ผีตาแฮก
พิธี “แฮกนา” หรือแรกนา ของชาวเหนือ ทําตาเหล๋ว (เฉลว) ขนาดใหญ่บนยอดไม้รวก มีโซ่ทําด้วยตอกแขวนจากตาเหล๋ว (เฉลว) ปลายโซ่ผูกปลาตะเพียนทําด้วยไม้เส้นละตัว รอบ ๆ เสาไม้รวก ๔ ทิศ มีแท่นวางสะตวง (เครื่องเซ่น) ทิศละแท่น (ภาพจาก “ฮีตไผ ฮีตมัน” ใน คนเมือง วารสารพิเศษรายเดือน พ.ศ.๒๔๙๘ บทความโดย แมนเมืองเหนือ, ภาพโดย นิคม กิตติกุล)
****
ตาแฮก หรือ ผีตาแฮก คําว่า “แฮก” ในภาษาอีสาน ตรงกับภาษาไทยกลางคือ “แรก”
ตาแฮก หรือผีตาแฮกเป็นผีดีประจําท้องไร่ท้องนาผู้เป็นเจ้าของนา ตามความเชื่อของคนไท-ลาว ดึกดําบรรพ์ นาทุกผืนจะมีผีตาแฮกอยู่เมื่อชาวบ้านเข้าหักร้างถางพงเพื่อทำที่นา จะทำพิธีเชิญผีตาแฮกมาดูแลนาข้าว ดูแลข้าวกล้า ไม่ให้เสียหาย ไม่ให้วัวควายมากิน ไม่ให้เกิดแมลงต่าง ๆ ชาวบ้านจะตั้งศาลตาแฮกหรือตูบตาแฮกให้ผีตาแฮกอยู่อาศัย ถือกันว่าเป็นผีที่ปกปักรักษาพืชสวนไร่นา และทําให้ข้าวกล้า เจริญงอกงาม อุดมสมบูรณ์ การทำนาจะได้ผลดี มีการเซ่นไหว้ผีตาแฮกทุกปี ปีละ ๒ ครั้ง คือ ก่อนลงมือปักดํา และหลังการเก็บเกี่ยว ในที่นาของแต่ละคนจะมีที่ที่ให้ผีตาแฮกอยู่ ซึ่งบางคนอาจปลูกกระท่อมหลังเล็ก ๆ บางคนจะปักเสาปูนสัญลักษณ์ว่าที่ตรงนี้คือ ที่อยู่ของผีตาแฮก หรือบางแห่งจะทํารั้วถี่ ๆ ล้อมบริเวณใดบริเวณหนึ่งไว้เป็น “นาตาแฮก”
นาตาแฮกจะอยู่ในแปลงนาธรรมดาทั่วไปกว้างประมาณ ๑ ตารางวา ปักล้อมไว้ด้วยเสา ๖ ต้น และเพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์อาจหาหนามมาวางล้อมไว้ด้วยก็มีในนาตาแฮกจะปลูกข้าวไว้ ๘ ต้น ซึ่งข้าว ๘ ต้นนี้เหมือนเป็นข้าวเสี่ยงทาย เป็นตัวแทนของข้าวในนาแปลงอื่น ๆ ทั้งหมดของตน
ก่อนการทํานาของชาวอีสานจะต้องประกอบพิธีเซ่นไหว้หรือแจ้งผีประจําที่นาก่อนเป็นอันดับแรกจึงจะทำการไถนาได้ ส่วนการทำพิธีครั้งที่สอง จะทําหลังเก็บเกี่ยวและก่อนการนวดข้าว โดยการนำเอาพันธุ์ข้าวที่ปลูกไว้บริเวณที่ผีตาแฮกอยู่ขึ้นไปเก็บไว้ที่กุ้มข้าว เพื่อย้ายไปยังฉางต่อไป สิ่งที่จะนำไปเลี้ยง หรือเซ่นไหว้ มีแตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปมักประกอบด้วยเหล่า ๑ ขวด, ไก่ต้มสุกพร้อมเครื่องใน ๑ ตัว หรือมีแจ่ว ปลาปิ้ง กบปิ้ง เขียดปิ้ง แล้วแต่จะหาได้, กระติ๊บข้าว ๑ กระติ๊บ, ดอกไม้ ธูป เทียน หมาก พลู บุหรี่ หรือขันหมากเบ็งใส่หมาก ๑ คํา ยาสูบ ๑ มวน นํ้า ๑ จอก
เมื่อเตรียมสิ่งที่จะเลี้ยงไว้เรียบร้อยแล้วเอาใส่ตะกร้านําไปในที่ที่เป็นที่อยู่ของผีตาแฮกแล้วจัดแต่งสำรับที่นำมาจัดใส่ถาด เหล้าเปิดฝา กระติ๊บข้าวเหนียวเปิดออก นํ้าและเหล้ารินใส่แก้วคนละใบ จุดเทียนตั้งไว้ผู้เฒ่าเจ้าโคตรเป็นผู้นํากระทําพิธี นํากล่าว
