พุกาม : มรดกโลกใหม่ของพม่า

มิถุนายน 2562 ในที่สุดองค์การยูเนสโกก็ประกาศขึ้นทะเบียน พุกาม เป็นเมืองมรดกโลกแห่งใหม่ล่าสุดของพม่า เมืองที่เซอร์ เจมส์ สก็อต ประพันธกรชาวอังกฤษ ถึงกับพรรณนาไว้ในหนังสือ “The Burma, His Life and Notions” ตั้งแต่ พ.ศ.2425 หรือเมื่อกว่าร้อยปีมาแล้วว่า…

“…ในบรรดาเมืองที่เกี่ยวข้องกับศาสนาในโลก ไม่ว่าจะเป็นเยรูซาเร็ม โรม เคียฟ พาราณสีไม่มีเมืองใดที่มีวัดวาอารามอยู่มากมายเป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมืองเท่าพุกาม…

พื้นที่ทั้งหมดเรียงรายไปด้วยเจดีย์ทุกขนาดทุกรูปร่าง พื้นดินปกคลุมหนาแน่นด้วยซากปรักหักพังของศาสนสถาน จนกล่าวได้ว่าคุณไม่สามารถขยับมือหรือเท้า โดยไม่สัมผัสสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิ่งใดสิ่งหนึ่ง…”

ช่างเป็นพรรณนาโวหารที่ท้าทายวิญญาณการแสวงหาของมนุษย์อย่างรุนแรง พอ ๆ กับวลีอมตะกระแทกใจคนทั้งโลกของอาร์โนลด์ทอยน์บี นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษที่ว่า… See Angkor and Die… อย่าเพิ่งตาย ถ้ายังไม่ได้เห็น “เมืองพระนคร” (นครวัด นครธม) ของชาวเขมร ที่น่าสนใจคือทั้งพุกามและนครวัด เป็นนครประวัติศาสตร์ที่มีอายุไล่เลี่ยกัน คือราว 900 ปี ยุคสมัยที่ลุ่มน้ำยมและเจ้าพระยา ยังไม่มีทั้งสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา แต่ทางทิศตะวันออกมีอาณาจักรกัมพูชา ที่นับถือศาสนาฮินดูสลับกับศาสนาพุทธนิกายมหายาน ในขณะที่ทางตะวันตก มีอาณาจักรพุกาม ซึ่งแนบแน่นในศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ที่สำคัญ ทั้งสองอาณาจักรต่างทิ้งมรดกทางอารยธรรมล้ำค่าไว้ให้คนรุ่นหลัง นั่นคือปราสาทหินนับร้อย ๆ แห่งที่ชาวเขมรสร้างถวายแด่เทพเจ้าฮินดู และหมู่เจดีย์ดารดาษที่ชาวพุกามสร้างถวายเป็นพุทธบูชานับพัน ๆ องค์

จนพุกามได้ชื่อว่า “แดนเจดีย์สี่พันองค์” และแม้ว่ากาลเวลาจะล่วงเลยไปร่วมสหัสวรรษอีกทั้งศึกสงครามกับการเปลี่ยนทางของแม่น้ำอิระวดี จะทำให้เจดีย์พังทลายไปไม่น้อย ทว่าที่เหลืออยู่ก็ยังมีอีกมากมายนับได้กว่า 2,200 องค์

“…การสร้างเจดีย์ย่อมได้บุญมาก ข้าฯปรารถนาจะสร้างทางเพียงเพื่อข้ามไปสู่แม่น้ำแห่งสังสารวัฏ เพื่อผู้คนทั้งมวลจะเร่งข้ามไปกระทั่งบรรลุถึงนิพพาน ข้าฯเองจะข้ามไปและดึงผู้ที่จะจมน้ำให้ข้ามไปด้วย… ข้าฯมีอิสรภาพแล้ว จะช่วยปลดปล่อยผู้ที่ยังผูกพันอยู่ ข้าฯถูกปลุกขึ้นมาแล้วก็จะปลุกผู้ที่ยังนิทราอยู่… ข้าฯมีความสงบในจิตใจและมีคำสั่งสอนที่ดีนำใจอยู่…”

