พุทธศาสนาเข้าสู่อีสาน…ในตำนานอุรังคธาตุ
ในดินแดนอีสานปัจจุบัน มีการนับถือศาสนาที่หลากหลาย เนื่องจากมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมจากต่างถิ่น เพราะศาสนาเหล่านั้นล้วนมีต้นกำเนิดจากแดนไกล ที่ไหลบ่าเข้ามาแทนที่และซ้อนทับศาสนาผีดั้งเดิมที่มีอยู่ในแผ่นดินอีสาน ศาสนาที่ปักหลักมั่นและแพร่ขยายอย่างกว้างขวางคือ “พุทธศาสนา” จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ตั้งแต่ยุคต้นพุทธกาลจนถึงหลังจากพุทธปรินิพพานเมื่อกว่า ๒,๕๐๐ ปีก่อน ดินแดนอีสานและลุ่มแม่นํ้าโขงได้มีการซึมซับรับเอาพุทธศาสนาเข้ามาอย่างไร?
เพื่อตอบคำถามดังกล่าว “เปิดผ้าม่านกั้ง” ครั้งนี้ จึงใคร่ถอดสาระเรื่องราวจากตำนานเก่าแก่แห่งลุ่มแม่นํ้าโขง ที่ชื่อว่า “ตำนานอุรังคธาตุ” เพื่อแกะรอยการเดินทางของพ่อค้าและนักบวชที่นำพระพุทธศาสนาผ่านเส้นทางโบราณเข้ามายังแผ่นดินอีสาน
ศ.ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวถึง ตำนานอุรังคธาตุ ไว้ว่า
“…ตำนานอุรังคธาตุ ซึ่งเป็นประวัติพระธาตุพนม เป็นเอกสารเก่าแก่ที่มีคุณค่าในการศึกษาเรื่องราวในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของบ้านเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างมาก
แม้ว่าตำนานนี้เขียนขึ้นหลังจากเหตุการณ์เป็นจริงช้านานก็ตาม แต่ทว่านิยายปรัมปรา (Myth) ซึ่งผสมปนอยู่กับเนื้อเรื่องก็แฝงข้อมูลที่มีเค้าเงื่อนว่าเป็นข้อเท็จจริงอยู่ไม่ใช่น้อย เมื่อนำมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบกับหลักฐานทางโบราณคดีในด้านโบราณวัตถุสถานแล้ว ก็พอประมวลเข้าเป็นสมมติฐานอย่างคร่าว ๆ และกว้าง ๆ ถึงประวัติการโยกย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชน การแพร่หลายของพระพุทธศาสนา การสร้างพระธาตุพนม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงในทางสังคมวัฒนธรรมของบ้านเมืองโบราณในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะแถบลุ่มแม่นํ้าโขงเป็นอย่างดี…”
จากหลักฐานจารึก และโบราณวัตถุที่พบในลุ่มแม่นํ้าโขง ล้วนยืนยันว่าชุมชนในลุ่มแม่นํ้าโขงมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์กับ ๒ อารยธรรมสำคัญของโลก คือ “อารยธรรมจีน” และ “อารยธรรมอินเดีย” ส่วนการเริ่มต้นยุคประวัติศาสตร์ พบว่าดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงมีการใช้ตัวอักษรครั้งแรกประมาณพุทธศตวรรษที่ ๗ – ๘ โดยกำหนดจากจารึกที่นักวิชาการเชื่อว่าเก่าแก่ที่สุด พบที่หมู่บ้านโวคาญ (Vo Canh) เมืองญาตรัง (Nya Trang) ประเทศเวียดนามตอนใต้ เรียกว่า “จารึกโวคาญ” สลักบนหินรูปทรงคล้ายเสา สูงประมาณ ๒.๗๐ หนา ๖๗ เซนติเมตร กว้าง ๗๒ เซนติเมตร มีตัวอักษรจารึกด้วยภาษาสันสกฤตจารึกโวคาญนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการเผยแพร่วัฒนธรรมอินเดียเข้ามาในดินแดนลุ่มแม่นํ้าโขง
