พิธีกรรมหลังความตายในครั้งบรรพกาลของชาวอุษาคเนย์
ร่องรอยพิธีกรรมหลังความตายในยุคบรรพกาล
เรื่องราวพิธีกรรมหลังความตายในอดีตของชาวอุษาคเนย์ ถูกบันทึกไว้ในนิทานน้ำเต้าปุ้ง กล่าวถึงการปลงศพด้วยการเผาและการฝังมีการส่งข้าวปลาอาหารให้ผู้ตายเหมือนครั้งยังมีชีวิต ความว่า
“…คนทั้งหลายฝูงออกมาทางฮูซีนั้นแบ่งเป็น ๒ หมู่ หมู่หนึ่งเรียกชื่อ “ไทลม” หมู่หนึ่งเรียกชื่อ “ไทลี” ผู้ออกทางฮูสิ่วนั้นแบ่งเป็น ๓ หมู่ หมู่หนึ่งเรียกชื่อ “ไทเลิง” หมู่หนึ่งเรียกชื่อ “ไทลอ” หมู่หนึ่งเรียกชื่อ “ไทควาง” แล…
…อยู่เหิงนานไปพ่อแม่เขาก็ตาย ท่านปู่ลางเชิงเล่าบอกให้เขาไหว้พ่อแม่เขา แล้วให้ส่งสการเมี้ยนซาก ฝูงออกมาทางฮูสิ่วให้เผาเสีย เก็บถูล้างส่วยสีแล้วให้แปงเถียงใส่ดูกไว้ ให้ไปส่งข้าวส่งน้ำซุมื้อ
ฝูงออกทางฮูซีนั้นให้ฝังเสีย แล้วแปงเถียงกวมไว้ เล่าให้ไปส่งข้าวน้ำซุวัน
ครั้นเขาไปบ่ได้ ปู่ลางเชิงบอกให้แต่งเพื่อนข้าวเหล้าไว้ห้าห้องเรือนเขาแล้ว ให้เขาเรียกพ่อแม่เขาฝูงตายนั้นมากิน หั้นแล…”
จากการขุดค้นทางโบราณคดีในประเทศไทย พบว่า ในอดีตการปลงศพยุคแรกน่าจะเป็นการทิ้งศพ แล้วค่อยพัฒนามาเป็นการฝังศพ (Interment) และการเผาศพ (Cremation)
ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ (ประมาณ ๓๐,๐๐๐ – ๒,๐๐๐ ปี) ตั้งแต่ยุคหินเก่าตอนปลายจนถึงยุคโลหะ พบว่า มีการฝังศพทั้งแบบเหยียดยาว นอนตะแคง งอตัว งอเข่า ซึ่งอาจจะมีการมัดหรือห่อศพ อาจจะมีการใส่ของอุทิศให้ผู้ตาย กลบหลุมด้วยดินแล้วนำก้อนหินมาทับเพื่อป้องกันสัตว์รบกวน ต่อมาในยุคหินใหม่ยังฝังศพตามแบบแผนเดิม มีการฝังสิ่งของอุทิศในหลุมศพจำนวนมากและหลากหลายชนิดขึ้น เช่น เปลือกหอย ลูกปัด และกระดองเต่า เป็นต้น
ต่อมาในยุคโลหะ พบว่า นอกจากฝังศพตามแบบแผนเดิมแล้ว ยังบรรจุศพทั้งร่างในภาชนะ (primary Jar burial) และเก็บกระดูกมาบรรจุในภาชนะ (secondary jar burial) โดยนำศพไปฝังให้เน่าเปื่อยก่อนแล้วจึงขุดกระดูกมาบรรจุลงภาชนะเพื่อประกอบพิธีกรรมอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า พิธีการฝังศพครั้งที่ ๒(secondary burial) ซึ่งพิธีกรรมในลักษณะนี้พบทั่วไปในแถบภาคอีสานของไทย รวมไปถึงในจีน ลาว เวียดนามและหมู่เกาะอย่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมถึง ญี่ปุ่นและเกาหลี อีกด้วย
