สภาพอีสานเมื่อ ๘๐ ปีก่อน จากชีวิตและปาฐกถาของผู้แทนราษฎรรุ่นแรก

สภาพอีสานเมื่อ ๘๐ ปีก่อน จากชีวิตและปาฐกถาของผู้แทนราษฎรรุ่นแรก

เรื่องจากปก ทางอีศาน ฉบับที่ 14
ประจำเดือนมิถุนายน 2556
คอลัมน์: เรื่องจากปก
Column: Cover story

ก่อนถึงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ประเทศสยามประสบวิกฤตการณ์สำคัญ ๆ ซึ่งล้วนแต่สามารถชี้เป็นชี้ตายอนาคตของประเทศชาติและประชาชนได้ทั้งสิ้น

เริ่มต้นด้วย
๑. วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ ภายใต้การนำของ “คณะราษฎร”

๒. วันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ แต่งตั้งคณะบุคคลกลุ่มหนึ่งเป็น คณะกรรมการราษฎรบริหารประเทศในยามเปลี่ยนผ่าน จาก อำนาจเก่าไปสู่อำนาจใหม่

ประชุมแต่งตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราว และเปิดสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว เพื่อร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครอง หรือรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

๓. วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร หรือ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕” ระบุให้ประเทศสยามปกครองในรูปแบบสภาเดียว แต่กำหนดบทเฉพาะกาลให้ สภาผู้แทนราษฎรประกอบไปด้วยสมาชิก ๒ ประเภท ในจำนวนที่เท่ากัน

ตั้งคณะรัฐบาลชุดแรก มี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในระบอบรัฐธรรมนูญ

๔. เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ เกิดความคิดขัดแย้งในเรื่อง ร่างเค้าโครงทางเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือสมุดปกเหลือง ในคณะรัฐมนตรี ระหว่างกลุ่มของนายกรัฐมนตรี กับกลุ่มของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็น ผู้ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์

๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ทำการรัฐประหารตนเอง โดยใช้พระราชกฤษฎีกาไปบังคับให้ หยุดใช้รัฐธรรมนูญฯ สภาผู้แทราษฎรชั่วคราวต้องสิ้นสุดลง และหลวงประดิษฐ์มนูธรรมต้องเดินทางออกนอกประเทศชั่วคราว

๕. วันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ร่วมกับ พันโทหลวงพิบูลสงคราม ก่อการรัฐประหารล้มรัฐบาล พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีต้องลี้ภัยไปปีนัง ประเทศมาเลเซีย

๖. วันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๖ นายกรัฐมนตรี พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เรียกตัว หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กลับประเทศสยามและได้เข้าร่วมคณะรัฐมนตรี

๗. วันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ เริ่มเกิดเหตุการณ์ที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “กบฏบวรเดช” นำโดย พลเอกพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช นำทหารจากหัวเมืองภาคอีสาน ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาลาออก แต่ถูกทหารฝ่ายรัฐบาลปราบปรามราบคาบในวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖

จาก ๗ ข้อข้างต้น เห็นได้อย่างชัดเจนว่ารัฐบาลของประเทศสยาม หลัง พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่นำโดย “คณะราษฎร” ต้องประสบวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็สามารถยืนหยัดอยู่ได้ และจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรชุดแรกของประเทศสยาม ในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ห่างจากเหตุการณ์วันพ่ายแพ้ของ “กบฏบวรเดช” เพียง ๑๘ วันเท่านั้น

เป็นที่ทราบกันดีว่า ระบอบใหม่ที่ “คณะราษฎร” เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายจัดตั้งขึ้นนี้ คือ “ระบอบรัฐธรรมนูญ” และหัวใจของระบอบนี้ก็คือ “ระบบรัฐสภาและการเลือกตั้ง” ที่ต้องการให้ผู้แทนราษฎรที่มีที่มาจากทั่วประเทศ เข้ามามีบทบาทในการบริหารประเทศ ด้วยการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงาน และคัดค้านอำนาจของรัฐบาล และคาดหวังไว้ว่า ผู้แทนราษฎรชุดแรกและชุดต่อ ๆ ไปของประเทศสยาม จะได้แสดงบทบาทและความรับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คณะบุคคลที่ถือว่าเป็น “มันสมอง” ของ “คณะราษฎร” รวมทั้งบุคคลใน “คณะรัฐมนตรี” ต่างขมีขมันวางแผนการขับเคลื่อนประเทศสยามครั้งใหญ่ เริ่มต้นด้วยการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖

