ตํานานพระธาตุในลุ่มแม่นํ้าโขง

The legends of ‘Phra Dhatu’

The legends of ‘Phra Dhatu’ can be defined as sacred stories found in written or oral literature, the content of which focuses on the origins of the creation of Chedis believed to contain relics of the Buddha.

There may be folklores, stories of local heroes and major incidents related to the geographical features of the place integrated in the legends.

Given the importance of these legends of Phra Dhatu, it is worth attempting to find out together how the creation of the Chedis or pagodas for Buddha relics and their correlating legends started.

The oldest legend of Phra Dhatu Chedis found in Buddhist scriptures is Mahaparinibbana Sutta. Hajime Nakamura (1989) assumed that the Sutra was composed in India during the 4th-8th century B.E.

พระธาตุพนม จ.นครพนม

ความตั้งใจในการเสนอให้องค์ “พระธาตุพนม” ศาสนสถานสําคัญแห่งลุ่มแม่นํ้าโขงเป็น “มรดกโลก” เป็นกระแสที่น่าจับตามองและทําความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวของพระธาตุพนม ศาสนสถานที่ตั้งตระหง่าน ณ ดอยกัปปนคีรีหรือ ภูกําพร้า ตามที่ปรากฏใน “ตํานานอุรังคธาตุ” ซึ่งตํานานดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงเฉพาะเรื่องราวของพระธาตุพนมเท่านั้น แต่ยังบอกเล่าถึงพระธาตุอีกหลายแห่งในลุ่มแม่น้ำโขงที่อยู่บนพื้นที่วัฒนธรรมอีสาน – ล้านช้าง ที่ผู้เขียนจะนําท่าน “เปิดผ้าม่านกั้ง” ตํานานพระธาตุในลุ่มแม่นํ้าโขง

คำว่า “ตำนาน” มีนิยามไว้หลากหลาย ดังเช่น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้อธิบายความหมายของคำว่าตำนานไว้ว่า ตำนานเป็นคํานาม หมายถึง เรื่องแสดงความเป็นมาแต่ปางหลังของสถานที่ บุคคล หรือพิธีกรรมเป็นต้น, เรื่องราวนมนานที่เล่ากันสืบ ๆ มา, เช่น ตํานานพุทธเจดีย์, ตํานานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว, เรียกพระปริตรบทหนึ่ง ๆ ว่า ตํานาน ในคําว่าเจ็ดตํานาน สิบสองตํานาน (มาจากคําเขมร ตํานาน ว่า เรื่องสมัยโบราณที่เล่าต่อ ๆ กันมา)

สวนอาจารย์ธิดา สาระยา (๒๕๓๙) อธิบายว่า ตํานานเป็นเรื่องราวปรัมปราที่ไม่สามารถกําหนดเงื่อนไขทางเวลาที่แน่นอนได้เพราะต้นกําเนิดดั้งเดิมของตํานานคือจารีตการบอกเล่าด้วยมุขปาฐะ สามารถจําแนกตํานานออกได้หลายชนิดเช่น ตํานานศาสนาตํานานบุคคลในนิทาน ตํานานประวัติศาสตร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ในนิยามของ ศิราพร ณ ถลาง (๒๕๔๘) ให้นิยามตำนานว่า เป็นข้อมูลทางคติชนประเภท myth ซึ่งในทางคติชนวิทยาหมายถึงเรื่องเล่าประเภทที่อธิบายกําเนิดของสรรพสิ่ง เช่น  กําเนิดโลก กําเนิดมนุษย์ กําเนิดสัตว์-พืช เป็นต้น รวมทั้งเรื่องเล่าที่ใช้อธิบายที่มาของพิธีกรรมความเชื่อในสังคมต่าง ๆ ตํานานจึงมีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาของแต่ละกลุ่มชน ตัวละครในตำนานมักเป็นพระเจ้า เทพเจ้า เทวดา ผู้มีอํานาจเหนือธรรมชาติที่มีความสัมพันธ์กับมนุษย์

