วัฒนธรรมแถน (๓)

การศึกษาเรื่อง “แถน” ที่ยังค้างหลงเหลือเป็น “รหัสวัฒนธรรม” อยู่ในสังคมไทสยามนั้นจำเป็นต้องศึกษาเปรียบเทียบกับร่องรอยที่ปรากฏในวัฒนธรรมไท/ไต ทุกกลุ่ม ซึ่งมันทำได้ยาก ผู้เขียนจะพยายามค้นคว้ามาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื้อหาในบทแรก ๆ นี้ จึงมีความหลากหลายในการตีความ “ถอดรหัสวัฒนธรรมแถน” เป็นการปูพื้นฐานปรับข้อมูลให้รับรู้ตรงกันเสียก่อน แล้วในตอนท้าย ๆ ผู้เขียนจึงค่อยถอดรหัสออกมาตามแนวคิดเห็นของตนเอง

ในบทนี้จะนำเสนองานวิจัยค้นคว้าของศาสตราจารย์ ดร.ประยงค์ แสนบุราณ แห่งคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาส ตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากบทความเรื่อง ความเชื่อเรื่องพระยาแถนของกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมกลุ่มวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคอีสาน

ศ.ดร.ประยงค์ แสนบุราณ มองว่าความเชื่อแถนนั้น คล้ายคลึงกับความเชื่อใน “พระผู้เป็นเจ้า” ของศาสนาเทวนิยม ดังเนื้อความในบทความดังกล่าวที่คัดมาส่วนหนึ่งดังนี้

บทบาทของพระยาแถน

กลุ่มชนชาติพันธุ์ไทย-ลาว มีความเชื่อว่าพระยาแถนมีบทบาทต่อชีวิตของพวกเขามากมาย บทบาทแต่ละอย่างนั้นมีความสำคัญต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างมากอย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะทราบถึงบทบาทเหล่านั้น

ผู้วิจัยใคร่ขอเสนอความหมายของ “พระยาแถน” ตามความเชื่อของกลุ่มชนชาติพันธุ์ไทย- ลาว ที่เชื่อว่า พระยาแถนที่แสดงบทบาทต่าง ๆ นั้นมี ๒ ประเภท คือ

 

. แถนหลวง

คำว่า “แถนหลวง” หมายถึง เทพเจ้าผู้สร้างโลกสร้างสรรพสิ่งในโลก และคำนี้มีชื่อเรียกในนิทานเรื่องขุนบรมว่า “แถนฟ้าขื่น” แต่ในพงศาวดารล้านช้างเรียกว่า“พระยาแถนหลวง” (กรมศิลปากร, ๒๕๐๖ : ๑๔๐)

พระยาแถนหลวงหรือแถนฟ้าขื่น มีความหมายตรงกัน (ธวัช ปณโณทก , ๒๕๔๒ :๑๕๓๔) กล่าวคือ พระยาแถน ได้แก่เทพเจ้าหรือพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุด เปรียบเทียบได้กับพรหมันในศาสนาฮินดู หรือพระยะโฮวาในศาสนาคริสต์หรือพระอัลเลาะห์ในศาสนาอิสลาม 

ความเชื่อเรื่องพระยาแถนนั้นปรากฏในชาวไทยภาคเหนือ ชาวไทยใหญ่ในพม่า ชาวจีนในสิบสองปันนา ชาวไทยในภาคอีสานและประชาชนในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ธวัช ปุณโณทก, ๒๕๔๒: ๑๕๓๕) ความเชื่อนี้ได้ถือสืบทอดกันมาหลายพันปีของประชาชนในประเทศต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างบนนั้น ดังนั้น พระยาแถนคือ พระเจ้าสูงสุดตามความเชื่อของกลุ่มชนชาติพันธุ์ไทย-ลาว

ข. แถนบริวาร

คำว่า “แถนบริวาร” หมายถึงแถนที่มีศักยภาพน้อยกว่าพระยาแถน และปฏิบัติการตามหน้าที่ที่พระยาแถนบัญชา กลุ่มชนชาติพันธุ์ไทย-ลาวมีความเชื่อว่าแถนบริวารที่จะกล่าวต่อไปนี้มีบทบาทและหน้าที่ที่จะสนองคำบัญชาของพระยาแถนแตกต่างกัน แถนบริวารแต่ละองค์ก็จะมีบทบาทและหน้าที่เป็นของตัวเองดังนี้ (ภีรนัย โชติกันตะ, ๒๕๓๑ : ๘๗)

๑. แถนหล่อ คือ แถนมีหน้าที่หล่อรูปร่างและใบหน้ามนุษย์ ให้มีความแตกต่างกันลงมาเกิด

