“ปลาแดก”  นั้นฉันใด

ในหมู่อาหารของชาวอีสาน มีอาหารอย่างหนึ่งที่เรียกชื่อต่างกันอยู่ในหมู่คน ๒ จำพวก โดยผู้คนในหมู่บ้านชนบทเรียกชัดถ้อยชัดคำเต็มปากเต็มคำว่า “ปลาแดก” ในขณะที่ผู้คนในส่วนราชการกลับเรียกว่า “ปลาร้า”

การสื่อถึงความหมายของผู้คนสองฝ่าย อาจเข้าใจได้ตรงกันในสังคมเมือง แต่อาจจะเข้าใจไม่ตรงกันในหมู่ผู้สูงวัยในชนบทอีสาน และย้อนลึกไปถึงมิติทางการศึกษาด้วยแล้ว ทำให้ปริวิตกได้ว่าลูกหลานที่เกิดมาตามหลังจะทำความเข้าใจในแง่การศึกษาต่อ “ปลาแดก” และ “ปลาร้า” อย่างไร

เป็นการง่ายมาก ถ้าจะพูดง่าย ๆ ว่า ปลาแดก ก็คือ ปลาร้า แต่จะมักง่ายเกินไปหรือเปล่าเมื่อคิดไปถึงกระบวนการศึกษาเรียนรู้และการสืบค้นเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง และอนุรักษ์ความถูกต้องนั้น ๆ ไว้เป็นมรดกวัฒนธรรม

ข้อเขียนนี้นำเสนอต่อผู้สนใจ เพื่อเปิดประเด็นการมีส่วนร่วมและนำเสนอลู่ทางในการศึกษาเรียนรู้ของภาคประชาชนทั่วไปด้วย

“ปลาแดก” (คง) ไม่ใช่ปลาร้า

ปลา คือเป็นกับข้าวหลัก หรือเป็นอาหารหลักของคนอีสานมาแต่โบราณกาล ดังจะเห็นได้จาก ปู่ ย่า ตา ทวด สอนลูกสอนหลานว่า ให้กินอาหารหลักเป็นประจำ คือ “กินข้าวเป็นหลัก กินผักเป็นยา กินปลาเป็นแนวกิน” หมายถึง ให้กินข้าวเป็นหลัก ให้กินผักเป็นยา และให้กินปลาเป็นกับข้าว นี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า ปลา มีความสำคัญต่อการบริโภคอาหารของคนอีสาน

ชาร์ลส์ไฮแอม นักโบราณคดีจากออสเตรเลีย และ รัชนี ทศรัตน์ จากกรมศิลปากรได้ค้นพบภาชนะดินเผาจากหลุมศพอายุ ๓,๐๐๐ ปี ที่บริเวณบ้านโนนวัด ตำบลพลสงคราม อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งในภาชนะดังกล่าว ปรากฏซากปลาช่อน บรรจุอยู่ในข้างในไห ซึ่งพิสูจน์ในเวลาต่อมาว่านั่นคือ “ไหปลาแดก” ที่นำไปสู่อุทิศแก่ศพ ซึ่งย่อมหมายความว่า ชาวอีสานกินปลาแดกมาไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ปีแล้ว

ศ.ดร.ศรีศักร วัลลิโภดม นักโบราณคดีคนสำคัญคนหนึ่งของไทย กล่าวว่า วัฒนธรรมปลาแดก เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านในสังคมอีสาน ลุ่มน้ำสงครามในอีสานบน เป็นแหล่งทำปลาแดกที่สำคัญของอีสาน

ลุ่มน้ำสงคราม หรือแม่น้ำสงคราม เป็นส่วนหนึ่งของแอ่งสกลนคร มีพื้นที่รับน้ำฝน ๑๒,๖๓๗ ตารางกิโลเมตร หรือเกือบ ๓,๐๐๐,๐๐๐ ไร่ มีพื้นที่พาดผ่านพื้นที่ ๔ จังหวัด คือ อุดรธานี, หนองคาย, นครพนม และสกลนคร และยังต่อทอดสู่ลำน้ำก่ำ, หนองหานหลวง และทิศตะวันออกเฉียงเหนือยังติดต่อกับแม่น้ำโขง นับเป็นแหล่งที่มีปลาชุกชุม ชาวบ้านในลุ่มน้ำดังกล่าวจึงประกอบอาชีพจับปลาและที่นี่ก็คือ แหล่งปลาแดกที่ขึ้นชื่อในที่ราบสูงแห่งอีสาน

คำ “แดก” เป็นคำกิริยา หมายถึงการนำเอาสิ่งต่าง ๆ มา บด, ตำ, ผสม เค้นให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ลักษณะดังกล่าวชาวอีสานและชาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเรียกว่า แดก

