ว่าด้วยเรื่อง “การท่องเที่ยว”
ท่านเคยได้ยินคำถามประมาณนี้ไหม “ไปเที่ยวอีสาน ไปที่ไหน ได้อะไร…” แล้วก็มีการจาระไนให้ภาพว่า ภาคเหนือมีทิวทัศน์งาม อากาศดี ภาคใต้มีเกาะ และมีทะเลเหมือนภาคตะวันออก กรุงเทพฯหรือเมืองใหญ่ก็ได้เดินซื้อของตามห้างในบรรยากาศเย็นฉ่ำ
ก่อนเกิดโรคห่าตำปอด ประเทศไทยมีรายได้มวลรวมประชาชาติจากการท่องเที่ยวต่อปีถึงร้อยละ ๔๒ ตัวเลขที่สูงมากนี้ทำให้ภาครัฐเร่งขยายเปิดขายการท่องเที่ยว หนึ่งในงานรูปธรรมที่ขับเคลื่อนช่วงนั้นคือ โครงการหมู่บ้าน “นวัตวิถี” ซึ่งคนรากหญ้าจำนวนมากแม้แต่ความหมายของคำยังก็ไม่เข้าใจกระจ่างชัด หลายหมู่บ้านเห็นแต่ใครก็ไม่รู้ได้รับเหมามาติดตั้งป้ายสร้างฉากที่ทางเข้าหมู่บ้านแล้วระดมคนมาถ่ายรูป หลังจากวันนั้นก็ทิ้งร้างไป
ดินแดนที่ราบสูงภาคอีสานประเทศไทย เป็นแอ่งอารยธรรมร่วมของผู้คนในสองฝั่งลุ่มแม่น้ำโขง และภูมิภาคอุษาคเนย์ทั้งหมด ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ถ้าวันใดที่ไร้อำนาจฉ้อฉลกดทับจากศูนย์กลางอำนาจรัฐ และพี่น้องป้องปายตื่นรู้ในพลังตน ทุกอุปสรรคปัญหาที่ขัดขวางพัฒนาการสังคมจักได้รับการแก้ไขให้เจริญมั่นคง และเรื่องการท่องเที่ยวเองก็จะรุ่งเรือง รายได้ที่ได้รับก็จะกระจายทั่วถึง ชุมชนมีความสมัครสมานสามัคคี
สำคัญที่สุด “คนใน” ต้องรู้จักตนเอง รู้รักษ์ห้วยหนองคลองบึงแม่น้ำทุกสายที่ตนเองได้ใช้ได้ดื่มกิน รู้รักษ์ป่าไม้ภูเขา ซาบซึ้งนิทานตำนานพื้นถิ่นประวัติหมู่บ้าน รู้จักโคตรวงศ์ตระกูลของตน มีศรัทธาสาธุต่อความคิดความเชื่อที่มีแต่ดึกด้ำบรรพ์
“คนไม่มีรากเหง้าจะถูกเขาครอบงำและกำหนดอนาคตให้หมดเลย” ~ โบแอส นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน
“เจ้าชายน้อยมาจากดวงดาว ผ่านมาหลายดวง เห็นคนหลายประเภท มาถึงโลกก็ดีใจว่าจะได้เห็นคนมากมาย แต่มาถึงก็ประหลาดใจที่เห็นเพียง ๕ – ๖ คนเท่านั้น ถามดอกไม้ว่า คนหายไปไหนหมด ดอกไม้ตอบว่า คนไม่มีรากเหง้า ลมพัดแรง ๆ หายไปในทะเลทรายหมดเลย” ~ จากนวนิยายอมตะเรื่อง เจ้าชายน้อย ของ อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี ชาวฝรั่งเศส
“ถ้าอยากเข้าใจโลกวันนี้ ต้องย้อนกลับไปศึกษาโลกเมื่อ ๒,๕๐๐ ปีก่อน ว่าการเปลี่ยนโลกทัศน์ชีวทัศน์ปรัชญาของชาวกรีก ได้เป็นจุดเริ่มต้นอารยธรรมโลกวันนี้อย่างไร” ~ มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ นักปรัชญาเยอรมัน
การท่องเที่ยว และกิจการกิจกรรมทุกด้านจะเติบโตผลิดอกออกผล ต้องเริ่มต้นจากตระหนักรู้รักษ์ชื่นชมคุณค่าของดีของตน คนบ้านอื่นเมืองไกลจึงจะมาเยี่ยมเยือนและประทับใจ
นิตยสารทางอีศาน จึงชูคำขวัญเพื่อเสนอทิศทางการก้าวย่างร่วมกับพี่น้องป้องปายมาตั้งแต่ออกเดินทางว่า “ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต”