือน) ถึงเดือน ๑๒ เพ็ญ วันพุธ พญาอินทรสั่งให้วิสสุกัมมเทวบุตรลงมาสลักลวดลายพระเจดีย์ให้ละเอียดวิจิตรต่าง ๆ ซึ่งปรากฏในตอนต้นแล้ว…

โบราณจึงย่อคัมภีร์อุรังคนิทานให้สั้นแล้วใส่ศักราชเข้าไปว่า พระพุทธเจ้าเข้าส่นู ิพพานไปแล้วได้ ๗ ปี ปลาย ๗ เดือน เดือน ๑๒ เพ็ญ วันพุธ กณฑ์ฤกษ์ชื่อว่า “กิตติกา” มีพระมหากัสสปะเถรเจ้า พร้อมด้วยอรหันตา ๕๐๐ ได้นำพระอุรังคธาตุมาบรรจุไว้ภายในอุโมงค์ ที่พญาทั้ง ๕ ได้สร้างไว้ต้อนรับ ดังนี้ คนต่อมาก็เลยถือเอาว่า สร้าง พ.ศ.๘ ที่จริงใน พ.ศ.๘ (ล่วงแล้ว ๗ ปี ๖ เดือน) ที่กล่าวนี้เป็นปีฉลองใหญ่ เมื่อสลักลวดลายเสร็จต่างหาก พระธาตุได้สร้างมาก่อนนั้นแล้ว

จะเห็นได้ว่าความในตอนท้ายของบทความของพระมหาสม สุมโน เป็นความพยายามในการแก้ไขเนื้อหาที่ขัดแย้งกันจากตำนานทั้ง ๓ สำนวน เกี่ยวกับวันเดือนปีที่สร้างพระธาตุพนม และจากเหตุผลตามบทความนี้ทำให้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๒ เป็นต้นมา ผู้คนทั่วไปต่างเชื่อถือยอมรับสืบต่อกันมาว่า พระธาตุพนมสร้างเมื่อ พ.ศ.๘

อูบมุงอุรังคธาตุ สร้างประมาณ .ศ.๕๐๐

มีความพยายามในการแสวงหาความจริงจากตำนานอุรังคธาตุ สอบเทียบกับตำนานสิงหนวัติกุมารของล้านนา เพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างเนื้อหาในตำนานกับหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบ จากข้อสันนิษฐานของ อาจารย์มานิต วัลลิโภดม ในบทความ “โคตรบูร” (หน้า ๙๕ – ๑๐๕) ที่พิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพระธาตุพนม ของสำนักงานวารสาร “เมืองโบราณ” พิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งปรากฏความว่า

“…เมื่ออ่านเปรียบเทียบข้อความในหนังสืออุรังคธาตุกับปฐมสมโพธิ์อย่างนี้ จะเห็นได้ว่า พระมหากัสสปครั้งพุทธกาล ผู้เป็นประธานสงฆ์กระทำปฐมสังคายนาเมื่อภายหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๔ เดือนนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระบรมธาตุเลย ควรเป็นคนละองค์กับพระมหากัสสปในตำนานอุรังคธาตุ ข้าพเจ้าจึงติดใจสอบค้นหาอยู่เรื่อย ๆ ในที่สุดพบชื่อ พระกัสสปเถร องค์หนึ่งในตำนานสิงหนวัติกุมาร ได้นำพระบรมธาตุไปถวายพระยาอชุตราชกษัตริย์แคว้นโยนกทำการประดิษฐานไว้ ณ ยอดดอยตุงเมื่อ พ.ศ.๕๖๑ คือพระธาตุดอยตุงในจังหวัดเชียงรายทุกวันนี้ น่าคิดว่า พระกัสสปเถระผู้นำพระอุรังคธาตุมาประดิษฐานในแขวงเมืองโคตรบูร เป็นพระอรหันต์ภิกษุในรุ่นกลางพุทธศตวรรษที่ ๖ และคงเดินทางขึ้นไปยังแคว้นโยนก ภายหลังเสร็จงานเผยแพร่พระศาสนาในแคว้นโคตรบูรแล้ว…

