ว่าด้วย เงือก (๓) คติความเชื่อเรื่องเงือกของชาวไทในเวียดนามและลาว จากเอกสารภาษาไทย

ว่าด้วย เงือก (๓)

คติความเชื่อเรื่องเงือกของชาวไท

ในเวียดนามและลาว จากเอกสารภาษาไทย

ลายตัวลวง บนตุงในพิธีศพ เชียงขวาง สปป. ลาว

แหล่งข้อมูลเรื่อง “เงือก” ส่วนสำคัญที่สุด คือ คติความเชื่อและลายผ้าของชาวไท – ไต ในเวียดนาม ที่มิได้รับอิทธิพลศาสนาพุทธ แม้ว่าข้อมูลที่นักวิชาการชาวไทยค้นคว้าเผยแพร่เป็นภาษาไทยจะยังมีไม่มาก แต่ข้าพเจ้าก็ขอนําเสนอข้อมูลเหล่านั้นเป็นเบื้องต้นก่อน

หนังสือที่ให้ข้อมูลเรื่องคติความเชื่อของชาวไทดำได้ดีมากคือหนังสือ “ศาสนาและความเชื่อ ไทดําในสิบสองจุไท สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม” โดย สุมิตร ปิติพัฒน์ มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเงือกในหน้า ๔๓-๔๔ ดังนี้

“สัตว์ที่คนไทกลุ่มต่าง ๆ ในเวียดนามให้ความเคารพเช่นเดียวกันหมดทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นไทขาว ไทดํา หรือกลุ่มไต ก็คือ “ตัวเงือก” ความเชื่อดังกล่าวถูกถ่ายทอดผ่านนิทานในท้องถิ่นและพิธีเสนตัวเงือก

นิทานเรื่องต่าง ๆ ของกลุ่มคนที่พูดภาษาไทในเวียดนามที่เกี่ยวข้องกับตัวเงือก ต่างก็พบว่า ผู้หญิงไทจะแต่งงานกับตัวเงือกที่แปลงร่างมาเป็นชายหนุ่ม และได้ให้กําเนิดลูกหลานเป็นบรรพบุรุษของคนไทในเวลาต่อมา ดังนิทานของคนไทกลุ่มต่าง ๆ เช่น

๑. นิทานตัวเงือกของชาวไทขาวเมืองเติ๊ก

ชาวไทขาวที่เมืองเติ๊กมีนิทานเกี่ยวกับตัวเงือกเล่าสืบทอดกันอยู่ในกลุ่มว่า “แม่นางคนหนึ่งออกไปช้อนปลาและได้ไข่มา ๑ ฟองจึงนำมาเพื่อให้แม่เป็ดกกไข่ ครั้นต่อมาเมื่อไข่ฟักตัวออกมาก็กลายเป็นงูน้อย งูน้อยตัวนี้ได้เป็นเพื่อนกับลูกเป็ดที่ฟักออกมาพร้อมกันและมักจะออกไปหาอาหารร่วมกันกับลูกเป็ด อยู่มาวันหนึ่งชาวบ้านนำเป็ดออกไปหาอาหารและขุดไส้เดือนเพื่อให้เป็ดกิน แต่เสียมขุดดินบังเอิญไปถูกหางงูน้อยขาดไป งูน้อยนั้นจึงมีชื่อว่า ‘อ้ายหางกุด’

เมื่ออ้ายหางกุดโตขึ้นได้แปลงร่างเป็นชายหนุ่มมารักและอยู่กินกับลูกสาวของแม่นางที่ออกไปช้อนปลาและได้ไข่ที่ตนถือกําเนิดมาจากไข่ใบนั้น อยู่มาวันหนึ่ง เงือกหนุ่มหมดเวลาที่จะอาศัยอยู่บนโลกมนุษย์ จึงสั่งลาลูกหลานของตนให้มาเอาเงินเอาคำที่ตนเตรียมไว้ให้ จากนั้นอ้ายหางกุดก็คืนร่างเป็นตัวเงือกพร้อมกับฟาดหางไปที่ก้อนหินริมนํ้า เมื่อก้อนหินแตกออกก็มีเงินคําไหลออกมาจากนั้นอ้ายหางกุดก็เลื้อยลงน้ำไป”