ในยุคโลหะมีพิธีกรรมหลังความตายที่ซับซ้อนมากขึ้น บางแห่งมีการใส่ศพในโลงไม้ที่ขุดเป็นรูปเรือเพื่อฝังหรือนำไปไว้ในถ้ำหรือเพิงผาบางแห่งมีการห่อศพและมัดศพที่ข้อมือ หัวเข่าและข้อเท้า และพบว่ามีการหักข้อมือ ข้อเท้า หรือนำมามัดประสานกัน ซึ่งเป็นต้นแบบของการมัดตราสังในปัจจุบัน
ต่อมาในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อประวัติศาสตร์ (ประมาณ ๒,๐๐๐ – ๑,๐๐๐ปี) ซึ่งเริ่มมีการพัฒนาเป็นสังคมเมืองที่มีคูน้ำคันดิน มีการติดต่อกับภายนอกโดยเฉพาะวัฒนธรรมจากอินเดีย พบว่า ในหลุมฝังศพมีสิ่งของอุทิศที่รับอิทธิพลจากภายนอก เช่น ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน ลูกปัดทอง กำไลสำริด กำไลดินเผา กาน้ำ คนโท ตะคัน (ถ้วยดินเผาขนาดเล็ก) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบว่า มีการเผาศพทั้งการเผาแห้ง (Dry Cremation) เป็นการเผ่าศพที่ถูกเก็บไว้จนแห้ง และการเผาสด (Flesh Cremation) เป็นการเผาศพทันทีที่มีการเสียชีวิต แล้วเก็บกระดูกมาบรรจุภาชนะที่มีรูปแบบสืบทอดมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนจะนำไปฝังไว้ในพิธีการฝังศพครั้งที่ ๒
จากร่องรอยพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายที่ มีการค้นพบในแหล่งโบราณคดี สะท้อนให้เห็นถึงวิถีวัฒนธรรมของชาวอุษาคเนย์ ที่คนเป็นจัดกระทำต่อคนตายตามคติความเชื่อจนเกิดเป็นแบบแผนพิธีกรรมหลังความตายที่สืบทอดต่อกันมา โดยปรับเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ความเชื่อ ค่านิยม ในแต่ละยุคสมัย
คนเป็น คนตาย
ร่องรอยทัศนะเกี่ยวกับชีวิตของชาวอุษาคเนย์ในอดีต มีอิทธิพลมาจาก “ศาสนาผี” ซึ่งเป็นศาสนาดั้งเดิมก่อนรับศาสนาพุทธ-พราหมณ์ ในนิทานน้ำเต้าปุ้งซึ่งเป็นเรื่องราวปรัมปราว่าด้วยการกำเนิดมนุษย์ อธิบายว่า
“กาลเมื่อก่อนนั้น เปนดิน เปนหญ้า เปนฟ้า เปนแถน ผีแลคนเทียวหากันไปมาบ่ขาด”…“แต่นั้นแถนจึงให้น้ำท่วมเมืองลุ่มลีดเลียง ท่วมเมืองเพียงละลาย…แล้วน้ำจึงพัดเขาขึ้นเมือบน ขนเอาเมือเมืองฟ้า พุ้นแล”
เนื้อความในนิทานน้ำเต้าปุงได้สะท้อนถึงจักรวาลทัศน์ของคนในอุษาคเนย์เมื่อครั้งบรรพกาลที่เชื่อว่า ผีและคนอยู่ร่วมกันในโลกใบเดียวกันแต่อยู่คนละพื้นที่ กล่าวคือผีอยู่เมืองฟ้าคนอยู่เมืองลุ่ม ทั้งคนและผีไปมาหาสู่กันได้
