วิถีควาย วิถีคน
ทางอีศานฉบับที่๗ ปีที่๑ ประจำพศจิกายน ๒๕๕๕
คอลัมน์: อัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์อีศาน
column: Identity of the Esan Ethnics
ผู้เขียน: วีระ สุดสังข์
ควายเป็นสัตว์เลี้ยงสำคัญของชาติพันธุ์อีศาน ไม่ต่างจากชนลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแหล่งอื่น ๆ อาทิ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซียเวียดนาม พม่า กัมพูชา และลาว ทั้งนี้เพราะควายเป็นแรงงานสำคัญในด้านกสิกรรม แต่ก็เหลือเชื่อที่มนุษย์ใช้เป็นทั้งแรงงาน เป็นทั้งอาหาร และใช้สำหรับประกอบพิธีกรรม
การประกอบพิธีกรรมเซ่นสังเวยในยุคนับถือภูตผีปีศาจนี้ เหมือนมนุษย์จะเชื่อว่าการใช้สัตว์ใหญ่ประกอบพิธีกรรมจะนำมาซึ่งความพึงพอใจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ปกป้อง คุ้มครองมนุษย์และนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของมนุษย์อีกเช่นกันเพราะก่อนหน้านี้มนุษย์ได้ใช้มนุษย์ในการเซ่นสังเวย ดังหลักฐานที่ปรากฏในวัดภูจำปาศักดิ์ ซึ่งโฮงและแท่นหินสำหรับเชือดมนุษย์ให้เลือดไหลลงสู่แม่น้ำโขง ต่อมาจึงใช้ควาย หลังจากใช้ควายแล้วก็ใช้แพะ ใช้หมู ใช้ไก่ และไข่ไก่มาตามลำดับ
ควายเป็นสัตว์สี่ขา มีเท้าเป็นกีบ ตัวขนาดใหญ่กว่าวัวและเล็กกว่าช้าง โตเต็มวัยเมื่ออายุระหว่าง ห้าถึงแปดปี น้ำหนักตัวผู้โตเต็มวัยโดยเฉลี่ยห้าถึงหกร้อยกิโลกรัม ตัวเมียเฉลี่ยประมาณสามร้อยกว่าถึงห้าร้อยกิโลกรัม ตัวผู้จะใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย มีผิวสีเทาถึงดำ มีเขาเป็นลักษณะเด่นเฉพาะตัว ปลายเขาโค้งเป็นวงคล้ายพระจันทร์เสี้ยว
ควายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ลูกควายจะกินนมแม่จนอายุประมาณปีกว่า ควายจะเจริญเติบโตใช้แรงงานได้ระหว่างอายุสองถึงสามปี ช่วงที่ใช้งานได้เต็มที่ คือระหว่างอายุหกถึงเก้าปี ควายแต่ละตัวจะใช้งานได้นานจนอายุถึงยี่สิบปี และอายุควายโดยทั่วไปเฉลี่ยประมาณยี่สิบห้าปี สายพันธุ์ควายมีสองกลุ่มคือ ควายป่าและควายบ้าน และควายบ้านก็แบ่งออกได้เป็น ๒ ชนิด คือ ควายปลักและควายแม่น้ำ
ควายที่เราเลี้ยงไว้ใช้แรงงาน คือ ควายปลัก มีรูปร่างล่ำสัน ผิวหนังมีสีเทาเข้มเกือบดำอาจมีสีขาวเผือก มีขนเล็กน้อย ลำตัวหนาลึก ท้องใหญ่หัวยาวแคบ เขามีลักษณะแบบโค้งไปข้างหลัง หน้าสั้น หน้าผากแบนราบ ตานูนเด่นชัด ช่วงระหว่างรูจมูกทั้งสองข้างกว้าง คอยาวและบริเวณใต้คอจะมีขนขาวเป็นรูปตัววี หัวไหล่และอกนูนเห็นชัดเจน