การไหลบ่าเข้ามาของวัฒนธรรมอินเดียมีมาตั้งแต่ยุคพุทธกาลจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๗ ตรงกับช่วงที่ชุมชนในลุ่มแม่นํ้าโขงเริ่มมีการขยายตัว จะเห็นได้จากหลักฐานของชุมชนโบราณ เช่นที่บ้านธารปราสาท จ.นครราชสีมา บ้านเชียง จ.อุดรธานี เป็นต้น จนเกิดเป็นอาณาจักร โดยอาณาจักรต่าง ๆ เกิดจาก ๒ ลักษณะคือ
๑. หัวหน้าชนพื้นเมืองสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์แบบอินเดีย
๒. ชาวอินเดียเข้ามาตั้งตนเองเป็นหัวหน้าและสมรสกับสตรีพื้นเมือง
พ่อค้า พราหมณ์ และพระภิกษุในพุทธศาสนา เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตัวของยุคประวัติศาสตร์ในดินแดนลุ่มแม่นํ้าโขง ผ่านเส้นทางการค้าและเส้นทางการเผยแผ่ศาสนาโบราณ ซึ่งปัจจุบันยังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีและโบราณวัตถุสถาน ยืนยันถึงการมีอยู่ของเส้นทางโบราณ และหลายเส้นทางได้พัฒนาเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญ
สิ่งที่น่าสนใจคือ ร่องรอยความทรงจำของเส้นทางโบราณเหล่านี้ ถูกบันทึกไว้ใน “ตำนานอุรังคธาตุ” ซึ่งเป็นตำนานสำคัญที่บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์เกี่ยวกับองค์พระธาตุพนม ที่เชื่อว่าพระธาตุนี้เป็นที่บรรจุ “กระดูกหัวอก” ของพระพุทธเจ้า
เนื้อหาของตำนานอุรังคธาตุเป็นการสื่อสารของผู้แต่งหรือผู้ส่งสาร ผ่านระบบสัญลักษณ์ที่เต็มไปด้วยมายาคติเพื่อถ่ายทอดไปยังผู้รับสาร โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลสถานที่ทางภูมิศาสตร์ ศาสนสถาน ชุมชนโบราณ เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ประเพณี พิธีกรรม และเรื่องราวชีวิตของผู้คนสองฝั่งลุ่มแม่นํ้าโขงสอดแทรกอยู่ในตำนานในเชิงสัญลักษณ์อย่างน่าสนใจ ดังต้นเรื่องที่กล่าวว่า
“จักกล่าวอุรังคธาตุนิทาน ปาทลักษณ์นิทาน ศาสนานครนิทานอันนี้ อรหันตาทั้ง ๕ แปงไว้ให้แจ้งแก่นักปราชญ์เจ้าทั้งหลาย นิทานอันนี้ พระพุทธเจ้ากระทำนวยเอาปลายเมือหากก บุคคลผู้มีปัญญาจึงค่อยพิจารณาตรองดูอธิบายให้แจ้งเทอญ”
สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งในตำนานอุรังคธาตุ คือการกล่าวถึงการเข้ามาประดิษฐานพระพุทธศาสนาในชุมชนต่าง ๆ บนดินแดนอีสาน ตั้งแต่ยุคพุทธกาลถึงยุควัฒนธรรมล้านช้างแม้ว่าข้อเท็จจริงและหลักฐานทางประวัติศาสตร์บางอย่างอาจเลือนลาง และมีการยืดระยะเวลาในตำนานที่ย้อนอดีตไปไกลถึงสมัยพุทธกาล จนกลายเป็นเรื่องเหลือเชื่อของหลายคน แต่เรื่องราวเหล่านั้นกลับให้ภาพสะท้อนความทรงจำของเส้นทางโบราณที่ใช้ในการติดต่อระหว่างอารยธรรมภายนอกกับดินแดนลุ่มแม่นํ้าโขงอย่างมีนัยสำคัญ