ปัจจุบันสถานที่ที่อ้ายหางกุดลงนํ้าไปนั้นเรียกว่า “วังอ่อม” เมื่อถึงเดือนเจียง ชาวเมืองเติ๊กจะทําพิธีเสนเจ้านํ้า หรือเรียกว่า “เสนปัวนํ้า”  ทุกปีด้วยควายเผือก ณ บริเวณริมวังอ่อมแห่งนั้นเพื่อรําลึกถึงอ้ายหางกุด

๒. นิทานตัวเงือกของคนไต ที่จังหวัดฮายาง

คนไตที่อําเภอนาฮาง จังหวัดฮายาง มีนิทานเรื่องตัวเงือกเล่าต่อกันมาว่า นางเตียนที่ ๗ เป็นนางคนไตบ้านหนึ่งมีลูกสาวอยู่ ๗ คน แต่ละคนได้ชื่อว่าสวยงามทั้งหมด โดยเฉพาะคนที่เจ็ดซึ่งถือว่าสวยที่สุด ที่หมู่บ้านแห่งนี้มีวังนํ้าแห่งหนึ่งเป็นที่อาศัยของเงือก เงือกใหญ่นี้มีลูกเงือก ๗ ตน ซึ่งเป็นเงือกเพศผู้ทั้งหมด เมื่อถึงเวลาตะวันตกดินเงือกหนุ่มทั้ง ๗ ตนก็จะแปลงร่างเป็นชายหนุ่มขึ้นมาแอบดูแม่นางทั้งเจ็ดซึ่งมักจะทอผ้าอยู่บนเรือน

อยู่มาวันหนึ่ง ลูกสาวคนที่ ๗ ได้ทําฝ้ายตกลงไปที่ใต้ถุนเรือน เมื่อตามลงไปเก็บก็พบสายฝ้ายได้ทิ้งชายยาวลงไปยังวังนํ้า จึงตามสายฝ้ายนั้นไป ก็พบกับเงือกหนุ่มอยู่ในวังน้ำ และทั้งสองก็รักกัน

เงือกหนุ่มได้ไปขออนุญาตพ่อเงือกให้ตนกลายร่างเป็นมนุษย์ พ่อเงือกอนุญาตให้เป็นมนุษย์ได้ ๗ ปี เมื่อครบ ๗ ปีก็ต้องแยกจากกัน เพราะเงือกหนุ่มไม่สามารถเป็นมนุษย์ต่อไปอีกได้ หลังจากนั้นแม่นางจะมานั่งคอยเงือกที่เป็นสามีตนที่ริมวังน้ำทุก ๆ วัน จนภายหลังบริเวณที่แม่นางมานั่งคอยนั้นกลายเป็นภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่า “มุ่งตึ” ต่อมาเมื่อถึงเดือนเจียง ณ ที่แห่งนั้นชาวบ้านจะมีพิธีเสนตัวเงือกทุก ๆ ปี

๓. นิทานตัวเงือกของชาวไทดํา เมืองมวก

ชาวไทดําที่เมืองมวกมีนิทานเกี่ยวกับตัวเงือกเล่าสืบทอดไว้ว่า “มีเงือกหนุ่มตนหนึ่งได้แปลงร่างเป็นมนุษย์ และเป่าปี่เก่งมาก เป็นที่ถูกใจของแม่นางผู้หนึ่ง ทุก ๆ วันแม่นางจะออกมาฟังเสียงปี่ของเงือกหนุ่ม อยู่มาวันหนึ่งทั้งสองได้พบกันเข้าและต่างก็รักกัน และต่อมาได้แต่งงานกัน แต่เงือกหนุ่มไม่สามารถแปลงร่างเป็นมนุษย์ได้นานนัก ในที่สุดเงือกหนุ่มก็ต้องกลับไปเป็นตัวเงือกเหมือนเดิม และกลับไปอาศัยอยู่ในถํ้า ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าถํ้าเงือก”