ควายพวกนี้ชอบนอนบวก คำว่า “บวก” ในภาษาลาว ตรงกับภาษาไทยว่า ปลัก, ส่วนภาษาเขมรว่า ”ตะเลาะฮฺ” ภาษากวยว่า “โกล๊ะ” ซึ่งหมายถึง แอ่งที่เป็นโคลน, ส่วนใหญ่แล้วแอ่งที่เป็นโคลนนี้เกิดจากควาย เมื่อควายร้อนแดด, ควายก็มีสมองคิดว่า ควรจะนอนเกลือกกลิ้งลงที่ใดจึงจะได้รับความเย็น, ควายทุกตัวจะเลือกบริเวณหรือจุดที่ชุ่มน้ำ, ที่แฉะ ๆ แล้วนอนเกลือกลงไป เกลือกขวาเกลือกซ้าย จนบริเวณนั้นกลายเป็นแอ่งเป็นโคลนเลน จึงเรียกว่า “บวกควาย” ในภาษาลาวและเรียกว่า “ปลักควาย” ในภาษาไทย
คำว่า “บวก” นี้ทางนครพนม มี ๒ คำ ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน คือ
๑. หนอง ตุ๊กหลุก หมายถึง แอ่งเล็ก ๆ ที่อยู่มุมคันนา-แจไฮ่นา ตรงนั้นน้ำจะค่อนข้างลึก ชาวบ้านจะเว้นไว้ไม่ดำนา แต่เอากิ่งไม้มาใส่ไว้ให้สัตว์น้ำมาอาศัยอยู่ เช่น ปลา ปู กบ เขียด แมงหน้าง้ำแมงตับเต่า แมงดา และอื่น ๆ หนองชนิดนี้จะเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน
๒. บวกควาย หมายถึง แอ่งเล็กๆที่เกิดจากควายนอนเกลือกกลิ้ง นานเข้าจนกลายเป็นแอ่งที่มีน้ำขังตลอดหน้าฝน ใต้แอ่งจะมีโคลนหนา กลิ่นค่อนข้างแรงที่เกิดจากการขับถ่ายของควาย มีสัตว์เล็กสัตว์น้อยอาศัยอยู่มากมาย โดยเฉพาะ…เขียดจะนา แอ่งชนิดนี้ชาวบ้านไม่ค่อยนิยม เพราะมีกลิ่นแรง จะเป็นที่ของควายนอนโดยเฉพาะ
ในยุคที่ชาวบ้านมีควายฝูงหรือควายทั้งหมู่บ้านรวมกันเป็นฝูงใหญ่และยังเป็นสมัยที่หมู่บ้าน / ชุมชนมีพื้นที่สาธารณะสำหรับเลี้ยงวัวเลี้ยงควายในทุกฤดูกาล, สัมพันธภาพระหว่างคนกับคน, สัมพันธภาพระหว่างคนกับควาย, สัมพันธภาพระหว่างควายกับควายก็บังเกิดขึ้น คนเลี้ยงควายอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้องกัน รู้จักกัน รักผูกพัน สามัคคี หนุ่มน้อยสาวน้อยสบตากันด้วยความหวานชื่นก็ในช่วงเลี้ยงควายนี่เอง ผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีโอกาสร่วมเลี้ยงควายก็เป็นสักขีพยานและรับรู้ความรักของหนุ่มน้อยสาวน้อยก็ในงานเลี้ยงควายนี่เอง
ควายแทบทุกตัวในหมู่บ้านนั้น ๆ ค่อนข้างจะคุ้นเคยกลิ่นกันดี แค่ดมก้นกัน ดมน้ำเยี่ยวกันและหอมกัน ก็ยิงฟันยิ้มอย่างมีความสุขสดชื่น บางคราวก็หยอกล้อขวิดกันเล่นสนุกประสาควายโดยเฉพาะควายตัวน้อยเกิดใหม่ เว้นแต่เจ้าควายหนุ่มที่กำลังคึกคะนองเมื่อยามเจอหนุ่มแปลกหน้าและยังไม่คุ้นเคยกลิ่น มักจะแสดงอาการท้าทายฝ่ายตรงกันข้าม ชูหาง ตะกุยดิน หายใจฟึดฟัด ส่งเสียงร้องยั่วก็ตามประสาควายอีกนั่นแหละ เจ้าของควายมักจะปล่อยให้ควายประลองกำลังกันอย่างเต็มที่และเชื่อว่า ควายตัวใดแพ้ก็จะไม่ถึงกับตายการชนควายจึงเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของมัน คนไม่ได้ไปจัดให้เป็นเกมกีฬา