อาหารของชาวอีสานที่ปรุงหรือผสมลักษณะที่เรียกว่า แดก มีมากมายเช่น นำข้าวเหนียวนึ่ง งาคั่ว น้ำตาลหรือน้ำอ้อยเคี่ยวนำมาคลุกเป็นเนื้อเดียวกัน เรียก ข้าวแดกงา รับประทานเป็นของหวาน

นำข้าวนึ่งมาผสมกับกล้วยสุก นำไปแดกให้เป็นเนื้อเดียวกันห่อใบตองกล้วยเป็นชิ้น ๆ นำมามัดรวมกัน ๓-๔ ชิ้นต่อมัด นำไปต้มให้สุกเรียก ข้าวต้มแดก

ในทำนองเดียวกัน ถ้านำตัวอึ่งอ่างมาคลุกผสมนำไปแดกให้เป็นเนื้อเดียวกันตามสูตรปลาแดกก็เรียกว่า ปลาแดกอึ่ง

แดก เป็นคำที่มีความหมายเฉพาะในตัวของมันเอง ดังนั้น เมื่อนำปลา, เกลือ, ข้าวคั่ว, รำ ฯลฯ มาประสมกันแล้ว แดกให้เป็นเนื้อเดียวกัน จึงเรียกว่า ปลาแดก

ตรงข้ามไม่เคยเห็นเคยได้ยินใครผู้ใดเรียก “ข้าวร้างา”, “ข้าวต้มร้า” หรือ “ปลาร้าอึ่ง” แต่อย่างใดจึงไม่ทราบได้ว่า คำ “ปลาร้า” หลุดเข้ามาในกรรมวิธีของปลาแดกได้จากอะไร

ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้นแล้วว่า ปลาเป็นอาหารหลักของชาวอีสาน พวกเขาจึงมีกระบวนการในการจัดเก็บปลาไว้ให้ได้นาน จึงมีกรรมวิธีเก็บปลาให้ได้หลายวิธี เช่น นำไปตากแดดไว้จนแห้ง เรียก ปลาแห้ง นำไปย่างไฟจนสุกแข็ง เรียก ปลาย่าง นำปลาตัวเล็กจำพวกปลาซิวผสมเครื่องปรุงให้เข้ากันอัดไว้ในภาชนะ เรียก ส้มปลาน้อย ฯลฯ กล่าวโดยรวมก็คือกรรมวิธีนำปลามาเป็นอาหารหรือเก็บไว้ให้นาน ไม่เคยเห็นกรรมวิธีใดเรียก ปลาร้า

ก็มีที่น่าสังเกตอยู่นิดหนึ่ง จากการค้นคว้าเรื่องปลาแดกก็ได้พบคนเฒ่าคนแก่ที่มีโอกาสได้พูดคุย คนเหล่านั้นเล่าว่า

การทำปลาแดก จะต้องมีสูตรที่เหมาะสม จึงจะเป็นปลาแดกที่รสชาติดี (รสนัว) ถ้าทำไม่ถูกสูตรหรือไม่ครบสูตร ปลาแดกไหนั้น ๆ ก็จะเน่าเฟะ กลิ่นเหม็น ชิ้นปลาจะเปื่อยยุ้ยเหลือแต่ก้าง แถมยังมีหนอนชอนไชขยะแขยงต่อผู้พบเห็น ลักษณะเช่นนี้ เรียกกันว่า ปลาแดกขี้ร้า คำ “ขี้” เป็นของน่ารังเกียจพวกเขาไม่กินเด็ดขาด หรือพูดง่าย ๆ ทำนองว่า “ปลาแดกไหนั้น กลายเป็นขี้ไปแล้ว” เมื่อพิเคราะห์ตามที่กล่าวมา ปลาแดกคงไม่ใช่ปลาร้า

กรรมวิธีทำปลาแดก

จากการค้นคว้าวิจัยได้พบว่า สูตรของการทำปลาแดก หรือกรรมวิธีทำปลาแดกนั้น มีกระบวนการและส่วนผสมแตกต่างกันตามรสนิยมของแต่ละพื้นที่ แต่ละขนาดของตัวปลาและชนิดของปลา ตลอดทั้งให้เป็นไปตามรสนิยมของผู้บริโภคด้วย

