๑. พื้นที่โครงการฯ
๒. ทางหลวงหมายเลข ๙ และ ๑๓
๓. CHINA TOWN พัฒนาโดยวิสาหกิจจากเซี่ยงไฮ้
๔. LITTLE JAPAN TOWN ศูนย์รวมสินค้าเทคโนโลยีและเครื่อง
ใช้ไฟฟ้าจากญี่ปุ่น
๕. ภาพจำลองศูนย์กลางทางการเงิน (Savan City Financial
Center)
บนเส้นทางสู่ความสำเร็จ…กว่าจะเป็น “สะหวันซิตี”
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๓๑
ปีที่ ๓ ประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๗
ฉบับ: ชุมชนคารวะตะธรรม
รายงานโครงการสะหวันซิตี
ลุมาถึงวันนี้ หลายท่านได้ยินได้ฟังเรื่องโครงการ “สะหวันซิตี” โครงการพัฒนาเมืองใหม่บนเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน เมืองไกสอนพมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว กันบ้างแล้ว
เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ที่เรียกขานชื่อกันอย่างเป็นทางการเช่นนี้ มีความหมายว่าสะหวัน คือเมืองสะหวันนะเขต เซโน เป็นภาษาฝรั่งเศสมีความหมายว่า จตุรทิศ หรือสี่ทิศ ด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างทางหลวงหมายเลข ๙ หรือเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกตะวันตก (EWEC- East West Economic Corridor) กับทางหลวงหมายเลข ๑๓ ที่ทอดยาวตามแนวเหนือใต้ ทิศตะวันตกเริ่มที่เมืองเมาะละแหม่ง แห่งสหภาพเมียนมาร์ เข้าสู่ชายแดนไทยที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผ่านเข้าพิษณุโลก ขอนแก่น มุกดาหาร มุ่งตรงสู่ สปป.ลาว ที่เมืองสะหวันนะเขต ผ่านชายแดนเวียดนามที่ลาวบาว และสิ้นสุดที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ความยาวตลอดเส้นทาง ๑,๔๕๐ กิโลเมตร ส่วนแนวเหนือใต้ เริ่มต้นที่มณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของจีน ผ่านจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๙ ที่เมืองเซโน แขวงสะหวันนะเขต และเลยไปจนจรดกัมพูชา เขตเศรษฐกิจพิเศษที่กล่าวมาตั้งอยู่บนทำเลทองจุดตัดเชื่อมเส้นทางนี้ และเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษของ สปป.ลาว ที่มีจุดแข็งด้วยยุทธศาสตร์การวางที่ตั้งของเขตดังกล่าวมา
…“สะหวันซิตี” โครงการพัฒนาเมืองใหม่บนเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีที่มาของการก่อร่างสร้างฝันประหนึ่งการวาดโครงการบนแผ่นฟ้า สู่ความจริงที่จับต้องได้อย่างยาวนาน และด้วยความมุ่งมั่น ความเชื่อมั่นว่าโครงการนี้เป็นไปได้และมีอนาคตของ คุณชาญชัย จตุรภากร นักพัฒนาโครงการเพียงหนึ่งเดียวจากประเทศไทย ผสานกับการได้รับความไว้วางใจอย่างสูงสุดจากรัฐบาลแห่ง สปป.ลาว มอบที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษจุด A และจุด D ให้ดำเนินการพัฒนาตามแผนงานที่กำหนดสร้างขึ้น ติดตามมาด้วยการจดทะเบียนนิติบุคคล “บริษัทสะหวันซิตี จำกัด” ร่วมกันระหว่างนักพัฒนาโครงการจากประเทศไทยกับรัฐบาลลาว ท่ามกลางความแปลกใจของนักลงทุนไทยหลายคนว่า นักพัฒนาจากประเทศไทยท่านนี้สามารถสร้างความไว้วางใจให้บังเกิดจากฟากฝั่งภาครัฐของลาวได้อย่างไร …แต่ก็เป็นไปแล้ว
ทั้งหมดมาจากความอดทน การพิสูจน์ตัวเองความจริงจัง และความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในอนาคตของโครงการ ที่เขาวาดฝันด้วยมันสมองและสองมือ บัดนี้ได้เริ่มผลิดอกออกผลเป็นดาวจรัสแสงที่สุกสว่าง ด้วยการหลั่งไหลเข้าร่วมของกลุ่มผู้ลงทุน นักธุรกิจจากนานาประเทศ
