ฟันดาบไทย-ลาว
การละเล่นใน “สมุทรโฆษคําฉันท์”
มหรสพ (entertainment) หรือการละเล่น (amusement) ของสยามในอดีตส่วนใหญ่สูญหายไม่มีแสดงกันแล้วในสังคมทั่ว ๆ ไป หลักฐานที่จะสืบค้นหาได้คือ พวกเอกสารประวัติศาสตร์, วรรณคดีและภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นต้น
เนื้อหาในวรรณคดีโบราณ นอกจากงดงามด้านวรรณศิลป์ แล้วยังมีคุณค่าทางด้านประวัติวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ด้วย เช่น โคลงประพาสคลองช้างนครสวรรค์ของหลวงศรีมโหสถ บันทึกเวลาที่ถูกต้อง ช่วยแก้ไขข้อผิดพลาดในพงศาวดารได้, กาพย์ห่อโคลง ของหลวงศรีมโหสถ บรรยายการแต่งกายของคนอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ไว้ชัดเจน
วรรณคดีที่บรรยายเรื่องมหรสพการละเล่นสยามไว้มาก คือเรื่อง “สมุทรโฆษคําฉันท์” ช่วง ต้น ๆ ซึ่งเป็นฝีมือของ “มหาราชครู” กล่าวถึง มหรสพต่าง ๆ เช่น หัวล้านชนกัน, ไทย – ลาวฟันดาบ, ชวาแทงกฤช, ชนแรด ฯลฯ
“ฟันดาบไทย – ลาว”
“มหาราชครู” เขียนเกริ่นถึงการละเล่นนี้ไว้ว่า
๏ จะเล่นเถลิงลาว ทั้งสองสามหาว
ชวนกันฟันแทง ผู้ใดดีจริง จักรู้จักแรง
ใครดีคําแหง จะเห็นฝีมือ ฯ
และเขียนบรรยายฉากฟันดาบอย่างละเอียดไว้ต่อจากเรื่อง “หัวล้านชนกัน” เนื้อหาเรื่องฟันดาบ ไทย – ลาว นี้นับว่ายาวกว่าในวรรณคดีเรื่องอื่น ๆ “คนลาว” ในเรื่องนี้ เป็นคนเมืองพะเยา ชื่อ “ไกรหาญ” “คนไทย” ในเรื่องนี้ เป็นคนสุโขทัย ชื่อ “กาไต”
น่าสังเกตว่าการละเล่นไทย – ลาวฟันดาบนั้น ทั้งในเรื่อง “สมุทรโฆษคําฉันท์” และ “บุณโณวาท คำฉันท์” ฝ่ายลาวเป็นลาวล้านนา และฝ่ายลาวพ่ายแพ้ทั้งสองเรื่อง คาดว่าการละเล่นนี้เป็นที่นิยมกันในสมัยอยุธยา ฝ่ายไทยจึงต้องชนะเสมอ
เนื้อความรายละเอียดมีดังนี้ (สะกดการันต์ตาม ต้นฉบับโรงพิมพ์คุรุสภา พ.ศ.๒๕๐๒)
๏ ตํานานหนึ่งมา ลาวไทอาสา
ฟันแย้งระบิน ใครดีได้กัน กระชั้นโดยถวิล
คะค้าเอาดิน ทั้งสอง บ นาน
กูนี้เนื้อลาว แต่ยังพะยาว
บมีผู้ปาน เขาขึ้นชื่อกู ชื่อเสียงไกรหาญ
ปานปล้นเมืองมาร ขุนมารหักหัน
แม้ว่ามึงหาญ ออกมาอย่านาน
จะเลี้ยวลองกัน จะให้หัวมึง
จงแตกเหิรหัน กูนี้คนขัน จะขามคนใด
กูนี้ไทแท้ ท่านลือกูแล้ ในสุโขไทย
ไปลาดไปลอง ทุกทีมีไชย
หาญจริงเจ้าไท ธ ให้อาสา
ธ ไว้วางใจ บําเหน็จกูไกร
ผู้ใดจะมา ต่อกูจงดี
อย่าพลันระอา บํานาญกูครา นี้เรียกกาไต
แม้ว่ามึงหาญ จงออกมาพาน
ด้วยกูว่าไซร้ ลุกออกมาพลัน
อย่าทัน ธ ใช้ ต่อกูจะให้ จงหัวมึงหาย
ไกรหาญหาญจริง ครั้นฟังวางวิ่ง
ออกมาทะทาย ว่ากูนี้แล
เลิศลํ้าเลยชาย ดาบเขนฟ้อนฟาย
กระลึงกลางสนาม ฯ
๏ กาไตได้ตาวแล่นตาม ต่อสู้บมิขาม
แลสองก็กริ้วโกธา
สองสู้ฟันกันไปมา ดูสองสหัสา
สระแสรกสระเสื้องกลางแปลง
สองฟันสองกันสองแทง สองเที้ยรพอแรง
แลใจมิมลายสักอัน ฉาดฉาดเสียงตาวฝืนฟัน สองต่อสู้กัน
ทั้งเขนก็แหลกบินบน
ต่างรู้รับตาวกันตน กาไตใส่กล
ว่าเหวยไกรหาญมึงกลัว
เดิมฟันกันสองชมชัว แต่ตัวต่อตัว
แลมึง บ มาเดียวดาย
สู้กันผกฟันผันผาย ฤาเพื่อนมึงหลาย
จะเข้ามาโซรมกูเดียว
ไกรหาญเดือดฟุนฉุนเฉียว กาไตลอยเลี้ยว
ก็ล้มตะแบงแหงนหงาย
ฝูงลาวพ่ายแพ้ทุกพาย กลัวแกลนเกลื่อนหาย
บรู้หลักแหล่งโหงโห ฯ
*****
คอลัมน์ ล้านนาคดี นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๓๔| กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220