รายชื่อและภาพถ่ายของผู้แทนราษฎรภาคอีสานชุดแรก

การเลือกตั้งในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งกำหนดขึ้นในสมัยรัฐบาล “พระยามโนปกรณ์นิติธาดา” เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้กำหนดให้การเลือกตั้งทั่วประเทศครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม โดยวิธีรวมเขตจังหวัดจัดเลือกผู้แทนตำบลก่อน แล้วให้ผู้แทนตำบลเลือกผู้แทนราษฎรอีกต่อหนึ่ง โดยถือจำนวนราษฎร ๒๐๐,๐๐๐ คนต่อผู้แทนราษฎร ๑ คน ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ปรากฏว่า ทั้งประเทศมีผู้แทนราษฎรได้ ๗๘ คน จาก ๗๐ จังหวัด ข้อมูลจากหนังสือ “วรรณกรรมไทยเรื่อง รัฐสภาไทยในรอบ ๔๒ ปี” โดย นายประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ ตีพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๖ ระบุไว้ ผู้แทนราษฎรชุดแรกของภาคอีสานมีทั้งหมด ๑๙ คน มาจาก ๑๔ จังหวัด

เมื่อพิจารณาจากรายชื่อ ผู้แทนราษฎรชุดแรกของภาคอีสาน ข้างต้นนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

– มีเพียง ๖ คนเท่านั้นที่มีคำนำหน้าชื่อว่านาย ส่วนอีก ๑๓ คน เป็นข้าราชการ หรือขุนนางของระบอบเก่า ใน ๑๓ คนนี้เป็นทหารหรือตำรวจ ๕ คน เป็นข้าราชการอื่นอีก ๘ คน

– ในบรรดา ผู้แทนราษฎรชุดแรกนี้ ปรากฏว่าได้รับเลือกครั้งต่อ ๆ มาอีกเพียง ๔ คนเท่านั้น คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ได้รับเลือกตั้งอีก ๓ ครั้ง นายเลียง ไชยกาล ได้รับเลือกตั้งอีก ๗ ครั้ง

นายทองม้วน อัตถากร และ ขุนวรสิษฐดรุณเวทย์ (นารถ อินทุสมิต) ต่างได้รับเลือกตั้งอีกคนละ ๑ ครั้ง

 

เลือกตั้งเสร็จเชิญผู้แทนราษฎรปาฐกถาสภาพของจังหวัดตัวเอง

เมื่อการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของประเทศสยามเสร็จสิ้นลง สำนักงานโฆษณาการ จัดทำโครงการเชิญผู้แทนราษฎรชุดแรกจากทั่วประเทศ ๗๘ คน จาก ๗๐ จังหวัด ในจำนวนนี้เป็นของจังหวัดภาคอีสาน ๑๓ จังหวัด ๑๗ คน เดินทางมากล่าวปาฐกถาออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงที่กรุงเทพมหานคร หรือในชื่อจังหวัดพระนครในช่วงเวลานั้น

สำนักงานโฆษณาการต้องการให้ผู้แทนราษฎรป้ายแดงเหล่านี้ มาบอกเล่าสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรในจังหวัดตัวเอง การประกอบอาชีพสภาพภูมิศาสตร์ โดยตั้งความหวังไว้ว่า ข้อมูลที่เสนอไปนี้ ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลสามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาให้ประชาชนต่อไป รวมทั้งก่อนมาแสดงปาฐกถา ผู้แทนราษฎรย่อมจะต้องออกไปหาข้อมูลในชนบทก่อน เท่ากับเป็นการฝึกงานของผู้แทนราษฎรมือใหม่ไปในตัวนั่นเอง

ต่อมาเมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๘ สำนักงานโฆษณาการ นำปาฐกถาทั้งหมดมาจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มเพื่อเผยแพร่ โดยตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า “ปาฐกถาของผู้แทนราษฎร เรื่อง สภาพของจังหวัดต่าง ๆ”

ส่วนเรื่องการพิมพ์และแจกจ่ายหนังสือเล่มนี้ ไม่มีรายละเอียดของการดำเนินงานว่าพิมพ์จำนวนกี่เล่ม รวมทั้งไม่ทราบว่ามีวิธีการในการแจกจ่ายแก่ประชาชนกว้างขวางแค่ไหน ในวงการนักอ่านและนักสะสมหนังสือเก่าไม่มีใครกล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ รวมตลอดไปถึงในร้านหนังสือ และห้องสมุดต่าง ๆ ก็ไม่มีหนังสือเล่มนี้อยู่ในชั้น หนังสือเรื่องนี้จึงตกอยู่ในสภาพหายสาปสูญไปจากประเทศสยาม เช่นเดียวกับหนังสือเก่าที่มีคุณค่าเล่มอื่น