เวลาควายหนุ่มปะทะกันเต็มแรงและขวิดกันอย่างเต็มที่นั้น เจ้าของควายซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กหนุ่มเด็กสาวต่างปีนขึ้นไปอยู่บนจอมปลวกและต้นไม้ เกรงว่าฝูงควายจะแตกตื่นวิ่งมาชน วิ่งมาเหยียบ ขณะเดียวกันก็เผลอส่งเสียงร้องกระตุ้นควายของตนอย่างเมามันเช่นกันเมื่อประลองกำลังกันอย่างสุดกำลังแล้ว ควายหนุ่มตัวแพ้ก็จะวิ่งหนีไปเข้าในฝูงและยอมแพ้ตลอดไปควายหนุ่มผู้ชนะก็ไม่ได้ตามขวิดตามอาฆาตแต่อย่างใด ไม่เจ้าคิดเจ้าแค้น ฝ่ายแพ้ก็ไม่คิดจะเอาคืน เหมือนว่าอะไรที่แล้วก็แล้วไป ตามประสาควายอีกนั่นแหละ หลังจากนั้นควายฝูงทั้งหมู่บ้านก็จะอยู่ร่วมกัน กินหญ้า ลงหนอง คลอง บึง และนอนบวกกันอย่างมีความสุขในแต่ละวัน จนกว่าจะถึงตอนเย็นเจ้าของควายจึงต้อนควายแยกย้ายเข้าคอกของตนเอง
บวกควายที่เกิดขึ้นจากการนอนเกลือกกลิ้งของควายนั้น หากมีควายจำนวนมาก จำนวนบวกก็มากไปด้วย หากบวกที่อยู่ติด ๆ กัน ทะลุขอบบวกเชื่อมถึงกันก็กลายเป็นบวกใหญ่ ควายลงนอนได้หลายตัวและก็ขยายความกว้างของบวกออกไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดบวกควายขนาดใหญ่กลายเป็นหนองน้ำ ถึงขั้นเรียกว่า “หนองควาย” เมื่อตั้งเป็นหมู่บ้านก็เรียกว่า บ้านหนองควาย คนลาวทั่วไปเรียกควายว่า “ควย” คนต่างถิ่นรู้สึกรับไม่ได้ในคำว่า “หนองควย” จึงเด็ดหัว ว. แหวนทิ้งให้กลายเป็นสระอา(า) จึงเหมือนจงใจเปลี่ยนชื่อว่า “หนองคาย”
บวกควายที่เกิดขึ้นตั้งแต่หลังฤดูเก็บเกี่ยวผ่านฤดูร้อนและมาจนถึงฤดูฝน, เมื่อถึงฤดูฝนควายฝูงจะต้องแยกจากกันมาลงไร่ลงนา ควายตัวเมียบางตัวอาจตกลูกน้อยช่วงนี้, บางตัวเริ่มตั้งท้อง แต่ก็ต้องลากคันไถ ควายแม่ลูกอ่อนที่ลากคันไถ ลากคราดไปนั้น ลูกน้อยก็เดินตามติด ๆ ไปด้วย เพราะยังห่างแม่ไม่ได้ บางทีก็มุดหัวกินนมแม่ ขณะที่คอของแม่คาแอกคาไถอยู่ ความเป็นแม่นี่ช่างลำบากนัก ไม่ว่าจะเป็นควายหรือเป็นคน ส่วนควายตัวเมียที่อยู่ระหว่างตั้งท้อง ทั้งหนักท้อง ทั้งหนักแอกไถแอกคราด ดูแล้วช่างลำบากตรากตรำนักเจ้าของควายผู้เป็นเพื่อนทุกข์เพื่อนยากก็เอาใจใส่ดีด้วยรู้คุณของควาย เมื่อปลดจากแอกแล้วก็จูงควายไปล่ามให้กินหญ้าเขียวสด ทั้งเกี่ยวหญ้ามาให้เป็นกอง ๆ, ทั้งตัดใบกล้ามาให้กิน ใบกล้านี้อย่าให้ควายกินคำใหญ่ เพราะมันจะมีอาการจุกแน่นแค้นในอกได้ เคยมีควายบางตัวจุกแค้นต่อหน้าต่อตานำความโศกเศร้ามาสู่เจ้าของยิ่งนัก แต่กระนั้นก็ยังมีการ “ตกพูดควาย”อยู่ดี
