ว่าด้วยวัฒนธรรม
คำว่า “วัฒนธรรม” เป็นศัพท์บัญญัติจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Culture อันที่จริงมีการเสนอคำว่า “พฤติธรรม” เป็นตัวเลือกอีกคำหนึ่งแต่กรรมการบัญญัติศัพท์ส่วนใหญ่เลือกใช้คำว่า “วัฒนธรรม”
แต่ผู้เขียนเองมีความเห็นต่อการใช้คำ “วัฒนธรรม” ว่าในปัจจุบันนี้ ผู้คนมักเข้าใจเอาว่าวัฒนธรรมคือเรื่องที่ดีงาม (จึงงอกงาม) เท่านั้น เรื่องที่ไม่ดีงามไม่ใช่วัฒนธรรม แต่ในความเป็นจริงวัฒนธรรมคือสิ่งที่มนุษย์ประพฤติปฏิบัติกัน มันจึงมีทั้งดีและไม่ดี ซึ่งก็เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ ด้วย
วัฒนธรรมสะสมมาจากทั้ง บารมี (กรรมดี) และอาสวะ (กรรมชั่ว) ทั้งกรรมดีและกรรมชั่วของมนุษย์สะสมกันเป็นวัฒนธรรม มนุษย์สร้างวัฒนธรรมขึ้น แล้ววัฒนธรรมก็สร้าง และ/หรือกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์รุ่นต่อไปด้วย
มนุษย์สร้างวัฒนธรรมขึ้นมา แล้ววัฒนธรรมที่มนุษย์สร้างก็ได้สร้างมนุษย์รุ่นต่อ ๆ มาด้วย
ความหมายของคำว่า Culture อย่างเป็นวิชาการนั้น น่าจะเริ่มจาก “บิดาแห่งมนุษยศาสตร์” E.B. Tylor ท่านให้คำอธิบายไว้ดังนี้
“วัฒนธรรมเป็นองค์รวมที่สลับซับซ้อนรวมไปถึงวิทยาการ ความเชื่อ ศิลปะ คุณธรรม กฎหมาย ขนบประเพณี ความสามารถ และความเคยชินทั้งปวงที่มนุษย์ได้รับจากสังคม”
ต่อจาก “ไทเลอร์” แล้ว ก็ยังมีปราชญ์คนอื่น ๆ ให้คำอธิบายคำว่า Culture ไว้อีกนับพันแบบ สรุปแล้วคำว่า วัฒนธรรม เป็นคำที่มีความหมายคำจำกัดความที่ไม่ชัดเจนเป็นที่สุดเลย
กระทรวงวัฒนธรรมตั้งขึ้นมาแล้ว จะมีบทบาทหน้าที่อย่างไรดี ?
นักวิชาการไทยคงคุ้นเคยกับคำจำกัดความที่ฝรั่งอธิบายคำว่า Culture กันดีอยู่แล้ว จึงขอเสนอมุมมองของนักวิชาการจีนกันบ้าง
นักวิชาการของสาธารณรัฐประชาชนจีนเห็นว่า ความหมายของคำว่า วัฒนธรรม มันครอบคลุมกว้างขวางกว้างมาก จะกำหนดคำจำกัดความให้ชัดคงไม่ได้ แต่เนื้อหาของวัฒนธรรมนั้นพอสรุปรวมได้ ๓ ด้าน ได้แก่
๑. “รูปการณ์จิตสำนึก” (คำนี้ภาษาจีนว่า “อี้สื้อสิงไท่ 意识形态”) อันรวมถึงโลกทัศน์ของมนุษย์ (โลกทัศน์คือ การมองโลก มองสังคมด้วยความเข้าใจหรือทัศนะอย่างไร) รูปแบบวิธีคิด ความเชื่อทางศาสนา ลักษณะพิเศษทางจิตวิทยา ค่านิยมมาตรฐานทางคุณธรรม ความรู้ความสามารถในการทำความเข้าใจโลก (ความรู้ทางวิทยาการทั้งหลายแหล่นั่นเอง)
๒. รูปแบบการดำรงชีวิต รวมถึงรูปแบบและท่าทีต่อเรื่องที่อยู่อาศัย อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม พิธีกรรมในการเกิด การแต่งงาน การบวช การป่วย การตาย วิถีชีวิตในครอบครัว วิถีชีวิตในสังคม เป็นต้น
๓. ผลิตผลด้านวัตถุของจิตใจ ด้านนี้ก็อธิบายยากอีก เพราะสิ่งที่เป็นวัตถุนั้นคนส่วนใหญ่มักมองว่ามันไม่ใช่เรื่องวัฒนธรรม แต่เมื่อมองให้ทะลุวัตถุนั้น ๆ เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นความแตกต่างทางทัศนะของมนุษย์ ตัวอย่างที่จะเข้าใจง่ายหน่อยก็เช่นหนังสือ หนังสือเป็นวัตถุ แต่เรื่องหนังสือเป็นเรื่องของวัฒนธรรม มิใช่เพราะความเป็นวัตถุของมันหากแต่เพราะเนื้อหาในหนังสือ