สําหรับ ปฐม หงส์สุวรรณ (๒๕๕๐) ได้กล่าวถึง ตํานาน หรือ myth ว่ามีต้นเค้ามาจากคำว่า “muthos” ในภาษากรีก แปลว่า คำหรือถ้อยแถลง ซึ่งเป็นคติความเชื่อที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับเรื่องของพระเจ้า อำนาจเหนือธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตํานานมีลักษณะต่างไปจากข้อมูลคติชนประเภทบอกเล่าหรือมุขปาฐะอื่น ๆ เพราะมีลักษณะเป็นเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์จึงไม่ใช่เรื่องเล่าธรรมดา แต่เป็นเรื่องราวที่มีความสัมพันธ์กับระบบคิดที่เกี่ยวข้องกับอํานาจเหนือธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตํานานเป็นเรื่องราวที่บอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยโบราณของบุคคลสําคัญของชนชาติต่าง ๆ รวมถึงการสร้างบ้านแปลงเมืองในสมัยโบราณ เรื่องราวเกี่ยวกับปูชนียวัตถุ โบราณสถาน ซึ่งถูกถ่ายทอดทางมุขปาฐะสืบมาจนเกิดการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เรื่องราวที่มีการบันทึกมีช่วงระยะเวลาที่ห่างไกลกับเหตุการณ์ จึงทำให้เนื้อหาสาระของตํานานมีทั้งข้อเท็จจริงที่ปะปนกันกับเรื่องราวคล้ายกับนิทานปรัมปรา

โดยในมุมมองของนักคติชนวิทยามักมองว่าตํานานเป็นภาษาพิเศษ ที่พยายามสื่อความหมายบางอย่างให้คนรุ่นหลังรับรู้และเข้าใจโดยเฉพาะเรื่องราวความเชื่อและศาสนา เพราะเรื่องราวของตํานานส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องผูกพันอยู่กับเรื่องราวของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอํานาจเหนือธรรมชาติ

การศึกษาตํานานนําไปสู่การศึกษาความหมายหรือนัยที่ซ่อนเร้นในเรื่อง ตํานานจึงเป็นระบบการสื่อสารแบบหนึ่งที่ทําให้เราเข้าใจหรือมองเห็นมิติทางวัฒนธรรมของมนุษย์ในแต่ละกลุ่มชนและสังคม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (๒๕๕๖) ได้ให้ความหมายของคำว่า ธาตุ ว่าเป็นคํานาม หมายถึง กระดูกของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ โดยทั่ว ๆ ไปเรียกรวม ๆ ว่า พระธาตุ, ถ้าเป็นกระดูกของพระพุทธเจ้าเรียก พระบรมธาตุ หรือ พระบรมสารีริกธาตุ, ถ้าเป็นกระดูกส่วนใดส่วนหนึ่งของพระพุทธเจ้า ก็เรียกตามความหมายของคำนั้น ๆ เช่น พระอุรังคธาตุ พระทันตธาตุ ถ้าเป็นผมของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระเกศาธาตุ ถ้าเป็นกระดูกของพระอรหันต์ เรียก พระธาตุ  ธาตุเจดีย์ หมายถึงเจดีย์บรรจุพระธาตุุ, ธาตุสถูป หมายถึง ธาตุเจดีย์

ในหนังสือตํานานพระพุทธเจดีย์ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ (๒๕๑๓) ทรงอธิบายความไว้ว่า อันพระสถูป (ซึ่งเรามักเรียกกันว่า “พระเจดีย์” เช่นที่ชอบสร้างตามวัด) นั้นมีประเพณีสร้างสําหรับบรรจุอัฐิธาตุมาก่อนพุทธกาล ไม่เฉพาะแต่สําหรับบรรจุอัฐิธาตุของพระเจ้าจักรพรรดิเท่านั้น สถูปที่สร้างบรรจุอัฐิธาตุบุคคลอื่น ๆ ก็มีดังปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท ว่า พระพาหิยะเป็นพุทธสาวก ถูกโคชนถึงมรณภาพ พระพุทธองค์โปรดให้สร้างสถูปบรรจุอัฐิธาตุไว้มีเป็นตัวอย่าง ถ้าว่าตามโบราณวัตถุที่ตรวจพบในอินเดีย ถึงพวกที่ถือศาสนาอื่น เช่น พวกเดียรถีย์ นิครนถ์ ก็สร้างสถูปบรรจุอัฐิธาตุของศาสดาจารย์ เป็นทํานองเดียวกัน พิเคราะห์ดูตามลักษณะพระสถูปที่สร้างตั้งแต่โบราณเห็นว่าสถูปชั้นเดิมก็เป็นแต่พูนดินขึ้นเป็นโคกตรงที่ฝังอัฐิธาตุอย่างที่เราก่อพระทราย

พระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร

ส่วน น. ณ ปากนํ้า (๒๕๓๘) ได้อธิบายว่าสถูป มาจากคําบาลีว่า ถูปะ หมายถึง มูลดินเป็นกอง น่าจะเกิดจากการเผาศพแล้วรวบรวมเถ้าถ่านเป็นกองไว้แล้วเอาดินเอาหินมาทับไว้ให้เป็นเนินสูงเพื่อเป็นเครื่องหมายให้เห็นชัดเจน ในสมัยก่อนนั้น การก่อมูลดินสูงน่าจะเป็นประเพณีที่ได้รับความนิยมมานานก่อนสมัยพุทธกาล และได้รับความนิยมสืบมาแม้กระทั่งในยุคพุทธกาลโดยได้มีการสร้างสถูปสําหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและอังคารของพระพุทธเจ้า

จากความหมายของคําว่า “ตํานาน” และ “พระธาตุ” ที่ประมวลมาข้างต้น จึงสรุปนิยามของ  “ตํานานพระธาตุ” ว่าหมายถึง เรื่องราวศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏเป็นวรรณกรรมลายลักษณ์หรือวรรณกรรมมุขปาฐะ มีเนื้อหาสาระสําคัญที่มุ่งเน้นที่จะอธิบายที่มาของการสร้างพระธาตุเจดีย์ ที่เชื่อว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยอาจจะมีตํานานบ้านเมือง บุคคลสําคัญ เหตุการณ์สําคัญ ตลอดทั้งสถานที่จริงทางภูมิศาสตร์แทรกอยู่ในตำนานนั้น

จากความสําคัญของตํานานพระธาตุจึงมีประเด็นที่น่าจะเปิดผ้าม่านกั้งหาคำตอบร่วมกันว่า การสร้างพระธาตุเจดีย์หรือสถูป และตำนานพระธาตุเกิดขึ้นเมื่อใด ?

ตํานานการสร้างสถูป หรือพระธาตุเจดีย์และตํานานพระธาตุที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดที่ชื่อว่า “มหาปรินิพพานสูตร” โดย Hajime Nakamura (๑๙๘๙) สันนิษฐานว่าพระสูตรนี้เป็นพระสูตรที่แต่งขึ้นในอินเดียประมาณพุทธศตวรรษที่ ๔ – ๘

ในมหาปรินิพพานสูตร ได้กล่าวถึงเหตุการณ์หลังเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า แล้วได้มีการถวายพระเพลิงและแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็นแปดส่วนให้กับเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่มาขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ แล้วนําไปสร้างสถูปเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในเมืองของตน เรียกว่า “สรีริกาถูป” เรื่องราวนี้มีรายละเอียดอยู่ใน ธาตุภาชนียกถา ในฉบับภาษาบาลีและในฉบับภาษาไทย ความว่า

อฏฺฐ สารีริกา ถูปา   พระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๘ แห่ง

นวโม ตุมฺพเจติโย    ตุมพเจดีย์เป็นแห่งที่ ๙

องฺคารถูโป ทสโม     และพระสถูปบรรจุพระอังคารเป็นแห่งที่ ๑๐

ตทาเยว ปติฏฺฐิโต    ประดิษฐานอยู่แล้วในกาลนั้น

เป็นที่น่าสังเกตประการหนึ่งว่า ในมหาปรินิพพานสูตรนั้น ไม่ได้ปรากฏบทบาทของพระสงฆ์ในการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อแจกจ่ายให้กับเมืองต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดสงคราม แต่บทบาทดังกล่าวกลับกลายเป็นบทบาทหน้าที่ของพราหมณ์ที่ชื่อ “โทณะ” ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ไม่ได้มุ่งหมายที่จะให้พระสงฆ์สาวกของพระองค์ยึดมั่นกับการบูชาสถูปหรือรูปเคารพ แต่ต้องการให้ยึดมั่นในหลักธรรมคําสอนโดยไม่ยึดติดในพิธีกรรม จึงทำให้เนื้อหาในมหาปรินิพพานสูตรตอนแบ่งพระธาตุได้เน้นบทบาทของกษัตริย์และพราหมณ์ โดยไม่ปรากฏบทบาทของพระสงฆ์เข้าไปเกี่ยวข้อง