เส้นทางโบราณที่ตำนานอุรังคธาตุกล่าวถึงในการนำพุทธศาสนาเข้ามาประดิษฐานในลุ่มแม่นํ้าโขง มี ๓ เส้นทาง ซึ่งจะได้อธิบายโดยสังเขปในครั้งนี้ และจะได้หาโอกาสขยายความต่อไป
แผนที่โบราณจากสมุดภาพไตรภูมิ สมัยอยุธยา แสดงถึงเมืองสำคัญในลุ่มแม่นํ้าโขง
และลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยา
เส้นทางแรก : จากเชตวันมหาวิหาร ผ่านปยู สู่ล้านนา มาล้านช้าง
เป็นเส้นทางเสด็จของพระพุทธเจ้า ที่เข้ามาสู่ดินแดนลุ่มแม่นํ้าโขงในสมัยพุทธกาล ในตำนานกล่าวว่าทรงเสด็จมาทางอากาศ จากเชตวันสู่ล้านช้าง ล้านนา แต่หากจะวิเคราะห์เส้นทางตามภูมิประเทศแล้ว จะเห็นว่า เป็นการเดินทางจากอินเดีย ผ่านนครรัฐปยู เข้าสู่ล้านนา ล้านช้าง หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์
เส้นทางนี้แม้จะอ้างเรื่องราวไปไกลถึงยุคพุทธกาล ซึ่งทำให้หลายคนอ้างว่าไม่น่าเชื่อถือแต่ในข้อเท็จจริงแล้วพบว่า พื้นที่ต่าง ๆ ที่กล่าวถึงในตำนานอุรังคธาตุ ล้วนเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญ บางแห่งเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และได้ถูกแปลงเป็นศาสนสถานทางพุทธศาสนาในภายหลัง ซึ่งตำนานอุรังคธาตุ กล่าวว่า “พระตถาคตได้หมายกงจิตแก้วที่ใด ภายหน้าพุ้น เจดีย์โชติก็จักเกิดมีซะแล”
นอกจากนี้ในเส้นทางแรก จะกล่าวถึงการประทับรอยปาทลักษณ์หรือรอยพระพุทธบาทเป็นหลัก และได้กล่าวถึงรอยพระพุทธบาทในดินแดนล้านนาด้วย เช่น พระบาทสี่รอย ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ความว่า “รอยบาทหมายจิตแก้วชมพูทีป มีในเมืองโยนกวตินครเชียงใหม่พุ้น ดอยอันประเสริฐชื่อว่า ดอยผารังรุ้ง มีหินเป็นรูปสะเภางามยิ่งนัก” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการร่วมรับรู้เรื่องราวระหว่างกันของล้านนาและล้านช้าง
เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้เรียบเรียงอุรังคธาตุนิทานเลือกเฉพาะเรื่องราวการประทับรอยปาทลักษณ์ในดินแดนล้านนามาบันทึกรวมไว้ โดยไม่ได้นำเอาเรื่องของการประทานพระเกศาธาตุในตำนานพระเจ้าเลียบโลกของล้านนาที่มีเป็นจำนวนมากมารวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่ตำนานพระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากองที่ ตปุสสะและภัลลิกะพ่อค้าพี่น้องนำพระเกศาธาตุมาบรรจุที่ดอยสิงกุตตราช ซึ่งเป็นประเด็นที่ควรศึกษาต่อไป