วันเวลาล่วงเลยมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๙ สมาคมมิตรภาพญี่ปุ่น-ไทย นำหนังสือ “ปาฐกถาของผู้แทนราษฎร เรื่อง สภาพของจังหวัดต่าง ๆ” มาพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง ดังที่นำปกหนังสือมาให้ชมในบทความนี้

ปกหนังสือเล่มนี้ น่าจะเป็นปกที่ตีพิมพ์ครั้งแรกด้วย ส่วนตัวหนังสือก็ใช้วิธีถ่ายแบบจากฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑ จึงกล่าวได้ว่า นี่เป็นเสมือนการชุบชีวิตให้หนังสือดีเล่มนี้ หลังจากเงียบหายคล้ายสาปสูญไปนานถึง ๖๑ ปี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ วันทะนะ กรรมการของ คณะกรรมการพิจารณาจัดพิมพ์ “ชุดหนังสือหายาก” ของ สมาคมมิตรภาพญี่ปุ่น-ไทย ได้กล่าวถึงความเป็นมาของหนังสือเล่มนี้ โดยให้รายละเอียดไว้ในบทความชื่อ “แรกสำนึกแห่งรัฐประชาชาติ” ซึ่งเปรียบเสมือนคำนำของหนังสือเล่มนี้ว่า

“หนังสือ ปาฐกถาของผู้แทนราษฎร เรื่องสภาพของจังหวัดต่าง ๆ ที่ท่านกำลังอ่านในขณะนี้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ (หรือ ๖๑ ปีในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือ ๗๘ ปีในปี พ.ศ. ๒๕๕๖) เนื้อหาสาระของหนังสือประกอบไปด้วยปาฐกถา ๓๖ เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสภาพของจังหวัดต่าง ๆ ที่ประมวลมาเสนอทางวิทยุกระจายเสียงของ สำนักงานโฆษณาการ โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดนั้น ๆ” และ

“…นับเป็นครั้งแรกที่ “ผู้แทนราษฎร” ของจังหวัดต่าง ๆ ได้สะท้อนคติและความสำนึกที่ตนมีต่อท้องถิ่นของตน ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐสมัยใหม่ ที่เป็นรัฐเดี่ยวออกมาอย่างกระตือรือร้นและมีความหวัง”

ความน่าสนใจต่อปาฐกถาชุดนี้ จนต้องนำมาตีพิมพ์ใหม่ ผศ.ดร.สมเกียรติเขียนถึงประเด็นนี้ไว้ว่า

“ในแง่ของสารคดีทางประวัติศาสตร์ ปาฐกถาจะชี้ให้เราเห็นว่า เวลากว่า ๖๐ ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้สภาพของจังหวัดหนึ่ง ๆ ที่เรารู้จักคุ้นเคย เปลี่ยนแปลงมาอย่างใหญ่หลวงเพียงใด ทั้งในเชิงกายภาพอันได้แก่ ภูมิประเทศ ป่าเขาลำเนาไพร ถนนหนทาง และในวิถีชีวิตของผู้คน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีความหลากหลาย ทั้งด้านชาติพันธุ์ ประเพณีวัฒนธรรม ความเป็นอยู่…”

ได้ทั้งภาพของภาคอีสานและนักการเมืองอีสาน

ที่จริงแล้ว หนังสือ ปาฐกถาของผู้แทนราษฎรเรื่องสภาพของจังหวัดต่าง ๆ ควรจะประกอบไปด้วย บทปาฐกถาของผู้แทนราษฎร ๗๐ เรื่องหรือ ๗๐ จังหวัด เท่าที่มีอยู่ในตอนนั้น แต่ในหนังสือเล่มนี้ นำบทปาฐกถามาตีพิมพ์ไว้เพียง ๓๖ เรื่อง โดยที่ไม่มีการบอกกล่าวในหนังสือว่าเป็นเพราะเหตุใดจึงมีคำกล่าวปาฐกถาเพียงแค่นี้

ปาฐกถา ๓๖ บทนี้แบ่งเป็นของ

ภาคอีสาน ๗ จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ชัยภูมิ มหาสารคาม เลย อุดรธานี และ ร้อยเอ็ด

