“มานุษยวิทยาพันธุศาสตร์” สืบรากเหง้าผู้คนในอุษาคเนย์ผ่านดีเอ็นเอมนุษย์โบราณ

“มานุษยวิทยาพันธุศาสตร์” สืบรากเหง้าผู้คนในอุษาคเนย์

ผ่านดีเอ็นเอมนุษย์โบราณ

โครงหน้ามนุษย์โบราณยุคไพลสโตซีนตอนปลาย

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา ไม่เพียงแต่ช่วยให้มนุษย์รู้จักธรรมชาติจนสามารถเอาชนะธรรมชาติ นำไปสู่การพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของมนุษย์ ทว่าในอีกทางหนึ่งได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสืบค้น เสาะแสวงหา ตลอดจนรวบรวมความรู้เกี่ยวกับมนุษย์ และสังคมที่มนุษย์อาศัยอยู่ โดยนัยนี้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์จึงไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกับการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Science) หากยังแผ่ขยายกฎเกณฑ์ และหลักการสถาปนาความรู้ไปยังวิชามนุษย์ศาสตร์ (Humanities) และสังคมศาสตร์ (Social Science) อีกด้วย

จากเหตุผลดังกล่าว วิทยาศาสตร์จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาความคิด จิตใจ สังคม และวัฒนธรรมของมนุษย์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง และในหลายกรณีถึงกับให้ผลการศึกษาที่ไม่มีผู้ใดกล้าปฏิเสธ ทั้งนี้เนื่องจากวิธีการทางวิทยาศาสตร์มีความเที่ยงตรงและแม่นยำ เมื่อเปรียบเทียบกับศาสตร์แขนงอื่น

การศึกษาความเป็นมาของมนุษย์ การอพยพเคลื่อนย้ายของมนุษย์ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ตลอดจนการวิวัฒน์ของอารยธรรมมนุษย์ที่ผ่านมา ทั้งในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์นั้น  นอกเหนือจากมีการศึกษาโดยใช้องค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ มานุษยวิทยา และโบราณคดี ในปัจจุบันยังพบว่า มีการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์ยืนยันความถูกต้องของข้อเท็จจริงควบคู่กันไปด้วย ซึ่งหนึ่งในบรรดาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่นำมาประยุกต์ใช้ เพื่อหาคำตอบว่ามนุษย์มาจากไหน มีการอพยพเคลื่อนย้ายอย่างไร และมีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมเช่นไร คือวิชามานุษยวิทยาพันธุศาสตร์ (Genetic Anthropology หรือ Anthropological Genetics) โดยหลักการแล้ว มานุษยวิทยาพันธุศาสตร์เกี่ยวข้องกับการศึกษาเปรียบเทียบพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ระหว่างมนุษย์โบราณกับมนุษย์ในปัจจุบัน เพื่อตรวจสอบกลุ่มคนที่ใช้ภาษาหนึ่งในปัจจุบัน ว่ามีเชื้อสายหรือรากเหง้ามาจากไหน

อย่างไรก็ตามในอดีตที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าความสนใจในความก้าวหน้าของมานุษยวิทยาพันธุศาสตร์ในประเทศไทยจำกัดอยู่เพียงแค่แวดวงวิชาการ และสื่อมวลชนจำนวนน้อยนิดเท่านั้น สภาพการณ์ดังกล่าวส่งผลให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมานุษยวิทยาพันธุศาสตร์กับมานุษยวิทยากายภาพ มานุษยวิทยาวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และโบราณคดี ในฐานะสหวิทยาการ (Interdisciplinary Studies) ที่สามารถนำไปสู่คำตอบของคำถามที่ว่า แท้จริงแล้วคนไทยเป็นใคร มาจากไหน และมีบรรพบุรุษร่วมกับเผ่าพันธุ์หรือชาติพันธุ์ใด  ต่อคำถามนี้ ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า ความรู้ใหม่ในรอบ ๑๐ ปีที่ผ่านมาของมานุษยวิทยาพันธุศาสตร์ที่ค้นพบว่า แท้จริงแล้วคนไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประเทศไทยปัจจุบัน มิได้สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มคนพูดภาษาไท-กะไดอย่างบริสุทธิ์ผุดผ่อง หากแต่เกิดจากการผสมผสานทางพันธุกรรมระหว่างผู้คนดั้งเดิม และผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ที่ค่อย ๆ ทยอยเคลื่อนย้ายลงมาในภายหลัง ย่อมมีส่วนสำคัญในการกำจัดอคติที่เรามีต่อผู้คนเผ่าพันธุ์อื่นและชาติพันธุ์อื่น ซึ่งแต่เดิมนั้นเราคิดว่าพวกเขาแตกต่างจากเรามาก

การตรวจสอบดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอของมนุษย์ปัจจุบัน

เป็นที่น่ายินดีว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิชาการและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเรื่องที่มาของผู้คนในสุวรรณภูมิ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้/เอเชียอาคเนย์/อุษาคเนย์) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านมานุษยวิทยาพันธุศาสตร์ต่อสาธารณชน โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับธัชชา สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา ได้จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “สืบรากเหง้าผู้คนสุวรรณภูมิผ่านดีเอ็นเอมนุษย์โบราณ” ณ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๕ ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.รัศมี ชูทรงเดช จากภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และรองศาสตราจารย์ ดร.วิภู กุตะนันท์ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ จากสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

เนื่องจากการเสวนาครั้งนี้ เปิดโอกาสให้คนทั่วไปที่มีพื้นฐานในเรื่องดังกล่าวเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีเลยเข้าร่วมฟังได้ การให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการอพยพเคลื่อนย้ายของคนโบราณ ซึ่งอ้างอิงจากทฤษฎีที่ได้รับความเชื่อถือ ก่อนจะนำผู้ฟังไปรู้จัก และทำความเข้าใจเรื่องการเปรียบเทียบดีเอ็นเอระหว่างมนุษย์โบราณและมนุษย์ในปัจจุบัน ถือเป็นความจำเป็นที่ทำให้ผู้ฟังส่วนใหญ่รู้สึกประทับใจต่อการเสวนายิ่ง

ศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยากายภาพและมานุษยวิทยาวัฒนธรรม

ศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาทั้งมานุษยวิทยากายภาพและมานุษยวิทยาวัฒนธรรม ได้อธิบายว่า การวิเคราะห์ความหลากหลายทางพันธุกรรม เพื่อสอบสวนถึงถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายของประชากรสิ่งมีชีวิต โดยหลักใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นฐานทฤษฎีวิวัฒนาการแบบ Non – Darwinism ที่เชื่อว่าความหลากหลายทางพันธุกรรมภายในสปีซีส์ของสิ่งมีชีวิต ดำรงอยู่ภายใต้พลวัตที่ถูกควบคุมด้วยพลังวิวัฒนาการสองแบบร่วมกัน ได้แก่การกลายพันธุ์ (DNA mutation) ที่เกิดขึ้นได้เองในธรรมชาติด้วยอัตราค่อนข้างคงที่ กับ random genetic drift ซึ่งหมายถึงปรากฏการณ์ที่ความหลากหลายทางพันธุกรรม สามารถผันแปรได้แบบสุ่มจากรุ่นสู่รุ่นในประชากรที่มีขนาดจำกัด