เส้นทางโบราณเส้นทางแรกในความทรงจำจากวัดเชตวันในอินเดียมาสู่อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ตามตำนานอุรังคธาตุ มีความสัมพันธ์กับเรื่องราวของนครรัฐปยูในพม่า (พ.ศ.๔๔๓ ถึง พ.ศ.๑๓๘๓) ร่องรอยความสัมพันธ์ของนครรัฐปยูกับวัฒนธรรมอินเดีย คือ จารึกที่มีทั้งภาษาบาลีที่ใช้ตัวอักษรปยู และจารึกภาษาปยูที่ใช้ตัวอักษรอินเดียสมัยคุปตะ รวมทั้งเอกสารนักเดินทางชาวจีน มีประเด็นที่น่าสนใจที่ ม.ล.สุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ ได้อธิบายถึงนิสัยชาวปยูที่ว่า
“หาก (ชาวปยู) มีความขัดแย้งก็มักตัดสินกันด้วยการแข่งขันกันตัวต่อตัว หรือการแข่งขันกันสร้างอาคาร เช่น ศาสนสถาน หรือสถูปเจดีย์”
เรื่องนี้คล้ายกับเรื่องการแข่งขันสร้างพระธาตุภูเพ็กและพระธาตุนารายณ์เจงเวงในตำนานอุรังคธาตุ ที่พญาสุวรรณภิงคารและพระมเหสีแข่งกันก่อสร้างอูบมุงเพื่อบรรจุพระอุรังคธาตุ แต่เมื่อฝ่ายหญิงชนะ
“มหากัสสปเจ้า จึงให้อรหันตาคืนคงไปด้วยอิทธิฤทธิ์ปานดูลัดมือ เอาฝุ่นถ่านไฟที่พระพุทธเจ้านิพพานนั้นมา ๓ ทะนานพร้าว ให้ผู้หญิงทั้งหลายเอาไปถปนาไว้แล ใส่ชื่อว่า ธาตุนารายณ์ ตามคำผู้หญิงทั้งหลายกล่าวแต่เมื่อทำอิดพุ้น บทว่า ไผแรงเสมอดังพระนารายณ์ดาย มีมือฟากห้านิ้วดั่งกันนั้นแล อูบมุงอันนี้ ผู้เฒ่า คนแก่ทั้งหลายใสชื่อว่า อูบมุงอิตถีมายา พญาสุวรรณภิงคารบ่ให้ว่าอย่าได้มล้างคำอรหันตาอันได้ใส่ชื่อว่าธาตุนารายณ์นั้นเทอญ อูบมุงอันผู้ชายก่อบ่แล้วใสชื่อว่า ภูเพ็กมุสา ตามเหตุหั้นแล”
นครรัฐปยูคงนับถือพุทธศาสนานิกายมหายานจากรัฐพิหารและเบงกอล แต่เมื่อพระเจ้าอนุรุทธมหาราช (พ.ศ.๑๕๘๗ – ๑๖๒๐) รวบรวมดินแดนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน แล้วสถาปนาอาณาจักรพุกาม ได้แผ่อำนาจลงสู่ลุ่มแม่นํ้าโขงและลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยา ทำให้ล้านนา ล้านช้างและล้านเพีย ได้รับอิทธิพลพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบพุกามเข้ามาด้วย
เส้นทางที่สอง : จากเมืองพระนคร สู่ล้านช้างหลวงพระบาง
เรื่องราวการอัญเชิญพุทธศาสนาจากเมืองพระนคร เข้ามาประดิษฐานในนครรัฐล้านช้างหลวงพระบางในสมัยพระเจ้า ฟ้างุ้มสะท้อนภาพความทรงจำเส้นทางโบราณและการติดต่อระหว่างเมืองนครธมกับนครรัฐหลวงพระบางที่พระเจ้าฟ้างุ้มสถาปนาขึ้นใหม่ พระนามของพระองค์ปรากฏในตำนานอุรังคธาตุว่า “พญาทุคคตะไหลน้ำ” ตามพระราชประวัติที่ทรงถูกเนรเทศลอยแพในวัยเด็ก
พ.ศ.๑๘๙๖ พระเจ้าฟ้างุ้มมหาราชรวมอาณาจักรลาวล้านช้างขึ้นครองราชย์สมบัติ ตั้งเมืองเชียงทองเป็นเมืองหลวง พ.ศ.๑๙๐๒ พระเจ้าฟ้างุ้มได้นางแก้ว เก็งยาผู้เป็นราชธิดาของพระเจ้าสุริโยวงษ์แห่งนครธมเป็นมเหสี อัญเชิญพระบางจากนครธมมาไว้ยังเมืองเวียงคำ และนำพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์จากเมืองนครธมมาสู่อาณาจักรลาวล้านช้าง