ในการสร้างสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในสมัยต่อมา ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ “อโศกาวทาน” ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึงเรื่องราวของพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งราชวงศ์โมริยะกษัตริย์ผู้สามารถรวมแผ่นดินอินเดียให้เป็นปึกแผ่น และทํานุบํารุงพุทธศาสนาจนเจริญรุ่งเรือง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๓ พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๓ เผยแพร่พุทธศาสนาไปยังดินแดนต่าง ๆ โดยการส่งสมณทูตออกเผยแผ่ศาสนานอกแผ่นดินอินเดีย และพระราชกรณียกิจที่สําคัญคือ ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างสถูปจํานวน ๘๔,๐๐๐ องค์ ทั่วทั้งชมพูทวีปเรียกว่า “ธรรมราชิกสถูป” ซึ่งหมายถึงสถูปที่สร้างขึ้นโดยพระราชาผู้ปกครองโดยธรรม พระองค์ทรงรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุ จากสรีริกาถูป แล้วแบ่งออกเพื่อบรรจุในธรรมราชิกสถูปที่สร้างไว้ในเมืองต่าง ๆ ดังเช่น สถูปสาญจีหมายเลข ๑ แห่งเมืองวิทิศาที่มีความสมบูรณ์และเป็นต้นแบบแห่งสถูปทั้งหลายในพุทธศาสนาในเวลาต่อมา (จอห์น เอส สตรอง, ๒๕๕๒)

การบันทึกเรื่องราวของธรรมราชิกสถูปกลายเป็นต้นแบบตํานานและคติเรื่องการบูชาพระธาตุในพุทธศาสนาฝ่ายลังกาวงศ์โดยในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๐ “พระพุทธโฆสะ” ได้มีการแต่งเติมพุทธประวัติด้วยตํานานที่ไม่มีปรากฏมาก่อน เช่น การระบุว่าพระธาตุที่อยู่ตามเมืองต่าง ๆ มาจากพุทธสรีระส่วนใด มีขนาดและวรรณะอย่างไร การแต่งเติมเนื้อหาเช่นนี้เพราะต้องการแสดงให้เห็นว่าลังกาเป็นศูนย์กลางของพระธาตุสืบต่อจากอินเดีย เช่น แต่งเพิ่มว่าพระธาตุเมืองรามคามของอินเดียได้ถูกพัดพาลงมหาสมุทร มีพวกนาครักษาไว้ต่อมาในสมัยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะแห่งลังกา พระบรมสารีริกธาตุนั้นได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ มหาสถูปเมืองอนุราธปุระ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ตํานานพระธาตุในชั้นพระไตรปิฎก เป็นการบันทึกเรื่องราวของพระบรมสารีริกธาตุและการสร้างสถูป ยังไม่ได้มีการนําพงศาวดารเมืองและเรื่องปาฏิหาริย์แทรกเข้าไปจนเป็นตํานานพุทธศาสนาท้องถิ่นเหมือนที่เกิดขึ้นในลังกาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๐ เป็นต้นมา

ตํานานพระธาตุที่เป็นการผนวกตํานานพุทธศาสนาเข้ากับพระราชพงศาวดาร คือ “มหาวังสะ” หรือ “มหาวงศ์” เป็นคัมภีร์ภาษาบาลีที่ “พระมหานามเถระ” พระภิกษุแห่งสํานักมหาวิหารของลังกา แต่งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๑๐๐๐ ในรัชสมัยของพระเจ้าธาตุเสนะ หรืออาจแต่งขึ้น ในสมัยพระเจ้าโมคคัลลานะ วรรณกรรมประเภทวังสะนี้เป็นการนําตํานานพุทธศาสนามาผนวกเข้ากับพระราชพงศาวดาร เพื่อตอกยํ้าความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างพุทธศาสนากับสถาบันกษัตริย์ที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล คัมภีร์มหาวงศ์เป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายอริยวงศ์มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น และฝ่ายขัตติยวงศ์มีพระเจ้ามหาสมมติและพระเจ้าวิชัยปฐมกษัตริย์ลังกาเป็นต้น

คัมภีร์มหาวงศ์เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ลังกาที่สมบูรณ์ และมีเนื้อหาเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของพระสงฆ์ลังกาวงศ์ในไทย ถือได้ว่าเป็นต้นแบบตํานานพระธาตุที่รวมเอาตํานานศาสนาและพงศาวดารเข้าเป็นตํานานเดียวกัน