ศิลาจารึกที่เจดีย์ชเวกูจี ของพระเจ้าอลองซีตู รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์พุกาม อาจเป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุด ของคำถามว่าเหตุใดชาวพุกามจึงสร้างเจดีย์ไว้มากมายเพียงนี้ นักประวัติศาสตร์อย่าง หม่อง ทิน อ่อง ก็พิเคราะห์ไว้ใน “ประวัติศาสตร์พม่า” ว่า ความมั่งคั่งอันมากมายในอาณาจักรถูกนำไปใช้สร้างวัดนับไม่ถ้วนในพุกาม โบสถ์และวัดเป็นศูนย์กลางในชีวิตของสังคมที่ดึงดูดผู้คนจำนวนมาก ทั้งชาวนากรรมกร ชาวเขา ผู้ดีทั้งชาย หญิงและคนต่างชาติ

ที่สำคัญคือหม่อง ทิน อ่อง ระบุว่าเจดีย์ที่พุกามนั้น “…ไม่ได้เกณฑ์แรงงานคนมาสร้าง เป็นศรัทธาที่บริสุทธิ์และสามัญง่าย ๆ… ทั้งสถูปและวัดตั้งอยู่บนฐานเตี้ย ๆ ที่มั่นคง และปลายยอดแหลมทำให้วัดแลเสมือนพุ่งไปบนท้องฟ้า วัดแต่ละแห่งจึงแสดงลักษณะของชาวพุกาม คือเท้ายืนบนพื้นอย่างเข้มแข็ง แต่วิญญาณมุ่งตรงสู่สวรรค์…”

นอกจากนั้น คำว่า “พญา” (Phya) ในภาษาพม่าซึ่งแปลว่า “เจดีย์” ยังมีความหมายว่า “เกียรติยศ” ชาวพุกามจึงเชื่อว่าการสร้างเจดีย์นอกจากเท่ากับสร้างรูปเคารพแทนพระพุทธเจ้าแล้ว ยังเป็นเกียรติยศหรือบุญกุศลต่อตนเอง ยิ่งสภาพภูมิประเทศของพุกาม อยู่ในเขตร้อนกึ่งทะเลทราย (Dry Zone) มีภูเขาสูงกันลมมรสุมไว้ ปริมาณน้ำฝนและความชื้นต่ำกว่าเขตอื่นเหล่าเจดีย์ที่สร้างแบบก่ออิฐถือปูนจึงดำรงยงยืนได้นานเพียงนี้ แต่ที่สำคัญคือมีคำสาปแช่งของบุรพกษัตริย์แห่งพุกามที่ว่า มันผู้ใดทำลายเจดีย์มันผู้นั้นจะไม่ได้ไปเกิดในสังคมอุดมคติในยุคพระศรีอาริยเมตตรัยไปเจ็ดชั่วโคตร!

ความผูกพันกับเจดีย์และแนบแน่นในพุทธธรรมคำสอน ทำให้เกิดสุภาษิตสอนใจชาวพม่าว่า “พึ่งเจดีย์ อายุยืน พึ่งธรรมะ โทสะหาย” จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ในพม่าทุกวันนี้ ยังมีการเรี่ยไรเงินไปทำบุญสร้างเจดีย์อย่างไม่ขาดสาย และการไปเดินทางท่องเที่ยวของชาวพม่า ก็คือไปแสวงบุญไหว้พระตามเจดีย์สำคัญ ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งนอกจาก มหาเจดีย์ชเวดากอง ณ กรุงย่างกุ้งแล้วเจดีย์ในเมืองพุกามก็ถือเป็นเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ครั้งหนึ่งในชีวิต ชาวพม่าปรารถนาจะได้ไปสักการบูชา อาทิ เจดีย์ชเวสิกอง เจดีย์อานันดา หรือ “อานันทวิหาร” เจดีย์ตะบินยู หรือ “สัพพัญญู” และที่สำคัญคือการปีนขึ้นไปบน “มิงกะลาเจดีย์” หรือ “ชเวสันดอว์เจดีย์” เพื่อตื่นตาตื่นใจกับป่าเจดีย์ หรือทุ่งทะเลเจดีย์แห่งอดีตราชอาณาจักรพุกามอันเกรียงไกร

พุทธศักราช 1587 พระเจ้าอโนรธา ปฐมกษัตริย์ของชนชาติพม่า สถาปนา พุกาม ขึ้นเป็นอาณาจักรแรกของชนชาติพม่า แม้ว่าในที่สุด อาณาจักรนี้จะถูกกองทัพมองโกลของกุบไลข่านตีแตก เมื่อมีอายุได้ 243 ปี แต่ก็ทิ้งมรดกทางอารยธรรมล้ำเลอค่าไว้ประดับโลกมากมาย

เอกสารอ้างอิง

หม่อง ทิน อ่อง. ประวัติศาสตร์พม่า. เพ็ชรี สุมิตร แปล. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2519.

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com