ฝนฟ้าก็ตกแล้ว ลูกหลานสิได้ไถนา หว่านข้าว หว่านกล้า ตกกล้า ดํานาเด้อ ขอให้ตาแฮกได้ซอยปกปักฮักษาเบิ่งแยงอย่าให้ข้าวกล้า เป็นมดเป็นแมง ให้งามหลายสุดยิ่ง ให้ได้หมากได้ผลสมบูรณ์ด้วยเทอญ
แล้วถวายอาหารคาวหวานแก่ผีตาแฮก ถ้าบ้านใดมีกล้าเรียบร้อยแล้วก็จะนํากล้ามา ๘ ต้น
ผู้เป็นประธานจะปักต้นกล้าลงในนาแฮก ผู้เป็นประธานก็จะกล่าวคําผญาภาษิตไปด้วยในขณะที่ปักดํา
ถ้าหากเลี้ยงหรือเซ่นไหว้หลังการทํานาก็จะเป็นการกล่าวคำขอบคุณผีตาแฮกที่ทำให้การทำนาประสบผลสำเร็จด้วยดี กะเวลาพอประมาณก็นําสํารับที่เตรียมไปเลี้ยงคนในครอบครัวที่ไปเลี้ยงผีตาแฮกด้วย ก็เป็นอันเสร็จพิธี
การไหว้ผีตาแฮก หรือทำพิธีปักกกแฮก จะดําเนินการตอนช่วงจะเริ่มปักดํา โบราณนิยมแฮกนาดําวันอาทิตย์ แฮกนาหว่านวันจันทร์ ปักตาแฮก ปักกกแฮกและดํานาวันพฤหัสบดี ทําขวัญข้าววันอังคาร แฮกถางไฮ่ (ถางไร่) สุม (เผา) ไฮ่เอาวันศุกร์
การเลี้ยงตาแฮก อาจเลี้ยงเฉย ๆ โดยไม่มีการทำนาในตาแฮกก็ได้ หรือเลี้ยงไปแล้วก็ดำนาตาแฮกไปด้วยก็ได้ถ้ามีกล้าแล้ว ส่วนผู้ที่ไม่มีกล้า เมื่อเลี้ยงแล้ว ไถแฮกนาแล้ว เมื่อก่อนจะปักดําจึงมาดํานาที่ตาแฮกนี้ภายหลังก็ได้
วิธีปักตาแฮก ให้นําเอาต้นกล้ามา ๘ ต้น เอาขัน ๕ มายกใส่หัวแล้วยกขันห้าขึ้นพร้อมทั้งสวดบทสวดบูชาพระรัตนตรัย และอธิษฐานถึงแม่โพสพ ให้มาคํ้าคูณ วางขันลงข้างตาแฮกหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปักกล้าลงแต่ละต้นให้ ว่าดังนี้
(ต้นที่ ๑) ปักกกนี้ พุทธะฮักษา
(ต้นที่ ๒) ปักกกนี้ ธรรมะฮักษา
(ต้นที่ ๓) ปักกกนี้ สังฆะฮักษา
(ต้นที่ ๔) ปักกกนี้ เพิ่นเสีย กูได้
(ต้นที่ ๕) ปักกกนี้ เพิ่นให้กูมี
(ต้นที่ ๖) ปักกกนี้ ให้ได้หมื่น มาเญีย
(ต้นที่ ๗) ปักกกนี้ ให้ได้หมื่นเญีย พันเล้า
(ต้นที่ ๘) ปักกกนี้ ขวัญข้าว ให้มาโฮม
หลังจากปักครบ ๘ ต้น เป็นอันเสร็จพิธีดำนาตาแฮก นอกจากนั้นหลังจากดำนาตาแฮกเสร็จแล้ว เมื่อจะเริ่มดํานาในแปลงอื่น ก็จะต้องทําพิธีแรกดํานาก่อน โดยเตรียมขัน ๕ และกล้าอีก ๑๔ ต้น เมื่อจะปักดำกล้าแต่ละต้น ก็จะกล่าวคาถาเสกมนต์ดังนี้ก่อน แล้วค่อยปักดํา
“ไฮ่นี้ไฮ่กํ้าขวา นานี้นาท้าวทม ท้าวทมให้กูมาแฮกนา กูจักแฮก พญาให้กูมาแฮกไฮ่ กูจักแฮก ปักกกนี้ให้กูได้งัวแม่ลาย ปักกกนี้ให้กูได้ควายเขาซ้อง ปักกกนี้นกจิบโตตาบอด ให้บินหนี ปักกกนี้นกจอกโตตาแวน ให้บินหนี ปักกกนี้แมงดาโตฮู้ฮํ่ากกข้าว ให้บินหนี ปักกกนี้ให้ได้ฆ้องเก้ากำ ปักกกนี้ให้ได้คำเก้าหมื่น ปักกกนี้ให้อวนเก้าหมื่นมาเญีย ปักกกนี้ให้มานใหญ่ท่อมานอ้อย ปักกกนี้ ให้มานน้อยท่อมานเลา ปักกกนี้ ให้ได้เป็นเศรษฐีเท่าเฒ่า โอม สหุม”
หลังจากปักครบ ๑๔ ต้น เป็นอันเสร็จพิธีแรกดํานา