ภายใต้หลักการดังกล่าว ความหลากหลายทางพันธุกรรมจะถูกสั่งสมเพิ่มมากขึ้นทั้งภายในประชากรและระหว่างประชากร เป็นสัดส่วนโดยตรงกับจำนวนรุ่นอายุที่ผ่านไป กล่าวคือประชากรยิ่งเก่าแก่เท่าไร ก็จะยิ่งสั่งสมความหลากหลายทางพันธุกรรมภายในประชากรเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น และประชากรที่แยกตัวจากกันแล้ว จะสั่งสมความหลากหลายทางพันธุกรรมต่างทิศทางกัน ส่งผลให้ประชากรห่างจากกันในทางพันธุกรรมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อกล่าวถึงการอพยพเคลื่อนย้ายของมนุษย์โบราณที่สัมพันธ์กับทวีปเอเชีย จากการศึกษาการกระจายตัวของหลักฐานที่เป็นซากฟอสซิล ทำให้นักวิชาการยืนยันได้ว่า มนุษย์โบราณที่มีถิ่นฐานดั้งเดิมในทวีปอาฟริกาได้แพร่กระจาย หรืออพยพเคลื่อนย้ายเข้าไปอยู่ในทวีปเอเชียและทวีปยุโรป ตั้งแต่เมื่อเกือบสองล้านปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์ข้อมูลความหลากหลายทางพันธุกรรมที่ผ่านมาให้ผลการศึกษาตรงกันว่า บรรพบุรุษของมนุษย์สมัยใหม่ (ปัจจุบัน) หรือโฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) ที่อยู่นอกทวีปอาฟริกา น่าจะพึ่งอพยพออกมาจากอาฟริกาเมื่อประมาณ ๖๕,๐๐๐ ปีก่อน ดังนั้นจึงมิได้สืบเชื้อสายโดยตรงมาจากมนุษย์โบราณ เช่น โฮโมอีเรคตัส (Homo erectus) และโฮโมไฮเดลเบอร์เกนซิส (Homo heidelbergensis) ที่ได้แพร่กระจายมาถึงพื้นที่เอเชียและยุโรปตั้งแต่เมื่อเกือบสองล้านปีที่แล้ว

ทฤษฎีที่ใช้อธิบายการอพยพเคลื่อนย้ายของมนุษย์โบราณ ผู้เป็นบรรพบุรุษของมนุษย์สมัยใหม่หรือโฮโมเซเปียนส์คือ ทฤษฎี Single Wave Migration ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ได้รับความเชื่อถือมากในปัจจุบัน โดยทฤษฎีนี้เชื่อว่า การอพยพเคลื่อนย้ายออกมาจากอาฟริกาของบรรพบุรุษของมนุษย์สมัยใหม่ น่าจะเกิดขึ้นเป็นระลอกใหญ่เพียงระลอกเดียว กล่าวคือเกิดขึ้นเมื่อราว ๖๕,๐๐๐ ปีที่แล้ว โดยบรรพบุรุษของมนุษย์สมัยใหม่เหล่านี้ได้อพยพเคลื่อนย้ายตามเส้นทางผ่าน จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอาฟริกา ตามแนวชายฝั่ง สู่คาบสมุทรอารเบียและเอเชียใต้จนถึงเอเชียอาคเนย์ ซึ่งถือว่าเป็นการอพยพเคลื่อนย้ายโดยใช้เส้นทางทางใต้ (Southern Route Migration) จากนั้นบางส่วนจึงแพร่ต่อลงไปตามแนวไหล่ทวีปซึ่งขณะนั้นโผล่พ้นระดับน้ำทะเล สู่ดินแดนซึ่งปัจจุบันคือหมู่เกาะเอเชียอาคเนย์ และข้ามทะเลสู่ทวีปออสเตรเลีย (อย่างน้อยตั้งแต่ ๔๕,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา) ขณะที่อีกบางส่วนแพร่ขึ้นตามชายฝั่งสู่เอเชียตะวันออก โดยมีการแตกแขนงแพร่กลับไปทางตะวันตก ทางตอนในของแผ่นดิน สู่เอเชียใต้ และยุโรป

กล่าวสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือเอเชียอาคเนย์เป็นการเฉพาะ การศึกษาทางพันธุกรรมพบว่า เอเชียอาคเนย์เป็นดินแดนที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมในจีโนมมนุษย์มากที่สุดนอกทวีปอาฟริกา  หลักฐานนี้บ่งบอกว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์สมัยใหม่มาช้านานแล้ว ที่สำคัญการตรวจพบความสัมพันธ์เชื่อมโยงทางพันธุกรรมของผู้คนปัจจุบันตลอดทั่วทั้งทวีปเอเชียยังทำให้รู้ว่า ระดับความหลากหลายทางพันธุกรรมของมนุษย์ในเอเชียจะลดลงโดยลำดับจากใต้ขึ้นเหนือ ซึ่งอาจสัมพันธ์กับทิศทางการค่อย ๆ เคลื่อนย้ายของมนุษย์สมัยใหม่ในผืนแผ่นดินใหญ่  ผลการศึกษานี้สนับสนุนทฤษฎีการเคลื่อนย้ายของมนุษย์สมัยใหม่ที่ระบุว่า เป็นการเคลื่อนย้ายจากตอนใต้ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นสู่ตอนเหนือของเอเชียตะวันออก นอกจากนี้การศึกษาพันธุกรรมยังพบว่า ผู้คนหรือประชากรในเขตภูมิศาสตร์เดียวกันหรือสังกัดตระกูลภาษาเดียวกัน มีแนวโน้มที่จะมีความใกล้เคียงกันทางพันธุกรรม ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ การตรวจพบความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมที่เชื่อมโยงระหว่างผู้คนในเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยุโรป

บรรพบุรุษของมนุษย์สมัยใหม่ หรือโฮโมเซเปียนส์ ซึ่งเคลื่อนย้ายออกมาจากทวีปอาฟริกาเมื่อ ๖๕,๐๐๐ ปีนี่เอง ที่นักมานุษยวิทยาเชื่อว่า มีความเป็นไปได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของประชากรหาของป่าล่าสัตว์ (Hoabinhian) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือเอเชียอาคเนย์ในปัจจุบัน เช่น เนกริโต (Negrito พวกเงาะ) ในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และปาปัว  อย่างไรก็ตามคำถามที่ตามมาก็คือ เนื่องจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นประชากรหาของป่าล่าสัตว์ตามที่กล่าวถึงนี้ มีความสัมพันธ์กับประชากรที่ทำกสิกรรมระยะแรกมากน้อยเพียงไหน พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกันหรือไม่