เครื่องจักรกลโดยตัวของมันเองยากที่จะบอกว่าเป็นเรื่องวัฒนธรรม แต่การทำงานของเครื่องจักรกลและรูปแบบรูปทรงของมัน สะท้อนระดับความรู้ทางวิทยาการของมนุษย์ ตัวเครื่องจักรกลกับกระบวนการผลิตเครื่องจักรกลจำนวนมาก ๆ จึงจะมีความแตกต่างกันเครื่องจักรกลมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ส่วนการผลิตเครื่องจักรไม่จัดอยู่ในเนื้อหาทางวัฒนธรรม
ขอบเขต ๓ ด้านนี้พอจะครอบคลุมเรื่องวัฒนธรรมได้มากพอ แต่วัฒนธรรมก็มิใช่การประกอบส่วน ๓ ด้านนี้เข้าด้วยกันอย่างกลไกเท่านั้น แต่ทั้งสามด้านนี้ส่งผลสะเทือนถึงกันและกัน เป็นปัจจัยให้กันและกันอย่างซับซ้อน
การศึกษาทำความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมไทย และวัฒนธรรมอาเซียน ควรจะครอบคลุมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับทั้งสามด้านนี้
งานสร้างสังคมไทย และประชาคมอาเซียนให้ดีงามในทุกด้านนั้น คนส่วนใหญ่มักมองเห็นด้านเศรษฐกิจ สังคมก่อน มักคิดไปว่า ถ้าแก้ไขปัญหาความยากจน ยกระดับฐานะเศรษฐกิจของคนได้สำเร็จ คนเป็นไททางเศรษฐกิจ ไม่ต้องพึ่งพาระบบอุปถัมภ์พึ่งพิงอีกต่อไป สังคมก็จะดีขึ้นเอง แต่ผู้เขียนไม่คิดเช่นนั้น ผู้เขียนเชื่อว่างานด้านวัฒนธรรมเป็นงานสำคัญที่สุด จะต้องทำให้วัฒนธรรมไทยส่วนที่ดีงามมีความเข้มแข็งและมั่นคง สังคมไทยจึงจะดีงาม วัฒนธรรมส่วนไหนไม่ดีงามก็ต้องปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงละเลิก
วัฒนธรรมมีพลวัต เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ
อนิจจลักษณ์ของวัฒนธรรม
วัฒนธรรมก็มีอนิจจลักษณ์ เช่นเดียวกับทุกสรรพสิ่ง
วิถีการดำรงชีวิต, การทำมาหากิน, การอยู่รวมกันเป็นสังคม ฯลฯ สร้างวัฒนธรรมขึ้นมา
เมื่อวิถีชีวิต, การทำมาหากิน, สังคมเปลี่ยนไป วัฒนธรรมย่อมเปลี่ยนตาม
แล้วเมื่อวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงพัฒนา ก็กลับไปมีผลในการพัฒนาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต, สังคมอีก
บางช่วงบางยุคจะเห็นความเปลี่ยนแปลงยาก เพราะมันเกิดขึ้น พัฒนาไปอย่างช้า ๆ สะสมทางปริมาณ จนกระทั่งถึงจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพ เช่นการผ่านจากเศรษฐกิจพึ่งที่ดิน (สังคมฟิวดัลลิตส์) สู่เศรษฐกิจพาณิชย์นิยม (สังคมล่าอาณานิคม) แล้วเกิดปฏิวัติอุตสาหกรรม ก่อขึ้นเป็นเศรษฐกิจทุนนิยม (สังคมประชาธิปไตยเลือกตั้ง) กระบวนการนี้ใช้เวลาหลายร้อยปี
แต่ยุคปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงมีอัตราเร่งเร็วขึ้นมาก ทุกคนกำลังเผชิญกับมัน เช่น ภายหลังการปฏิวัติเทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศปฏิวัติคอมพิวเตอร์ส่วนตัว วัฒนธรรมในสังคมจะเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นมาก มนุษย์รุ่นใหม่ที่ใช้คอมพิวเตอร์ก่อนจะรู้จักเดินได้ ย่อมจะมีโลกทัศน์ ชีวทัศน์ แตกต่างไปจากมนุษย์รุ่นพ่อแม่ของพวกเขา
พลานุภาพของ “วัฒนธรรม” นั้นมหาศาล! และมันมีพลวัต !
การเรียกร้องให้ “อนุรักษ์” วัฒนธรรมนั้นเรียกร้องให้รักษาส่วนที่ดีงาม มิใช่ให้ “ฝืนโลก”
ยุคนี้ทุนนิยมเสรีโลกาภิวัตน์มีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต, การทำมาหากิน, สังคม ซึ่งเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคนไทย วัฒนธรรมไทยก็กำลังเปลี่ยนแปลง
ในยุคก่อน เราเห็นตัวอย่าง “การเลือกเฟ้น” ในการรับวัฒนธรรมของบรรพบุรุษไทยมาแล้ว มาถึงยุคนี้คนไทยจะไม่รู้จักการเลือกเฟ้นเลยเชียวหรือ ?
เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมนี้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยแสดงปาฐกถาสำคัญไว้ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๒๕ เรื่อง “การสืบทอดมรดกวัฒนธรรม” ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ตีพิมพ์ในหนังสือ “มัณฑนาสถาปัตย์ : คึกฤทธิ์พูด”) เนื้อหาส่วนหนึ่งดังนี้
“…วัฒนธรรมนั้น มันเป็นสิ่งผูกพัน ใกล้ชิดกับอารยธรรม ความเจริญในทางจิตใจและในทางวัตถุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางวัตถุ ในเรื่องการทำมาหากินต่าง ๆ คือคนเราเมื่อมีอารยธรรม มีความเจริญ แล้วก็เปลี่ยนสภาพจากป่ามาอยู่เมือง มีความเป็นอยู่ มีชีวิตจิตใจมีการทำมาหากินที่สะดวกสบายขึ้น ปราศจากภัยอันตรายทั้งปวง เมื่อมีความมั่นคงในชีวิตอันเนื่องมาจากอารยธรรมแล้ว วัฒนธรรมก็ย่อมเกิดเพราะมนุษย์มีเวลาที่จะพิจารณา ที่จะมองที่จะเลือกเฟ้นและตัดสินว่า สิ่งใดดี สิ่งใดชั่วสิ่งใดสวยงาม สิ่งใดน่าเกลียด สิ่งใดควรประพฤติ และสิ่งใดควรเว้น การตัดสินใจและการเลือกเฟ้นนี้ คือวัฒนธรรม ผลที่เกิดจากวัฒนธรรม และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ต้องตัดสินใจแน่วแน่ แล้วก็ปลูกฝังเอาไว้ คือถือเป็นประเพณีขนบธรรมเนียมหรือระเบียบแบบแผน หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตาม ทำให้สิ่งนั้นยั่งยืนถาวร แล้วก็งอกเงยต่อไป ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมนั้น มันไม่ใช่ของแห้ง ไม่ใช่ตึกรามบ้านช่อง มันเป็นสิ่งมีชีวิต เมื่อปลูกฝังลงแล้วก็ย่อมจะต้องเติบโต มีความเจริญเติบโต และเมื่อเติบโตแล้วก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับของอื่น ๆ ในการเจริญเติบโตนี้ก็ย่อมต้องอาศัยกาลเวลา กาลสมัย ดินฟ้าอากาศ ตลอดจนอาการทางเศรษฐกิจ การเงิน อื่น ๆ ที่จะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ก็เหมือนกับต้นไม้ ถ้าหากว่าสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งที่คอยหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป วัฒนธรรมก็ต้องเปลี่ยนด้วย หรือสิ่งที่เคยหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมหมดสิ้นไป วัฒนธรรมนั้นก็อยู่ไม่ได้ มันก็ต้องสูญหายไปอย่างนี้เป็นของธรรมดาที่สุดที่เราจะต้องเข้าใจกันไว้ก่อน
“ในการสืบทอดวัฒนธรรมนั้น ผมอยากจะให้เข้าใจว่า ไม่ใช่เป็นการสืบทอดมรดก พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย มีอยู่เท่าไหร่ก็สืบกันไปอย่างนั้นอย่าให้สูญให้หาย มันเป็นไปไม่ได้ ทำอย่างนั้นเป็นการเก็บของเข้าพิพิธภัณฑ์ เอาของเก่ารักษาไว้อย่าให้มันเปลี่ยน หรือเป็นการประกาศว่า ทุกอย่างเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ ใครจะไปแตะต้องเปลี่ยนแปลงไม่ได้ นั่นเป็นเรื่องของโบราณคดี มันไม่ใช่วัฒนธรรม
“ถ้าเราจะสืบทอดวัฒนธรรม จะรักษาวัฒนธรรมไว้ เราต้องยอมรับเองว่าวัฒนธรรมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีความเจริญเติบโต ต้องมีการแตกกิ่งก้านสาขาเสมอไปจะให้คงที่ไม่ได้”
ปัญหาทาง “วัฒนธรรม” แก้ไขด้วยวัฒนธรรม
นักวิชาการวัฒนธรรมส่วนใหญ่คิดว่า “วัฒนธรรม” คือเรื่องที่เป็นความดีงาม ความไม่ดีไม่งามทั้งหลายไม่ใช่เรื่องของวัฒนธรรม เมื่อมองการแก้ไขปัญหาทางสังคมจึงเสนอแต่หนทางแก้ไขด้านอื่น ๆ เช่น เศรษฐกิจ การปกครอง ฯลฯ ละเลยการแก้ไขทางวัฒนธรรม
ถ้าหากเปิดใจกว้าง ยอมรับด้านอ่อนของคนไทย (ส่วนใหญ่) ก็จะเห็นว่าเป็นผลมาจากวัฒนธรรมที่สั่งสมกันมาหลายร้อยปีแล้ว
ปัจจุบันนี้สังคมไทยเกิดปัญหาด้านศีลธรรมมากขึ้น
แต่ “ศีลธรรม” กับ “วัฒนธรรม” ก็มิใช่สิ่งเดียวกัน
ติดตามบทความ ว่าด้วยวัฒนธรรม ต่อได้ที่ นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๑๐๑