คำว่า “ผี” ใช้เรียกทั้งคนเป็นและคนตายเพื่อแสดงภาวะที่ทรงอำนาจเหนือคนทั่วไปสำหรับคนเป็นจะใช้เป็นชื่อของหัวหน้าเผ่าพันธุ์หรือเจ้าผู้ปกครอง ดังในจารึกวัดศรีชุมมีคำว่า “ผีฟ้าเจ้าเมืองศรีโสธรปุระ” เช่นเดียวกับในพงศาวดารล้านช้างเรียกบิดาพญาฟ้างุ้มว่า “ท้าวผีฟ้า” สำหรับคนตายเมื่อผีขวัญกลายเป็นผีด้ำหรือผีบรรพชนคงเทียบได้กับคำว่าเทวดา โดยมี “แถน” เป็นหัวหน้าผีทั้งหลาย
ในสภาวะปกติ คน สัตว์ สิ่งของ ต้องมี “ขวัญ” ซึ่งเป็นพลังศักดิสิทธิ์ โดย คน สัตว์ สิ่งของจะสามารถดำรงอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างเป็นปกติเมื่อขวัญยังอยู่ด้วย แต่สภาพจะเสื่อมถอยหรือสิ้นสภาพไปเมื่อขวัญออกจากสิ่งนั้น ตัวอย่างเช่น ภาวะการเจ็บป่วยของคนเกิดจากขวัญเดินทางออกจากร่างกายไปชั่วคราวและจะกลับมาเมื่อมีการเรียกขวัญด้วยพิธีกรรม “สู่ขวัญ” ส่วนการตายเป็นปรากฏการณ์ที่ขวัญเดินทางออกจากร่างไปอย่างถาวร ภาวะของคนเป็นและคนตายจึงแตกต่างกันที่การคงอยู่ของขวัญ คนเป็นจะมีขวัญอยู่กับตัว ส่วนคนตายเพราะขวัญออกไปแล้วไม่กลับ ขวัญที่ออกจากร่างอย่างถาวรนั้น เรียกว่า “ผีขวัญ”
เมื่อมีคนตายเชื่อว่าผีขวัญของคนตายจะไม่รู้ว่าต้องไปที่ใด จึงต้องอาศัยหมอเข้ามาทำหน้าที่บอกทางกลับบ้านเก่าหรือเมืองฟ้า อันเป็นพิธีส่งคนตายไปดินแดนต้นกำเนิด
พิธีบอกทางผีขวัญไปเมืองฟ้า
การส่งผีขวัญสู่ฟ้าของ “ชาวไย้” และ “ชาวไต” ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทในเวียดนามในงานศึกษาของ รศ.สุมิตร ปิติพัฒน์ และคณะ (๒๕๔๖) พบว่า พิธีกรรมสำคัญคือการเชิญหมอมาทำพิธีบอกเส้นทางไปเมืองฟ้าให้กับผีขวัญ
ชาวไย้เมื่อมีคนตายเก็บศพไว้ที่เรือนหลายวันขึ้นอยู่กับฐานะโดยศพของคนมีฐานะอาจเก็บนานถึง ๑๐ วันหรือมากกว่า ระหว่างนั้นมีการทำพิธีส่งผีขวัญไปเมืองฟ้า ซึ่งเมืองฟ้าของชาวไย้เรียกว่า “เมืองเป่ายา” ส่วนเมืองลุ่มที่คนอยู่เรียกว่า “หมึ่นสา” ผู้ทำหน้าที่ส่งผีขวัญเรียกว่า “ต๊าว” เชื่อกันว่าต๊าวเป็นผู้ที่สามารถเดินทางไปมาระหว่างเมืองลุ่มกับเมืองฟ้าได้ โดยการทำพิธีส่งขวัญจะทำพิธีตั้งแต่วันแรกจนถึงวันฝังศพ
ส่วนผู้ทำพิธีของชาวไตเรียกว่า “องหมอ” มีผู้ช่วย ๒ คนเรียกว่า “บ่าวหมอ” เรียกที่อยู่ของขวัญว่า “เมืองอมเมืองอาย” ส่วนเมืองฟ้าเรียกว่า “เมืองเทียน” เส้นทางไปเมืองอมเมืองอายของชาวไตแต่ละตระกูลจะมีเส้นทางไปตามลำน้ำที่แตกต่างกัน และจะมีเฉพาะคนในตระกูลซัม ตระกูลลี้ และตระกูลลา ที่จะไม่เดินทางไปตามลำนำแต่จะส่งให้ขึ้นเมืองเทียน หลังจากองหมอสวดส่งผีขวัญแล้ว จะมีพิธี “แบ้งขวัญ” เพื่อแบ่งขวัญผู้ตายให้ไปอยู่ป่าแฮ่ว อยู่เรือน ขึ้นเมืองเทียน และให้อยู่นอกบ้าน ให้ดูแลหลุมศพและลูกสาว โดยไม่ให้มารบกวนคนในบ้าน