…ถ้าสมมติว่าพระกัสสปเถระนำพระบรมธาตุมา เมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ ๖ อย่างที่ข้าพเจ้าสอบสวนพบชื่อในตำนานสิงหนวัติกุมาร งานครั้งแรกบูรณะจะตกราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๗ สมัยพุทธศตวรรษที่ ๗ นั้น ทางประเทศอินเดียได้เริ่มมีการสร้างพระพุทธรูปศิลปะคันธาระ ศิลปมถุรา ศิลปะอมรวดี เกิดขึ้นแล้ว จึงน่าประหลาดใจเหมือนกันที่งานครั้งแรกก่อสร้างไม่มีกล่าวถึงพระพุทธรูป แต่ในงานครั้งแรกบูรณะมีพูดถึงพระพุทธรูปเงิน การประมาณอายุเวลาอย่างนี้แคะได้จากเรื่องราวอันมีมาในตำนานเข้าทำนองหาเลือดกับปู อาจคลาดเคลื่อนมากหรือน้อยก็ได้ ขอตั้งเป็นข้อสังเกตขั้นแรก

บทความนี้ ได้นำข้อมูลทางโบราณคดีจากศิลปวัตถุที่ค้นพบในพระธาตุพนม สอบเทียบกับเนื้อหาในตำนานอุรังคธาตุ และตำนานสิงหนวัติกุมาร ตั้งเป็นข้อสันนิษฐานว่า การนำพระอุรังคธาตุเข้ามาในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง น่าจะเกิดขึ้นประมาณ พ.ศ.๕๐๐ ซึ่งเป็นความพยายามในการหาข้อสรุปข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างพระธาตุพนมที่สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดี

 

พระพิมพ์ดินเผา “ไตรรัตนมหายาน” ศิลปะบายน สันนิษฐาน ว่าพระธาตุพนมถูกปรับเป็นพุทธสถานมหายานช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘

อูบมุงอุรังคธาตุ สร้าง พ.ศ.๑๖

เนื่องจากตำนานอุรังคธาตุซึ่งเป็นการเรียบเรียงนิทาน ๓ เรื่อง โดยพระยาศรีไชยชุมพู และแพร่หลายสืบต่อมานั้น ไม่ได้ระบุวันเวลาในการสร้างอูบมุงอุรังคธาตุไว้ จึงมีการนำเนื้อความที่ปรากฏในตำนานที่ว่าเกิดก่อนปฐมสังคายนาพระธรรมวินัยมาตีความ หรือเอาเนื้อความที่ระบุวันเดือนปีจากอุรังคธาตุนิทาน และนิทานพระมหาธาตุพนม ที่กล่าวถึงเหตุการณ์หลังพุทธปรินิพพานประมาณ ๗ – ๙ ปี มาใช้อ้างอิง

ต่อมา ผู้เขียนได้สอบทานเนื้อหาในตำนานอุรังคธาตุ ที่มีการคัดลอกลงในคัมภีร์ใบลานฉบับต่าง ๆ ได้พบเนื้อความที่เป็นข้อสันนิษฐานใหม่เกี่ยวกับปีที่มีการสร้างอูบมุงอุรังคธาตุที่ปรากฏในตำนานซึ่งแตกต่างไปจากการตีความเดิม โดยสอบสวนจากลำดับเหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ในเนื้อหาของตำนานอุรังคธาตุ

เหตุการณ์แรกคือ การสวรรคตของพญาติโคตรบูรแห่งเมืองศรีโคตรบอง ในตำนานอุรังคธาตุระบุว่า พญาติโคตรบูรสวรรคตหลังจากพุทธปรินิพพาน ๓ ปี ความว่า

“…ในเมื่อพระพุทธเจ้าจักเข้าสู่นิพพานนั้นไปแล้วยังบ่นานประมาณ ๓ ปี พญาติโคตรบูรม้างปัญจขันธ์ทั้ง ๕ แล้วไปก่อกำเนิดในท้องแห่งนางรัตนเทวี เกิดเป็นลูกพญาสาเกตนครก้ำตะวันตกเมืองศรีโคตรบอง…”