ซึ่งการศึกษาด้วยการตรวจสอบดีเอ็นเอจะสามารถให้ความกระจ่างแก่ประเด็นที่เป็นข้อสงสัยนี้ได้

ทิศทางการอพยพเคลื่อนย้ายของบรรพบุรุษมนุษย์สมัยใหม่ – โฮโมเซเปียนส์ จากอาฟริกา สู่เอเชีย และยุโรป
การแพร่กระจายของภาษาตระกูลต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับวัฒนธรรมข้าว ST = จีน-ทิเบต AA = ออสโตรเอเชียติก AN = ออสโตรนีเซียน TK = ไท-กะได

นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า การอพยพเคลื่อนย้ายของมนุษย์มายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลาต่อมาน่าจะเกิดขึ้นราว ๔,๐๐๐ ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อยู่ในยุคหินใหม่และยุคสำริด การเคลื่อนย้ายครั้งนี้เป็นการนำวัฒนธรรมข้าวจากลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงบริเวณจีนตอนกลางที่เกิดขึ้นราว ๑๐,๐๐๐ ปีก่อนมาแพร่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้  นักวิชาการเชื่อว่า การอพยพเคลื่อนย้ายของผู้คนจากจีนตอนใต้มายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมวัฒนธรรมข้าวครั้งนี้ ได้นำภาษาตระกูลต่าง ๆ มาแพร่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย  ภาษาเหล่านี้ได้แก่ ภาษาตระกูลจีน – ทิเบต (พม่า) ภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก (มอญ – เขมร – ขมุ – กะตู – เวียดนาม) และภาษาตระกูล ออสโตรนีเซียน (มาเลย์ ตากาล็อก ชวา ใช้ในหมู่เกาะของเอเชียอาคเนย์) เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงนี้ยังไม่พบภาษาตระกูลไท-กะได (ไท – ลาว) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมานุษยวิทยาพันธุศาสตร์ เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับการอพยพเคลื่อนย้ายของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่มาก งานวิจัยชิ้นแรกศึกษาโดย McColl และคณะ (๒๐๑๘,  Science)  งานวิจัยนี้ใช้การตรวจดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ตามแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ ทั้งที่ลาว เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เปรียบเทียบกับดีเอ็นเอของประชากรปัจจุบันที่สังกัดตระกูลภาษาหลายภาษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ผลการวิจัยพบว่า มนุษย์โบราณหรือประชากรสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถแบ่งออกเป็น ๖ กลุ่มดังนี้

๑. มนุษย์โบราณที่ถ้ำผาแฝน (Pha Faen ๘,๐๐๐ ปี) แหล่งโบราณคดีในลาว และที่ถ้ำกัวชา (Gua Cha ๔,๐๐๐ – ๒,๕๐๐ ปี) แหล่งโบราณคดีในมาเลเซีย มีพันธุกรรมสัมพันธ์กับประชากรเนกริโตในปัจจุบัน

๒. มนุษย์โบราณที่ทำกสิกรรมยุคแรก (๔,๐๐๐ – ๒,๐๐๐ ปี) ที่แหล่งโบราณคดีในเวียดนามและแหล่งโบราณคดีในมาเลเซีย มีพันธุกรรมใกล้ชิดกับประชากรปัจจุบันที่พูดภาษาออสโตรเอเชียติก

๓. มนุษย์โบราณที่อยู่ในวัฒนธรรมดองเซิน (๒,๐๐๐ ปี) ที่แหล่งโบราณคดีในภาคเหนือของเวียดนาม และแหล่งโบราณคดีถ้ำผีแมนโลงลงรักที่ จ.แม่ฮ่องสอน มีพันธุกรรมสัมพันธ์กับประชากรปัจจุบันที่พูดภาษาไท – กะได และภาษาออสโตรนีเซียน

๔. มนุษย์โบราณที่ทำกสิกรรมยุคแรกจากแหล่งโบราณคดีถ้ำผีแมนโลงลงรัก จ.แม่ฮ่องสอน และแหล่งโบราณคดีไลเจา ถิ่นที่อยู่ของคนไทขาวในเวียดนามปัจจุบัน มีพันธุกรรมที่สัมพันธ์กับประชากรปัจจุบันที่พูดภาษาออสโตรเอเชียติก (คนพื้นเมืองบนแผ่นดินใหญ่) และออสโตรนีเซียน (คนบนเกาะ)

๕. มนุษย์โบราณจากแหล่งโบราณคดีในอินโดนีเซีย มีพันธุกรรมสัมพันธ์กับประชากรปัจจุบันที่พูดภาษาออสโตรนีเซียน และภาษาออสโตรเอเชียติก

๖. มนุษย์โบราณจากแหล่งโบราณคดีในฟิลิปปินส์ มีพันธุกรรมสัมพันธ์กับประชากรปัจจุบันที่พูดภาษาออสโตรนีเซียน

งานวิจัยชิ้นต่อมาศึกษาโดย Lipson และคณะ (๒๐๑๘, Science) งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณจากแหล่งโบราณคดีในไทย พม่า เวียดนาม และกัมพูชา เปรียบเทียบกับดีเอ็นเอของประชากรปัจจุบันสังกัดภาษาต่าง ๆ เช่นกัน  ผลการศึกษาทำให้ทราบว่า ดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณเมื่อ ๓,๐๐๐ ปีก่อนที่พบในแหล่งโบราณคดี Oakaie ประเทศพม่า สัมพันธ์กับดีเอ็นเอของประชากรปัจจุบันที่พูดพม่า ภาษาตระกูลจีน – ทิเบต / ดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณที่มีอายุระหว่าง ๔,๐๐๐ – ๒,๕๐๐ ปีในยุคสำริด ซึ่งพบในแหล่งโบราณคดี Man Bac (๔,๐๐๐ ปี) ในเวียดนาม Ban Chiang (บ้านเชียง ๓,๕๐๐ – ๒,๕๐๐ ปี) ในไทย Vat Komnou (๒,๐๐๐ ปี) ในกัมพูชา สัมพันธ์กับดีเอ็นเอของประชากรปัจจุบันที่พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก  และภาษาของเนกริโต/และดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณเมื่อ ๒,๐๐๐ ปีก่อนในแหล่งโบราณคดี Dong Son (ดองเซิน) ในเวียดนาม สัมพันธ์กับดีเอ็นเอของประชากรปัจจุบันที่พูดภาษาไท – กะได และออสโตรเอเชียติก