การส่งผีขวัญไปเมืองฟ้ายังปรากฏในวัฒนธรรมของไตดำ ที่อธิบายการเดินทางใน “สาส์นส่ง” อันเป็นบทอ่านนำผู้ตายจากบ้านไปเมืองฟ้า ซึ่งผีขวัญของผู้ตายไม่ได้เดินทางไปอย่างโดดเดี่ยว แต่จะมีขวัญของญาติพี่น้องร่วมเดินทางไปด้วย การเดินทางจะเริ่มจากเรือนผู้ตายไปสู่แม่น้ำดำ ไปเมืองอิ๊ดอก เมืองเจียน เมืองมิน เมืองจอจา เมืองลอซา เมืองลอหลวง นำตกตาดสิ้นสุดการเดินทางบนดินแดนเมืองคนที่ “ฝีไป๊” ก่อนที่จะขึ้นสู่เมืองฟ้าไป “ด้ำดอย” ซึ่งเป็นที่อยู่ของผีบรรพชน และสิ้นสุดการเดินทางที่ “เลียนปานหลวง” สำหรับคนตระกูลเจ้า และ “เลียนปานน้อย” สำหรับสามัญชน จากนั้น ขวัญของญาติที่ไปส่งจะกลับมายังเมืองคน (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ๒๕๕๓ : ๑๕๒ – ๑๕๓)
การเดินทางของผีขวัญกลับสู่เมืองฟ้านี้คงสืบสานร่องรอยมาตั้งแต่ยุคบรรพกาล ทำให้จินตนาการได้ถึงแบบแผนความเชื่อที่ถูกกำหนดเป็นพิธีกรรมหลังความตายของคนในอุษาคเนย์เมื่อครั้งอดีตได้อย่างชัดเจนว่า เมื่อมีการตาย ผีขวัญของคนตายต้องเดินทางกลับบ้านเก่าที่เมืองฟ้าเป็นลำดับแรก
นกเงือก ผู้นำทางผีขวัญสู่เมืองฟ้า
ภาพบนมโหระทึกที่บอกเล่าเรื่องราวพิธีกรรมหลังความตายในการส่งผีขวัญไปเมืองฟ้า นอกจากจะมีภาพหมอผู้ทำพิธีแล้ว ยังมีนอกบินเป็นวงรอบพิธีกรรมเป็นองค์ประกอบสำคัญของภาพอยู่ด้วย
เมืองฟ้าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนที่มีอำนาจควบคุมเมืองลุ่ม เมืองฟ้าเป็นผู้ให้ลมให้ฝนที่นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ และให้สายฟ้าผ่าลงมาเพื่อลงโทษคนในเมืองลุ่ม คนทั่วไปไม่อาจเดินทางไปเมืองฟ้าได้ แต่มีสัตว์ที่สามารถท่องเที่ยวระหว่างเมืองลุ่มกับเมืองฟ้าได้คือนก
นกที่มีลักษณะใหญ่พิเศษ อาศัยอยู่ในป่าลึก มีความสวยงาม ทรงพลัง ได้ให้กำเนิดจินตนาการเกี่ยวกับสัตว์ปีกที่สามารถเดินทางไปมาระหว่างเมืองฟ้าและเมืองลุ่ม และสามารถนำทางขบวนส่งผีขวัญสู่เมืองฟ้าได้ดังที่ปรากฏภาพนกบินวนรอบการประกอบพิธีกรรมบนหน้ามโหระทึก