สูตรผสมปลาแดกในพื้นที่อำเภอสีสงคราม จังหวัดนครพนม ส่วนใหญ่จะทำปลาแดกด้วยปลาตะเพียน, ปลาขาวสร้อย, ปลาแปบ, ปลาเพี้ย, ปลาหมอช้างเหยียบ, ปลากราย, ปลาช่อน, ปลาดุก และปลาค้าว ปลาที่ทำปลาแดกราคาดีที่สุด คือปลาแดกปลานาง (ปลาเนื้ออ่อน) ปลาดังกล่าวผู้ทำปลาแดกทั่วไปจะใช้สูตรกลาง ๆ คือ ปลา ๑ หมื่น (๑๒ กก.) เกลือสินเธาว์ ๔ กก. รำ ๑ กก. นำมาคลุกให้เข้ากันแล้วอัดหรือแดกไว้ในไหเป็นเวลา ๖  เดือนเป็นอย่างน้อย จึงจะถือว่าเป็นปลาแดกได้ที่แล้วนำมากินได้

กระบวนการทำปลาแดกตามภูมิปัญญาของชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ เริ่มจากนำปลามาขอดเกล็ด ควักไส้ออก ล้างให้สะอาด ทิ้งผึ่งลมไว้ ๑ คืน จึงนำไปคลุกกับเกลือ รำ และอาจเพิ่มข้าวคั่วในสัดส่วนที่กำหนดแล้วนำไปอัดไว้ในไห หมักนาน ๖ เดือนขึ้นไป จึงสามารถนำมาบริโภคได้ ช่วงเวลากำหนดว่าบริโภคได้หรือไม่ได้ อาจขึ้นอยู่กับชนิดของปลาด้วย ถ้าเป็นปลาซิว ปลาตัวเล็ก ๆ อาจหมักเพียง ๔ เดือน ถ้าเป็นปลาสร้อย ๖-๘ เดือน ถ้าเป็นปลาดุกก็อาจถึงปี แต่ถ้าเป็นปลาหลดหรือปลาชะโดก็หมักถึง ๑ ปีขึ้นไป ช่วงเวลาของการหมักดังกล่าวชาวอีสานเรียกว่า ปลาแดกเป็นแล้ว ซึ่งหมายถึงส่วนผสมของสูตรปลาแดกได้ซึมซับเข้าสู่ตัวปลา และเนื้อปลาก็จะยุ่ยเปื่อยแล้ว

สูตรผสมในการทำปลาแดก ยังมีสูตรผสมเพื่อการแต่งรสแต่งกลิ่นอีกต่างหาก เช่น ถ้าต้องการปลาแดกที่รสชาติไม่เค็มจัด มีกลิ่นนิด ๆ ใช้สำหรับปรุงรสส้มตำมะละกอห่าม ก็จะใช้ปลา ๑๒ กก. ต่อเกลือ ๓ กก. รำ ครึ่ง กก. และอาจมีข้าวคั่วอีกนิด เป็นต้น แต่ถ้าต้องการเก็บปลาแดกไว้นานนับปีก็อาจเพิ่มเกลือเข้าไปอีกทำให้รสเค็มจัด เก็บไว้ได้นานนับปี ปลาแดกลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะเป็นปลาตัวโต ๆ เช่น ปลาช่อนตัวโต ๆ หรือปลาชะโดตัดเป็นชิ้น ๆ หรือทั้งตัว แล้วแต่ความนิยม

จากการศึกษาวิจัยในกลุ่มผู้ผลิตปลาแดกในอุตสาหกรรมครัวเรือน และกลุ่มที่ทำเป็นวิสาหกิจชุมชนจากท้องที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่า

ปลาที่นำมาทำปลาแดกส่วนใหญ่ เป็นปลาจากเขื่อนลำปาว แต่ตอนหลัง ๆ มาต้องซื้อเพิ่มจากแหล่งอื่น เพราะความต้องการของตลาดเพิ่มปริมาณขึ้น

กรรมวิธีการทำ เริ่มจากนำปลามาล้างให้สะอาดขอดเกล็ดหรือไม่ก็ได้ นำเกลือ ๒ ส่วนมาคลุกไว้ในภาชนะเป็นเวลา ๑ วัน และนำรำหรือข้าวคั่วมาคลุกเข้าเป็นเนื้อเดียวกันกับตัวปลา นำไปอัดหรือ แดก ลงในโอ่งหรือไห เก็บในที่ร่มใช้เวลา ๖-๑๒ เดือนจึงนำออกจำหน่าย โดยตลาดปลาแดกจากกาฬสินธุ์มีทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีกรรมวิธีแตกต่างออกไปเล็ก ๆ น้อย ๆ ออกไปในส่วนผสมของปลาแดก

ปลาร้าคืออะไร มาจากไหน ?