เหตุการณ์ที่สอง ปรากฏเนื้อความเกี่ยวกับปีที่พญานันทเสนไปสร้างอูบมุงอุรังคธาตุว่า เกิดขึ้นหลังจากพญานันทเสนครองราชย์ต่อจากพญาติโคตรบูรได้ ๑๓ ปี ความว่า

“…พญาติโคตรบูร จุติแล้วได้ไปเกิดเป็นพญาชื่อว่าสุริยวงศา ในเมืองสาเกตนคร พญานันทเสนผู้เป็นน้องเสวยราชกินเมืองแทนได้สิบสามปี จึงได้มาสู่ภูกำพร้าถปันนาธาตุแล้ว ครั้นตายจีงจุติไปเป็นลูกนางศรีรัตนเทวีแห่งพญาสุริยวงศาแล…”

จะเห็นได้ว่า เนื้อความในตำนานอุรังคธาตุไม่มีการระบุว่าอูบมุงอุรังคธาตุสร้างขึ้นปีใด แต่ได้บอกลำดับเหตุการณ์ให้ผู้อ่านประมาณปีที่มีการสร้างอูบมุงอุรังคธาตุไว้ว่า หลังพุทธปรินิพพาน ๓ ปี คือประมาณ พ.ศ.๓ พญาติโคตรบูรสวรรคต จากนั้น พญานันทเสนได้ขึ้นครองราชย์สมบัติสืบต่อมาอีกจนถึงปีที่ ๑๓ ในรัชกาลพญานันทเสน พญาทั้ง ๕ พร้อมทั้งเหล่าพระอรหันต์อันมีพระมหากัสสปเถรเจ้า จึงได้ไปก่ออูบมุงอุรังคธาตุที่ภูกำพร้า จึงประมาณได้ว่าการสร้างอูบมุงอุรังคธาตุเพื่อบรรจุธาตุหัวอกของพระพุทธเจ้าตามตำนานอุรังคธาตุเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นประมาณปี พ.ศ.๑๖

บทส่งท้าย

นานาทัศนะเกี่ยวกับปีที่สร้างอูบมุงอุรังคธาตุหรือพระธาตุพนมที่นำมาเปิดผ้าม่านกั้งนี้ ผู้ค้นคว้าแต่ละท่านล้วนอ้างอิงข้อมูลการค้นพบมาจากเนื้อหาในตำนานอุรังคธาตุเป็นหลัก ถึงกระนั้นยังพบว่า มีข้อค้นพบที่ต่างกัน ผู้เขียนจึงเปิดผ้าม่านกั้งตั้งประเด็นให้เห็นว่า มีหลากหลายการแสวงหาความรู้ที่นำไปสู่การตีความตำนานอุรังคธาตุ เพื่อการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจสาระสำคัญที่ผู้เรียบเรียงตำนานอุรังคธาตุกำลังสื่อสารถึงชนรุ่นหลัง ซึ่งต้องตระหนักว่า มุมมองที่ต่างกันย่อมทำให้ได้ข้อสันนิษฐานที่แตกต่างกัน ที่ถือได้ว่าเป็นความงอกงามทางวิชาการที่ต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง และต้องใช้ปัญญาในการพิจารณาให้เห็นแก่นเห็นกระพี้ ดังที่โบราณาจารย์ผู้รจนาตำนานอุรังคธาตุได้กล่าวไว้ในตอนต้นเรื่องว่า

อุรังคธาตุนิทาน แล ปาทลักษณะนิทาน ศาสนานครนิทาน อันอรหันตาเจ้าทั้ง ๕ แปงไว้ให้แจ้งแก่นักปราชญ์เจ้าทั้งหลายแล นิทานอันนี้พระพุทธเจ้าก็เทศนากระทำนวยเอาปลายเมือหากก บุคคลผู้มีปัญญาจึงค่อยพิจารณาตรองดูยังอธิบายอันนี้ให้แจ้งเท่าวันเทอญ

Related Posts

ข้าว มะพร้าว กัญชา
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com