มณีในเอกสารโบราณ สมุดไทย ใบลานวัดบ้านม่วงน้อย
สมัยเก่าก่อน เราชาวบ้านเจ็บไข้ได้ป่วยไม่ได้ไปโรงพยาบาล เรารักษากันเอง หรือไม่ก็ไปหาหมอในหมู่บ้าน นั่นคือหมอสมุนไพร หรือไม่ก็หมอคาถาอาคม ให้ช่วยรักษาและขจัดปัดเป่าโรคภัย
หมอชาวบ้านเปรียบเสมือนภูมิปัญญาของแผ่นดิน ปัจจุบันท่านค่อย ๆ เลือนหายไปกับกาลเวลา เนื่องจากเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้สืบสาน และเวลาคนเจ็บไข้ได้ป่วยก็พึ่งพายาและวิธีการรักษาแบบสมัยใหม่ นี่คือปรากฏการณ์ธรรมดา เมื่อโลกเป็นแปลงการรักษาโรคก็เปลี่ยนไป
ร่องรอยภูมิปัญญาต่าง ๆ ที่ยืนยันว่า “หมอชาวบ้าน” มีอยู่จริง ร่องรอยหนึ่งปรากฏอยู่ในบันทึกเอกสารโบราณ แล้วแต่หมอยาท่านจะจดจารไว้ด้วยวิธีใดและใช้วัสดุอะไร การจดจารที่พบบ่อย ๆ คือจารไว้ในสมุดไทยและใบลาน อย่างที่วัดบ้านม่วงน้อย หมู่ที่ 5 ต.แพง อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม เป็นต้น
คำว่า สมุดไทย หมายถึง แผ่นกระดาษที่ทำมาจากเปลือกไม้ชนิดต่าง ๆ ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนมากทำมาจากเปลือกข่อย ชาวบ้านจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สมุดข่อย” แต่โบร่ำโบราณมามี 2 สีคือสีดำ เกิดจากการย้อมกระดาษให้เป็นสีดำ เราเรียกว่าสมุดไทยดำ เวลาเขียนต้องใช้ดินสอหรือหมึกสีขาว และอีกชนิดเป็นกระดาษสีขาว เราเรียกว่าสมุดไทยขาว เวลาเขียนต้องใช้ดินสอหรือหมึกสีดำ
การทำสมุดไทย หลังจากผ่านขั้นตอนนำเปลือกไม้มาทำเป็นกระดาษแล้ว ถ้าจะให้เป็นสีดำ หรือ สีขาว อาจารย์ก่องแก้ว วีระประจักษ์ นักวิชาการกรมศิลปากร อธิบายว่า ถ้าต้องการสมุดขาวให้นำแป้งเปียกไปผสมกับน้ำปูนขาวแล้วกวนให้สุก แล้วนำมาทาบบนกระดาษ ถ้าต้องการให้เป็นสมุดดำ ก็ใช้แป้งเปียกที่ผสมเขม่าไฟ หรือกาบมะพร้าวที่เผาไฟแล้วมาผสมกับน้ำปูนขาว
เอกสารโบราณที่ทางวัดบ้านม่วงน้อยเก็บไว้ นักวิชาการได้เข้าไปศึกษาค้นคว้า พบว่าบันทึกเรื่องต่าง ๆ ไว้ดังนี้ 1. คำแต่งแก้เสียเคราะห์ 2. ตำรายาต้ม 3.ตำราหมอดู 4.มาลัยหมื่น 5.สู่ขวัญพระ 6. เทศน์สังกาศ 7.เทศน์มหาชาติ 8.จำปาสี่ต้น 9. คำสู่ขวัญเอาผัว-เมีย 10. ขูลูนางอั้ว 11.กำพร้าไก่แก้วหอมฮู 12.ใบหลบหน้าไก่แก้วหอมฮู 13. ตำรายาแก้แม่ลูกอ่อนกินผิด 14. ใบหลบหน้าท้าวสีทน -มโนราห์ 15.หนังสือเสียเคราะห์ 16.ตำราเสียเคราะห์แต่งแก้คราวเคราะห์ 17. ตำราแก้ไข้หวัด และ 18.ต้นตีนนก