ในดินแดนลุ่มแม่นํ้าโขง โดยเฉพาะในแผ่นดินอีสาน ได้มีการค้นพบสถูปเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สร้างในสมัยทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ -๑๖ เช่น พระธาตุนาดูนแห่งเมืองจำปาศรี จังหวัดมหาสารคาม พระธาตุยาคูแห่งเมืองฟ้าแดดสงยางจังหวัดกาฬสินธุ์ แต่หลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏกลับไม่สามารถระบุความสําคัญของพระธาตุทั้งสองแห่งนี้ ได้ว่ามีความสำคัญอย่างไรต่อชุมชนเมื่อครั้งโบราณ ซึ่งแตกต่างจากสรีริกาถูปธรรมราชิกสถูป ที่มีตำนานพระธาตุเป็นหลักฐาน ทางประวัติศาสตร์สำคัญที่ยืนยันความเป็นเจดีย์สำคัญคู่บ้านคู่เมือง ตำนานพระธาตุจึงเป็นข้อมูลสําคัญในการการสถาปนาความสําคัญของมหาธาตุอย่างมีนัยสําคัญ

ดังที่ศรีศักร วัลลิโภดม (๒๕๔๖) ได้กล่าวถึงลักษณะสําคัญ ๓ ประการของวัดมหาธาตุในดินแดนไทย ไว้ดังนี้

ประการแรก เป็นวัดกลางเมืองที่ดูใหญ่โตสําคัญกว่าวัดอื่น ๆ มีพระมหาสถูปเจดีย์เป็นประธานอย่างสง่างาม

ประการที่สอง มีการสืบเนื่องกันนานกว่าวัดอื่น ๆ ดังเห็นได้จากพระมหาธาตุเจดีย์เองก็ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อยู่เรื่อย ๆ ในขณะที่ภายในบริเวณพุทธาวาสมีการก่อสร้างพระสถูปเจดีย์วิหารหรือโบสถ์เพิ่มเติมเรื่อยมา จนระยะหนึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากมายหลายรูปแบบอยู่รวมกันอย่างสืบเนื่อง

ประการที่สาม มักมีการเขียนตำนาน หรือสร้างตํานาน เกี่ยวกับความเป็นมาของพระบรมธาตุและประวัติของเมืองของนครควบคู่กันไปจนทำให้รู้สึกว่าพระบรมธาตุหรือวัดมหาธาตุ เป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากเมือง เป็นของที่คู่กัน ถ้ามีเมืองก็ต้องมีวัดมหาธาตุ เหมือนกันกับมีชุมชนหมู่บ้านที่เรียกว่าบ้านนั้นต้องมีวัดเสมอ และวัดนั้นก็มักใช้ชื่อบ้านเป็นชื่อวัด ในขณะที่วัดมหาธาตุจะถูกเรียกว่า วัดมหาธาตุ หรือพระมหาธาตุเมืองนั้นเมืองนี้เช่นกัน

เรื่องราวเกี่ยวกับตํานานพระธาตุในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงนั้น ศรีศักร วัลลิโภดม (๒๕๓๙) ได้อธิบายไว้ว่า เมื่อมีการสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขงในพื้นที่แอ่งสกลนคร ได้มีการสร้างวัด สร้างพระธาตุและสร้างตํานานเพื่ออธิบายความเป็นมา ดังเช่นการสร้างพระธาตุพนม โดยพระราชครูหลวงโพนสะเม็ก ได้บูรณะปราสาทแห่งหนึ่งที่บริเวณภูกําพร้าริมฝั่งแม่นํ้าโขง ในบริเวณที่เคยเป็นศาสนสถานเดิมมาตั้งแต่สมัยทวารวดีตอนปลายให้เป็นพระมหาธาตุเจดีย์ มีการก่อสร้างต่อเติมบริเวณคูหาชั้นบนให้เป็นสถูปแบบลุงควํ่าแล้วบรรจุพระบรมธาตุไว้