เป็นที่น่าสังเกตว่า อิทธิพลของพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกามีความสัมพันธ์กับการตั้งนครรัฐล้านช้างในดินแดนลุ่มแม่นํ้าโขง การที่ผู้ปกครองของอาณาจักรล้านช้างนำสัญลักษณ์ทางศาสนา ๒ อย่าง ได้แก่ การสร้างพระพุทธรูป และการสร้างพระธาตุ เข้ามาใช้เป็นสิ่งแสดงสิทธิธรรมในการสถาปนาชุมชนโบราณให้เป็นเมืองสำคัญในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ เป็นวิธีในการสถาปนาอำนาจตามตำนานของพระเจ้าอโศกมหาราชที่รับอิทธิพลมาจากลังกา
เส้นทางที่สาม : จากละโว้ สู่นครราชเสมาเข้ามาในอีสาน
เส้นทางนี้เป็นเส้นทางสำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และเป็นเส้นทางที่นำพาวัฒนธรรมทวารวดีจากลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยาเข้ามาในดินแดนที่ราบสูงอีสานและลุ่มแม่นํ้าโขงเรื่องราวที่ปรากฏในตำนานอุรังคธาตุกล่าวถึงการสร้างพระธาตุบังพวน หลังจากมีการสร้างพระธาตุพนมว่า
“บัดนี้ จักกล่าวอันเจ้าพุทธรักขิต ธรรมรักขิต สังฆรักขิต เอาลูกศิษย์ทั้ง ๕ มีมหารัตนะ เป็นต้น ไปสู่เมืองราชคฤห์แล จักคืนมานั้นจึงนำเอาธาตุหัวเหน่าพระพุทธเจ้า ซาว ๙ ลูก ธาตุแข้วฝาง ๑ ลูก ธาตุฝ่าตีนขวา เก้าลูก มายั้งอยู่ “เมืองนครราชเสมา” นี้คืน ๑ เมื่อพระพุทธเจ้ายังทัวรมาน ได้มาสถิตที่ถ้ำแก้วชิรปราการ หว่างภู ๒ อัน ถัด “ละโว้” หั้นพระอรหันต์ทั้ง ๘ ตนนี้ พร้อมกันไปสักแผ่นกระดานหินเป็นพื้นบ้านพื้นเมือง แลอุปเทศนิทานทั้งมวลไว้ อันจักรักษาพระพุทธศาสนา แลพื้นธาตุพระพุทธเจ้า อันจักได้ขยายไว้ในชุมพูทวีป แลพื้นรอยปาทลักษณ์ กับทั้งศาสนานครนิทาน สัพพัญญูเจ้าซุอัน ก็สักไว้หั้นทั้งมวลแล
แล้วพ่อครูทั้ง ๓ จึงสั่งลูกศิษย์ทั้ง ๕ ให้เอาธาตุอันเอามานั้นว่า ให้ไว้ธาตุหัวเหน่าที่ภูเขาลวงหั้นเทอญ ธาตุฝ่าตีนขวาไว้เมืองลาหนองคายเทอญ ธาตุแข้วฝางไว้เวียงงัว ๓ ลูก ไว้ท่าหอแพสี่ลูก อรหันตาเจ้าทั้ง ๓ สั่งแล้ว ก็หนีเมือสู่เมืองราชคฤห์ดังเก่าแล”
เรื่องราวในตำนานอุรังคธาตุ กล่าวถึงการเดินทางจากเมืองราชคฤห์ในอินเดียแล้วเข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิผ่านเมืองสำคัญคือ “เมืองนครราชเสมา” และ “เมืองละโว้” ทั้งสองเมืองนี้จึงเป็นเมืองสำคัญที่น่าสนใจเกี่ยวกับเส้นทางโบราณในการรับรู้ในตำนานอุรังคธาตุ