ความหมายของคำว่า “แรกนา” (แฮกนา) ยังมีผู้ค้นคว้าพบความเกี่ยวโยงกับภาษาในตระกูลออสโตรเนเซียนไว้อย่างน่าสนใจ คือบทความเรื่อง “แรกนาขวัญ ‘เบิกพรหมจรรย์’ และนาตาแฮก” โดย สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช ในมติชน ออนไลน์มีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้
“ในวารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา ฉบับมกราคม-มิถุนายน ๒๕๕๗ ได้ลงบทความเก็บตก จากงานสัมมนาการบรรยายเรื่อง “วิถีข้าว วิถีชีวิตในการบูรณาการทางสังคมไท” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิเชฐ สายพันธ์คัดมาในตอนที่เกี่ยวกับแบบแผนพิธีกรรมการเพาะปลูกข้าวอ้างถึงข้อสังเกตของ ปรานี วงษ์เทศ (๒๕๓๖) ต่อพิธีกรรมต่าง ๆ ในการทํานาของชาวจ้วงว่า
“ซึ่งมักให้ความสําคัญต่อบทบาทผู้หญิงและความเป็นหญิงซึ่งพิธีของชาวจ้วงจะให้ชายแต่งเป็นหญิงตีกลองที่ดี ซึ่งชาวบ้านอธิบายว่าในอดีตผู้หญิงเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน เป็นผู้ชี้แนะการเพาะปลูก บอกชุมชนให้เริ่มทํานาและพิธีหว่านของชาวจ้วงในกวางสี ผู้หญิงจะนำข้าวเหนียวนึ่ง ๕ สี (ขาว เหลือง แดง เขียว ม่วง) ไก่ เหล้า ไปบูชาผีข้าวในนาก่อนจะทําการหว่านข้าว”
และคัดมาในอีกตอนที่เกี่ยวกับพิธีแรกนาของชาวจ้วงว่า
“ชาวจ้วงแฮกนาโดยให้หญิงชราลูกดกไปดึงกล้าแล้วนําไปดําเป็นเคล็ดในการแรกนา ซึ่งกลุ่มชาวจ้วงเชื่อว่าเป็นพิธีที่สะท้อนบทบาทหญิงที่เคยเป็นผู้นําชุมชนเกษตรกรรมการเพาะปลูกข้าวของสังคมไทมาก่อน”
พิธีกรรมแบบ “นาตาแฮก” ก่อนลงมือปลูกพืชผลตามฤดูกาลนั้น ก็มีปรากฏในประเพณีครั้งเก่าของทางอินโดนีเซีย ตั้งแต่พวกดายัคลงไปจนถึงพวกซุนดาและชวาแห่งอุษาคเนย์ตอนล่าง เพียงแต่เรียกในชื่อต่างกันออกไป เช่นว่า “upacara adat tanam padi – อูปาจารา อาดั๊ต ตานัม ปาดี้” แปลว่า พิธีกรรมดํานาข้าว หรือ “upacara adat bertani – อูปาจารา อาดั๊ต เบอรตานี” แปลว่า พิธีกรรมปลูกพืชพันธุ์หรือ “upacara adat buka tanah อูปาจารา อาดั๊ต บูกา ตานาฮ” แปลว่า พิธีกรรมการเปิดผืนดิน
มีคําที่น่าสนใจคือคําว่า “tanam” อ่านว่า “ตานัม” มีความหมายว่า ปลูกฝังแช่เมล็ดหรือต้นกล้าพันธุ์ลงไปในดิน (ที่ชุ่มชื่นไปด้วยน้ำ) เพื่อรอให้งอกงามเจริญเติบโต ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “to plant” และตรงกับภาษาของพวกไท-ไต ว่า “ดํา” ซึ่งเป็นคําที่พิเศษและถูกใช้ในหลากหลายสถานภาพทั้ง สีดํา การปักดํา การรดนํ้า และการดําหัว