งานวิจัยชิ้นที่ ๓ เป็นการศึกษาของอาจารย์พัชรีและคณะจากมหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้ทำการศึกษาพันธุกรรมของมนุษย์โบราณยุคหินใหม่ต่อเนื่องจนถึงยุคโลหะ (๓,๕๐๐ – ๑,๕๐๐ ปีก่อน) ที่แหล่งโบราณคดีเนินอุโลก (Noen U Loke) และบ้านหลุมข้าว (Ban Lum Khao) จ.นครราชสีมา ประเทศไทย โดยเปรียบเทียบกับพันธุกรรมของประชากรปัจจุบันในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลการศึกษาพบว่า พันธุกรรมของมนุษย์โบราณจากแหล่งโบราณคดีทั้งสองแห่งมีความใกล้ชิดกันมากเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรปัจจุบันอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผลที่ได้นี้ก็ไม่น่าประหลาดใจแต่อย่างใด เพราะมนุษย์โบราณจากแหล่งโบราณคดีทั้งสองแห่งมาจากเขตภูมิศาสตร์ที่ห่างกันเพียงสิบกิโลเมตร

ผลการศึกษาจากแหล่งโบราณคดีเนินอุโลกและบ้านหลุมข้าวยังทำให้รู้ว่า พันธุกรรมของมนุษย์โบราณจากแหล่งโบราณคดีทั้งสองแห่งมีพันธุกรรมที่ใกล้ชิดกับชาวบน ซึ่งเป็นประชากรปัจจุบันแถบจังหวัดชัยภูมิและจังหวัดนครราชสีมาที่พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก และเนื่องจากว่าภาษาของชาวบนคล้ายคลึงกับภาษามอญที่ปรากฏในจารึกสมัยทวารวดี จึงทำให้สันนิษฐานต่อไปได้ว่า ชาวบนอาจจะอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่ ๑,๐๐๐ – ๒,๐๐๐ ปีก่อนยุคประวัติศาสตร์แล้ว  ที่สำคัญผลการศึกษายังได้แสดงให้เห็นว่า พันธุกรรมของมนุษย์โบราณจากแหล่งโบราณคดี ๒ แห่งตามที่กล่าวถึงนี้ มีลักษณะพันธุกรรมที่ห่างไกลจากประชากรไทยในปัจจุบันทั้งจากภาคเหนือและภาคอีสาน (ยังไม่ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบกับประชากรไทยในปัจจุบันจากภาคกลางและภาคใต้) เป็นที่น่าสังเกตว่า พันธุกรรมของประชากรไทยในปัจจุบันมีความใกล้ชิดกับประชากรจากตอนใต้ของจีน เช่น จ้วง ผลการศึกษาที่ได้ทำให้วิเคราะห์ได้ว่ามนุษย์โบราณจากแหล่งโบราณคดีเนินอุโลกและบ้านหลุมข้าว เป็นคนละกลุ่มกับบรรพบุรุษของประชากรไทยในปัจจุบัน บรรพบุรุษของประชากรไทยในปัจจุบันน่าจะอพยพเคลื่อนย้ายลงมาทีหลัง

กล่าวโดยย่อ หลักฐานทางพันธุกรรมสนับสนุนทฤษฎีการแพร่เข้ามาใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือเอเชียอาคเนย์ของผู้คนในยุคหินใหม่ ที่อาจมาจากตอนใต้ของจีนและเข้ามาพร้อมกับวัฒนธรรมการทำกสิกรรม โดยกลุ่มคนที่อพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาใหม่นี้เป็นคนละกลุ่มกับประชากรหาของป่าล่าสัตว์เดิม อย่างไรก็ดี กลุ่มคนที่เข้ามาใหม่นี้น่าจะมีการผสมผสานทางเชื้อสายกับพวกหาของป่าล่าสัตว์ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้การเคลื่อนย้ายของผู้คนในยุคทำกสิกรรมจากภาคใต้ของจีน อาจเกิดขึ้นในหลายระลอก และหลายทิศทาง โดยสัมพันธ์กับการแพร่กระจายของตระกูลภาษาพื้นเมืองต่าง ๆ ด้วย

ในขณะที่การศึกษาของ ศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ ได้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของมานุษยวิทยาพันธุศาสตร์ที่สามารถนำมาใช้ตรวจสอบที่มา หรือรากเหง้า ของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในภาพกว้าง  การศึกษาส่วนใหญ่ของ ศาสตราจารย์ ดร.รัศมี ชูทรงเดช ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการอพยพเคลื่อนย้ายของมนุษย์โบราณมายังประเทศไทยเป็นการเฉพาะ โดยเป็นรายละเอียดที่มีความเกี่ยวข้องทั้งในส่วนของวัฒนธรรม กายภาพ จนถึงพันธุกรรม ซึ่งผลการศึกษาของศาสตราจารย์ ดร.รัศมี ชูทรงเดช มีทิศทางสนับสนุนทฤษฎีการอพยพเคลื่อนย้ายของมนุษย์มายังประเทศไทย ตามที่ ศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ ได้อธิบายไว้ก่อนหน้านี้

ศาสตราจารย์ ดร.รัศมี ชูทรงเดช ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี

ศาสตราจารย์ ดร.รัศมี ชูทรงเดช ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี ได้อธิบายว่า มนุษย์โบราณได้เคลื่อนย้ายมายังทวีปเอเชียตั้งแต่สมัยไพลสโตซินตอนกลางราวล้านกว่าปีที่แล้ว ดังปรากฏหลักฐานจากซากฟอสซิลของมนุษย์โฮโมอีเรคตัสในจีนและในอินโดนีเซีย ส่วนในประเทศไทยมีการค้นพบชิ้นส่วนกะโหลกของมนุษย์ ซึ่งพิพิธภัณฑ์สุดแสงวิเชียรได้เสนอว่า น่าจะเป็นกะโหลกของมนุษย์โฮโมอีเรคตัส แต่จะเป็นกะโหลกของมนุษย์โฮโมอีเรคตัสหรือไม่นั้น ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่  อย่างไรก็ตาม การค้นพบเครื่องมือหินกะเทาะในลำปาง อีกทั้งซากฟอสซิลของไฮยีนาหรือเสือเขี้ยวดาบ และแพนดายักษ์ในที่อื่น ๆ ซึ่งมีอายุราว ๘๐๐,๐๐๐ – ๖๐๐,๐๐๐ ปี ก็เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ประเทศไทยเคยมียุคทางธรณีที่เรียกว่าไพลสโตซีนตอนกลาง ทำให้สันนิษฐานได้ว่า มีความเป็นไปได้ที่มนุษย์โบราณจากอาฟริกาอาจเคยเดินทางผ่านประเทศไทย โดยลงไปยังอินโดนีเซียและขึ้นไปจีน แต่เนื่องจากหลักฐานทางโบราณคดีในยุคนี้มีน้อย จึงทำให้ยากต่อการศึกษา

