ภาษาลาว ภาษาอีสาน

Learning a language is a profit of life. We will get to know one native group, one culture through that language. We may be born into the language or we may later acquire the language by using it, thus experiencing the way of life and the mentality of that native language group.

A half-breed American who speaks English and also speaks Esan dialect with Udorn accent is therefore a case to be amazed and admired. Many half-breed Thais are not always that lucky. Fortunately, these parents support and teach their children to speak Esan dialect. The children learn to appreciate the culture of the Northeast.

***

คนอีสาน หรือคนที่อาศัยอยู่ในภาคอีสานมีมากมายหลายเผ่าพันธุ์ มีกลุ่มที่อยู่ที่นี่นานเป็นพัน ๆ ปี มีที่อพยพมาจากที่อื่นหลายร้อยปี ที่ผ่านมาบางกลุ่มอาจจะไม่สามารถหรือไม่อยากบอกว่าตนเองเป็นคนอีสาน เพราะเชื้อชาติดั้งเดิมนั้นชัดเจน และอาจมาอยู่ไม่นานอย่างคนเชื้อสายจีน เชื้อสายเวียดนาม

กลุ่มชาติพันธุ์ในภาคอีสานที่วันนี้อาจกลายพันธุ์ไปมากหรือเกือบหมด ก็ยังพอสืบสาวค้นหารากเหง้าได้ก็มีลาวกาว ผู้ไทย บรูโส้ กุย กะเลิง ย่อรวมทั้งเขมรที่อีสานใต้ และอื่น ๆ ซึ่งบางส่วนยังคงรักษาธรรมเนียมประเพณีของตนเองไว้รวมทั้งภาษา โดยเฉพาะตระกูลมอญ – เขมร

กระนั้นก็มีสิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ในภาคนี้มีเหมือนกัน คือ พูดจาภาษาอีสาน หรือจะเรียกว่า “ภาษาลาว” ก็คงไม่ผู้ดี แม้ว่าจะมีสำเนียงที่แตกต่างกันบ้าง ที่พอได้ยินแล้วรู้เลยว่ามาจากสกลนครก็เป็นสำเนียงย้อแบบสกลฯ หรือสำเนียงเมืองเลยที่คล้ายกับสำเนียงลาวของหลวงพระบาง แต่ฟังไปฟังมานักว่าเป็นคนใต้

เมื่อคนไทยคนอีสานได้ยินคุณอะแมนดา คาร์ ลูกครึ่งไทย – อเมริกันพูดจาภาษาอีสานสำเนียงอุดรฯ ซึ่งเป็นสําเนียงที่คนอีสานส่วนใหญ่พูดกัน จึงค่อนข้างตื่นเต้น คงไม่ใช่เพียงเพราะว่าได้ยินคนหน้าตาฝรั่งลูกครึ่งพูด แต่เพราะคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับดาราแบบนี้ยังกล้าพูดจาภาษาอีสานออกอากาศออกสื่อ โดยไม่มีอาการเคอะเขินแต่อย่างใดย่อมไม่ธรรมดา

ใคร ๆ ที่ได้ยิน ไม่ว่าคนอีสานหรือคนไทยทั่วไปก็มักบอกว่า น่ารักดีไม่มีใครดูถูกดูแคลนว่า น่าอายจัง พูดไทยก็ไม่ได้พูดได้แต่ “ภาษาลาว”

วันนี้เราได้ยินคนบริการบนเครื่องบินประกาศเป็นภาษาท้องถิ่นเมื่อเครื่องบินกําลังจะร่อนลง คนสกลนครอาจจะไม่ค่อยชอบนักที่ได้ยินแอร์โฮสเตสประกาศออกสำเนียง “ลาวกาว” แทนที่จะออกเป็นย้อ หรืออย่างน้อยก็ผู้ไทย ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยในบางอําเภอของสกลนคร

ทำไมวันนี้คนจึงไม่อายที่จะใช้ภาษาท้องถิ่นกัน คนใต้ คนเหนืออาจจะไม่ค่อยรู้สึกอะไร เพราะใช้กันมานานไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือไปเมืองกรุง แต่คนอีสานหันมาพูดภาษาท้องถิ่นของตนเองอย่างเปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้กระมัง วิทยุบางสถานีที่กรุงเทพฯ บางรายการพูดสำเนียงเสียงอีสานม่วนซื่นชัดเจน