จากหลักฐานทางโบราณคดี พบว่า เส้นทางโบราณที่สำคัญเพื่อมายังดินแดนลุ่มแม่นํ้าโขงของชาวอินเดียมีทั้งทางบกและทางนํ้า การเดินทางของกลุ่มที่มาจากภาคกลางของอินเดียโดยพ่อค้า พราหมณ์ และพระภิกษุในพุทธศาสนา จะแล่นเรือมาขึ้นบกที่เมืองมะละแหม่งผ่านด่านแม่สอด ลงมาตามแม่นํ้าวังเข้าสู่ลุ่มนํ้าเจ้าพระยา หรืออีกเส้นทางหนึ่งจะมาขึ้นบกที่เมืองทวาย เดินทางผ่านด่านเจดีย์สามองค์ ลงมาตามแม่นํ้าแม่กลองเข้าไปลุ่มนํ้าเจ้าพระยา
จากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวอินเดียได้เดินทางผ่านไปยังลุ่มแม่นํ้าโขง ๒ เส้นทางคือ เมืองลพบุรีและเมืองศรีเทพ ไปทางตะวันออกสู่เมืองนครราชเสมา เข้าสู่ลุ่มแม่น้ำมูล ไปสิ้นสุดเส้นทางที่อาณาจักรเจนละ อันเป็นชื่อในเอกสารจีน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอาณาจักรกัมพุชในเวลาต่อมา
หรืออีกเส้นทางหนึ่ง จากเมืองนครราชเสมาจะเดินทางขึ้นทางเหนือเพื่อเข้าสู่ลุ่มแม่นํ้าชี ผ่านเมืองจำปาศรี กันทรวิชัย ฟ้าแดดสงยางเข้าสู่อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์หรือบริเวณแอ่งสกลนครในปัจจุบัน เชื่อมต่อไปออกทะเลที่เมืองเว้ ในเวียดนาม
ละโว้ ลพบุรี
ละโว้ มีชื่อในจารึกโบราณหลายชื่อ ในสมัยทวารวดีพบศิลาจารึกปรากฏชื่อเมืองว่า ลวปุระ ในจารึกขอมว่า สฺรุกโลฺว หรือ ลโวทยปุระ ส่วนจดหมายเหตุของจีนเรียก แคว้นโลฮู หรือ หลอฮก เป็นเมืองสำ คัญที่มีพัฒนาการมายาวนานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖ ละโว้เป็นรัฐสำคัญในวัฒนธรรมทวารวดี และต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๘ ได้เป็นนครรัฐสำคัญที่มีการส่งเครื่องบรรณาการไปยังเมืองจีน จนถูกผนวกเข้ากับอาณาจักรกัมพูชา และเมื่ออาณาจักรกัมพูชาเสื่อมอำนาจทางการเมืองลงละโว้ได้กลายเป็นเมืองลูกหลวงของอยุธยา
ความน่าสนใจของเมืองละโว้ในเอกสารประเภทตำนาน จะเห็นว่า กษัตริย์หรือผู้นำรัฐต่าง ๆ ในยุคต้นประวัติศาสตร์ เช่น พญาเม็งรายพระร่วง พญางำเมือง ต่างมารับการศึกษาจากสำนักฤษีที่เขาสมอคอนแห่งเมืองละโว้ รวมถึงพระนางจามเทวีผู้เป็นพระราชธิดากษัตริย์กรุงละโว้ ได้เป็นปฐมกษัตริย์ผู้ครองเมืองหริภุญชัย (ลำพูน)
ศ.ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายว่า ละโว้มีชัยภูมิที่ดีในฐานะศูนย์กลางการคมนาคมทั้งทางบกและทางนํ้า เส้นทางเข้าสู่อีสานจากละโว้จะขึ้นไปตามลำน้ำลพบุรี ไปเขาสมอคอน ผ่านชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์ในเขตเมืองพรหมทิน อำเภอโคกสำโรง ต่อไปยังเมืองดงมะรุม เดินทางข้ามช่องเขาเพชรบูรณ์ผ่านตำบลม่วงค่อม ไปถึงแม่นํ้าป่าสักที่ไหลผ่านเมืองศรีเทพมาสบกับลำสนธิและลำพญากลาง ผ่านช่องหินลับไปต้นลำนํ้าชีและลำนํ้ามูลในดินแดนอีสานหรืออีกทางหนึ่งไปทางใต้ตามลำพญากลาง ไปยังปากช่อง ผ่านตำบลจันทึก เมืองเสมา เข้าสู่นครราชสีมา
นครราชเสมา นครราชสีมา = นครราช +พิมาย?
