พรมแดนลาวสมัยเจ้าฟ้างุ่ม
ทางอีศาน ฉบับที่๑๒ ปีที่๑ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๖
คอลัมน์: เดินทวนหนทาง
Column: Back to the Root
ผู้เขียน: สมคิด สิงสง
“… thus the king of Sri Ayudhya put up a tribute set composed of 51 male elephants and 50 female ones, twenty thousand of gold and twenty thousand of silver, one hundred thousand rhino horns and many other tributes, one hundred each. Chao Fah Ngum therefore refrained from attacking the City of Sri Ayudhya. He decided to execute all the captive lords and rulers to celebrate his coronation.
Phra Maha Pasamanta, the senior monk who was his teacher, heard about this and came to beg for life of those lords. He condoned them as wished and released them back to their duchies. Somdet Chao Fah Ngum then led his troop back to the City of Vientiane.”
“จักรบหรือบ่ รู้ว่าสิ่งใดนั้นจา ?”
นั่นเป็นถ้อยคำในพระราชสารที่ มหาสิลาวีระวงส์ บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ลาวตั้งแต่โบราณฯ ที่พระเจ้าฟ้างุ่ม มีไปถึง พระรามาธิบดีอู่ทอง เจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา
ก่อนหน้านั้น หลังจากจัดการปักปันเขตแดนแกวแล้วพระเจ้าฟ้างุ่มก็ยกรี้พลขึ้นไปตีเอาเมืองฝ่ายเหนือได้คือเมืองแถน เมืองไช เมืองไล่ เมืองกว้าง เมืองโฮม เมืองกางล้าน เมืองสิงห้าว เมืองหุม เมืองวาด จัดแจงให้เจ้าเมืองเหล่านั้นส่งส่วยเงินทอง ข้อยข้า (ไพร่พล) ผ้ากั้ง (ผ้าม่าน) ผ้าไหม ผ้าพีดาน เครื่องเหล็ก เครื่องศึก ม้าอานและหอกดาบ จากนั้นจึงเสด็จไปตีเอาเมืองบูนใต้และบูนเหนือ ได้สองเมือง ฝ่าย เจ้าเมืองเชียงรุ่ง ได้ยินกิตติศัพท์ก็มีความเกรงกลัวพระเดชานุภาพ จึงแต่งเครื่องบรรณาการมาถวาย มีเงินแสนหนึ่ง ม้าร้อยตัว พร้อมทั้งอานเงิน อานคำ (อานทองคำ) และผ้าแพรจีนเป็นอันมาก
ฝ่ายเจ้าฟ้าคำเรียวผู้เป็นอาว์ ครั้นได้ทราบข่าวว่าเจ้าฟ้างุ่มยกทัพมาตั้งอยู่ปากแม่น้ำอู ก็เกณฑ์ไพร่พลออกไปต่อสู้ถึง ๓ ครั้งก็พ่ายแพ้ทั้ง ๓ ครั้ง จึงละอายไพร่ฟ้าประชาชนเป็นอันมาก ในที่สุดก็ตัดสินใจปลิดชีพตนเองด้วยการกินยาพิษพร้อมมเหสี
เมื่อเจ้าฟ้าคำเรียวสวรรคตแล้ว เสนาอำมาตย์ราชมนตรีจึงพร้อมกันออกไปอัญเชิญเจ้าฟ้างุ่มเข้ามาเสวยราชสมบัติในนครเชียงทอง (หลวงพระบาง) เมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๗๑๕ (ค.ศ.๑๓๕๓ หรือ พ.ศ.๑๘๙๖) ขณะมีพระชนมายุ ๓๗ ชันษา ทรงพระนามว่า “พระยาฟ้าหล้าธรณีศรีศัตนาคนหุต”