และอีกคําว่า “buka” อ่านว่า “บูก้า” ที่น่าสนใจไม่แพ้คําว่า “tanam” โดยคําว่า “buka” มีความหมายในภาษาอินโดนีเซียว่าเปิดออก เปิดเผยสิ่งที่ปกปิดอยู่ให้เป็นที่รับรู้ แสดงการเปิดผลักออกไปข้างหน้าที่ไม่ใช่การดึงกลับเข้ามา ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “open” และตรงกับคําว่า “บุก” หรือ “เบิก” ของพวกไท-ไต คําสองคํานี้แปลในทํานองว่า การล่วงลํ้าเข้าไปเพื่อเปิดทาง เช่น บุกป่าฝ่าดง บุกรุกแผ้วถาง บุกตะลุย เบิกทางเส้นใหม่ ทําให้เปิดกว้างถ่างออก เบิกไร่ เบิกนา หรือเบิกบายศรี
ซึ่งจะเห็นความคล้ายกันทั้งในรูปคําและความหมาย ระหว่างคําของพวกอินโดนีเซีย ซึ่งเป็น “Austronesian” สายหนึ่งกับคำของพวกไท-ไต ซึ่งเป็น “Tai-Kadai” สายหนึ่ง และคงกล่าวได้ อย่างไม่เก้อเขินว่า พิธีกรรมแรกนาขวัญ นั้นเป็นวัฒนธรรมร่วมดั้งเดิมของชาวอุษาคเนย์อย่างแท้จริง
คําของพวก ไท-ไต ว่า “แรกนา” ซึ่งเป็นคำเดียวกับ “นาตาแฮก” นั้นได้เจาะจงลงไปเป็นพิเศษที่ “แรก” และ“แฮก” ว่า เป็นการทําพิธีกรรมของผู้คนที่ต้องการสื่อสารกับสิ่งเหนือไปจากการรับรู้ทั่วไป เป็นการเฉพาะ ในการทํากิจกรรมเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นการสื่อความหมายอย่างชัดเจนของการใช้คำว่า “แรก” หรือ “แฮก” อย่างตรงไปตรงมา บอกให้รับรู้ถึงการเริ่มต้นการบุกเบิก การเปิดทาง เพื่อกิจกรรมแห่งการก่อกำเนิดชีวิตในแนวทางเดียวกับการ “ชำแรก” หรือ “แทรก” เปิดพรหมจรรย์ของแท่งศิวะลึงค์ เพื่อให้ชีวิตใหม่ได้ปฏิสนธิในอุ้งครรภ์มารดาอย่างสมบูรณ์ เป็นพิธีกรรมโบราณของผู้คนในย่านนี้ที่มีมาก่อนพิธีพราหมณ์อย่างยาวนาน
ซึ่งสอดคล้องต้องกันกับข้อสังเกตของนักวิชาการหลายท่านที่ว่า แม่หญิงต้องเป็นผู้นําในพิธีศักดิ์สิทธิ์นี้และผู้บ่าวคนแบกรับภาระไว้บนบ่าก็ต้องแต่งเป็นแม่หญิงเท่านั้น เพื่อทําหน้าที่ตีกลองร้องส่งเสียงบอกผีฟ้าให้รับรู้เพราะนี่คือพิธีกรรมแห่งการสืบสานเผ่าพันธุ์ระหวางผีฟ้าผู้เป็นพ่อที่ให้กำเนิดเชื้อชีวิตลงมาชำแรกแทรกตัวเข้าปฏิสนธิกับเชื้อไขในอู่ครรภ์มดลูกของแม่ธรณียังเบื้องล่าง โดยมีหยาดนํ้าเป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างผีฟ้าและแม่ดิน เพื่อช่วยให้พิธีกรรมสืบสานเผ่าพันธุ์ส่งผลอย่างสมบูรณ์เต็มที่
นอกจากนี้ในภาษาของอินโดนีเซียยังมีคําที่สื่อความหมายของคําว่า “แรก” และ “แฮก” อย่างชัดเจน คือคําว่า “sarak” อ่านว่า “ซารัค” แปลตรง ๆ ว่า แบ่งแยก ซึ่งถ้าสังเกตจะเห็นว่าออกโทนเสียงได้สําเนียงใกล้เคียง และยังมีความหมายอันเดียวกับคําว่า “ชําแรก” “แทรก” “แรก” และ “แฮก” นั่นคือการเปิดแหกแยกบางสิ่งออกจากกัน จึงขอเสนอรากความหมายดั้งเดิมของประเพณีเก่าแก่แห่งอุษาคเนย์ “แรกนา” และ “แฮกนา” ไว้ ณ ที่นี้
***
คอลัมน์ ตํานานเก่าเว่าม่วน นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๙| มีนาคม ๒๕๖๐
.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220