ปัจจุบันมีพิธีกรรมที่สืบทอดมาจากยุคบรรพกาลที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับนก โดยผู้ประกอบพิธีจะใช้ขนนกตกแต่งร่างกายและร่ายรำที่เลียนแบบท่าทางของนก พิธีกรรมดังกล่าวใช้ “นกเงือก” ซึ่งเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ มีจะงอยปากที่ใหญ่และทรงพลัง เป็นสัตว์สัญลักษณ์ โดยพบในพิธี “รำมะเหน่า” ของชาวคะฉิ่น ที่บ้านใหม่สามัคคี ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ในพิธีจะมีเสามะเหน่า ๑๐ ต้น ที่มีลวดลายสื่อถึงชีวิตและสิ่งแวดล้อม ที่ฐานด้านล่างของเสาทั้งหมดทำเป็นรูปนกเงือก และหัวหน้าคะฉิ่นจะประดับศีรษะด้วยหัวและขนนกเงือก โดยมีความเชื่อว่า “นกเงือกคือราชาของนก”
ชาว Bidayuh และชาว Iban (Sea Dayak) บนเกาะบอร์เนียว รัฐซาราวัค ของมาเลเซีย มีพิธีเต้นรำนักรบหรือที่เรียกว่า “Ngajat” ทำในโอกาสต่าง ๆ เช่น เฉลิมฉลองหลังฤดูเพาะปลูกฉลองการนำหัวศัตรูกลับบ้าน ขับไล่ภัยร้าย ฯลฯ โดยผู้เต้นรำจะถือดาบและโล่ สวมเครื่องประดับศีรษะทำด้วยขนนกเงือก และทำท่าทางเลียนแบบนกเงือก สะท้อนให้เห็นว่า นกเงือกเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับสิ่งชั่วร้าย และนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของเผ่าพันธุ์
นอกจากนี้ ยังมีคติที่เชื่อว่านกเป็นผู้นำพาวิญญาณคนตายไปสู่โลกหน้า ดังเช่น ระบำนกเงือก โฮดา-โฮดา (Hoda-hoda) ในพิธีศพที่สุมาตราเหนือของอินโดนีเซีย เป็นต้น
จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ภาพนกบนมโหระทึกนั้นเป็นภาพของ “นกเงือก” ซึ่งเป็นนกโบราณขนาดใหญ่ มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ยุค Eocene เมื่อประมาณ ๕๔ ล้านปีมาแล้ว แสดงให้เห็นว่าบรรดาหมอผีหรือหัวหน้าเผ่าต่างสวมใส่ชุดนกเงือก และทำท่าทางเลียนแบบนกเงือก เพื่อรับพลังศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรมเพื่อแสดงความความเป็นผู้นำที่จะทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ โดยยกย่องนกเงือกเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของเผ่าพันธุ์ และเป็นผู้นำผีขวัญไปสู่เมืองฟ้าในพิธีกรรมหลังความตาย
ภายหลังเมื่อรับวัฒนธรรมอินเดีย คตินกเงือกในอุษาคเนย์จึงได้กลายไปซ้อนทับรับกันกับ “นกหัสดีลิงค์” ในที่สุด แต่ยังหลงเหลือร่องรอยการสืบทอดตำนานนกเงือกในบางกลุ่มในที่ซึ่งวัฒนธรรมอินเดียไม่อาจกลืนได้
การทำศพสองครั้ง เพื่อส่งผีขวัญและรับผีบรรพชน