๔. นิทานตัวเงือกของชาวไทดํา เมืองม่วย

สําหรับไทดําที่เมืองม่วยมีนิทานเกี่ยวกับเงือกในลักษณะที่คล้ายคลึงกับคนไทในเมืองอื่น ๆ เช่นกัน มีเรื่องเล่าอยู่ว่า “ที่เมืองม่วยมีหนองนํ้าแห่งหนึ่ง เรียกว่า หนองเชียงดี ซึ่งเป็นที่ที่ตัวเงือกอาศัยอยู่ มีเรื่องเล่าว่าเงือกตนนั้นได้ขึ้นมาชอบกับผู้หญิงไทที่เมืองม่วย ภายหลังต่อมาชาวบ้านที่เมืองม่วยก็มีพีธิเสนตัวเงือกที่หนองเชียงดีเป็นประจําทุกปีเชนกัน”

ส่วนคติความเชื่อของชาว “ไทเมือง” ในจังหวัดเหง่อัน เวียดนาม มีจุดน่าสนใจยิ่ง คือชาวไทเมืองนับถือว่าตัวเงือกเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด สูงกว่าแถนเสียอีก (ข้าพเจ้าตีความว่า “เงือก” เป็นสัญลักษณ์ของพลังเพศหญิง เป็นร่องรอยของสังคมยุคมาตาธิปัตย์ ชาวไทเมืองมีพัฒนาการทางสังคมน้อยกว่าไทดํา จึงยังคงมีร่องรอยของสังคมยุคมาตาธิปัตย์หลงเหลืออยู่บ้าง)

ข้อมูลจากหนังสือ “คนไทเมืองกว่า ไทแถง และไทเมือง ในประเทศเวียดนาม” รศ.สุมิตรปิติพัฒน์, ดร.ฮวง เลือง สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หน้า ๕๓ บันทึกไว้ว่า

“ผีดีได้แก่… ผีนํ้า หรือตัวเงือก (งูมีหงอน) เป็นผีที่ช่วยเหลือคน ซึ่งมักเป็นการช่วยเหลือคนในการสร้างบ้านสร้างเมือง ดังนั้นการตั้งบ้านเมืองของคนไทจะต้องมี “ดงเสื้อ” และ “วังน้ำ” หรือขุดเอาถ้าไม่มีเพื่อให้ตัวเงือกอยู่ จะเห็นว่าตัวเงือก หรือนาค เป็นผู้มีอํานาจที่สุด ซึ่งต่างจากไทดำที่เชี่อว่าแถนมีอำนาจสูงสุด แต่หากคนทําให้ไม่พอใจก็เป็นอันตรายได้เช่นกัน”

ข้อมูลตรงนี้ที่สําคัญมาก นอกจากเรื่องที่ชาวไทเมืองถือว่า “เงือกมีอํานาจสูงสุด” แล้ว ยังมีประเด็นที่ “เงือกเป็นผีที่ช่วยเหลือคนซึ่งมักเป็นการช่วยเหลือคนในการสร้างบ้านสร้างเมือง ดังนั้นการตั้งบ้านเมืองของคนไทจะต้องมี ‘ดงเสื้อ’ และ ‘วังนํ้า’ หรือขุดเอาถ้าไม่มีเพื่อให้ตัวเงือกอยู่”

พิธีเสนบ้านและเสนเมืองของชาวไทในเวียดนามจะมีการเซ่นไหว้แถนและเงือกพร้อมกัน

ดร.คําจอง นักวิชาการชาวไทดํา เล่าไว้ในบทความเรื่อง “บ้าน-เมือง : ลักษณะเด่นของโครงสร้างสังคมไท” อยู่ในหนังสือเรื่อง “ทฤษฎีบ้านเมือง ศาสตราจารย์คําจอง กับการศึกษาชนชาติไท” ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, พิเชฐสายพันธุ์ บรรณาธิการ บริษัทสำนักพิมพ์สร้างสรรค์ จำกัด พ.ศ.๒๕๕๓ หน้า ๑๗๔ ดังนี้

“วังเสน เป็นที่บนธารน้ำซึ่งมี ตัวแม่น้ำ คือผีนํ้า สัญลักษณ์เป็นเหมือนงูเรียกว่า ตัวเงือกหรือมังกร หรือตัวลวง บางบ้านกำหนดวังเสน ณ ที่ต่างไปจาก วังฝาย กําหนดวังเสน ณ ที่ใกล้กับดงตูเสื้อ คือป่าที่ถือว่า ผีดอย และผีอื่น ๆ อาศัยอยู่มีการจัดพิธีเป็นเกียรติแก่ ผีแม่นํ้า พร้อมคู่ขนานไปกับพิธีเสนบ้าน เป็นพิธีที่มีการฆ่าควายเซ่นบูชาผี (ควายดําในกรณีของไทดํา ควายขาวหรือควายด่อนในกรณีของชาวไทขาว)…”