นครราชสีมาหรือโคราช สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายว่า นครราชสีมา เป็นคำบาลี-สันสกฤต หมายถึง เมืองอันเป็นพระราชเขต (ของกรุงศรีอยุธยา)
นคร แปลว่า เมือง
ราช แปลว่า พระราชา
สีมา แปลว่า เขต, แดน
ภาษาปากชาวบ้านว่า ครราช แล้วเพี้ยนเป็น โคราช
ศาสนสถานสำคัญที่เป็นศูนย์กลางชุมชนโบราณบริเวณนครราชสีมา คือ “ปราสาทพิมาย” และ “ปราสาทพนมวัน” ปราสาทพิมาย หรือกมรเตงชคตวิมายะ เป็นศาสนสถานคติพุทธศาสนาฝ่ายมหายานแบบวัชรยานหรือมันตรยาน ตั้งอยู่บนฝั่งลำแม่นํ้ามูล
ส่วนปราสาทพนมวัน จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายถึงชื่อตามจารึกว่า “ชื่อ รัตนภูมิ นี้ เราได้พบในศิลาจารึกวัดพนมวัน ที่บ้านมะค่า ตำบลบ้านโพธิ์อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา”
ชื่อ “รัตนภูมิ” หรือ “รัตนปุระ” นี้ ทำให้จิตร ภูมิศักดิ์ และไมเคิล ไรท ตั้งข้อสังเกตว่า “เมืองราด” ของพญาผาเมืองน่าจะอยู่ที่นครราชสีมา เนื่องจาก ในจารึกหลักที่ ๒ ที่กล่าวว่า พญาผาเมืองเจ้าเมืองราดยกสุโขทัยให้พ่อขุนบางกลางหาวพร้อมพระขรรค์ชัยศรีแล้วเลิกทัพกลับบ้านเมืองดังเก่า พ่อขุนผาเมืองจึงน่าจะกลับไปเมืองราด หรือ นครราช นั่นเอง จากรัตนภูมิหรือรัตนปุระ จึงเป็นไปได้ที่จะเป็น “นครราช”
ที่เกริ่นมาทั้งหมดนี้ พลันใหผู้เขียนคิดไปว่า “นครรัตนะ + พิมาย” หรือ “นครราช + พิมาย” กลายไปเป็น “นครราชเสมา” ในตำนานอุรังคธาตุ หรือ“นครราชสีมา” ในปัจจุบัน…แต่ไม่เกี่ยวกับชื่อ “เมืองเสมา” ที่ อ.สูงเนิน แน่นอน ชื่อเสมาเป็นชื่อใหม่ที่ชาวบ้านตั้งให้ เพราะพบเสมาในเมือง ส่วนชื่อ “ศรีจนาศะ” ในจารึกที่พบนั้น ยังมีข้อสงสัยว่าอาจจะหมายถึงเมืองศรีเทพที่ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งต้องได้ช่วยกันเปิดผ้าม่านกั้งกับทางอีศานกันต่อไป…
อ้างอิง
จิตร ภูมิศักดิ์. (๒๕๒๖). สังคมไทยลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยา ก่อนสมัยศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : ไม้งาม.
ศรีศักร วัลลิโภดม. (๒๕๔๖). แอ่งอารยธรรมอีสาน. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : มติชน.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. (๒๕๕๘). โคราชของเรา. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : มติชน.
สุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์. (๒๕๕๔). ศิลปะในประเทศพม่า. กรุงเทพ : สายธาร
******
คอลัมน์ เปิดผ้าม่านกั้ง นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๔ | ตุลาคม ๒๕๕๙
.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220