ประวัติศาสตร์ระหว่าง “ไทยกับลาว” คงมีส่วนในการกําหนดอารมณ์ความรู้สึกของคนอีสาน คนไทยดูถูกคนลาว คําว่า “ลาว” ได้กลายเป็นคําที่ใช้เพื่อดูถูกกันจนถึงวันนี้จนคนอีสานจํานวนมากไม่อยากให้ใครเรียกตนเองว่า “ลาว” (ก็ถูกถ้าคิดว่าคนอีสานมีมากมายหลายเผ่าพันธุ์ไม่มีแต่ “ลาวกาว” แม้ว่าจะเป็นเผ่าพันธุ์ใหญ่สุด และเป็นผู้นําทางวัฒนธรรม)

วันนี้โลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน การอพยพย้ายถิ่น การคลุกคลีคลุกเคล้าระหว่างประชากรมีมากขึ้น จํานวนคนอีสานในกรุงเทพฯ ไปอยู่ภาคต่าง ๆ มีมากมายจนหลายแห่งกลายเป็นหมู่บ้าน ตําบล ไปเลย ทําให้รู้สึกว่าตนเองไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว ไม่กลัว มีความเชื่อมั่นมากขึ้น จึงพูดภาษาของตนเอง มีขนบธรรมเนียมงานบุญประเพณีของท้องถิ่นตน เพื่อแสดงความเป็นตัวตนตามวิถีและวัฒนธรรมของตนเอง

นักปรัชญา – วิตเกนสไตน์ บอกว่า ภาษาเป็น “รูปแบบชีวิต” (form of life) ภาษาเป็นเกมชนิดหนึ่ง มีกฎกติกาของตนเอง แต่ละภาษาก็แตกต่างกัน เอาไวยากรณ์ภาษาหนึ่งไปใช้กับอีกภาษาหนึ่งไม่ได้ เหมือนกับไม่มีใครเอากฎกติกาของกีฬาชนิดหนึ่งไปใช้กับอีกชนิดหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้กระมัง ที่คนไทยเรียนภาษาอังกฤษแต่คิดแบบไทย เรียนให้ตายก็พูดไม่ได้เขียนไม่ดี เพราะมัวแต่แปลเป็นไทย ใช้ไวยากรณ์ไทยกับภาษาอังกฤษ

ภาษาแสดงความเป็นตัวตนของผู้คนมากที่สุด ภาษาที่พูด ที่สื่อ ทําให้คนได้รับรู้เข้าใจ และสัมผัสกับความรู้สึกนึกคิดของผู้พูดได้ดี ฝรั่งเยอรมันเคยวิจัยภาษาไทยพบว่า มีคําที่ประกอบด้วย “ใจ” อยู่มากกว่า ๓๕๐ คํา ซึ่งสะท้อนชีวิต ความคิด จิตวิญญาณ อารมณ์ความรู้สึก และตรรกะของคนไทยได้เป็นอย่างดี

ลองแข่งกันหาคําที่ประกอบด้วย “ใจ” ดูก็ได้ไล่กันไปเรื่อย ๆ จะพบความมหัศจรรย์ของคํานี้ที่บางคำแปลเป็นภาษาอื่นไม่ได้ หรือค่อนข้างยาก ต้องอธิบาย เพราะไม่มีคําที่ตรงทีเดียว หรือว่าแม้ว่าจะแปลได้แต่คำที่คนไทยคิดขึ้นหรือเอามาประกอบกัน ถ้าแปลกันตามตัวอักษรก็คงจะแปลกมากสําหรับภาษาอื่น อย่างเกรงใจ หนักใจ ใจดำ ใจดี ดีใจ เจ็บใจ ใจหาย ตกใจ เป็นต้น

