มรรควิธีวิทยา : วิภาษวิธี : Dialectical Methodology (4)

inductive_research_approach

มรรควิธีวิทยา : วิภาษวิธี : Dialectical Methodology (4)
ทองแถม นาถจำนง

มรรควิธีในการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นจากการปฏิบัติในการเรียนรู้และดัดแปลงธรรมชาติ

มรรควิธีในการค้นคว้าวิทยาศาสตร์กำเนิดและพัฒนาไปตามความเคลื่อนไหวของวิทยาศาสตร์ บทเรียนการค้นคว้า, รูปแบบการแสดงออก, ทฤษฎีและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ล้วนมีความหมายในทางมรรควิธี มันสามารถใช้เป็นมรรควิธีทางวิทยาศาสตร์ได้

บทเรียน ประสบการณ์ ทฤษฎี ล้วนเกิดจากการปฏิบัติ

บทเรียนก็คือความจัดเจนจากกระบวนปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์

รูปแบบและการแสดงออกก็ถูกผูกมัดจากการปฏิบัติเช่นกัน

ส่วนความรู้และทฤษฎีก็ยิ่งเป็นผลจากการปฏิบัติ

ดังนั้นมรรควิธีก็มาจากการปฏิบัติ ไม่มีการปฏิบัติก็ไม่มีวิทยาศาสตร์ และก็จะไม่มีมรรควิธีทางวิทยาศาสตร์ด้วย

การปฏิบัติทางการผลิต ก็เป็นต้นธารสายหนึ่งของมรรควิธีวิทยาศาสตร์ เหตุผลคือ

1. วิทยาศาสตร์แยกไม่ออกจากการผลิต การผลิต Production เป็นแรงผลักดัน เป็นจุดมุ่งหมาย และก็เป็นบรรทัดฐานตรวจสอบทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ด้วย ไม่มีการผลิตก็ไม่มีวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และก็จะไม่มีมรรควิธีแห่งวิทยาศาสตร์เช่นกัน

2. การปฏิบัติการทางการผลิตได้สนองมรรควิธีใหม่ ๆ ให้กับวิทยาศาสตร์โดยตรง มันช่วยกระตุ้นพัฒนาการของวิธีการในการศึกษาค้นคว้า เช่น การผลิตเตาปฏิกรณ์ปรมาณูได้สร้างเงื่อนไขให้กับการค้นคว้าวิทยาศาสตร์ปรมาณูและรังสีวิทยา เป็นต้น

มรรควิธีแห่งวิทยาศาสตร์ ก็เช่นเดียวกับทฤษฎีวิทยาศาสตร์ คือมันจะต้องผ่านการตรวจสอบจากการปฏิบัติ

1. ความสัมพันธ์ระหว่างมรรควิธีทางวิทยาศาสตร์กับมรรควิธีทางปรัชญา (มรรควิธีทางวิทยาศาสตร์กับมรรควิธีทางปรัชญา)

– มรรควิธีทางวิทยาศาสตร์เป็นวิธีการที่มนุษย์เรารับรู้ คุณสมบัติและกฏเกณฑ์ของโลกธรรมชาติ มันเหมาะสำหรับใช้ค้นคว้าวิทยาศาสตร์

– มรรควิธีทางปรัชญา Philosophical Methodology เป็นวิธีการที่มีลักษณะทั่วไปที่สุด (Generalizes) เราสามารถใช้มันในการค้นคว้าโลกธรรมชาติ ค้นคว้าสังคม ตลอดจนกระบวนการขบคิด

– ในระหว่างการค้นคว้าวิทยาศาสตร์ มรรควิธีทางปรัชญาก็สะท้อนออกในมรรควิธีทางวิทยาศาสตร์นั่นเอง มันมีบทบาทอยู่ตลอดกระบวนการค้นคว้า โดยเฉพาะเมื่อจะสรุปผลทางทฤษฎีของผลสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ยิ่งแยกไม่ออกจากการชี้นำของปรัชญา

– ความสัมพันธ์ระหว่างมรรควิธีทางวิทยาศาสตร์กับมรรควิธีทางปรัชญา เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเฉพาะรายกับสิ่งทั่วไป มรรควิธีทางวิทยาศาสตร์เป็นวิธีการพิเศษเฉพาะราย มันรวมอยู่ในวิธีการทั่วไป วิธีการวิทยาศาสตร์วิธีหนึ่ง ๆ ก็คือการแสดงออกเป็นรูปธรรมของมรรควิธีทางปรัชญา วิธีการวิทยาศาสตร์วิธีใดใดก็ตาม ล้วนรวมเอามรรควิธีทางปรัชญาเข้าไว้ด้วย วีธีการวิทยาศาสตร์ถูกควบคุมร้อยรัดอยู่โดยมรรควิธีทางปรัชญา

– ยกตัวอย่างเรื่องการสังเกต Observations ทางวิทยาศาสตร์ การสังเกตก็ต้องมีปรัชญาชี้นำก่อน คือต้องยอมรับว่าเป้า (สิ่ง) ที่เราจะสังเกตนั้นดำรงอยู่ทางภาวะวิสัย (วิธีการสสารธรรมหรือวัตถุนิยม Materialism) ถ้าหากใช้มรรควิธีปรัชญาจิตนิยมอัตวิสัย ถือว่าเป้า (สิ่ง) นั้นไม่ดำรงอยู่แล้วละก็ จะไปสังเกตอะไร ! การสังเกตทางวิทยาศาสตร์จะมีความหมายอะไร ? จากนั้นแล้วเราก็ยังต้องมีหลักการ “ความเป็นเอกภาพของปรากฏการณ์กับธาตุแท้” (วิภาษวิธี Dialectic) ปรากฏการณ์เป็นการแสดงออกของธาตุแท้ ธาตุแท้แสดงออกโดยผ่านปรากฏการณ์ เมื่อวิเคราะห์ผ่านปรากฏการณ์ก็จะเผยธาตุแท้ได้ เรามีความเชื่อเช่นนี้ และปฏิบัติเช่นนี้ จึงได้ทำการสังเกตเก็บข้อมูลจากปรากฏการณ์ เพื่อจะเปิดเผยถึงธาตุแท้ เช่นนี้แล้วการสังเกตจึงจะมีความหมายและมีผลสำเร็จ แต่ถ้าหากใช้ปรัชญาปฏิฐานนิยม Positivism ซึ่งเชื่อว่า “ปรากฏการณ์กับธาตุแท้แยกจากกัน ความรับรู้ถึงธาตุแท้จะต้องผ่านทางศรัทธาเท่านั้น” ถ้าเช่นนั้นแล้ว การสังเกต, การทดลอง Experiments ทั้งหมดจะมีความหมายอะไร ?

อ่าน: มรรควิธีวิทยา Methodology (1)
อ่าน: มรรควิธีวิทยา Methodology (2)
อ่าน: มรรควิธีวิทยา Methodology (3)
อ่าน: มรรควิธีวิทยา : วิภาษวิธี : Dialectical Methodology (5)
อ่าน: มรรควิธีวิทยา : วิภาษวิธี : Dialectical Methodology (6)
อ่าน: มรรควิธีวิทยา : วิภาษวิธี : Dialectical Methodology (7)
อ่าน: มรรควิธีวิทยา : วิภาษวิธี : Dialectical Methodology (8)

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com