การปรากฏของมนุษย์แรกเริ่มในประเทศไทยเกิดขึ้นในยุคทางธรณีวิทยาที่เรียกว่า ไพลสโตซีนตอนปลาย โดยพบหลักฐานทางโบราณคดีหลัง ๖๐,๐๐๐ ปีก่อน หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญในช่วงนี้คือ ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์โบราณที่ถ้ำหมอเขียว และถ้ำหลังโรงเรียน (๔๐,๐๐๐ ปี) จ.กระบี่ และซากกะโหลกผู้หญิงที่ถ้ำเพิงผานาลอด (๓๕,๐๐๐ ปี) จ.แม่ฮ่องสอน  ต่อมาในยุคโฮโลซีนตอนต้น (๑๐,๐๐๐ – ๗,๕๐๐ ปี) นักโบราณคดีได้พบหลักฐานของมนุษย์โบราณ และเครื่องมือหินกะเทาะหน้าเดียวจากหินกรวดแม่น้ำที่ถ้ำพระไทรโยค จ.กาญจนบุรี ซึ่งนักมานุษยวิทยากายภาพสมัยก่อนมีการตรวจดีเอ็นเอ ได้วิเคราะห์ว่า ลักษณะของมนุษย์โบราณที่ถ้ำพระไทรโยคมีลักษณะคล้ายพวกออสโตลอยด์ – เมลานีซอยด์ (รูปร่างเตี้ย ผิวดำ ผมหยิก จมูกใหญ่) นอกจากที่ถ้ำพระไทรโยคแล้ว ยังพบมนุษย์โบราณและเครื่องมือของกลุ่มคนหาของป่าล่าสัตว์ที่เพิงผาบ้านไร่ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน และถ้ำซาไก จ.ตรัง  ซึ่งหลักฐานดังกล่าวทำให้นักวิชาการสันนิษฐานว่า มีกลุ่มคนดั้งเดิมที่มีลักษณะคล้ายพวกออสโตรลอยด์  – เมลานีซอยด์ ดำรงชีวิตแบบเก็บของป่าล่าสัตว์อาศัยอยู่ในประเทศไทยก่อน ๔,๐๐๐ ปีที่แล้ว  เพิ่มเติมจากที่กล่าวมานี้ ยังพบร่องรอยของมนุษย์โบราณจากมีดหินชนวน ขวานหินขัด เศษภาชนะดินเผาและเมล็ดพืชที่ถ้ำผี จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งคาดว่าน่าจะมีอายุเก่าถึง ๗,๕๐๐ ปี  อย่างไรก็ตามไม่มีหลักฐานชัดเจนยืนยันว่า มนุษย์โบราณที่อยู่ในถ้ำผีเป็นกลุ่มคนที่ริเริ่มการทำกสิกรรม

ในสมัยโฮโลซีนตอนกลาง ยุคหินใหม่ ราว ๔,๐๐๐ ปีที่แล้ว พบว่ามีร่องรอยการทำกสิกรรมหรือวัฒนธรรมข้าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  อย่างไรก็ดี มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการเกิดกสิกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า กลุ่มคนที่นำกสิกรรมมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือใคร เกี่ยวกับข้อสงสัยนี้ ความเห็นของนักวิชาการได้แบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งที่ใช้ข้อมูลจากการค้นพบถ้ำผี ที่ จ.แม่ฮ่องสอน  เชื่อว่า กลุ่มคนที่เริ่มกสิกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นกลุ่มคนดั้งเดิมพวกหาของป่าล่าสัตว์ที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มคนเหล่านี้ได้สั่งสมองค์ความรู้ และเทคโนโลยีด้านกสิกรรมด้วยตนเอง  ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเสนอว่า กลุ่มคนที่นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านกสิกรรมและโลหะกรรมมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ กลุ่มคนโบราณที่อพยพเคลื่อนย้ายมาจากจีนตอนใต้

ความเชื่อว่า กลุ่มคนที่นำกสิกรรมมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อพยพเคลื่อนย้ายมาจากจีนตอนใต้ ได้รับการสนับสนุนด้านข้อมูลจากการค้นพบหม้อสามขาอายุราว ๔,๐๐๐ ปีที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จ.กาญจนบุรี หม้อสามขาที่พบนี้มีลักษณะคล้ายวัฒนธรรมจีนที่เรียกว่า “ลุงชานนอยด์”  การค้นพบดังกล่าวทำให้นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า กลุ่มคนที่เคลื่อนย้ายลงมาอาศัยอยู่ที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า (มีกระดูกคล้ายคนไทยปัจจุบัน) น่าจะเป็นประชากรชาวนาเดิมที่ลุงชานนอยด์ในจีน พวกเขาเคลื่อนย้ายมาทางเสฉวน ผ่านลุ่มแม่น้ำอิรวดี ก่อนจะเข้าสู่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จ.กาญจนบุรี  การค้นพบหม้อสามขาไม่ได้พบแค่ที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จ.กาญจนบุรี เท่านั้น แต่ยังพบที่ภาคใต้ เช่น ชุมพร ตรัง เป็นแนวยาวลงไปจนถึงมาเลเซีย ส่งผลให้มีการตั้งสมมุติฐานว่า น่าจะมีการเคลื่อนย้ายของผู้คนเฉพาะเขตตั้งแต่กาญจนบุรีไปจนถึงภาคใต้ ที่น่าสนใจยิ่งก็คือในช่วง ๔,๐๐๐ ปีที่ผ่านมานั้น ในประเทศไทยเริ่มพบความหลากหลายทางวัฒนธรรมแล้ว กล่าวคือในขณะที่กลุ่มคนจากกาญจนบุรีมีการติดต่อกับกลุ่มคนทางภาคใต้ กลุ่มคนทางภาคอีสานก็ได้มีการติดต่อกับเวียดนาม ส่วนลพบุรีมีการติดต่อกับชลบุรี ร่องรอยของโบราณวัตถุที่แตกต่างกัน เช่น ลวดลายของภาชนะเครื่องปั้นดินเผา บ่งบอกถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในช่วงนี้

นักวิชาการเชื่อว่า กลุ่มคนจากจีนที่นำวัฒนธรรมข้าวมาแพร่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วยกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูล ออสโตรเอเชียติก และกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลออสโตนีเซียน  เกี่ยวกับการอพยพเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูล ออสโตรเอเชียติก การศึกษาพบว่า ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ โดยฝ่ายหนึ่งเสนอว่า กลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติกได้กระจายไปทั่วพื้นที่ประเทศไทย  ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งแย้งว่า กลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูล ออสโตรเอเชียติกได้เคลื่อนย้ายไปเป็นประชากรหลักของแม่น้ำโขง ส่วนการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลออสโตรนีเซียนนั้น สันนิษฐานว่าได้ออกจากจีนลงมาทางไต้หวัน สู่ภาคใต้ของประเทศไทย และคาบสมุทรมลายู โดยคนกลุ่มนี้ได้เข้าแทนที่ประชากรเดิมที่เป็นพวกหาของป่าล่าสัตว์