เมื่อควายลงนาในฤดูฝน ท่ามกลางสายฝนฉ่ำอากาศเย็น มวลหญ้าเขียวชอุ่ม ควายก็เพลิดเพลินกับฝนใหม่และหญ้าใหม่จนลืมไปเลยว่าตัวเองเคยสร้างบวกไว้ ควายจะเริ่มอ้วนพีอีกครั้งแต่ก็ต้องพบกับงานหนักดังที่กล่าวแล้ว ส่วนบวกควายนั้นเมื่อบวกควายร้างนาน หญ้าขอบบวกก็จะงอกงามขึ้น น้ำในบวกจะใสและเป็นที่อาศัยของปู ปลา กบเขียดและแมลงน้ำ กลายเป็นแหล่งอาหารอีกแห่งหนึ่งของชาวบ้าน ต่างพากันใช้สวิง,ชะนางไปตักไปช้อน นึกถึงภาพผู้หญิงที่ไปตักไปช้อนหาลูกปลาฮวก (ลูกอ๊อด) แมงม้า แมงหน้าง้ำ แต่กลับช้อนได้งูปลา งูเชือก ทิ้งชะนาง ทิ้งสวิงวิ่งตกใจกระเจิดกระเจิง แต่พอได้สิ่งที่ช้อนแล้วก็นำไปหมก นำไปอ่อม เป็นสุดยอดอาหาร ฝนตกมาก็มีของกินเช่นนี้เอง เพราะบวกควายอุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารของพืชและสัตว์เล็กสัตว์น้อย หากไถกลบบวกควายแล้วปักดำต้นข้าวลงไป ต้นข้าวก็จะแตกกองอกงาม รวงข้าวอุดมดีกว่าที่อื่น ๆ ระบบนิเวศน์ในบวกควายมันเกื้อกูลกันเช่นนี้เอง บวกควายอุดมสมบูรณ์เพราะควายไม่เพียงแต่นอนบวกเปล่า แต่มันได้ขับถ่ายมูลของมันทิ้งไว้ด้วย
ตอนที่บวกควายเป็นโคลนเลนอยู่นั้น ชาวบ้านหรือพวกเด็กเลี้ยงควายที่ไปตีรังผึ้งตีรังแตนเมื่อผึ้งและแตนแตกรังไล่ต่อยคนรุกราน, คนผู้ชอบรุกรานผู้อื่นก็ได้อาศัยบวกควายนี้เองเป็นที่หลบภัยคือ วิ่งหนีผึ้งวิ่งหนีแตนไปหาบวกควาย หากประสบเหมาะโชคดีก็กระโดดลงมุดโคลนเลนในบวกควายนั้น แต่ถ้าโชคร้ายยังไม่เจอบวกควายสักแห่งก็จำเป็นต้องวิ่งหาลำคลอง หนองน้ำ คิดดูเถอะ คนวิ่งมาด้วยความหอบเหนื่อยมันจะมุดน้ำลงได้อย่างไร เป็นกรรมของผู้รุกรานโดยแท้
บวกควายมิได้เป็นแค่ที่หลบร้อนของควายหรอกนะ พวกเด็ก ๆ เลี้ยงควายนั่นก็ร้อนเป็นเหมือนกัน ถ้าไม่มีแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง หนองบึง ก็อาศัยบวกควายนี่แหละหลบร้อน “บวกควาย” ในอดีตจึงเป็นที่สิงสถิตของเด็กน้อยชาวนาบางคนที่หลบงาน หลบร้อน ลงแช่น้ำเล่นในบวกควาย นอนหงายหลับตาโผล่มาให้เห็นแต่หน้า ใครเดินผ่านไปผ่านมาเห็นเข้าเป็นต้องตกใจ นึกว่าโดนผีหลอกกลางวัน จึงเป็นที่มาของฉายา “บักผีบ้าน้ำขุ่น” นี่ไง รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ร้องไว้ในเพลง” ไอดินกลิ่นสาว” ว่า “กลิ่นโคลนสาบควาย มันติดผิวกายพี่มา มาอยู่กรุงเทพเมืองฟ้าตั้งสามปีกว่าก็ยังมีกลิ่น อาบน้ำประปาใสกว่าน้ำโคลนน้ำดิน ไม่อาจลบทั้งรอยและกลิ่น ไอดินกลิ่นโคลนสาบควาย”
มีภาษาปากลากเข้าสำนวนเกี่ยวกับบวกควายชวนกระเซ้ากระซิก ทีเล่นทีจริงว่า “บวกบ่แลนหาควาย” มีความหมายประมาณว่า อยากได้สิ่งใดต้องไขว่คว้าดิ้นรน ป่ายตีนปีนไต่ให้เห็นเกิดผลอยากมีโอกาสต้องแสวงหาโอกาส มิพักมัวให้โอกาสวิ่งเข้ามาหาตน เป็นวลีอารมณ์เชิงเล่นเชิงล้อระดับเพื่อนศักดิ์อาวุโสคุยกัน อีกคำหนึ่งคือ “บวกใครบวกมัน” อันมีความหมายถึงกรรมสิทธิ์ ผู้ครอบครอง ห้ามล่วงละเมิด ก้าวก่าย ควายจะรู้ดีว่า กลิ่นขี้ กลิ่นเยี่ยวในบวกนั้นเป็นของใคร บวกจึงค่อนข้างไม่ใช่ของสาธารณะที่ควายตัวใดจะเกลือกกลิ้งเอาได้
