สะบา เป็นได้มากกว่าของเล่น

ชิงช้าของอาข่า

ผมเป็นคนหนึ่งที่นิยมการท่องเที่ยวพักผ่อนแบบกินอยู่ในบ้านคนพื้นถิ่นที่เรียกกันว่าโฮมสเตย์ บ่อยครั้งเป็นการไปพักพิงกับคนรู้จักนับถือกัน ไม่ได้ให้อามิสสินจ้างใด ๆ เพียงแต่ตระเตรียมของกินของแห้งไปบ้าง เพื่อไม่เป็นการรบกวนเจ้าบ้านเกินไป

ในวงสนทนาคํ่าคืนหนึ่ง เพื่อนที่มาด้วยกันจากในเมืองยื่นของสิ่งหนึ่งให้ดูแล้วถามว่า นี่ลูกอะไรเก็บมาจากพื้นดินเมื่อตอนเดินเที่ยวป่าตอนบ่าย ผมมองลูกกลมแบน สีนํ้าตาลอมแดง ขนาดกําได้ในฝ่ามือ แล้วตอบ อ๋อ เขาเรียกลูกสะบ้า ในป่าดิบชื้นนี่พบได้มาก แล้วรู้ไหมเมล็ดสะบ้านี่ เอาไปทําอะไรได้บ้าง

คนช่างสงสัยตอบด้วยคำถามว่า ลูกสะบ้านี่ใช่ที่เขาเอาไปทอยเล่นหรือเปล่า แล้วต้นมันเป็นอย่างไร ส่วนคนช่างกินก็อยากรู้ว่า สะบ้ากินได้หรือเปล่า กินแล้วจะเป็นบ้าเหมือนชื่อไหม คงต้องเล่ากันยาวหน่อยแล้ว

เถาสะบ้า
ฝักสะบ้า

สะบ้าเป็นไม้เถายืนต้น พาดพันไปตามลําต้นและกิ่งไม้ใหญ่ ๆ เห็นเป็นภาพชินตาของฉากป่าดงดิบเขตร้อนในหนัง เครือเถามีทั้งแบบเป็นเส้นสายตรง หรือเป็นปุ่มปมบิดงอ ดังพระพุทธองค์เปรียบร่างกายที่เว้นการบริโภคอาหารไว้ในพระไตรปิฎกมหาสีหนาทสูตรว่า …กระดูกสันหลังของเรานูนขึ้นเป็นปุ่ม ๆ เหมือนเถาสะบ้า เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง…

ลูกสะบ้าที่ร่วงหล่นบนพื้นดิน ได้ความชื้นจากนํ้าค้างนํ้าฝนก็งอกเป็นต้น ตอนแรกมีขนาดโตเพียงก้านไม้ขีด ต่อเมื่อยืดยาวขึ้นไปเกาะกับไม้ใหญ่ใกล้เคียงจึงค่อยโตใหญ่ขึ้น จนใหญ่กว่าแขนหรือขาคนที่อายุหลายสิบปีใหญ่กว่าลําตัวคนก็มี

สะบ้ามีใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยขนาดปลายนิ้วหัวแม่มือ ๕-๗ คู่ ออกตรงข้ามกัน เมื่อเกี่ยวพันไปถึงยอดไม้ เครือสะบ้าแผ่ใบสีเขียวเข้มเป็นมันครอบคลุมจนแทบมองไม่เห็นใบของต้นที่พักพิงดอกย่อยเล็กจิ๋วรวมกันเป็นช่อคล้ายแปรงล้างขวด มีกลิ่นไม่ชวนดมนัก (บางคนบอกคล้ายกลิ่นอุจจาระจาง ๆ) ดอกเล็ก ๆ เหล่านี้แหละจะกลายเป็นฝักยาวกว่าศอก ตรงบ้าง โค้งงอบ้าง ภายในมีเมล็ดราว ๘-๑๐ เมล็ด ฝักที่แก่แล้วจะแตกออกเป็นสองซีกปล่อยให้เมล็ดที่แก่หลุดร่วงไป