เมื่อพระองค์เสวยราชย์แล้ว ก็ทรงจัดแจงแต่งตั้งระเบียบราชการบ้านเมืองเสียใหม่หลายประการ และทรงแต่งตั้งพี่เลี้ยง พ่อเลี้ยงบรรดาที่ตามเสด็จไปอยู่เขมร ให้สถิตในตำแหน่งสำคัญของบ้านเมืองตามความดีความชอบ
ประวัติศาสตร์ลาวตั้งแต่โบราณฯ บันทึกไว้ว่าหัวเมืองภาคอีสานของประเทศไทยในปัจจุบัน นับแต่หนองหานลงไปถึงเมืองร้อยเอ็ด แต่ก่อนเป็นหัวเมืองขึ้นของเขมร ต่อมาตกเป็นหัวเมืองขึ้นของกรุงสุโขทัยสมัย พ่อขุนรามคำแหง ต่อมาเมืองสุโขทัยหมดอำนาจลง และพระเจ้าอู่ทองทรงตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นในปี ค.ศ. ๑๓๕๐ (พ.ศ. ๑๘๙๓) ก่อนเจ้าฟ้างุ่มเสวยราชย์ ๓ ปี แขวงเมืองร้อยเอ็ดจึงตกเป็นหัวเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา
ฉะนั้น เจ้าฟ้างุ่มจึงมีกำหนดที่จะลงไปตีเอาเมืองร้อยเอ็ด และเมืองอื่น ๆ ที่เคยขึ้นต่อเขมรโดยที่ก่อนหน้านั้น หลังขึ้นครองราชย์ได้ปีเดียวเจ้าฟ้างุ่มได้มอบราชการบ้านเมืองให้ พระนางแก้วเก็งยา อยู่ว่าราชการ ขณะที่พระนางทรงพระครรภ์ได้ ๓ เดือน ส่วนพระองค์ยกไพร่พลจะขึ้นไปตีเอาเมืองเชียงแสนโดยทางเรือ คือพายเรือทวนน้ำขึ้นไปในสายแม่น้ำโขง เมื่อเสด็จไปถึงท่าหัวเรือเมืองเหลือก ท้าวอูลองเจ้าเมืองเหลือกออกมาเฝ้าและกราบทูลว่า
“ข้อยนี้เป็นลูกนางแก้วมหารี แม่ข้อยนี้เป็นลูกฟ้าคำเรียว ก็หากเป็นวงสาแห่งเจ้ากูดาย”
พระยาฟ้าหล้าธรณีฯ จึงมีพระราชอาชญาตอบว่า
“ผิว่าเป็นดั่งนั้นแท้ เมืองเหลือกนี้เจ้าจงกินเถอะ ให้เป็นเมืองกลางเฮือนกูเถอะ”
ดั่งนั้นแล้วเสด็จไปเมืองปากแบ่ง จับเอาล่ามเมืองลุน และเจ้าเมืองปากแบ่งได้ แล้วเสด็จไปประทับที่ปากทา แล้วตีเอาเมืองเชียง จากนั้นเสด็จเข้าตีเอาเมืองผา เมืองพัว เมืองพูคูน และเมืองแหงได้ จึงทรงตั้งทั้ง ๔ เมืองนี้เป็นเมือง ๔ หมื่นทางบก
ตอนที่ประทับอยู่เมืองปากทานี้ พระองค์ได้ทำบัญชีชายฉกรรจ์ในเขตที่ตีได้แล้ว มีลาว ๔๐๐,๐๐๐ คน พวกเย้าและแกว ๑๐๐,๐๐๐ คน ช้าง ๕๐๐ เชือก เมื่อตรวจตราบัญชีพลเสร็จแล้วจึงยกเข้าไปตีเอาเมืองหิน และเมืองงาวได้ทั้ง ๒ เมือง จากนั้นจึงเสด็จไปประทับอยู่เมืองดอนมูน(เมืองเชียงราย)
ฝ่าย พระเจ้าสามพระยา กษัตริย์ล้านนา ซึ่งเวลานั้นประทับอยู่ที่เมืองเชียงแสนได้จัดกองทัพออกมาต่อสู้ ทำให้แม่ทัพเมืองเชียงแสนคือ พระยาแสนเมือง ตายคาคอช้าง กองทัพเมืองเชียงแสนเลยแตก กองทัพลาวล้านช้างไล่ตีถึงเมืองแพวเมืองเล็ม เมืองไร่ บ้านยู เมืองยวง เมืองพวง หัวฝาย จนถึงเมืองเชียงแข็ง