ห้ามไม่ให้ลงอาบนํ้าใน วังเสน และห้ามกระทั่งว่าเมื่อเดินผ่านไม่ให้พูดคําที่จะระคายเคืองผีนํ้าในบริเวณที่ลึกและใส รวมทั้งความรู้สึกโดยสัญชาตญาณว่ามีผีอยู่ในบริเวณนั้น ดลใจให้ผู้พํานักอาศัยกลัวและมีความเคารพ”

หลักฐานที่ทําให้ข้าพเจ้ามั่นใจว่าคติความเชื่อของคนไทดั้งเดิมเรื่องจ้าวแห่งนํ้านั้นคือ “เงือก” แล้วหลังจากรับวัฒนธรรมพุทธ พราหมณ์ จึงเปลี่ยนเป็น “นาค” คือร่องรอยความต่อเนื่องในกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ยังคงพบเห็นได้ในสังคมชาวไทแดง แขวงหัวพัน สปป. ลาว

ข้อมูลจากหนังสือ “คนไทแดงในแขวงหัวพัน สปป. ลาว” โดย รศ.สุมิตร ปิติพัฒน์ และคณะ บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับลวดลายผ้าทอของชาวไทแดงทนับถือศาสนาพุทธ (หน้า ๗๘-๗๙) ไว้ว่า

“ลวดลายที่ถือว่าสำคัญและมีบทบาทมากในลายผ้าของไทแดงคือตัวนาคและตัวเงือก คําอธิบายเกี่ยวกับตัวนาคส่วนใหญ่จะตรงกันว่า นาคเป็นสัตว์คล้ายงูขนาดใหญ่ แต่ตัวป้อมกว่ามีขน มีหาง คนไทแดงถือว่านาคมีความสำคัญมาก เพราะมีความเกี่ยวพันกับพุทธศาสนา มีการนับถืออยู่ตามวัดวา ปู่ย่าตายายก็ได้นับถือกันมาแม้ว่าในอดีตคนไทแดงบางส่วนจะมิได้นับถือศาสนาพุทธก็ตาม หากก็เชื่อว่านาคเป็นสัตว์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์สมควรแก่การกราบไหว้ยกย่อง ดังคําอธิบายของ แม่สีจันพอน ว่า

‘นาคมันมีประวัติศาสตร์ คนเฮาข้ามนํ้าข้ามหยังบ่ได้ นาคช่วยเฮ็ดให้ไต่ไปได้ เฮ็ดวัดเฮ็ดวาต้องให้นาคเป็นใหญ่ บ่เคยเห็นนาคเห็นเงือกจั๊กเทื่อ แต่ก็เว้ากันมา’

ในขณะที่คําอธิบายเรื่องตัวนาคจะแสดงความนับถือเนื่องจากคุณประโยชน์ของนาคที่มีตอมนุษย์ และศาสนา แต่เมื่อกล่าวถึงตัวเงือก คำอธิบายที่ได้ดูจะเป็นการนับถือสืบเนื่องจากเกรงกลัวอิทธิฤทธิ์ของเงือกมากกว่า ชาวบ้านให้คํานิยามว่า ตัวเงือกคล้ายนาค แต่ไม่มีขน มีเกล็ด มีหงอน เป็นสัตว์ที่มีฤทธิ์เดชน่าเกรงกลัวและสามารถทําร้ายคนได้เชื่อว่าหากมีคนจมนํ้าตายต้องเป็นฝีมือของเงือกมาเอาตัวไป นอกจากนั้นยังมีคําเรียกเงือกที่แตกต่างจากที่เคยได้ยินคือ ท้าวเงือกนาง อันหมายถึง เงือกหญิงเงือกชาย เงือกงูและเงือกนาค อาจเป็นไปได้ว่าตัวนาคหรือเงือก คือมังกรที่คนไทแดงมีคติความเชื่อดั้งเดิมร่วมกับจีนก่อนพุทธศาสนาจะแพร่เข้ามาสู่การรับรู้ของพวกเขา