ผิวของเมล็ดสะบ้าเรียบ เป็นมัน ภายในมีเนื้อในเมล็ดและโพรงอากาศ จึงลอยนํ้าได้ เมล็ดสะบ้าที่ตกลงในห้วยน้ำลำธารสามารถเดินทางไปได้ไกล ๆ การพบเห็นเมล็ดสะบ้าถูกคลื่นซัดมาติดบนชายหาด จึงไม่ใช่เรื่องแปลก บางคนถึงกับเรียกเมล็ดสะบ้านี้ว่าเป็น  “ถั่วทะเล (sea bean)”

เมล็ดสะบ้าที่มีรูปลักษณ์กลม แบน แข็ง ทั้งขนาดและนํ้าหนัก พอเหมาะสําหรับขว้างหรือโยนทําให้มีการเล่นทอยเมล็ดสะบ้าขึ้น ดูเหมือนว่าแพร่หลายในหมู่คนมอญ จนแม้ชื่อต้นสะบ้า บางทีก็เรียกสะบ้ามอญ

เมล็ดสะบ้า

ปัจจุบันการเล่นทอยสะบ้า เป็นกิจกรรมย้อนอดีต แบบเดียวกับ ม้าก้านกล้วย มอญซ่อนผ้า หรืองูกินหาง ที่มีให้นักท่องเที่ยวดูได้เพียงในบางเทศกาล คนเล่นคนดูต่างยิ้มแย้ม ชื่นชมกันชั่วครั้งชั่วคราว ส่งต่อแบ่งปันภาพถ่ายไปตามเฟซฯตามไอจีฯ แล้วก็แยกย้ายไปเล่นเรือเหาะไวกิ้ง ในสวนสนุก สวนนํ้ากันต่อไป  เห็นเขาว่าทั้งมันทั้งเสียวกว่าเล่นมอญซ่อนผ้าเยอะเลย

คุณลุงเจ้าของบ้านเล่าว่า สมัยแกยังเด็ก บางครั้งบางคราไม่มีสบู่ซักผ้าก็อาศัยเครือสะบ้านี่แหละ ทําอย่างไรหรือ ก็ตัดเครือสะบ้ามาสักศอก ทุบให้แหลกขยําขยี้กับนํ้าเปล่า ๆ นี่แหละเป็นฟองขึ้นมาทันตาเห็น ก็พอใช้ซักผ้า เอามาถูตัวอาบนํ้าก็ดีเหมือนกัน อ้อ ใช้เบื่อปลาก็ได้ด้วยนะ แต่ไม่ดีเท่าหางไหล ซึ่งแถวนี้ก็พอหาได้ไม่ยากนัก

ผมเสริมว่า เครือสะบ้ามีสารที่เรียกว่า ซาโปนิน หลายชนิด ซาโปนินมีคุณสมบัติที่สําคัญคือ ทําให้เกิดฟอง และเบื่อปลาได้ พืชที่มีสารซาโปนินและสามารถใช้ประโยชน์ในแบบเดียวกับสะบ้าคือ ผลมะคําดีควาย ที่บางคนเรียก หมากซัก นั่นเอง

ชิงช้าของอาข่า

อาแซะ หนุ่มชาวอาข่าที่นําทางเราเดินป่า เล่าว่า เครือสะบ้านี้เอามาทําเป็นเชือกได้ดีนัก เลือกเครือขนาดโตสักเท่าแขน ทุบจนเป็นเส้นฝอย บิดฟั่นเป็นเกลียวเชือก ใช้ในประเพณีโล้ชิงช้าอันเลื่องชื่อเป็นเอกลักษณ์ของชาวอาข่า แต่เดี๋ยวนี้ทางการเขาไม่ให้พวกเราเข้าไปตัดไม้ เลยต้องซื้อเชือกจากพ่อเลี้ยงในเมืองก็ดีนะทําให้เขาขายของได้ อาแซะเล่าอย่างภูมิใจ ที่ชาวอาข่าได้มีส่วนส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าของคนไทย