พระเจ้าสามพระยา หรือท้าวผายู เห็นทีว่าจะรับศึกไม่ไหว จึงแต่งพระราชสารออกมาขอเป็นไมตรีอ่อนน้อม ขอส่งส่วยข้าวเปลือกปีละ ๑,๐๐๐ หาบ พร้อมสิ่งบรรณาการมาถวายเป็นอันมาก เช่นทองคำสองหมื่น เงินสองแสน แหวนกลมลูกหนึ่งชื่อว่ายอดเชียงแสน แก้วไพฑูรย์ลูกหนึ่งชื่อว่ามณีฟ้าร่วง นอกจากนี้ยังได้ส่งบรรณาการอื่น ๆ มาให้พวกแม่ทัพนายกองเป็นอันมาก แล้วพระกษัตริย์ทั้งสองจึงได้ตกลงแบ่งปันเขตแดนกันคือ ตั้งแต่ผาไดลงมาให้เป็นเขตแดนของประเทศล้านช้าง
เมื่อแบ่งเขตแดนกันแล้วเจ้าฟ้างุ่มจึงยกทัพกลับคืน และสั่งให้กวาดเอาพวกขอมเก่าที่อยู่หัวน้ำทา และเมืองหล้า เมืองกอ ตลอดถึงแดนลื้อ (ไทลื้อ-เชียงรุ่ง) จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ คนลงมาไว้ในแดนเชียงทอง ยังเหลือไว้พูคูน ๒๐ ครอบครัว พูจอมแจ้ง ๒๐ ครอบครัว และพูคา ๒๐ ครอบครัวเท่านั้น
การศึกหัวเมืองฝ่ายเหนือหนนั้นใช้เวลาถึง ๒ ปี เมื่อกลับมาถึงพระนครเชียงทอง พระมเหสีก็มีประสูติการพระโอรสแล้ว ทรงพระนาม ท้าวอุ่นเมือง (บางฉบับว่าท้าวอุ่นเรือน) ถึงปี ค.ศ. ๑๓๕๖ (พ.ศ.๑๘๙๘) เจ้าฟ้างุ่มทรงยกทัพหลวงไปตีเวียงจันทน์ มีเรื่องราวรายละเอียดมากมาย สรุปว่าในที่สุดเจ้าฟ้างุ่มตีได้เวียงจันทน์ และทรงสรุปบัญชีพลว่า
ตั้งแต่เมืองปากห้วยหลวง (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย) ขึ้นไปถึงเมืองผาได มีคนอยู่ ๖๐๐,๐๐๐ คน ช้าง ๒,๐๐๐ เชือกม้า ๑,๐๐๐ ตัว
ทางใต้ตั้งแต่เมืองพระน้ำรุ่งเชียงสา (ปัจจุบันอยู่เขตเมืองปากซัน สปป.ลาว) ลงไปถึงแดนจามแดนเขมร และแดนแกว จนถึงเมืองปากวาง (ไม่ทราบว่าเป็นเมืองใด) มีคน ๔๐๐,๐๐๐ คน ช้าง ๑,๐๐๐ เชือก ม้า ๕๐๐ ตัว
รวมพลชายฉกรรจ์ในประเทศลาวทั้งหมดมี ๑ ล้านคน เป็นลาว ๗๐๐,๐๐๐ คน เป็นไท ๓๐๐,๐๐๐ คน
มหาสิลา วีระวงส์ บันทึกเรื่องราวตอนเสด็จลงไปตีเมืองร้อยเอ็ด สรุปความได้ว่า ในคราวนั้นเจ้าฟ้างุ่มมหาราชหยุดประทับเลี้ยงไพร่พลอยู่นครเวียงจันทน์พอสมควรแล้ว ก็ทรงกำหนดการลงไปตีเอาประเทศล้านเพีย๑ คือกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงแต่งตั้งให้หมื่นแกกับหมื่นกะบองเป็นทัพหน้า พระยาเมืองขวาเป็นปีกขวา พระยาเมืองซ้ายเป็นปีกซ้าย ให้หมื่นจันเป็นทัพหลัง รวมพลได้ ๔๘,๐๐๐ คน ช้าง ๕๐๐ เชือก เสด็จยกทัพออกจากเวียงจันทน์ไปทางบึงพระงาม (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดพิจิตรของประเทศไทย) ตีเอาบึงพระงามได้แล้วยกเลยเข้าไปตีเมืองร้อยเอ็ด