ภาคเหนือมี ๙ จังหวัด มี เชียงใหม่ ตาก พิษณุโลก อุตตรดิตถ์ เพ็ชร์บูรณ์ ลำพูน แม่ฮ่องสอน และพิจิตร

ภาคกลางและภาคตะวันออกรวม ๑๒ จังหวัดมี นครสวรรค์ ชัยนาท อ่างทอง นครนายก นนทบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร นครปฐม สมุทรสงคราม ตราด และระยอง

ภาคใต้มี ๘ จังหวัด มี พัทลุง นครศรีธรรมราช ปัตตานี สตูล พังงา ชุมพร ภูเก็ต และมะลายู

สำหรับในส่วนปาฐกถาของกลุ่มผู้แทนราษฎรภาคอีสาน ๗ จังหวัด ที่ถูกนำไปตีพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้ เป็นคำกล่าวปาฐกถาของผู้แทนราษฎร ๑๐ คนที่มีความยาวไม่มากนัก

๑. หลวงนาถนิติธาดา (นายเคลือบ บุศยนาก) จากชัยภูมิ จำนวน ๓ หน้าครึ่ง
๒. นายพันตรีหลวงศักดิ์รณการ (นายนาก ปิตะเสน) จากบุรีรัมย์ จำนวน ๔ หน้าเศษ
๓. พระยาสารคามคณาภิบาล (นายอนงค์ พยัคฆันตร์) จากมหาสารคาม ร่วมกับ
๔. นายทองม้วน อัตถากร จากมหาสารคาม รวมกัน ๘ หน้า
๕. จ่านายสิบ ขุนเสนาสัสดี (นายถั่ว ทองทวี) จากร้อยเอ็ด ร่วมกับ
๖. นายพันตรีพระไพศาลเวชกรรม (นายสวัสดิ์ โสมเกษตริน) จากร้อยเอ็ด รวมกันเป็น ๔ หน้าเศษ
๗. นายบุญมา เสริฐศรี จากเลย จำนวน ๗ หน้า
๘. ขุนรักษาธนากร (นายกลึง เพาททัต) จากอุดรธานี จำนวน ๔ หน้า
๙. นายเลียง ไชยกาล อุบลราชธานี คนเดียวจำนวน ๔ หน้าครึ่ง
๑๐. นายเนย สุจิมา อุบลราชธานี จำนวน ๓ หน้า

ส่วนผู้แทนราษฎรภาคอีสาน ที่ไม่มีคำกล่าวปาฐกถาตีพิมพ์ในหนังสือมี ๙ คน จาก ๘ จังหวัดได้แก่

๑. นครราชสีมา นายพันเอกพระยาเสนาภิมุข (นายแสง เตมิยาจล) และ นายสนิท เจริญรัฐ
๒. สุรินทร์ ขุนวรรักษ์รัษฎากร (นายจาบ ไมยรัตน์)
๓. ขอนแก่น รองอำมาตย์เอก หลวงพิพัฒน์พลกาย (นายกระจ่าง วิโรจน์เพชร)
๔. นครพนม นาวาโทพระศรการวิจิตร (นายช้อย ชลทรัพย์)
๕. ขุขันธ์ ขุนพิเคราะห์คดี (นายอินทร์ อินตะนัย)
๖. สกลนคร หลวงวรนิติปรีชา (นายวรดี พรหมสาขา ณ สกลนคร)
๗. หนองคาย ขุนวรสิษฐดรุณเวทย์ (นายนารถ อินทุสมิต)
๘. อุบลราชธานี นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์

หากได้อ่านหนังสือเล่มนี้จนจบ จะเห็นด้วยกับความดีเด่นในภาพร่วม ตามที่ ผศ.ดร.สมเกียรติได้ กล่าวไว้

“…นับเป็นครั้งแรกที่ “ผู้แทนราษฎร” ของจังหวัดต่าง ๆ ได้สะท้อนคติและความสำนึกที่ตนมีต่อท้องถิ่นของตน ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐสมัยใหม่ ที่เป็นรัฐเดี่ยวออกมาอย่างกระตือรือร้นและมีความหวัง”

ในส่วนของผู้แทนราษฎรของภาคอีสานชุดแรก ๑๙ คนนี้ ส่วนใหญ่ได้เป็นผู้แทนราษฎรครั้งนี้เพียงครั้งเดียว ยกเว้นรายของ นายเลียง ไชยกาล นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายทองม้วน อัตถากร และขุนวรสิษฐดรุณเวทย์