คุณตาหมอยาไทยที่นั่งเงียบมานานเอ่ยขึ้นว่า สมัยก่อนตอนที่ยังมีช่างลากไม่นั้นก็ใช้เครือสะบ้านี่แหละทุบให้แหลก ฟอกถูตัวช้างเวลาอาบนํ้า ช่วยกําจัดหนอนแมลงที่มากัดกินผิวหนัง สําหรับคนเครือสะบ้าเป็นเครื่องยา ในตํารับยาต้มกินรักษาฝีควบคู่กับยาทา ปรากฏในตําราโรคนิทานซึ่งเป็นตํารับยาโบราณ เล่าขานเป็นคํากลอนสืบต่อกันมาตอนหนึ่งว่า …หนึ่งโสดเป็นยาต้ม คุณอุดมคู่เข็ดหมาย เช็ดฝีเคลื่อนที่ตาย สำคัญหายด้วยคุณยา เถาสะบ้าอันข้ามทาง พึงเสาะสางเร่งหามา เชือกเขายอดแดงป่า สองสิ่งยาใส่หม้อต้ม  ให้พลีเมื่อจะกินรินจบเศียรกินหายมีถม ยาเช็ดกับยาต้ม ย่อมคู่กันดีหนักหนา…

แปลเป็นภาษาง่าย ๆ ก็คือ เอาเถาสะบ้ากับเชือกเขายอดแดง ซึ่งเป็นพืชชนิดหนึ่ง เพียงสองสิ่งต้มกินรักษาฝี ควบคู่ไปกับการใช้ยาทาภายนอก (อีกตํารับหนึ่ง)

คนช่างกินถามอีกครั้ง แล้วมีส่วนไหนของสะบ้ากินได้บ้างหนอ อาแซะยิ้มเห็นฟันขาว ตอบทันที อ๋อ เก็บใบอ่อนมานึ่งกินกับน้ำพริก คนอาข่าชอบกินน้ำพริกถั่วดินเป็นที่สุด ทําอย่างไรหรือ ก็เอาเมล็ดถั่วดิน หรือที่คนกรุงเทพเรียกถั่วลิสงนั่นแหละ มาคั่วให้สุกหอม แล้วคั่วพริกสดหรือแห้งก็ได้กับกระเทียมทั้งหมดใส่ครกที่มีเกลือเม็ดรองก้นเล็กน้อย ตํารวมกัน บางคนใส่ถั่วเน่าแผ่นคั่วลงไปด้วย ตําเสร็จแล้วเติมน้ำเล็กน้อยพอให้ขลุกขลิกโรยต้นหอมผักชี และที่ขาดไม่ได้เลยก็ผงชูรสสักเล็กน้อย

แต่ เอ๊ะ คนอาข่ากินผงชูรสด้วยหรือ

กินกันทุกบ้านแหละ แต่ก่อนพวกเราก็ไม่รู้จักพอมาอยู่ใกล้คนพื้นราบ เห็นเขากินก็กินตาม เดี๋ยวนี้อาหารทุกอย่างเลยขาดผงปรุงรสอย่างนี้ไม่ได้แล้ว

คงคล้าย ๆ อาหารในเมืองที่ทุกอย่างต้องมีแครอตกระมัง ข้อนี้ผมรําพึงในใจ

นอกจากเอามานึ่งกินกับน้ำพริกแล้ว ยอดสะบ้าเอามาแกงกับเนื้อไก่หรือปลาก็ได้ แต่โดยมากเวลาอยู่ในหมู่บ้านหาผักอื่นกินง่ายกว่า

แล้วดอกสะบ้าเล่า กินได้ไหม เพื่อนคนหนึ่งถามขึ้น

ดอกสะบ้าที่ว่ามีกลิ่นไม่ชวนดมนั้น มีประโยชน์เพียงอย่างเดียวคือ เป็นต้นกําเนิดของฝักสะบ้า ที่ภายในมีเมล็ด ที่คนมอญเอาไปเล่นทอยสะบ้านั่นแหละ