จับพระยาเจ้าเมืองขังไว้ แล้วสั่งให้กองทัพแยกย้ายออกหาตีเอาเมืองเล็กเมืองน้อยได้อีกหลายเมือง คือเมืองพะสาด เมืองพะสะเขียน เมืองพะลง เมืองพระนาราย เมืองพะนาเทียน เมืองเซซะนาด (เมืองเหล่านี้อยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ด สุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ) เมืองสะพังสี่แจ (น่าจะเป็นเมืองสี่เหลี่ยมในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด) เมืองโพนพิงแดด จับเจ้าเมืองเหล่านี้มาขังไว้ที่เมืองร้อยเอ็ดหมดแล้วจึงส่งพระราชสารลงไปหาพระรามาธิบดีอู่ทอง เจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาว่า
“จักรบหรือบ่ รู้ว่าสิ่งใดนั้นจา”
พระรามาธิบดีอู่ทองได้ทราบพระราชสารดั่งนั้น จึงตอบพระราชสารคืนมาว่า
“เราหากเป็นพี่น้องกันมาตั้งแต่ขุนบรมปางก่อนพุ้นดาย เจ้าอยากได้บ้านได้เมือง ให้เอาแต่เขตแดนดงสามเส้า (ดงพญาไฟ) เมือเท้าภูพะยาผ่อ และแดนเมืองนครไทย เป็นเจ้าถ้อน อันหนึ่งข้อยจักส่งน้ำอ้อยน้ำตาลซู่ปี อันหนึ่ง ลูกหญิงข้าชื่อนางแก้วยอดฟ้า ใหญ่มาแล้วจักส่งเมือให้ปัดเสื่อปูหมอนแก่เจ้าฟ้าแล…”
ดงสามเส้า หรือดงพญาไฟ ปัจจุบันเรียกขานใหม่ให้เป็น “ดงพญาเย็น” เขตแดนเมืองโคราชกับสระบุรี ส่วนภูพญาผ่อ หรือพญาฝ่อ และแดนเมืองนครไทยนั้นคือ เทือกเขาเพชรบูรณ์ที่เป็นเส้นแบ่งระหว่างจังหวัดภาคอีสานกับภาคกลางและภาคเหนือ ลาวเรียกเขาแดนลาว
“…ดังนั้นแล้ว พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงแต่งราชบรรณาการมาถวาย คือช้างพราย ๕๑ เชือก ช้างพัง ๕๐ เชือก ทองคำสองหมื่น เงินสองหมื่น นอแรดแสนนอ กับเครื่องบรรณาการอื่นๆ อีกอย่างละร้อย เจ้าฟ้างุ่มจึงไม่เสด็จไปตีกรุงศรีอยุธยา เวลานั้นพระองค์จะให้ทำพิธีปฐมกรรมประหารชีวิตเจ้าเมืองที่จับได้นั้นทั้งหมดเพื่อฉลองชัยปราบดาภิเษก
ความนี้ร่ำลือไปถึงหูพระมหาปาสะมันตะเถระเจ้าผู้เป็นอาจารย์ พระเถระเจ้าจึงมาขอบิณฑบาตชีวิตของเจ้าเมืองเหล่านั้นไว้ พระองค์ก็โปรดประทานอภัยโทษให้ และปล่อยให้คืนครองบ้านเมืองของตนต่อไป แล้วสมเด็จพระเจ้าฟ้างุ่มจึงยกทัพกลับคืนนครเวียงจันทน์”
มหาสิลา วีระวงส์ บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ลาวแต่โบราณฯ (หน้า ๔๒)
ทว่า ประวัติศาสตร์ไม่มีวันหยุดนิ่ง ตราบใดที่โลกยังหมุน วันเวลาก็ย่อมเกิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เรื่องราวต่อไปจะเล่าเรื่องเขตแดนกรุงรัตนโกสินทร์ฯ ตอนต้น