“วัดเขาศาลา” หลวงพ่อเยื้อน สงบงามผืนป่าอารยธรรม
พื้นที่ที่เรานิยมเรียกกันว่า “อีสานใต้” เป็นแหล่งอารยธรรมมาแต่เก่าก่อน ร่องรอยอารยธรรม นักโบราณคดีและผู้คนค้นพบเพิ่มเติมอยู่เนือง ๆ
หนึ่งในจำนวนร่องรอยที่พบคือ อารยธรรมขอมโบราณ เราพบปราสาทหลายหลัง จารึกหลายหลัก และพระพุทธรูปอีกมากมาย บางคนอาจสงสัยว่าทำไมปราสาทขอมถึงมีพระพุทธรูป ด้วยเผลอคิดว่าปราสาทขอมโบราณเป็นเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ ความคิดนั้นถูกต้องแล้ว แต่ถูกต้องเพียงครึ่งเดียว เพราะปราสาทขอมมีทั้งสร้างเป็นเทวสถานของพราหมณ์ และพุทธสถาน ส่วนใหญ่ปราสาทขอมที่พบในแผ่นดินไทยสร้างเป็นพุทธสถาน และพุทธสถานนั้นมักสร้างในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพราะพระองค์เป็นกษัตริย์ที่นับถือศาสนาพุทธ
พุทธสถานยิ่งใหญ่ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 คือ ปราสาทบายน อยู่กลางเมืองพระนครหลวง ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่เขตเสียมเสียบ (ไทยเราเรียกเสียมราฐ) ของประเทศกัมพูชา ปราสาทนี้มีใบหน้ายิ้มน้อย ๆ หันไปทั่วทิศทาง เสมือนปณิธานแห่งพระองค์ที่ต้องการดูแลอาณาประชาราษฎร์ทั่วราชอาณาจักร เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในจารึกด่านประคำด้านที่2 อาจารย์ชะเอม แก้วคล้าย อ่านและแปลไว้ ข้อความบางช่วงตอนระบุว่า…
“โรคทางร่างกายของประชาชนนี้ เป็นโรคทางใจที่เจ็บปวดยิ่ง เพราะว่าความทุกข์ของราษฎร แม้มิใช่ความทุกข์ของพระองค์ แต่เป็นความทุกข์ของเจ้าเมือง พระองค์พร้อมด้วยแพทย์ทั้งหลาย ผู้แกล้วกล้า และคงแก่เรียนในอายุรเวท และอัสตรเวทได้ฆ่าศัตรู คือโรคของประชาชนด้วยอาวุธคือเภษัช”
เท่ากับประกาศพระราชปณิธานว่า “ทุกข์ของราษฎร คือทุกข์ของพระองค์เอง” และ “พระองค์ประกาศรบกับโรคภัยโดยมียารักษาโรคเป็นอาวุธ”
สัญลักษณ์ของพุทธศาสนาสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นอกจากปราสาทแล้ว ยังมีพระพุทธรูปพุทธศิลปะแบบบายน และยังมีรอยพระพุทธบาทอีกด้วย
บริเวณ วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร ในพุทธอุทยานวัดเขาศาลา อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ วัดของ พระราชวิสุทธิมุนี ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อเยื้อน” เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีรอยพระพุทธบาท
เชื่อกันว่าเป็นรอยพระพุทธบาทสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พุทธลักษณะของรอยพระบาท พบว่ามีขนาดยาว 320 ซม. สันพระบาทกว้าง 70 ซม. ปลายพระบาทกว้าง 150 ซม. และลึกราว 20 ซม. เป็นพระบาทข้างขวา นิ้วพระบาทเกือบเท่ากันทั้งหมด มีลายก้นหอยประดับทั้งส่วนปลายนิ้วและข้อนิ้ว ในรอยพระบาททำเป็นตารางสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ สภาพสมบูรณ์มาก
ภายในรูปสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ในรอยพระพุทธบาทสลักรูปสัตว์อาทิ ช้าง เสือ ม้า นก เต่า ปู ปลา และกระต่าย เป็นต้น สัตว์เหล่านี้บ้างว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ บ้างก็บอกว่าอาจเป็นสัตว์ที่พบเห็นในพื้นถิ่นที่มีรอยพระพุทธบาท บ้างว่าเพื่อแสดงให้เห็นถึงการช่วยเหล่าสรรพสัตว์ให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ประการหลังนี้น่าสนใจมากที่สุด เพราะว่าคติความเชื่อของพุทธสายมหายาน หรือ “ยานใหญ่” นั้น มิได้ต้องการสู่ความหลุดพ้นเพียงคนเดียว หากแต่ต้องการนำสรรพสัตว์ข้ามพ้นไปด้วย และพระเจ้าชัยวรมันที่7 ทรงนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
คติความเชื่อเรื่องการสร้างพระพุทธบาท ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รับมาจากอินเดียและศรีลังกา ในสมัยสุโขทัยมีหลักฐานชัดเจนว่าพระยาลิไททรงนำเอาคติความเชื่อมาจากศรีลังกา ดังปรากฏในศิลาจารึกนครชุม เนื้อหาระบุว่าพระยาลิไท ทรงให้จำลองพระพุทธบาทแบบลังกามาประดิษฐานไว้บน “จอมเขาสุมนกูฎ” เมืองสุโขทัย และเมืองอื่น ๆ อีก เช่นบนเขากบในจังหวัดนครสวรรค์
รอยพระพุทธบาทเขาศาลา หากจำลองขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จริง อายุก็จะใกล้เคียงกับรอยพระพุทธบาทวัดเขาดีสลัก อ.อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ครองราชย์อยู่ราว พ.ศ. 1724-1763 หรือพุทธศตวรรษที่ 18 ส่วนพระพุทธบาทที่วัดเขาดีสลักนั้น นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าอายุราวปลายสมัยทวารวดี หรือราวพุทธศตวรรษที่16-17 ดังนั้นอายุการสร้างห่างกันก็ไม่น่าจะเกิน 200 ปี
พระพุทธบาททั้งสองแห่งมีลักษณะร่วมกันคือ 1.ประดิษฐานไว้บนยอดภูเขา 2.ในรอยฝ่าพระบาทมีรูปสัตว์ปรากฏอยู่ รูปที่เขาศาลานั้น อยู่ในตารางสี่เหลี่ยม ส่วนที่เขาดีสลักนั้นรูปอยู่ในวงกลมเล็ก ๆ
วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร บรรยากาศร่มรื่น รายรอบไปด้วยป่าธรรมชาติ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ประมาณ 10,856 ไร่ ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้ สมุนไพรหายากและสัตว์ป่ามีสภาพแวดล้อมเงียบสงบร่มเย็นเหมาะกับการศึกษาปฏิบัติธรรมและเยี่ยมชมปัจจุบันวัดเขาศาลาเป็นพื้นที่ป่าพุทธอุทยาน มีกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา อนุรักษ์ป่าไม้และพัฒนาสิ่งแวดล้อม ท่ามกลางผืนป่าอารยธรรม