ดอกสะบ้า
ใบสะบ้า

คุณตาหมอยาคนเดิม อวดสรรพคุณของลูกสะบ้าว่า ตำรับยาโบราณขนานหนึ่งใช้รักษาขี้กลาก ผดผื่นคันตามผิวหนัง รวมทั้งขี้เรื้อนกวาง ท่านว่าได้ผลชะงัดนัก ส่วนประกอบมี รากทองพันชั่ง กำมะถัน กระเทียม เมล็ดลําโพง ลูกสะบ้า ลูกกระเบียน ลูกกระเบา พริกไท และคางคกตายซากคั่วให้ไหม้ ทั้งหมดนี้อย่างละเท่ากัน บดผสมนํ้ามันยางหรือนํ้ามันงา ปั้นเป็นแท่ง ทาผิวหนังบริเวณที่เป็นโรค ที่สําคัญ ระหว่างที่ทายานี้ ห้ามอาบนํ้าสามวัน มีใครสนใจจะรักษาบ้างไหม… ทุกคนเงียบ

เมื่อไม่มีใครตอบรับ ผมจึงกล่าวเสริมว่า เมล็ดสะบ้านี้มีชื่อรํ่าลือว่าเป็นสมุนไพรชวนฝัน ว่ากันว่าบรรดาหมอผีและคนทรงในทวีปแอฟริกา มักเอาห้อยประดับและแขวนคอ ส่วนเนื้อในเมล็ด เมื่อกินหรือสูบแล้ว สามารถติดต่อสื่อสารกับภูตผีหรือจิตวิญญาณเหนือธรรมชาติได้ เป็นที่มาแห่งอํานาจทํานายทายทักหรือรักษาโรคของพวกเขา

วิทยาศาสตร์อธิบายว่า เมล็ดสะบ้ามีสารที่ออกฤทธิ์ รบกวนการสร้างสารสื่อประสาทที่ช่วยให้นอนหลับ เมื่อสารเหล่านี้พร่องไป การนอนหลับจึงไม่สมบูรณ์ รู้สึกคล้ายครึ่งหลับครึ่งตื่น เป็นที่มาของฉายา “เมล็ดพืชชวนฝันแห่งแอฟริกา (African dream herb)” ที่หลายคนเรียกเมล็ดสะบ้า

ถึงตอนนี้ดูเหมือนบางคนที่ชอบของมึนเมาคงอยากลองติดต่อกับผีผมจึงรีบนับเมล็ดสะบ้า เก็บใส่กระเป๋า แล้วกล่าวว่า

เมืองไทยยามนี้ ความฝันกับความจริงก็สลับที่กันอยู่บ่อย ๆ ทั้งสิ่งดีสิ่งเลวที่เคยเป็นแค่เรื่องในฝันบัดนี้ล้วนเป็นจริงเกือบหมดสิ้นแล้ว บางครั้งก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ที่เห็นที่เป็นอยู่นั้นความฝันหรือความจริง ไยจึงต้องพึ่งเมล็ดสะบ้าเล่า ดึกแล้ว เข้านอนกันเถิด เผื่อจะฝันดี

อ้อ พูดผิดไป เผื่อจะตื่นจากฝันต่างหาก

คอลัมน์ ผักหญ้าหมากไม้

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๔๕ ปีที่ ๔ ประจำเดือนมกราคม ๒๕๕๙
ฉบับ: ซินเดอเรลล่า คือ ปลาบู่ทอง

****

สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาทหนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาทตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง).สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง

inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901

line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW

โทร. 086-378-2516

บริษัท ทางอีศาน จำกัด 244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

มะกอก ในความคิดคำนึง
ผักเสี้ยวหน้าแล้ง
มะเขือในครัวไทย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com