ศาสนาวานนี้ วันนี้ และวันหน้า

ศาสนาวานนี้ วันนี้ และวันหน้า

นักคิดนักปราชญ์ในตะวันตกวิพากษ์ศาสนามาหลายร้อยปี คาร์ล มาร์กซ์ บอกว่า “ศาสนาเป็นยาเสพติด” และมาร์กซิสต์ฉบับปรับปรุงใหม่บอกว่า “ศาสนาเป็นการครอบงําทางวัฒนธรรมที่แนบเนียนและรุนแรง” จะปลดปล่อยได้ยากที่สุด และเปลี่ยนแปลงเป็นอันดับสุดท้าย

ซิกมันด์ ฟรอยด์ นักจิตวิทยาบอกว่า “ศาสนาเป็นโรคจิตชนิดหนึ่ง” พูดให้เบาหน่อยก็เป็นความบกพร่องทางจิตที่ติดมากับพันธุกรรมของมวลมนุษย์ที่สะบัดหลุดได้ยาก ฟรอยด์สรุปว่า “ศาสนาเป็นยาระงับประสาทชนิดหนึ่ง”

ฟรีดรีช นิทเช่  นักปรัชญาชาวเยอรมันเมื่อร้อยกว่าปีก่อนบอกว่า “พระเจ้าตายแล้ว ผมฝังพระเจ้าไปแล้ว ไม่ได้ยินเสียงผมขุดหลุมหรือ” นิทเช่เป็นปรมาจารย์ใหญ่ของปรัชญาอัตถิภาวนิยม (ที่ต้องมีภาษาฝรั่งกำกับว่า Existentialism)

ปรัชญานิทเช่ เป็นฐานคิดสำคัญของบรรดานักคิดแนวโพสท์โมเดิร์นทั้งหลายที่บอกว่า น่าปลดแอกอันหนักอึ้งของประวัติศาสตร์ที่มากับศาสนาและวัฒนธรรมตะวันตกที่ครอบงำผู้คนมาหลายพันปี ด้วย “เรื่องเล่าอันยิ่งใหญ่” (the great narratives) อันเป็นตำนานที่คนเชื่อศรัทธา และต้อง “รื้อถอนเพื่อสร้างวัฒนธรรมใหม่”

ศาสนาเป็นฐานกระบวนทัศน์ของสังคมมายาวนาน คือ เป็นผู้กำหนดวิธิคิด วิธีปฏิบัติ วิธีให้คุณค่า  (ที่บอกว่าอะไรดีไม่ดี ควรไม่ควร) เป็นวิธีการมองโลกมองชีวิต ให้คุณค่าและความหมายแก่ชีวิต ตอบคำถามที่ผู้คนอยากรู้ตลอดมาว่า คนมาจากไหน จะไปไหน อยู่ไปทําไม ทําอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ ทําอย่างไรจึงจะมีความสุข ตายแล้วไปไหน ทำไมเกิดนี่เกิดนั่น เป็นนี่เป็นนั่น และอีกสารพัดคำถามที่หาคำตอบจาก “วิทยาศาสตร์” หรือที่อื่นใดไม่ได้

แม้ว่าวิทยาศาสตร์จะพัฒนาก้าวหน้ามาเพียงใดก็ไม่สามารถ “ขึ้นแท่น” เป็นตัวหลักในวิธีคิดและวิถีชีวิตของผู้คนได้ ดูง่าย ๆ อย่างเรื่อง “ผี” สําหรับชาวบ้านส่วนใหญ่ ผีมีจริงไม่ใช่เพราะพิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ แต่ “ผีมีจริงเพราะผีมีความหมาย” สำหรับชีวิตของพวกเขา

ผีและขวัญก็อันเดียวกัน (ผีกับพราหมณ์) ให้คําตอบ ให้คําอธิบาย ให้ความหมายแก่ชีวิตความเป็นอยู่ ทําให้คนอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว ชุมชน กับปู่ย่าตาทวดผู้ล่วงลับไปแล้ว กับธรรมชาติ ดิน นํ้า ป่า ที่มีแม่ธรณี แม่คงคา แม่โพสพ ผีป่า ผีเขา ผีนํ้า ทําให้ชาวบ้านทําเหมืองฝายแบ่งปันนํ้ากันอย่างเป็นธรรม