๒. แถนแต่ง คือ แถนที่มีหน้าที่ประสาธน์วิชาความรู้ต่าง ๆ ให้แก่มนุษย์ เช่น การทอไหม เลี้ยงไหม ตีเหล็ก สถาปัตยกรรม การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

๓. แถนถม แถนตรง แถนเถือก แถนหูฮี คือ แถนประจำ ๔ ทิศช่วยชี้ภูมิประเทศอันดีใน

การตั้งเมือง การเพาะปลูก การพัฒนาบ้านเมือง เป็นต้น

๔. แถนคำ คือ แถนผู้ทำหน้าที่ในการสงคราม

๕. แถนชั่ง คือ แถนผู้ทำหน้าที่ในการตัดสินพิจารณาคนดีคนชั่ว หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นเทพผู้รักษาความยุติธรรมนั่นเอง

๖. แถนแพน คือ แถนผู้ทำหน้าที่สอนศิลปะการละเล่น การร้องรำการกวีและดนตรี

๗. แถนลม คือ แถนผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์และองค์พระยาแถน เช่น

การนำข้อความต่าง ๆ ของมนุษย์ไปกราบทูลองค์พระยาแถน

๘. แถนแนน คือ แถนผู้ทำหน้าที่ในการรักษากกมิ่งและสายแนนของมนุษย์ในสวนแนนของพระยาแถนบนเมืองสวรรค์

แถนบริวารเหล่านี้คือแถนที่พระยาแถนหลวงได้ส่งลงมาโลกมนุษย์เพื่อช่วยขุนบรมในการพัฒนาบ้านเมืองที่ขุนบรมปกครองอยู่ ดังข้อความว่า

เมื่อนั้นพระยาแถนหลวงจึงให้แถนแต่งและพิศณุกรรมลงมาแต่งแปงแก่เขา แถนแต่งจึงมาแต่งยามให้ทำไร่ ทำนา ปลูกข้าว ปลูกผัก ปลูกลูกไม้ หัวมันทั้งมวลอันจักควรกิน (กรมศิลปากร, ๒๕๐๖: ๑๔๑) เป็นต้น ดังนั้น แถนอื่น ๆ ก็ทำหน้าที่ของตนตามบัญชาของพระยาแถนหลวงที่กล่าวมาแล้วข้างบน

๒.๑ บทบาทในการสร้าง

พระยาแถน หรือแถนหลวง หรือแถนฟ้าขื่น ตามความเชื่อของกลุ่มชนชาติพันธุ์ไทย-ลาวนั้น คือพระเจ้าสูงสุด มีศักยภาพสูงสุดในโลกและจักรวาล ในเรื่องการสร้างนั้น พระองค์ทรงสร้างดิน น้ำ ลม ไฟ และสรรพสิ่งในโลกแต่เป็นที่น่าสังเกตในเรื่องการสร้างมนุษย์ของพระยาแถน ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติเมื่อเทียบกับพระเจ้าของศาสนาต่าง ๆ ดังข้อความที่ปรากฏในพงศาวดารล้านช้างที่ว่า เมื่อขุนเด็ก ขุนคาน และปู่ลางเชิงขอพระยาแถนมาอยู่โลก หลังจากโลกน้ำแห้งแล้วพระยาแถนก็พระราชทานควายเขาลู่ตัวหนึ่งแก่เขาทั้งสามนั้น ทั้งสามก็มาอยู่นาน้อยอ้อยหนู ใช้ควายนั้นไถนาไถไร่ ทำนาอยู่ ๓ ปี ควายนั้นก็ตาย “เขาละซากควายเสียที่นาน้อยอ้อยหนูหั้น แล้วอยู่บ่นานเท่าใดเครือหมากน้ำก็เกิดออกฮูดังควายตัวตายนั้น ออกยาวมาแล้วก็ออกเป็นหมากน้ำเต้าปุง ๓ หน่วย” (กรมศิลปากร, ๒๕๐๖: ๑๓๘) แต่ละลูกใหญ่โตมาก เมื่อนานเข้ามันก็แก่ พอลูกหมากน้ำเต้าปุงแก่ก็เกิดมีคนอยู่ในหมากน้ำเต้าปุงนั้น พูดจากันเสียงดังสนั่นในลูกหมากน้ำเต้าปุงนั้น

 