ทั้ง 18 รายการ หากแยกหมวดหมู่จะพบว่ามีราว 4 หมวดหมู่คือ 1.หมวดรักษาโรค อาทิ ตำราแก้ไข้หวัด ตำรายาต้ม 2.หมวดวรรณคดี อาทิ ขูลูนางอั้ว จำปาสี่ต้น 3.หมวดศาสนา อาทิ เทศน์มหาชาติ เทศน์สังกาศ และ 4 หมวดวัฒนธรรม ประเพณี อาทิ คำสู่ขวัญเอาผัว-เมีย ตำราหมอดู เป็นต้น
ภูมิปัญญาบรรพชนทั้งหมด 18 เรื่องที่มารวมอยู่ในวัดบ้านม่วงน้อย เชื่อว่าคงไม่ได้มาจากบ้านใดบ้านหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่ง แต่อาจจะมาจากหมอพื้นบ้านหลายคน ที่ท่านจากลูก ๆ หลาน ๆ ไปแล้ว ลูก ๆ หลาน ๆ จึงนำมาถวายวัด หรืออาจจะเป็นไปได้อีกทางหนึ่งก็คือ เจ้าอาวาสวัดรูปก่อน ๆ เป็นหมอยา แล้วจดจารไว้
เอกสารที่พบเบื้องต้น นายอำเภอโกสุมพิสัย วัฒนธรรมเทศบาลตำบลโกสุมพิสัย นักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และชาวบ้านต่างให้ความสนใจ จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า มีบางเอกสารระบุปีว่า “รศ.114” ซึ่งตรงกับ พ.ศ.2438 และ พ.ศ.นี้ อยู่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จึงไม่แปลกที่อักษรที่บันทึกเป็นอักษรไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ปกติเอกสารโบราณที่พบตามวัดวาอารามต่าง ๆ หรือที่ชาวบ้านเก็บไว้ก็ตาม มักพบว่าจารด้วยอักษรขอม ในส่วนของภาคอีสานก็มักพบว่าจารด้วย “อักษรธรรมอีสาน” ประวัติอักษรธรรมอีสาน รศ.กรรณิการ์ วิมลเกษม อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านอธิบายว่า เป็นอักษรที่คนถิ่นแถบอีสานใช้กันมาตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ใช้บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งเรื่องในชีวิตประจำวัน วรรณคดี ตำรายา และเรื่องศาสนา จนถึงพุทธศตวรรษที่ 25 โดยเฉพาะสมัยรัชกาลที่ 5 ความนิยมในการใช้อักษรธรรมอีสานลดลง เนื่องจากรัชกาลที่5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งภาคอีสานเป็นมณฑลเทศาภิบาล ตามลักษณะการปกครองท้องถิ่น พ.ศ. 2440 ทำให้คนอีสานต้องใช้อักษรไทยกลางติดต่อกับทางราชการ เท่ากับกำหนดให้คนอีสานต้องเรียนรู้อักษรไทยกลางไปโดยปริยาย
และตอกย้ำด้วย พรบ.ประถมศึกษาปี พ.ศ.2464 ที่เด็ก ๆ ทั่วประเทศต้องเรียนอักษรไทยและภาษาไทย(กลาง)เพื่อนำมาใช้ในชีวิประจำวัน
เอกสารโบราณที่พบวัดบ้านม่วงน้อย ไม่ว่าจะบันทึกไว้ทั้งแต่ปี พ.ศ.2438 หรือก่อน-หลังนั้นก็ตาม ทั้งหมดคือภูมิปัญญาของแผ่นดิน ภูมิปัญญาที่บรรพชนคน “อีศาน” จดจารไว้ให้ลูกหลานได้เรียนรู้