ความเชื่อเรื่องการเดินทางของผีขวัญสามารถสันนิษฐานได้จากภาพบนมโหระทึกข้อมูลการฝังศพในหลุมขุดค้น ผนวกกับเรื่องราวพิธีกรรมที่ยังหลงเหลือสืบต่อมาในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังนับถือศาสนาผี การเดินทางของผีขวัญตามเส้นทางที่หมอสาธยายไว้ในพิธีกรรม ไม่ได้สิ้นสุดการเดินทางเมื่อผีขวัญไปถึงเมืองฟ้า แต่ในอีกช่วงเวลาต่อมา ผีขวัญจะถูกหมอเชิญให้กลับมาเมืองลุ่มเพื่อเป็นผีบรรพชนคุ้มครองลูกหลานและชุมชน ดังคำว่า “เจ้าเรือนตายเป็นผีเรือนเจ้าบ้านตายเป็นผีบ้าน เจ้าเมืองตายเป็นผีเมือง”
แม้ว่าตำนานน้ำเต้าปุ้งจะอธิบายว่า การปลงศพของผู้คนแบ่งเป็น ๒ รูปแบบ คือการฝังและการเผา แต่จากหลักฐานทางโบราณคดี พบว่า ผู้คนในอุษาคเนย์เมื่อครั้งบรรพกาลได้ปลงศพด้วยการฝังมาก่อน จนกระทั่งมีการเผาศพในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อประวัติศาสตร์ (ประมาณ ๒,๐๐๐ – ๑,๐๐๐ปี) เมื่อได้รับวัฒนธรรมจากอินเดีย เป็นต้นมา
วัฒนธรรมการฝังศพยังพบได้ในกลุ่มที่พูดภาษาไท – กะได ในเวียดนาม และลาว ทำให้สันนิษฐานรูปแบบการทำพิธีกรรมหลังความตายแต่ครั้งบรรพกาลว่ามีขั้นตอนสำคัญแบ่งได้เป็น ๒ ช่วง คือ ครั้งแรกเป็นการส่งผีขวัญไปเมืองฟ้าและครั้งที่สองเป็นการรับผีขวัญกลับมาเป็นผีบรรพชน
พิธีกรรมครั้ง ที่ ๑ ส่งผีขวัญไปเมืองฟ้า เริ่มตั้งแต่มีคนตายจนถึงนำศพไปฝัง โดยเรียกขวัญให้กลับคืน หากขวัญไม่กลับถือว่าตาย จะมีการอ่านสาส์นส่งบอกทางผีขวัญ จัดเตรียมเครื่องใช้ในการเดินทางไปเมืองฟ้าสำหรับผีขวัญ แล้วนำศพไปฝังในป่าแฮ่ว
ตัวอย่างเช่นการทำศพในเวียดนามของชาวไย้ หลังจากทำพิธีศพที่บ้านโดยมีหมอมาทำพิธีบอกทางไปเมืองฟ้าแล้ว จะนำศพไปฝังแล้ววางทับที่ฝังด้วยก้อนหินที่เรียกว่า “ตู๋ตี๋” ไว้เพื่อให้รู้ว่าเป็นที่ฝังศพแล้วทำรั้วไม้ไผ่ล้อมรอบ ทำประตูเข้าออก ตรงปากประตูปักไม้ไผ่สูง ๑ – ๑.๕ เมตร ให้รู้ว่าเป็นเฮือนผี หรือสร้างหอแก้วหรือเฮือนแก้วทับที่ฝังศพในป่าแฮ่วนั้น
นอกจากนี้ ชาวไทดำนิยมเย็บผ้าเป็นรูป “นก” ไว้เหนือหอแก้ว เพื่อนำทางผีขวัญและเป็นพาหนะให้ผีขวัญเดินทางไปเมืองฟ้า สะท้อนถึงเรื่องนกนำทางผีขวัญจากภาพบนมโหระทึกได้เป็นอย่างดี
พิธีกรรมครั้งที่ ๒ รับผีขวัญกลับมาเป็นผีบรรพชน พิธีกรรมนี้น่าจะมี ๒ รูปแบบ คือระยะแรกเป็นการเรียกผีขวัญกลับมาจากเมืองฟ้าโดยไม่ได้กระทำกับศพที่ฝัง แต่ในยุคโลหะพบว่ามีพิธีการฝังศพครั้งที่ ๒ คือขุดกระดูกขึ้นมาบรรจุภาชนะแล้วฝังใหม่ ซึ่งในขั้นตอนนี้น่าจะเป็นการเรียกผีขวัญให้กลับมาเป็นผีบรรพชนปกปักรักษาเผ่าพันธุ์ด้วย