ในจำนวนผู้แทนราษฎรชุดแรกและชุดต่อ ๆ มาจนถึงปีที่เกิด “รัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐” นี้ มีผู้แทนราษฎรอีสานหลาย ๆ คน ที่อุทิศชีวิตให้กับงานการเมืองอย่างน่าประทับใจ ที่เอาชีวิตของตัวเองไปสังเวยการเมือง ชนิดที่คนรุ่นหลัง ๆ อาจจะไม่เชื่อว่า ประเทศเราเคยมีผู้มีอุดมการณ์ มีความกล้าหาญ ยอมสละชีวิตตัวเองให้กับส่วนรวม เยี่ยงนี้

ดังนั้น เพื่อให้ผู้อ่าน “ทางอีศาน” ได้รู้จักจังหวัดในภาคอีสานเมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านมาจึงขอนำคำปาฐกถาที่ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ “ปาฐกถาของผู้แทนราษฎร เรื่อง สภาพของจังหวัดต่าง ๆ” จำนวน ๗ จังหวัดมาตีพิมพ์ใน “ทางอีศาน” ตั้งแต่ฉบับที่ ๑๕ เป็นต้นไป

รวมทั้งจะเขียนแนะนำประวัติของผู้กล่าวคำปาฐกถา ไว้ในคราวเดียวกันด้วย

โดยจะเริ่มต้นด้วยปาฐกถาที่บรรยายถึงสภาพของจังหวัดบุรีรัมย์ ของ นายพันตรีหลวงศักดิ์รณการ (นายนาก ปิตะเสน) ผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้ซึ่งเป็น นักเรียนนายร้อยทหารบกรุ่นเดียวกับ จอมพลผิน ชุณหะวัณ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม และในอีกฐานะหนึ่ง “พ่อตาของนายเตียง ศิริขันธ์”

ตามติด ๆ ด้วย
– ปาฐกถาที่บรรยายถึงสภาพของจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมประวัติของ นายเลียง ไชยกาล นายเนย สุจิมา และนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์

– ปาฐกถาที่บรรยายถึงสภาพของจังหวัดมหาสารคาม ของ พระยาสารคามคณาภิบาล (นายอนงค์ พยัคฆันตร์) ร่วมกับนายทองม้วน อัตถากร

– ปาฐกถาที่บรรยายถึงสภาพของจังหวัดร้อยเอ็ด ของ จ่านายสิบขุนเสนาสัสดี (นายถั่ว ทองทวี) ร่วมกับ นายพันตรีพระไพศาลเวชกรรม (นายสวัสดิ์ โสมเกษตริน)

– ปาฐกถาที่บรรยายถึงสภาพของจังหวัดชัยภูมิ ของ หลวงนาถนิติธาดา (นายเคลือบ บุศยนาก)

– ปาฐกถาที่บรรยายถึงสภาพของจังหวัดเลยของ นายบุญมา เสริฐศรี

– ปาฐกถาที่บรรยายถึงสภาพของจังหวัดอุดรธานี ของ ขุนรักษาธนากร (นายกลึง เพาททัต) ซึ่งจะทำให้ผู้อ่าน “ทางอีศาน” ได้รับความรู้ทางประวัติศาสตร์จังหวัด และประวัตินักการเมืองคนจังหวัดเดียวกันไปพร้อม ๆ กัน

หนังสือที่ใช้ประกอบการเขียน
๑. ประวัติการเมืองไทย ของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ดอกหญ้า ปี พ.ศ. ๒๕๓๗
๒. วิถีสังคมไทย ชุดที่ ๘ “วิถีประชาธิปไตย” เขียนโดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และ พีรยา มหากิตติคุณ บรรณาธิการโดย สันติสุข โสภณสิริ ปี พ.ศ. ๒๕๔๔
๓. ปาฐกถาของผู้แทนราษฎร เรื่อง สภาพของจังหวัดต่าง ๆ พิมพ์โดย สมาคมมิตรภาพญีุ่ปุ่น-ไทย ปี พ.ศ. ๒๕๓๙
๔. วรรณกรรมไทย เรื่อง “รัฐสภาไทยในรอบ ๔๒ ปี” โดย นายประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ พิมพ์ปี พ.ศ. ๒๕๒๓
๕. ภาพถ่าย ผู้แทนราษฎรชุดแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้รับความอนุเคราะห์จาก “ใบไม้สีฟ้า” แห่ง oknation.net

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com