“ยามนั้นปู่ลางเชิงจึงเผาเหล็กชีแดง ชีหมากน้ำนั้น คนทั้งหลายจึงบุเบียดกันออกมาทางฮูที่ชีนั้น ออกมาทางฮูที่นั้นก็บ่เบิงคับคั่งกันขุนคานจึงเอาสิ่วไปสิ่วฮูให้เป็นฮูแควนใหญ่แควนกว้างคนทั้งหลายก็ลุไหลออกมา นานประมาณ ๓ วัน ๓ คืนจึงหมดหั้นแล” (กรมศิลปากร, ๒๕๐๖ : ๑๓๘) นี้คือการเกิดมนุษย์ในพงศาวดารล้านช้าง แต่มิใช่การเกิดมนุษย์กลุ่มแรก

๒.๒ บทบาทการลงโทษ

พระยาแถนมีลักษณะเหมือนพระเจ้าของศาสนาเทวนิยมทั้งหลาย กล่าวคือเมื่อมนุษย์ในโลกไม่เชื่อฟังพระองค์ หรือละเมิดสัญญาที่พระองค์ให้ไว้ พระองค์ก็จะลงโทษมนุษย์ตัวอย่างเช่น ศาสนายูดาห์ เมื่อพระเจ้าสร้างมนุษย์คู่แรกคืออาดัมและเอวาแล้วให้อยู่ในสวนเอเดน และตรัสสั่งว่า ห้ามกินผลไม้ในสวนคือแอปเปิ้ล แต่ทั้งสองคนละเมิดคำสั่งของพระองค์ ดังนั้น พระองค์จึงสาป ในเรื่องของพระยาแถนก็เช่นเดียวกัน กล่าวคือ พระยาแถนก็มีข้อสัญญาไว้กับชาวโลกเหมือนพระเจ้าของศาสนาเทวนิยมอื่น ๆ ดังข้อความว่า

“เมื่อนั้นยังมีขุนใหญ่ ๓ คน ผู้หนึ่งชื่อขุนคาน อยู่สร้างบ้านเมืองลุ่ม กินปลาเฮ็ดนาเมืองลุ่มกินข้าว เมื่อนั้นแถนจึงใช้ให้มากล่าวแก่คนทั้งหลายว่า ในเมืองลุ่มนี้ กินข้าวให้บอกให้หมายกินแลงกินงายก็ให้บอกแก่แถน ได้กินชิ้นก็ให้ส่งขา ได้กินปลาก็ให้ส่งรอยแก่แถน เมื่อนั้นคนทั้งหลายก็บ่ฟัง ความแถน แถนใช้มาบอกสองทีสามทีก็บ่ฟังหั้นแล” (กรมศิลปากร, ๒๕๐๖: ๑๓๗) นี้คือ สัญญาที่พระยาแถนได้ให้ไว้แก่ชาวโลก เมื่อชาวโลกหรือเมืองลุ่มไม่เชื่อไม่ยำเกรง

พระองค์ในฐานะพระเจ้าสูงสุดจึงจำเป็นต้องสอนให้พวกเขารู้ฤทธิ์รู้เดชของพระองค์ โดยการบันดาลให้ฝนตกด้วยฤทธิ์ของพระองค์ ดังข้อความว่า “แต่นั้นแถนจึงให้น้ำท่วมเมืองลุ่มลีดเลียงท่วมเมืองเพียงละลาย คนทั้งหลายก็ฉิบหายมากนักชะแล” (กรมศิลปากร, ๒๕๐๖ : ๑๓๗) นี้คือท่าทีการลงโทษของพระองค์ที่มีต่อมนุษย์ในฐานะผู้สร้างต่อผู้ถูกสร้าง

๒.๓ บทบาทในการปกครอง

โลกมนุษย์หรือเมืองลุ่มนั้น พระยาแถนก็ทรงปกครอง แต่พระองค์ปกครองโดยผ่านคนกลางที่พระองค์ไว้พระทัย ดังจะเห็นได้จากเรื่องการปกครองในพงศาวดารล้านช้าง เมื่อคนเกิดมาจากน้ำเต้าปุงแล้ว ปู่ลางเชิงเป็นคนหนึ่งในสามที่พระยาแถนส่งลงมาเมืองลุ่มหลังจากน้ำแห้งไปจากโลกแล้วจึงสอนคนจำนวนมากที่เกิดมาจากน้ำเต้าปุงนั้น ให้รู้จักทำไร่ไถนา ทอผ้าเลี้ยงไหม และจับคู่ให้เขาเป็นผัวเมียกัน เมื่อคนมากขึ้น ๆ ปู่ลางเชิง ขุนเด็ก ขุนคาน สอนอย่างไรคนเขาก็ไม่เชื่อเพราะขุนทั้งสามไม่ใช่นายที่ถูกแต่งตั้งมา ดังข้อความว่า

“เมื่อนั้นคนแผ่พวกมามากนัก มากอย่างทราย หลายอย่างน้ำ ท่อว่าหาท้าวหาพระยาบ่ได้

ปู่ลางเชิง ทั้งขุนเด็กขุนคาน บอกสอนเขาก็บ่แพ้ แม้ว่าใครว่าเขาก็บ่เอา คำขุนทั้งสามก็จึงขึ้นเมือขอหาท้าวพระยาแถนหลวง พระยาแถนจึงให้ขุนครูและขุนครองลงมาเป็นท้าวเปนพระยาแก่เขาหั้นแล้ว” (กรมศิลปากร , ๒๕๐๖ : ๑๓๙ – ๑๔๐) นี้คือการปกครองของพระยาแถนโดยผ่านคนกลางที่พระองค์ ไว้พระทัยแม้ไม่ได้มาปกครองโดยตรงก็ตาม ที่ปัญหาเกิดขึ้นพระองค์ก็หาทางแก้ไขดังข้อความว่า

“เมื่อขุนทั้งสองลงมาสร้างบ้านก็เปลืองสร้างเมืองก็บ่กว้าง สูกินเหล้าซุมื้อซุวัน นานมาไพร่ค้างทุกข์ค้างยากก็บ่ดูนา เมื่อนั้น ขุนเด็กขุนคานจึงขึ้นเมือไหว้สาแก่พระยาแถน ๆ จึงถกเอาทั้งสองหนีเมืองบนหนเมืองฟ้า ดังกล่าวเล่าแล” (กรมศิลปากร , ๒๕๐๖ : ๑๔๐) นี้คือการแก้ไขปัญหาของพระยาแถน เพราะเมื่อพระองค์ได้รับรายงานจากขุนเด็กขุนคาน และตรวจสอบแล้วว่าจริงอย่างที่รายงาน พระองค์ก็สั่งให้ขุนครูขุนครองกลับเมืองแถน และส่งคนใหม่ที่มีความรู้ความสามารถมาปกครองต่อ ดังข้อความว่า “ปางนั้นพระยาแถนหลวงจึงให้ท้าวผู้มีบุญชื่อท้าวบูลมมหาราชาธิราช อันได้อาชญาพระยาแถนแล้วก็จึงเอารี้พลคนทั้งหลายลงเมือเมืองลุ่มลีดเลียงเมืองเคียงคักค้อย มาอยู่ที่นาน้อยอ้อยหนูอันมีลุ่มเมืองเพียงคักค้อย มาอยู่ที่นาน้อยอ้อยหนู มีลุ่มเมืองแถนหั้นก่อนแล” (กรมศิลปากร, ๒๕๐๖ : ๑๔๐)

เมื่อขุนบูลมซึ่งถือว่า เป็นลูกพระยาแถนลงมาปกครองแล้ว และพระองค์ก็เป็นคนเอาใจใส่ไพร่ฟ้าดูแลสุขทุกข์ของทุกคน คนทั้งหลายจึงให้ความเคารพยำเกรงเชื่อถือพระองค์ บ้านเมืองที่พระองค์ปกครองจึงเจริญก้าวหน้าดังข้อความว่า “ทีนั้นคนทั้งหลายฝูงออกมาแต่น้ำเต้าปุงนั้น ผู้รู้หลักนักปราชญ์นั้นเขาก็มาเป็นลูกท่านบ่าวเธอขุนบูลมมหาราชา และผู้ใบ้บ้านั้นเขาก็อยู่เป็นไพร่ไปเป็นป่า สร้างไฮ่เฮ็ดนากินแล” (กรมศิลปากร, ๒๕๐๖ : ๑๔๐)

จะเห็นว่าการปกครองของพระยาแถนนั้นพระองค์ปกครองโลกผ่านคนกลางดังกล่าวมาแล้ว วิธีการปกครองอย่างนี้ของพระยาแถนจึงเหมือนความเชื่อของชาวยุโรปยุคกลางที่เชื่อว่าพระยะโฮวาเจ้าปกครองโลกโดยผ่านกษัตริย์ ทุกอย่างที่กษัตริย์กระทำไปนั้น จึงเป็นการกระทำในนามของพระยะโฮวาเจ้า ความคิดนี้ของชาวยุโรปยุคกลางกับความเชื่อของกลุ่มชนชาติพันธุ์ไทย-ลาวจึงไม่แตกต่างกัน

 

ภาพจาก https://thaift.wordpress.com/24-2/เทพนิยาย/พระยาแถนสร้างโลก/

Related Posts

ข้าว มะพร้าว กัญชา
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com