หม้อสามขาที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จ.กาญจนบุรี และภาชนะดินเผาในพื้นที่อื่น ๆ
ไพลสโตซีนตอนกลาง กำเนิดของมนุษย์สมัยใหม่ หรือโฮโมเซเปียนส์

ในสมัยโฮโลซีนตอนปลายยุคโลหะราว ๒,๐๐๐ ปีที่แล้ว ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เด่นชัดยิ่งขึ้น ดังเห็นได้จากการอพยพเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนผู้พูดภาษาตระกูลไท – กะได จากจีนตอนใต้มายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วงนี้การติดต่อ ค้าขาย แลกเปลี่ยนกัน ระหว่างชุมชนภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้คึกคัก รวมถึงมีการติดต่อสัมพันธ์ของกลุ่มคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับกลุ่มคนที่เดินทางมาจากอินเดีย เมดิเตอร์เรเนียน และจีน ในประเทศไทยพบว่า กลุ่มคนจากภาคใต้ติดต่อสัมพันธ์กับกลุ่มคนภายนอกมากที่สุด

งานวิจัยที่ใช้การตรวจสอบดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณ เปรียบเทียบกับดีเอ็นเอของมนุษย์ปัจจุบัน เพื่อแสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนในประเทศไทยเมื่อ ๒,๐๐๐ ปีก่อนมีความสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท – กะได คือการศึกษาที่แหล่งโบราณคดีถ้ำผีแมนโลงลงรัก จ.แม่ฮ่องสอน  แหล่งโบราณคดีแห่งนี้มีอายุประมาณ ๒,๑๐๐ – ๑,๖๐๐ ปี ผลการศึกษาดีเอ็นเอพบว่า มนุษย์โบราณที่พบในสุสานของถ้ำผีแมนโลงลงรักส่วนใหญ่เป็นเครือญาติครอบครัวเดียวกัน และเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน (ดีเอ็นเอคล้ายกัน) ส่วนผลดีเอ็นเอของผู้ชายจำนวนน้อยที่แตกต่างออกไป บอกให้รู้ว่าเป็นคนนอกซึ่งอาจจะเป็นเขย  นอกจากนี้ผลการศึกษาดีเอ็นเอยังทำให้รู้ด้วยว่า พันธุกรรมของมนุษย์โบราณที่ถ้ำผีแมนโลงลงรักมีพันธุกรรมของคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคนจีนตอนใต้ในปัจจุบันที่จีนเรียกรวม ๆ ว่า “ไป่เย่ว” ซึ่งหมายถึง เย่ว หรือคนเถื่อนร้อยพวก อันได้แก่ กลุ่มคนที่พูดภาษาม้ง – เมี่ยน  จีน – ทิเบต ไท – กะได ออสโตรเอเชียติก  เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่ใช่แค่พันธุกรรมของมนุษย์โบราณในถ้ำผีแมนโลงลงรักเท่านั้นที่ใกล้เคียงกับพันธุกรรมของคนจีนตอนใต้ในปัจจุบัน แต่วัฒนธรรมการใช้รูปแบบหัวโลงศพ แบบแผนการฝังศพ รวมถึงการใช้หอยเบี้ยอุทิศให้ผู้ตายที่ปรากฏในถ้ำผีแมนโลงลงรักยังมีความคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมเดียน (มีกลองมโหระทึก) ที่แหล่งโบราณคดีวานเจียบา (Wanjiaba) ในจีนตอนใต้อีกด้วย

การศึกษาโดยใช้วิธีการทางมานุษยวิทยาพันธุศาสตร์ เพื่อตอบคำถามเรื่องความเป็นมาและรากเหง้าของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผลงานการวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.วิภู กุตะนันท์  ในการบรรยายครั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.วิภู กุตะนันท์ ได้แสดงให้เห็นว่า แม้มานุษยวิทยาพันธุศาสตร์ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการค้นหาคำตอบ  อย่างไรก็ตาม ความรู้ด้านพันธุศาสตร์บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ไม่สามารถให้คำตอบได้อย่างรอบด้าน หากปราศจากการศึกษาองค์ความรู้ของศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง เช่น โบราณคดี มานุษยวิทยา ภาษาศาสตร์ และประวัติศาสตร์  ด้วยเหตุผลนี้ การศึกษาเรื่องความเป็นมาและรากเหง้าของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงต้องมีการเชื่อมโยงความรู้ต่าง ๆ เข้าด้วยกันแบบสหวิทยาการ

รองศาสตราจารย์ ดร.วิภู กุตะนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยาพันธุศาสตร์

รองศาสตราจารย์ ดร.วิภู กุตะนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยาพันธุศาสตร์ อธิบายว่า มานุษยวิทยาพันธุศาสตร์เกี่ยวข้องกับการศึกษาสารชีวโมเลกุล หรือดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิต ที่ทำหน้าที่ส่งต่อลักษณะทางพันธุกรรมจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูก ปัจจุบันองค์ความรู้ด้านพันธุศาสตร์ ๒ แขนงที่เรียกว่า Molecular Genetics และ Population Genetics  มีความสำคัญมาก เพราะช่วยบูรณาการให้ความรู้ทางมานุษยวิทยาพันธุศาสตร์มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทำให้มานุษยวิทยาพันธุศาสตร์สามารถตอบคำถาม และให้ความกระจ่างต่อสมมุติฐานหรือข้อสงสัยทางโบราณคดี มานุษยวิทยา ภาษาศาสตร์ และประวัติศาสตร์ ได้เป็นอย่างดี

ก่อนหน้านี้สมัยที่วิทยาศาสตร์ยังพัฒนาไม่มากพอ การศึกษาดีเอ็นเอของมนุษย์จำกัดอยู่เฉพาะมนุษย์ปัจจุบัน  อย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของวิทยาศาสตร์ในช่วงที่ผ่านมาเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการศึกษาดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณเปรียบเทียบกับมนุษย์ปัจจุบัน โดยดีเอ็นเอที่นักมานุษยวิทยาพันธุศาสตร์ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วยดีเอ็นเอบนออโตโซม (Autosome) ที่ถ่ายทอดทั้งจากฝ่ายพ่อและแม่ ดีเอ็นเอที่กำหนดเพศ และดีเอ็นเอจากไมโทคอนเดีย (Mitochondria) ที่ถ่ายทอดมาจากฝ่ายแม่เท่านั้น และเนื่องจากว่ารูปแบบการถ่ายทอดดีเอ็นเอมีความหลากหลาย ดังนั้นการเลือกว่าจะใช้ดีเอ็นเอใดจึงขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ศึกษา

การศึกษาดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอของมนุษย์ปัจจุบัน นอกจากทำให้ทราบว่ามนุษย์ปัจจุบันหรือโฮโมเซเปียนส์นอกอาฟริกามีดีเอ็นเอของมนุษย์นีแอลเดอร์ทัล (Neanderthal) ประมาณ ๑-๓ เปอร์เซ็นต์ (เพราะบรรพบุรุษของมนุษย์ปัจจุบันตอนอพยพเคลื่อนย้ายออกจากอาฟริกาได้ผสมกับมนุษย์นีแอลเดอร์ทัลก่อนกระจายไปทั่วโลก) แล้ว ความรู้ที่เกิดจากการเปรียบเทียบดีเอ็นเอระหว่างมนุษย์โบราณกับมนุษย์ปัจจุบันยังสามารถนำไปใช้ตรวจสอบทิศทางการอพยพเคลื่อนย้ายของมนุษย์โบราณ (Human Migration) ว่าจากใต้ขึ้นเหนือหรือจากเหนือลงใต้ ใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์การสืบเชื้อสายของประชากร (Population History) เช่น ศึกษาวัฒนธรรมหลังการแต่งงานของชาวเขาว่าส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพันธุกรรมของชาวเขาอย่างไร ศึกษาภาษาพูดที่แตกต่างกันของประชากรเพื่อดูว่าส่งผลต่อโครงสร้างทางพันธุกรรมของประชากรกลุ่มต่าง ๆ อย่างไร  นอกจากนี้ยังใช้ในการศึกษา Human Evaluation เช่น ค้นหาว่าดีเอ็นเอของมนุษย์ปัจจุบันใกล้เคียงกับสกุลไหนมากที่สุด ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ความรู้จากการเปรียบเทียบดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณกับดีเอ็นเอของมนุษย์ปัจจุบันสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย

สำหรับการศึกษาพันธุศาสตร์ประชากร (Population Genetics) ในประเทศไทย สามารถกำหนดหรือนิยามประชากรที่ศึกษาโดยใช้ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วัฒนธรรม และอื่น ๆ เป็นเกณฑ์ในการแบ่ง เช่น การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า มานิ ที่เป็นประชากรเนกริโตอาศัยอยู่ภาคใต้ในประเทศไทยปัจจุบัน สืบเชื้อสายมาจากมนุษย์โบราณที่เป็นพวกหาของป่าล่าสัตว์ ซึ่งบรรพบุรุษของพวกเขาอพยพเคลื่อนย้ายมาจากอาฟริกาเมื่อ ๖๕,๐๐๐ ปีก่อน  นอกจากนี้การศึกษาได้ให้ผลเพิ่มเติมว่า มานิมีดีเอ็นเอร่วมกันกับอองเกที่อาศัยอยู่บนเกาะอันดามันค่อนข้างสูง ที่น่าสนใจก็คือมานิยังมีดีเอ็นเอจำนวนหนึ่งของกลุ่มคนผู้พูดภาษาออสโตรเอเชียติกจากเอเชียตะวันออกอีกด้วย

การอพยพเคลื่อนย้ายของมนุษย์ทั้งในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และในสมัยประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยศึกสงคราม คือสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการผสมผสานดีเอ็นเอของกลุ่มคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การศึกษาดีเอ็นเอของกลุ่มคนที่พูดภาษาไทยในประเทศไทยปัจจุบันทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคอีสาน รวมถึงชาวเขาและชนเผ่าต่าง ๆ เปรียบเทียบกับดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณ เพื่อหาคำตอบว่าผู้คนแต่ละกลุ่มมีพันธุกรรมแตกต่างกันอย่างไรนับว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะผลการศึกษาพันธุกรรมของกลุ่มคนเหล่านี้สามารถทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาอย่างต่อเนื่องได้ดียิ่งขึ้น

ผลการศึกษาพันธุกรรมของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยพบว่า คนไทยจากภาคเหนือทั้งหญิงและชาย สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท – กะได ที่อพยพเคลื่อนย้ายมาจากจีนตอนใต้ โดยการเคลื่อนย้ายของคนโบราณเหล่านี้ เป็นการเคลื่อนย้ายของคนจำนวนมากที่นำภาษา วัฒนธรรม และดีเอ็นเอมาพร้อมกัน สำหรับคนไทยจากภาคอีสานพบว่า ผู้หญิงสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท – กะไดที่อพยพเคลื่อนย้ายมาจากจีนตอนใต้ ในขณะที่ผู้ชายสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มคนที่พูดภาษาเขมรแต่เปลี่ยนมาพูดภาษาไท – กะได ในภายหลัง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนที่พูดภาษาไท-กะได ที่อพยพเคลื่อนย้ายมายังภาคอีสาน แม้มีจำนวนน้อยแต่ได้เข้ามาในฐานะผู้ปกครอง ทำให้คนพื้นเมืองเดิมที่พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติกต้องเปลี่ยนภาษาเป็นภาษาไท – กะได พร้อมกับรับวัฒนธรรมไท – กะได ด้วย   ส่วนคนไทยจากภาคกลางนั้นพบว่า ผู้หญิงมีเชื้อสายผสมระหว่างกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท – กะได กับกลุ่มมอญที่พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก ในขณะที่ผู้ชายสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มมอญที่พูดภาษาตระกูล ออสโตรเอเชียติก แต่เปลี่ยนภาษามาพูดภาษาไท – กะได และรับวัฒนธรรมไท – กะได เกี่ยวกับภาคใต้นั้นจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามสามารถสันนิษฐานได้ว่า พันธุกรรมของคนไทยในภาคใต้น่าจะคล้ายกับพันธุกรรมของคนไทยในภาคกลาง ทั้งนี้เพราะผลการศึกษาดีเอ็นเอจากออโตโซมของประชากรไทย ๔ ภาคในประเทศไทยที่พูดภาษาไท – กะได สามารถแบ่งผู้คนตามโครงสร้างพันธุกรรมที่แตกต่างกันได้ ๓ กลุ่ม กลุ่มแรกคือคนเหนือที่มีโครงสร้างพันธุกรรมเป็นลักษณะเฉพาะ  กลุ่มต่อมาคือคนอีสานที่มีโครงสร้างพันธุกรรมเป็นลักษณะเฉพาะเช่นกัน  ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือคนภาคกลางและคนภาคใต้ที่โครงสร้างพันธุกรรมมีดีเอ็นเอของคนอินเดียผสม โดยดีเอ็นเอของคนภาคกลางมาจากคนอินเดีย ๑๕ เปอร์เซ็นต์ ส่วนดีเอ็นเอของคนภาคใต้มาจากคนอินเดีย ๒๓ เปอร์เซ็นต์ ผลการศึกษานี้ใช้อธิบายย้อนหลังกลับไปได้เพียง ๗๕๐ ปี ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยาเท่านั้น การศึกษาเพิ่มเติมยังทำให้รู้อีกว่า คนมอญและคนไทยมุสลิมที่พูดภาษามลายูก็มีดีเอ็นเอของคนอินเดียด้วย  นอกจากนี้ยังพบว่า คนพม่า คนบน คนเขมร คนกุย และคนกัมพูชา รวมถึงกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติกในเวียดนาม เช่น จาม ก็มีดีเอ็นเอของคนอินเดียผสมเช่นกัน

