ศึกษา ศรัทธา พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ในขณะที่ทุกประเทศกำลังจะเข้าสู่มหาสงครามโลกครั้งที่ ๑ ตามด้วยการปฏิวัติของโซเวียต รุสเซีย และสงครามปฏิวัติจีนก็เริ่มปะทุ
ในขณะแดนดินไกลปืนเที่ยงของสยามยังเป็นป่าช้างดงเสือ คนในภูมิภาคอีสานกำลังวุ่นวายสับสนด้วยกฎ “ลาวในบังคับสยาม” จากชายไพร่วัยฉกรรจ์ทุกคนต้องถูกเกณฑ์ทำงานให้รัฐ เปลี่ยนมาส่งส่วยด้วยสิ่งของต่าง ๆ แล้วกำลังเปลี่ยนเป็นเก็บเงินรัชชูปการ ๑๘ บาทต่อปี ซึ่งสมัยนั้นเรื่องปากท้องนับว่าสาหัสสากรรจ์มาก จนเกิดกบฏต่อเนื่องรุ่นแล้วรุ่นเล่า โดยเฉพาะ “กบฏผู้มีบุญ” พ.ศ. ๒๔๔๔ ที่ลามขยายไปทั่วแดนดินที่ราบสูง
ในขณะที่ศูนย์กลางอำนาจรัฐเพิ่งมีโรงเรียนสำหรับราษฎร เริ่มมีหนังสือพิมพ์ กษัตริย์เพิ่งเกิดแนวคิดจะปรับระบอบการเมืองการปกครองให้เป็นแบบประเทศตะวันตก ซึ่งต่อมามีคณะนายทหารร่วมกันก่อ “กบฏ ร.ศ.๑๓๐” ขึ้น พร้อม ๆ กับชนชั้นปกครองได้เพิ่มอัตราภาษีและชนิดของภาษี ทำให้กองคลังของประเทศที่เคยมีรายได้ ๗,๕๐๐,๐๐๐ บาทเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๗ สามารถเก็บเพิ่มได้ถึง ๓๒,๐๐๐,๐๐๐ บาทใน พ.ศ.๒๔๔๔
ในสภาพการณ์ที่โลกและสยามประเทศกำลังดำเนินไปเช่นนั้น ใครจะคิดว่ามีภิกษุในบวรพระพุทธศาสนาองค์หนึ่งธุดงค์ไปยังพระธาตุพนม แล้วตั้งอธิษฐานจิตต่อหน้าองค์พระธาตุ ขอสละแม้ชีวิตเพื่อออกแสวงหาสังคมอุดมธรรม
นั่นคือ การประกาศออกเคลื่อนไหวเพื่อปฏิวัติทางจิตใจ ทางจิตวิญญาณ ด้วยอุดมการณ์แรงกล้า ด้วยศรัทธาในความเท่าเทียม และการไม่เบียดเบียนกัน
กระบวนการปฏิวัติทางจิตใจของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ดำเนินไปอย่างดุเดือด เข้มข้น สูงสุด เพื่อจิตใจได้หลุดพ้นจากการบีบคั้น ขูดรีด โดยปราศจากความเห็นแก่ตัว สิ้นความกลัว ความขลาด ความอยากมีอยากได้ ทั้งพยายามลดและกำจัดเหตุแห่งการเกิดชนชั้นและเผด็จการ อันเป็นอำนาจนิยมของมนุษย์
อาจารย์ธันวา ใจเที่ยง นำเสนอบทความตั้งแต่ พ.ศ.2549 ว่า “…ตั้งแต่เบื้องบาทแรกแห่งการเดินทางแสวงหาโมกขธรรมจนกระทั่งสำเร็จภารกิจ ท่านยินดีอยู่ในความเรียบง่าย ในชายป่า ในกุฏิเล็ก ๆ แต่สิ่งที่ท่านให้ความสำคัญมากที่สุดคือ สังคมและชุมชนที่ท่านอยู่ต้องเอื้ออาทร แบ่งปัน ไม่มีการเบียดเบียนทั้งระหว่างตน ระหว่างมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติกับสรรพสัตว์ มีพรหมวิหาร มีศีลธรรม”
อาจารย์ธันวา สรุปไว้แต่ครั้งนั้น “…ท่านมิเพียงแต่จะมีภาพแห่งการเป็นผู้นำในการปฏิวัติสังคมที่ประสบความสำเร็จ แต่ยังเป็นบุคคลสำคัญของโลกที่คนในโลกควรที่จะศึกษาชีวิตและอุดมการณ์ของท่าน มิแพ้คนสำคัญของโลกท่านอื่นใดในศตวรรษนี้”
กราบนมัสการ
บรรณาธิการอำนวยการ