ลวดลายที่มาจากสัตว์ในจินตนาการและความเชื่อ นิยมประดับไว้ในผ้าเบี่ยง ผ้าขันเชิง ผ้าตุ้มลูก ผ้าปกหัว เพราะเชื่อว่าเป็นลวดลายที่ช่วยป้องกันความชั่วร้ายได้ นอกจากจะเปนลวดลายเดี่ยวของสัตว์แต่ละชนิดแล้ว ยังนิยมที่จะนําสัตว์มากกว่า ๑ ชนิดมาผูกลายเข้าด้วยกัน มีชื่อเรียกเช่น ลายตัวลวงมานไข่ ลายตัวช้างมานเงือก หมายถึงเงือกอยู่ในท้องช้างนั่นเอง”

ตามความเห็นของข้าพเจ้า “ตัวลวง” ในภาษาไทดํา ไทแดง ลาว เป็นการทับซ้อนระหว่างความเชื่อเรื่อง “เงือก” กับเรื่อง “หลงมงกรจีน” (อิทธิพลจีน) ส่วน “ตัวนาค” เป็นการทับซ้อนระหว่างความเชื่อเรื้อง “เงือก” (ดั้งเดิม) กับ “นาค” (พุทธ-พราหมณ์อิทธิพลอินเดีย)

ยังมีข้อมูลวิจัยเกี่ยวกับ “เงือก” ในพิธีกรรมของแม่มด-หมอมน และในลายผ้าทอ อย่างละเอียดในหนังสือ ๒ เล่ม คือ TENDING THE SPIRITS และ SPIRITS IN THE LOOM โดย ELLISON BANKS FINDLY ทั้งสองเล่ม จัดพิมพ์โดยสํานักพิมพ์ White Lotus

ผ้ากั้งได้จากหมู่บ้านใกล้ ๆ บ้านสบเห้า แขวงหัวพัน สปป.ลาว มีลายที่เป็นสัญญะหลายอย่างในผ้าผืนเดียว

๑. ลายใหญ่ที่เด่นที่สุดคือ ลายมอมมานเงือก (ตัวเงือกหางกุดอยู่ในท้องตัวมอม) หลายท่านอาจะเห็นเป็น “ช้าง” อันที่จริงดั้งเดิมเป็นลายตัวมอม (สัตว์ศักดิ์สิทธิ์) ต่อมามีการแต่งเติมใส่ลายเงือกต่อจากหัวมอม จึงดูเหมือนงวงช้าง และต่อมาก็เลยเกิดความนิยมทําเป็นลายช้างจริงขึ้นมา

๒. บนหลงตัวมอมมี “ห้องเทียน” ภายในห้องเทียน มีลายคน ลายคนนี้ตีความได้หลายอย่าง เช่นหมายถึง คน, ผีขวัญ (ของคนตาย), ผีขวัญที่จะลงมาเกิดเป็นคน, แม่มด-หมอมน (แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่า ถ้าหมายถึงแม่มดหมอมน จะมีเสื้อผ้าสวม ลายที่ไม่มีเสื้อผ้าสวมหมายถึงผีขวัญ)

๓. ส่วนหัวส่วนท้ายของตัวมอมมีลายผีขวัญ ตํ่าลงไปเป็นลายนก ถ้าผีขวัญขี่บนนกจะหมายถึงผีขวัญที่ลงจากเมืองแถนจะมาเกิดเป็นคนในเมืองลุ่มตํ่าลงไปเป็นลายเงือก

(ขอบคุณภาพทั้งหมดจากหนังสือ TENDING THE SPIRITS โดย ELLISON BANKS FINDLY สํานักพิมพ์ White Lotus.)

***

บทความที่เกี่ยวข้อง

แกะรอยคำว่า เงือก

ว่าด้วย เงือก (๒) “ตูเงียะ” เงือกของชาวจ้วงในกวางสี

คอลัมน์  บทความพิเศษ  นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๒| สิงหาคม ๒๕๕๙

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ฤๅสับปะรดเป็นหัวอยู่ใต้ดิน
อักษรในอีสาน…ต้นธารประวัติศาสตร์
[๗] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๒) วัดบ้านยางทวงวราราม อายุ ๒๒๐ ปี
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com