ด้วยเหตุนี้ แนวคิดทางปรัชญาแบบปฏิฐานนิยมสุดขั้ว (Positivism) เมื่อต้นศตวรรษที่แล้ว ที่พยายามยกเอาวิทยาศาสตร์ขึ้นมาเป็นบรรทัดฐานเดียวในสังคมต้อง “ล่าถอย” ไปในที่สุด เพราะ “เหตุผล” อย่างเดียว วิทยาศาสตร์อย่างเดียว ไม่สามารถตอบคําถามอันมากมายและลํ้าลึกของมนุษย์ได้

แต่ในเวลาเดียวกัน นักปราชญ์ที่วิพากษ์ศาสนาก็มีเหตุผลของเขา พิจารณาจากประวัติศาสตร์ก็พบว่า ศาสนาเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจทุกยุคทุกสมัย ใช้เพื่อครอบงำ ครอบครองผู้คนและชนชาติต่าง ๆ ไม่ว่าในถิ่นบ้านตนเองหรือที่อื่น ที่ไปล่าเป็นอาณานิคม ก็ใช้ทหารนําหน้า มิชชันนารีตามหลัง ล้างบาปให้ “คนนอกรีต” มานับถือศาสนา จะได้เป็น “พวกเดียวกัน” ปกครองครอบงําได้ง่าย

ในทางเศรษฐกิจ ศาสนาคริสต์มีส่วนสำคัญในพัฒนาการของทุนนิยม อย่างที่มักซ์ เวเบอร์ นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันเขียนในหนังสือ “จริยธรรมโปรเตสแตนท์และจิตวิญญาณของทุนนิยม” (The Protestant Ethic and the Spirit of Capitalism) เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว บอกว่าคนที่รํ่ารวยเป็นเพราะพระเจ้าอวยพร

แล้วก็มีคนโยงไปถึงเรื่องที่ว่า ทําบุญมากพระเจ้าก็อวยพรมาก ก็จะรวยมาก ถ้าทำบุญโดยการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ สร้างสังคมที่มีความยุติธรรมก็ดี แต่ไม่ได้เน้นที่การสร้างระบบโครงสร้างที่เป็นธรรม ไปเน้นที่การทําบุญทําความดีของปัจเจกบุคคล สังคมจะมีความอยุติธรรมอย่างไรก็ไม่สนใจ

เช่นเดียวกับเมื่อหลายร้อยปีก่อนนี้ที่ในยุโรปมีการผูกโยงเรื่องนี้กับการชําระล้างโทษบาปที่ได้กระทํา ให้ทําบุญด้วยเงิน บริจาคเงิน สร้างวัดโบสถ์วิหารวันนี้จะได้รับการยกโทษความผิดที่เมื่อตายไปอาจจะต้องไปรับโทษทรมานก่อนจะได้ไปสวรรค์

ย้อนไปไกลกว่านั้นอีก เมื่อแปดเก้าร้อยปีก่อน มีสงครามครูเสดที่รบกันระหว่างชาวคริสต์กับชาวมุสลิมเพื่อแย่งดินแดนศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะกรุงเยรูซาเล็ม นั่นก็ในนามของศาสนา ซึ่งบรรดาผู้ครองนครและประมุขศาสตร์คริสต์ ในยุคนั้นระดมสรรพกําลังของบรรดาทหารกล้า และอัศวินให้ไปรบในนามของศาสนา

ศาสนาอิสลามก็มีประวัติศาสตร์ที่ทราบกันดีว่า ศาสนากับชีวิตทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ  การเมือง เป็นเรื่องเดียวกัน ไม่สามารถแยกจากกันได้ จนมาถึงยุค “รัฐอิสลาม” ที่บางประเทศประกาศตนว่าใช้หลักศาสนาอิสลามเป็นรากฐาน เป็นกฎหมายปกครองประเทศ และเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกสุดโต่งอ้างศาสนาเช่นเดียวกันเพื่อการก่อการร้าย การฆ่า การทําอัตตนิบาตกรรมและความรุนแรงทั้งปวง