ส่วนร่องรอยพิธีกรรมในการรับผีขวัญกลับมาเป็นผีบรรพชนในเวียดนามของชาวไย้ จะจัดหลังจากฝังศพแล้ว ๓ วัน โดยทำพิธีเชิญผีขวัญไปอยู่ที่เรือน เช่นเดียวกันกับพิธีศพของชาวไตหลังจากฝังศพแล้ว ๓ วันจะมีพิธีเชิญผีพ่อแม่มาที่เรือนโดยให้อยู่ที่พื้นเรือนก่อน ๑๐๐ วัน จากนั้นจึงเชิญขึ้นหอผีหรือ “กะล่อห้อง”
เสาขวัญ ที่อยู่ของผีขวัญบรรพชน
เมื่อผีขวัญกลับมาเป็นผีบรรพชนแล้ว ผีขวัญเจ้าบ้านจะกลับมาอยู่รักษาหมู่บ้านที่เสาประจำหมู่บ้าน ผีขวัญเจ้าเมืองจะมาอยู่รักษาเมืองที่เสาประจำเมือง ปัจจุบันเรียกว่า หลักบ้านหรือหลักเมือง ส่วนผีขวัญเจ้าเรือนจะกลับมาอยู่เรือนบนหิ้งผีเหนือเสาเรือนเรียกว่ากะล่อห้อง
เช่นกรณีของเรือนไทดำ จะมีการแบ่งส่วนของห้องในเรือนเป็นสัดส่วนสำหรับคนเป็นอยู่อาศัยและห้องสำหรับผีบรรพชนที่กลับมาจากเมืองฟ้าอย่างชัดเจน โดยจะตั้งหอผีหรือหิ้งผีไว้ที่หัวเสาใต้หลังคา คนไทดำเรียก “เสาต้นด้ำ” หรือ “เสาเจ้าเสื้อ”
ด้ำหมายถึงผีบรรพชน เจ้าเสื้อคือเจ้าเชื้อสาย เสาต้นด้ำหรือเสาเจ้าเสื้อจึงเป็นเสาที่สิงอยู่ของผีขวัญบรรพชนที่กลับจากเมืองฟ้า เป็นต้น ทางคติเรื่อง “เสาขวัญ” ในการปลูกเรือนของคนในอุษาคเนย์ เสาขวัญจึงเป็นที่อยู่ของผีขวัญหรือผีบรรพชนที่กลับมาจากเมืองฟ้า เพื่อปกปักรักษาลูกหลานและเผ่าพันธุ์ให้อยู่เย็นเป็นสุข
****
คอลัมน์ เปิดผ้าม่านกั้ง โดย ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๖๗ ประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐
อ้างอิง
ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. (๒๕๕๓). ทฤษฎีบ้านเมือง ศาสตราจารย์คำจองกับการศึกษาชนชาติไท. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์.
บุญยงค์ เกศเทศ. (๒๕๕๔). “ไทดำ”เมือแถง“ทรงดำ”ถิ่นสยาม จากหนองแฮดถึงหนองปรง. กรุงเทพฯ : อินทนิล.
สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี. (๒๕๕๓). โบราณคดีในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้. อุบลราชธานี : ศิริธรรมออฟเซ็ท.
สุมิตร ปิติพฒน์ และคณะ. (๒๕๔๖). ไย้ ไต และเกาลาน : กลุ่มชาติพันธุ์ไทในเวียดนาม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
Aronld van Gennep. (1960). The Rites of passage. Chicago : University of Chicago Press.