ในการสร้างพระธาตุพนมนี้ได้มีการสร้างตำนานเช่นเดียวกับการสร้างพระบรมธาตุสำคัญในเมืองอื่น ๆ ชื่อ “ตํานานอุรังคธาตุ” ขึ้นมาอธิบายให้เห็นถึงความเป็นมาว่า พระธาตุพนมเป็นพระมหาธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้าและที่สําคัญตํานานอุรังคธาตุนี้ยังเป็นหลักฐานสําคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีการบันทึกเรื่องราวของบ้านเมืองและสถานที่สําคัญต่าง ๆ ในดินแดนลุ่มแม่นํ้าโขง ตั้งแต่เวียงจันทน์ถึงนครพนม ทําให้เห็นความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชนแอ่งสกลนคร

นอกจากนี้ตำนานอุรังคธาตุได้เปลี่ยนแปลงโบราณสถานในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงที่มีมาตั้งแต่สมัยทวารวดีลพบุรีให้กลายเป็นพระมหาธาตุเจดีย์ หรือที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า “ธาตุ” ตามคติของพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์

แม้จะยังไม่ได้ลงไปถึงเนื้อหาของตํานานพระธาตุแต่ละแห่งในลุ่มแม่นํ้าโขง หรือ ตํานานพระธาตุในลุ่มแม่น้ำโขงที่ยิ่งใหญ่อย่าง “ตำนานอุรังคธาตุ” แต่ความสืบเนื่องของที่มาแห่งการเกิดตํานานพระธาตุเพื่ออธิบายถึงการสร้างพระธาตุแห่งนั้น ๆ โดยตรง เพื่อรองรับความสําคัญให้พระธาตุนั้นเป็นศาสนสถานประจําเมืองแล้วตำนานพระธาตุยังเป็นหลักฐานที่บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ไว้อีกด้วย

อิทธิพลของคัมภีร์ลังกาประเภทวังสะ คือการผนวกเรื่องราวของวงศ์สำคัญสองฝ่ายได้แก่ พุทธวงศ์ และราชวงศ์ เข้าด้วยกัน ได้เป็นแบบแผนของการเกิดตํานานพระธาตุในลุ่มแม่นํ้าโขง แต่ได้ถูกปรับแปลงโดยสอดแทรกเนื้อหาของท้องถิ่นไว้อย่างน่าสนใจ ตํานานพระธาตุในลุ่มแม่นํ้าโขงจึงเป็นสารสนเทศสําคัญที่เก็บซ่อนข้อมูลที่ควรจะได้รับการถอดรหัส เปิดผ้าม่านกั้ง ในการศึกษา “สังคมและวัฒนธรรมในลุ่มนํ้าโขง” ต่อไป

พระธาตุอานนท์ จ.ยโสธร

อ้างอิง

จอห์น เอส สตรอง. (๒๕๕๒). ความเข้าใจในเรื่องพระเจ้าอโศกและอโศกาวทาน. (สุลักษณ์ ศิวลักษณ์, ผู้แปล). พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย.

น. ณ ปากน้ำ. (๒๕๓๘). สยามศิลปะ จิตรกรรมและสถูปเจดีย์. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ

ธิดา สาระยา. (๒๕๓๙). อาณาจักรเจนละประวัติศาสตร์อีสานโบราณ. กรุงเทพฯ : มติชน

ปฐม หงสสุวรรณ. (๒๕๕๐). กาลครั้งหนึ่ง : ว่าด้วยตํานานกับวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : สํานักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ราชบัณฑิตยสถาน. (๒๕๕๖). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน

ศรีศักร วัลลิโภดม. (๒๕๓๙, ๑๒ สิงหาคม). ผีเป็นกลไกควบคุมสังคม. มติชน. หน้า ๓๔.

ศรีศักร วัลลิโภดม. (๒๕๔๖). ความหมายพระบรมธาตุในอารยธรรมสยามประเทศ. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.

ศิราพร ณ ถลาง. (๒๕๔๘). ทฤษฎีคติชนวิทยาวิธีวิทยาในการวิเคราะห์ตํานาน-นิทานพื้นบ้าน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ. (๒๕๑๓). ตำนานพระพุทธเจดีย์. ธนบุรี : รุ่งวัฒนา.

Hajime Nakamura. (1989). Indian Buddhism : A Surey with Bibliographical Notes. Delhi : Motilal Banarsidass Publishers.

***

คอลัมน์  เปิดผ้าม่านกั้ง  นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๙ | มีนาคม ๒๕๖๐

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ฮูปแต้มวัดไชยศรี บ้านสาวะถี
เบอร์เดียวกัน
ผีตาแฮก
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com