พื้นที่จุด A โดดเด่นด้วยเนื้อที่กว้างขวางกว่า ๑,๗๐๐ ไร่ในเฟสที่ ๑ ทอดตัวอยู่ริมแม่นํ้าโขงฝั่งซ้ายของเชิงสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ ๒ กลุ่มนักธุรกิจด้านการเงินการธนาคารจาก Labuan Financial Centre เล็งเห็นความโดดเด่นของเขตนี้ ด้วยการมีกฎหมายการบริหารเขตพิเศษ และกฎหมายการเงินเฉพาะของเขตพิเศษที่รองรับสถานะพิเศษเป็น OFFSHORE STATUS ของสถาบันการเงินที่จัดตั้งในเขตนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินของอนุภูมิภาคได้อย่างไม่ไกลเกินเอื้อม และจุดเด่นนี้ยังสามารถดึงดูดนักธุรกิจการเงินการธนาคารจากสวิตเซอร์แลนด์ เสนอตัวขอเข้าเป็นภาคธุรกิจหนึ่งของสะหวันซิตี ไม่นับอีกหลากหลายธุรกิจบริการอันเป็นเป้าหมายหลักของพื้นที่จุด A อาทิ ธุรกิจโรงแรม กิจการร้านค้าปลอดภาษีการจัดตั้งธุรกิจศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และสถานีบริการนํ้ามันเชื้อเพลิง มีกลุ่มนักธุรกิจจากต่างประเทศเสนอตัวขอเป็นผู้ลงทุนและเซ็นสัญญาเป็นผู้ลงทุนในโครงการ
ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงการสร้างโครงการ China Town โครงการ Little Japan Town ในพื้นที่โซนการค้าและการบริการ
พื้นที่จุด D เป้าหมายหลักกำหนดทิศทางการใช้พื้นที่เพื่อรองรับชุมชน และการอำนวยความสะดวกของประชาชน นักธุรกิจและครอบครัวผู้บริหารโรงเรียนนานาชาติกีรพัฒน์ จากประเทศไทย เตรียมการก่อสร้างโรงเรียนนานาชาติระดับมาตรฐานตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมปลาย มีธุรกิจโรงพยาบาลระดับมาตรฐานขนาด ๑๕๐ เตียง สามารถไว้วางใจมาตรฐานและคุณภาพในการรักษาพยาบาล เบื้องต้นมีการสร้างงานในชุมชนด้วยศูนย์หัตถกรรมทำวิกผมของกลุ่ม ADERANS บริษัทผู้ผลิตวิกผมแบบแฮนด์เมดและแบบตามสั่งเท่านั้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเชื่อมั่นในศักยภาพของการพัฒนา ได้เสนอตัวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสะหวันซิตีแล้ว
ประเทศลาวเคยถูกมองว่าเป็นประเทศ Landlock ด้วยไม่มีทางออกสู่ทะเล แต่จากเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกตะวันตกตัดกับเส้นทางหมายเลข ๑๓ เหนือใต้ เป็นจุดเปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศลาว จาก Landlock สู่ความเป็นประเทศ Landlink ดินแดนศูนย์กลางเชื่อมต่อทางด้านการคมนาคมและการขนส่งสินค้า
ทั้งหมดที่กล่าวมานับเนื่องเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสำเร็จ บนเส้นทางแห่งความท้าทายของนักพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษจากประเทศไทย ในดินแดนของประเทศเพื่อนบ้าน ที่ได้รับคำชื่นชมและมองเห็นอนาคตของโครงการสะหวันซิตีจากนักธุรกิจทั่วโลก
อ่าน: สะหวันซิตี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน (๑)
อ่าน: สะหวันซิตี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน (๒)
อ่าน: สะหวันซิตี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน (๓)
ติดตามเนื้อหาในเล่มได้ที่…
ร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป ซีเอ็ด นายอินทร์
สั่งซื้อ: 02-552-4070
อีเมล: e-shann@hotmail.com
อีบุคราคาเพียง 60 บาท ที่
www.mebmarket.com
www.4dbook.com
www.openserve.co.th
นิตยสาร “ทางอีศาน” เปิดให้ผู้สนใจเข้าไปอ่านหัวข้อข่าว เรื่องราวเด่น ๆ หรือดาวน์โหลดใบสมัครสมาชิก รวมถึงร่วมเสนอความคิดเห็น อ่านรายละเอียดและสมัครเป็นสมาชิกได้ที่ https://e-shann.com/