ศาสนาพัฒนามาจากศาสดา ซึ่งปราชญ์หลายคนในยุคนี้บอกว่า ศาสดาให้กำเนิดศาสนา แต่ลูกศิษย์ลูกหากลับสร้างสถาบันศาสนามาครอบจนหลักธรรมดั้งเดิมถูกกลบเกลื่อนเลือนหายไป จิตวิญญาณของผู้ให้กําเนิดจึงถูกกลืนไป ด้วยระบบโครงสร้างพิธีกรรม และคำสอนที่แปลความขยายความออกไปห่างไกลไปจาก “ต้นฉบับ” ของศาสดา สร้างอะไรต่อมิอะไรขึ้นมาเพื่อให้ความชอบธรรมอํานาจสถาบัน

ศาสนิกในศาสนาต่าง ๆ จึงไปยึดติดอยู่กับพิธีกรรมและรูปแบบภายนอก ได้แต่กระพี้ได้เปลือกไม่ได้แก่น ไม่ได้เข้าถึงสาระอันเป็นหัวใจของคําสอนของศาสดา

สามร้อยกว่าปีมาแล้ว มาร์ติน ลูเธอร์ นักพรตชาวเยอรมันทนไม่ไหวที่มีการใช้ศาสนาเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง จึงลุกขึ้นมา “ประท้วง” อันเป็นที่มาของ “โปรเตสแตนท์” ซึ่งแปลว่า ผู้ประท้วง แยกออกมาเป็นนิกายใหม่

เข้าไปในโบสถ์ใดที่ไม่มีรูปเคารพ มีแต่พระแท่นบูชา และไม้กางเขนที่ไม่มีรูปพระเยซูถูกตรึงกางเขน นั้นเป็นโบสถ์นิกายโปรเตสแตนท์ ที่อยากให้คนอ่านพระคัมภีร์ไบเบิลแล้วสื่อสารสัมพันธ์กับพระเจ้าโดยตรง มากกว่าอาศัย “คนกลาง” ทั้งหลาย คือ บรรดานักบุญต่าง ๆ ซึ่งท้ายที่สุดก็กลายเป็นการไหว้วอนหรือไป “ติดสินบน” บรรดาผู้มีบุญเหล่านั้น เป็นพิธีกรรมที่นําไปสู่ไสยศาสตร์

ท่านพุทธทาสภิกขุ สอนว่า ทุกศาสนาสอนเหมือนกัน มีจุดหมายเดียวกัน ต่างกันแต่ “ภาษา” เท่านั้น ใช้วัฒนธรรมของแต่ละแห่งแต่ละยุคสมัย เพื่ออธิบายความและแสดงออกเป็นประเพณี พิธีกรรม

ท่านบอกว่า คนมีหลายประเภท มีทั้งที่ยังต้องการพิธีกรรมเป็นเครื่องช่วย มีคนที่พัฒนาตนไปถึงจุดที่ไม่ต้องการเครื่องช่วยเหล่านี้ และมีคนที่ก้าวพ้น “ศาสนา” ที่เป็นสถาบันรูปแบบภายนอก ท่านจึงเทศน์และถอดออกมาเป็นบทความเรื่อง “ไม่มีศาสนา” (No Religion) ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ

อดีตกําหนดปัจจุบัน สิ่งที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์มนุษยชาติไม่ว่าตะวันตกหรือตะวันออก ก็เป็นรากฐานที่มาและคําอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ศาสนายังไม่ได้ตาย และคงไม่มีวันตายตราบใดที่คนยังพบคําตอบในศาสนา ไม่ว่าคําตอบที่เป็นหลักธรรม หรือคำตอบที่เป็นพิธีกรรม หรือความเชื่อศรัทธาบางอย่าง เช่น ทําบุญวันนี้เพื่อจะได้ไปสวรรค์ในชาติหน้า ทําบุญมากก็จะได้ขึ้นสวรรค์ชั้นสูงขึ้นไปอีก

โลกวันนี้เปลี่ยนไปพัฒนาไปทางเทคโนโลยี ทางเศรษฐกิจ ทําให้เกิดความสะดวกสบายมากมายแต่คนก็ไม่ได้มีความสุขมากขึ้นในอัตราเดียวกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ยังสับสนวุ่นวาย ยังรู้สึกโดดเดี่ยว ยังเหงา ยังบ้าและฆ่าตัวตายสูง ยังต้องการที่พึ่งทางใจ ต้องการ “สังกัด” กลุ่มพวกสถาบัน

วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีก้าวหน้าขนาดไหนก็ไม่สามารถตอบคําถามทั้งหมดของคนได้ วันนี้ผู้คนจึงพยายามกลับไปค้นหาความหมายชีวิตในหลักธรรมทางศาสนา หลักปรัชญา หลักการที่ให้ปัญญา เพื่อนําทางชีวิตที่สงบลง เย็นลง เพราะท้ายที่สุดคนก็พบว่า ท่ามกลางความทุกข์ทั้งหลายมีทางออก อยู่ที่ตัวตนของแต่ละคน “หินมันหนัก ก็วางมันลง” อย่างที่พระอาจารย์ชาสอน

แต่ก็มีคนที่อาศัยสถานการณ์ดังกล่าว ให้คําอธิบายในลักษณะที่บิดเบือนและครอบงําผู้คน จนอยากเชื่อสิ่งที่ฟรอยด์ มาร์กซ์ นิทเช่ และใครต่อใครที่วิพากษ์ศาสนาเอาไว้ว่าจริงอย่างที่เขาว่า ชักจูงคนให้ไปวัดไปปฏิบัติธรรมด้วยคําสัญญาสวรรค์วิมาน รางวัลอันยิ่งใหญ่ชาตินี้ชาติหน้า

ผู้นําทางศาสนาสร้างอํานาจทางสังคมวัฒนธรรมครอบงําผู้คนด้วยคําสอนที่ว่าด้วย “การลงโทษ” และ “การตอบแทน” ทําให้เกิดความรู้สึกผิดในบาปที่ติดมาแต่ดั้งเดิม ความผิดในบัญญัติของศาสนา และสัญญาการตอบแทนที่สูงส่งในชาตินี้และชาติหน้า หลักจิตวิทยาที่ใช้ได้กับเด็กและผู้ใหญ่เสมอมาไม่ว่าในแวดวงไหน การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม การเมือง

ศาสนามีมานับพันปีที่คงอยู่ไม่ใช่เพราะวัดโบสถ์หรือสถาบัน กฎระเบียบ พิธีกรรม แต่เป็นเพราะจิตวิญญาณ (spirit) ที่เกิดจากการปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนา ซึ่งศาสดาได้สอน เป็นคําสอนที่เรียกว่าเป็น “อกาลิโก” ก็คงไม่ผิด เพราะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เป็นเนื้อหา หัวใจของศาสนา

ไม่เช่นนั้น เราคงไม่มีอะไรมาเป็นบรรทัดฐานในการประเมินคุณค่า ความถูกต้องดีงามในวันนี้ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นในแวดวงศาสนา เศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง

แม้ว่าทุนนิยมและบริโภคนิยมจะรุนแรงและรุมเร้าชีวิตของเราวันนี้ รุกคืบเข้ามาครอบงำทุกภาคส่วนของสังคม และแม้ว่าคนที่เชื่อศรัทธา ปฏิบัติตามหลักธรรมดั้งเดิมของศาสนาที่ศาสดาสอนอาจจะน้อยกว่าคนที่หลงไหลไปกับกระแสสังคม แต่ความถูกต้องดีงามก็ไม่ได้หายไปหรือลดน้อยคุณค่าลงไป

ตรงกันข้าม นับวันผู้คนจะแสวงหา “ความจริงแท้” ของหลักธรรมคําสอนของศาสนา เพราะพบว่า นั่นเป็นคําตอบสําหรับชีวิตวันนี้ และนับวันจะก้าวพ้นจาก “ศาสนา” ที่เป็นระบบรูปแบบภายนอก

นั่นจะเป็นจุดนัดพบของผู้คนต่างเชื้อชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์ต่างอุดมการณ์ทางการเมืองที่จะร่วมมือกันสร้างชุมชน สร้างสังคมที่สัมพันธ์กันด้วย “จิตวิญญาณ” ศาสนาที่ก้าวข้าม “สถาบัน” ศาสนา

ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นยุค “ฟ้าใหม่แผ่นดินใหม่” หรือ “พระศรีอาริยเมตไตรย์”

****

คอลัมน์   ส่องเมือง   นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๘ | กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ตํานานพื้นบ้านในฐานะหลักฐานประวัติศาสตร์สองฝั่งโขง (๒)
ประวัติศาสตร์จากสาเกเชื่อม
[๑๓ – บทส่งท้าย] เส้นทางตามหาปาจิต และการมุ่งสู่มาตุภูมิ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com