ชาวบ้านบางครอบครัวมีควายเป็นฝูงเรียกว่า “ควายฝูง” อย่างน้อยก็ห้าหกตัวขึ้นไป หากปล่อยเลี้ยงไว้ในนาของตนย่อมมีประโยชน์อย่างยิ่ง ควายจะขับถ่ายมูลใส่นาไว้ให้เป็นปุ๋ย นอกจากนี้ก็มีควายไว้สำหรับเช่า การเช่าควายทำนานี้ ชาวบ้านเรียกว่า “ค่าคอควาย” นั่นหมายถึง คอของควายที่จะต้องเทียมแอกเทียมคราดไถ แล้วก็ถามผู้เช่าว่า มีนาจำนวนกี่ไร่ แล้วก็คิดค่าคอควายเป็น” ถังหรือสัด” แล้วแต่ตกลงกันได้ เมื่อเสร็จสิ้นฤดูทำนาก็คืนควายให้เจ้าของ หลังฤดูเก็บเกี่ยวก็นำข้าวเปลือกไปชำระ “ค่าคอควาย”
ฤดูเก็บเกี่ยว พอข้าวทอรวงกำลังสุกเหลืองพอเกี่ยวได้ ก็จะหาที่เนิน ๆ แห้ง ๆ แต่หน้าดินเรียบสำหรับทำลานข้าว ถากหญ้าออกแล้วก็ปัดกวาดให้สะอาด จากนั้นก็เอาขี้ควายสดมาผสมน้ำพอเหมาะทาลาน ใช้ตีนเปล่าย่ำขี้ควายจนแตกแล้วก็ใช้ต้นกล้วยมาลากเกลี่ยให้ขี้ควายหนาบางเท่ากันหรือไม่ตัดยอดพุ่มไม้มาลากและปัดขี้ควายนั้น ขี้ควายจะเหนียวเมื่อตากแดดแห้งก็เกาะกันแน่นวางฟ่อนข้าวและกองข้าวจนกระทั่งตีข้าว
ด้วยคุณสมบัติของขี้ควายที่เกาะกันเหนียวนี่เอง เมื่อจะสร้างยุ้งข้าวหรือเล้าข้าว โดยเฉพาะเล้าข้าวที่ตีฝาด้วยไม้ไผ่ผ่า ชาวบ้านจะใช้ขี้ควายผสมกับดินเหนียวและเศษฟางหรือไม่ก็ใช้นุ่น ผสมเข้ากันดีแล้วก็นำไปยาตามร่องไม้ไผ่ให้แต่ละช่องเกาะกันสนิทและทนทาน
กองขี้ควายจะเป็นอาหารของแมลงชนิดหนึ่งเรียกว่า “กุดจี่” หรือไม่ก็เรียกว่า “จุ๊ดจี่” เป็นแมลงปีกแข็ง กลางคืนแมลงเหล่านี้จะมามุดและชอนไชกองขี้ควาย ชาวบ้านและเด็ก ๆ จะใช้เสียมคุ้ยเขี่ยหากุดจี่ แล้วนำไปล้างขี้ควายออกจากตัวแมลง บิบี้ท้องให้แตก แล้วจึงล้างให้สะอาดอีกครั้งหนึ่งจากนั้นก็นำไปคั่วมาตำแจ่วกุดจี่ ถ้าคั่วกินเลยก็โรยเกลือด้วยและนำไปแกงใส่หน่อไม้สด มันเป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งของคนในชาติพันธุ์อีศาน
นี่คือเรื่องควายและเรื่องคนที่เกี่ยวข้องกันในวิถีชีวิตจนกว่าจะพลัดพรากล้มหายไปจากกันต่างก็มีคุณต่อกัน คนเลี้ยงควายและควายก็เลี้ยงคน อย่าเอ่ยเปรียบเทียบเลยว่า “โง่เหมือนควาย” แม้ควายโง่ ควายก็เลี้ยงคนให้เจริญเติบโตและมีปัญญาเฉลียวฉลาด เมื่อเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐแล้วก็อย่าย่ำศักดิ์ศรีของควาย กลับไปย่ำขี้ควายดีกว่า…
ขอบคุณ
ปากกาพ่อ ดินสอแม่
หญ้าปล้อง ศรีสะเกษ
เด่นชัย น้อยนาง