ถ้ำผีแมนโลงลงรัก จ.แม่ฮ่องสอน

สำหรับการศึกษาดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณจากแหล่งโบราณคดีถ้ำย่าป่าแหน ที่ จ.แม่ฮ่องสอน เปรียบเทียบกับดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณจากแหล่งโบราณคดีถ้ำผีแมนโลงลงรักที่ จ.แม่ฮ่องสอน และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงที่ จ.อุดรธานี ภาคอีสาน รวมถึงเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอของมนุษย์ปัจจุบันทั่วเอเชียพบว่า  ดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณจากแหล่งโบราณคดีย่าป่าแหน มีลักษณะใกล้เคียงกับดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณที่แหล่งโบราณคดีถ้ำผีแมนโลงลงรัก และใกล้เคียงกับดีเอ็นเอของคนมอญ คนกะเหรี่ยง และคนละว้า ในปัจจุบัน

ความน่าสนใจของการศึกษาดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณที่ถ้ำย่าป่าแหนและถ้ำผีแมนโลงลงรัก จ.แม่ฮ่องสอน ภาคเหนือ เปรียบเทียบกับดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี ภาคอีสาน ก็คือว่า ในขณะที่ดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณจากถ้ำผีแมนโลงลงรักและถ้ำย่าป่าแหน มีดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณจากจีนตอนเหนือแถบแม่น้ำเหลืองผสมถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงกลับไม่มีดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณจากจีนตอนเหนือแถบแม่น้ำเหลืองผสมเลย ที่สำคัญผลการศึกษายังทำให้รู้อีกด้วยว่า มนุษย์โบราณทั้งจากแหล่งโบราณคดีถ้ำผีแมนโลงลงรักและแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง มีดีเอ็นเอของคนดั้งเดิมที่เป็นพวกหาของป่าล่าสัตว์ผสมเหมือนกัน  กล่าวคือมนุษย์โบราณจากแหล่งโบราณคดีถ้ำผีแมนโลงลงรัก มีดีเอ็นเอของคนดั้งเดิมที่เป็นพวกหาของป่าล่าสัตว์ผสมอยู่ ๒๐ – ๓๐ เปอร์เซ็นต์  ส่วนมนุษย์โบราณจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง มีดีเอ็นเอของคนดั้งเดิมที่เป็นพวกหาของป่าล่าสัตว์ผสมถึง ๓๐ – ๔๐ เปอร์เซ็นต์

ความรู้ที่ได้จากการบรรยายของศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์ทั้ง ๓ ท่าน ผ่านการเสวนาเรื่อง “สืบรากเหง้าผู้คนสุวรรณภูมิผ่านดีเอ็นเอมนุษย์โบราณ” ณ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ที่ผ่านมาเมื่อเร็ว ๆ นี้บอกอะไรแก่เรา  ในทัศนะของผู้เขียนมีความเห็นว่า เราไม่เพียงแต่ได้รับองค์ความรู้มหาศาลเกี่ยวกับโบราณคดี ภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยาวัฒนธรรม มานุษยวิทยากายภาพ และมานุษยวิทยาพันธุศาสตร์ อันเป็นดอกผลจากความพยายาม เสียสละ และทุ่มเทของนักวิชาการทุกท่าน แต่องค์ความรู้เหล่านี้ยังทำหน้าที่เป็นแสงสว่างฉายเข้าไปในถ้ำมืดแห่งอคติอันเกิดจากความไม่รู้ของเรา กระตุ้นเตือนให้เราได้ตระหนักว่า แท้จริงแล้วพื้นที่บริเวณที่เรียกว่าประเทศไทยเคยมีกลุ่มคนที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยอาศัยอยู่มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เริ่มตั้งแต่กลุ่มคนดั้งเดิมที่เป็นพวกหาของป่าล่าสัตว์ที่บรรพบุรุษของพวกเขาได้อพยพเคลื่อนย้ายออกมาจากอาฟริกาตั้งแต่ ๖๕,๐๐๐ ปีที่แล้ว ตามด้วยการเข้ามาของกลุ่มคนผู้พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติกและภาษาตระกูลออสโตรนีเซียนเมื่อ ๔,๐๐๐ ปีก่อน  คนเหล่านี้ได้ผสมผสานทางพันธุกรรมกับกลุ่มคนดั้งเดิมที่เป็นพวกหาของป่าล่าสัตว์ ส่วนกลุ่มคนผู้พูดภาษาตระกูลไท – กะไดจากจีนตอนใต้นั้น เพิ่งเดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยราว ๒,๐๐๐ ปีที่ผ่านมานี้เอง และก็เป็นเช่นเดียวกับกลุ่มคนผู้พูดภาษาตระกูล ออสโตรเอเชียติกหรือภาษาตระกูลออสโตนีเซียน กลุ่มคนผู้พูดภาษาตระกูลไท – กะไดได้เคยผสมผสานทางพันธุกรรมกับผู้มาก่อน ซึ่งเป็นคนกลุ่มอื่นแล้วเช่นกัน

จากองค์ความรู้ดังกล่าวจึงน่าจะพอสรุปได้ว่า ความเป็นไทยคือความหลากหลาย คือการผสมผสานกันทั้งในทางพันธุกรรม ภาษา และวัฒนธรรม ของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินที่เรียกว่าประเทศไทยปัจจุบัน  และถ้าบังเอิญมีคนถามเราว่าคนไทยมาจากไหน เราคงจะตอบโดยไม่ลังเลเลยว่า ส่วนหนึ่งเคลื่อนย้ายมาจากจีนตอนใต้ แต่ส่วนหนึ่งก็อยู่มาอย่างยาวนานบนแผ่นดินไทยนี้เอง ซึ่งคำตอบนี้ก็เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับทฤษฎีว่าด้วยที่มาของคนไทยที่ได้รับความเชื่อถือในปัจจุบัน

เสวนาวิชาการ “สืบรากเหง้าผู้คนในสุวรรณภูมิผ่านดีเอ็นเอมนุษย์โบราณ”
เสวนาวิชาการธัชชา “สืบรากเหง้าผู้คนในสุวรรณภูมิผ่านดีเอ็นเอมนุษย์โบราณ”
พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า RAMA 9 MUSEUM

*****

คอลัมน์รายงานทางอีศาน นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๑๒๒ เดือนมิถุนายน ๒๕๖๕

ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)

📍สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศานhttp://m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
shopee : https://shp.ee/ji8x6b5
LnwShop : https://www.thaibookfair.com/seller/chonniyom-eshann

Related Posts

ปิดเล่ม ทางอีศาน 122
ปูชนียภาพครูสุรินทร์ ภาคศิริ
นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ 122
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com