ภาษาอีสานก็มีคํามากมายที่แปลเป็นภาษาอื่นไม่ได้ แม้แต่ภาษาไทยเอง ที่เป็นเช่นนี้คงเป็นเพราะภาษาสะท้อนวิธีคิด วิถีชีวิตของคนอีสานแตกต่างจากคนเผ่าพันธุ์อื่น ในภาคอื่น ประเทศอื่น อยางคำว่า “กะเทิน” เป็นคําที่อาจอธิบายได้แต่แปลยาก หรือคําว่า “นัว” มีคนแปลว่า กลมกล่อม แต่เข้าใจว่า นัว ของคนอีสานมีรสชาติบางอย่างต่างจากกลมกล่อม อย่างน้อยก็ได้กลิ่นได้รสปลาร้าด้วย

ภาษาเป็นวิธีคิด คนคิดด้วยภาษา ลองคิดคนเดียวดู เราคิดด้วยภาษา เราพูดกับตัวเอง แล้วพูดออกมา เขียนออกมาเพื่อสื่อกับคนอื่น

ผมภูมิใจที่พูดภาษาอีสาน ภาษาลาว ภาษาย้อได้ ที่บอกถึง ๓ คํา เพราะเหมือนและต่างกัน ภาษาย้อมีหลายคําที่เป็นศัพท์เฉพาะของตนเอง คนสกลนครพูดคําว่า “ละเบ๋อ” ส่วนใหญ่เป็นสร้อย ที่คนอื่นไม่เข้าใจ หรือคำว่า “เดียว” แทนคำว่า “กัน” “ไปนําเดียว” (ไปด้วยกัน) และอีกหลายคํา

การได้รู้จักภาษาหนึ่งเป็นกําไรชีวิต ทําให้เรารู้จักชนชาติหนึ่ง เผ่าพันธุ์หนึ่งวัฒนธรรมหนึ่ง ซึ่งเราอาจเป็นแต่กำเนิด หรือเราได้เรียนรู้ทางการใช้ภาษาเขาไปร่วมในวิถีชีวีติ ผ่านวิธีคิด ผ่านการใช้ภาษาของเขา

ด้วยเหตุนี้การที่ลูกครึ่งอเมริกันพูดภาษาอังกฤษได้ แล้วยังพูดภาษาอีสานสำเนียงอุดรฯ ได้อีก จึงเป็นเรื่องที่น่าทึ่งและน่ายินดีด้วย เป็นอะไรที่คนไทยลูกครึ่งจำนวนมากไม่ได้โชคดี เช่นนี้ โชคดีที่มีพ่อแม่สนับสนุน สื่อและสอนให้พูดภาษาอีสาน ทําให้ลูกได้เข้าถึงความรู้สึกนึกคิดที่ลึกของวัฒนธรรมอีสาน

ได้รู้จักหลายครอบครัวที่มีเชื้อสายจีน พ่อแม่พูดจีนในบ้าน ลูกพูดไม่ได้เลย เพราะพ่อแม่ไม่เคยสอน วันนี้ลูกจบมหาวิทยาลัยทุกคน ปริญญาตรี ปริญญาโท ทํางานบริษัทใหญ่ พูดจีนไม่ได้ เขียนจีนไม่เป็น บ่นเสียดายมากเสียดายโอกาสที่ไม่ได้เรียนรู้จากวิถีชีวิตจริง ๆ ของพ่อแม่ รากเหง้าของตนเอง

คนเก่าแก่อีสานบอกว่า อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา วันนี้อยากบอกว่า คนอีสานอย่าหมิ่นภาษาอีสาน ภาษาพ่อภาษาแม่ของเรา ถ้าไม่รู้ภาษาก็เท่ากับไม่รู้รากเหง้า ไม่รู้กําพืดของเราเองดูถูกตัวเอง “คนไม่มีรากเหง้าจะถูกเขาดูถูกครอบงํา และกําหนดอนาคตให้หมดเลย”

****

คอลัมน์ ส่องเมือง นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๓๔ | กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ฟันดาบไทย-ลาว การละเล่นใน “สมุทรโฆษคําฉันท์”
มะเขือในครัวไทย
ขุนพลผู้ยาตราทัพ ปักธงชัยหมอลำในกลางกรุงฯ (๑)
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com