หนังสือ “โลกนิติคำโคลง” มีอยู่บทหนึ่งที่ร้อยกรองข้อความเกี่ยวกับปลาร้า  เป็นพระนิพนธ์สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ดังนี้

                  ปลาร้าพันห่อด้วย  ใบคา

                   ใบก็เหม็นคาวปลาคละคลุ้ง

                   คือคนหมู่ไปหาคบเพื่อน  พาลนา

                   ได้แต่ร้ายร้ายฟุ้งเฟื่องให้เสียพงศ์

ถอดคำร้อยกรองบทนี้ออกมาทำให้มองเห็นว่า ปลาร้า เป็นสิ่งที่มีกลิ่นเหม็นคาวติดไปแม้กับใบไม้ที่นำมาห่อ ดูจากรูปคำแล้วทำให้เกิดความน่ารังเกียจ ไม่น่ากิน จึงทำให้นึกไม่ออกว่าปลาร้าที่ว่านั้นเป็นปลาชนิดใด  มีกรรมวิธีทำแบบไหนจึงน่าเกียจปานนั้น หรือหากผู้ร้อยกรองจะหมายถึงขี้ร้า  ซึ่งเป็นส่วนที่เน่าเสียของปลาแดก

ผู้เขียนเคยดูรายการ “ทุ่งแสงตะวัน” ของทีวีช่อง 3 มีอยู่ตอนหนึ่งที่มีการสัมภาษณ์ถึงเรื่องปลาร้า  บ้านปากยาง ลุ่มน้ำสงคราม โดยผู้ทำรายการเป็นผู้สัมภาษณ์คนในครอบครัว “ขันธะชา” ปรากฏว่า ผู้สัมภาษณ์พูดถึงปลาร้าตลอดรายการโดยที่ผู้ถูกสัมภาษณ์ก็พูดปลาแดกทุกคำตลอดรายการ กล่าวคือ คนถามถามถึงเรื่องปลาร้า และคนตอบก็ตอบเรื่องปลาแดก เกือบเป็นคนละภาษา คนละคำพูด แต่ทั้งสองก็ถามตอบกันไปมาได้ ทำให้สงสัยว่าเหตุใดผู้สัมภาษณ์จึงมิได้เฉลียวใจในคำ ปลาร้า กับปลาแดก ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านชาวอีสานเกิดมาก็เรียก ปลาแดก โดยตลอด และคำนี้ก็ใช้เรียกกันมาตั้งแต่รุ่น ปู่ ย่า ตา ทวด ของคนอีสานแล้ว

มีคำกระทบกระเทียบเปรียบเปรย ลักษณะคำคล้องจองของชาวอีสานไว้หลายประโยคที่เอ่ยถึง ปลาแดก เช่น

“ข้าวเหนียวเพิ่นขาวลูกสาวเพิ่นแฮง

แกงเพิ่นแซบปลาแดกเพิ่นนัว”

“บ้านใกล้ป่าได้อยู่เฮือนเพบ้านใกล้เซบ่ได้กินปลาแดก

นอกจากประโยคที่ยกมา ยังปรากฏคำ ปลาแดก ในคำเล่า ในหนังสือต่าง ๆ และวรรณกรรมพื้นบ้านมากมายทั้งจากชาวอีสานของไทย และชนชาวลาวทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง

เท่าที่ปรากฏ ราชการเป็นผู้ใช้ปลาร้า ในภาษาราชการทุกแห่ง โดยยังไม่ทราบได้เหมือนกันว่าทางราชการนำคำนี้มาจากไหน หรือปลาชนิดใดที่เรียกว่า ปลาร้า หรือถ้าเข้าใจว่า ปลาแดก กับ ปลาร้า เป็นอันเดียวกัน ใครเป็นผู้สร้างความเข้าใจนี้ แต่ถ้าจะเรียกให้ใกล้เคียงและถูกต้องก็ควรจะเป็น “ปลาแดก- ขี้ร้า” ซึ่งหมายถึง ปลาแดกที่เน่าเหม็น หรือเป็นปลาแดกที่เสียแล้วเท่านั้น

วัฒนธรรมปลาแดก

จากอดีตสู่ปัจจุบัน ปลาแดก เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวอีสานอย่างชนิดที่แยกจากกันไม่ได้

อาหารในชีวิตประจำวัน แม้ไม่มีกับข้าวอย่างอื่น ชาวอีสานก็ยืนพื้นด้วย แจ่ว (ปลาแดก) บอง หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า แจ่วบอง คือปลาแดกผสมพริกป่น ใช้ปั้นจิ้มกับข้าวเหนียว  ตำหมากหุ่ง หรือ ส้มตำมะละกอ ก็เป็นอาหารหลักที่ใช้ปลาแดกเป็นเครื่องปรุงสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เรียกกันว่า ตำลาว หรือ ตำอีสาน จะปราศจากปลาแดกหาได้ไม่  แม้แต่อาหารชั้นยอดของชาวอีสานคือ อาหารจำพวกลาบ   ถ้าขาดน้ำปลาแดกเหยาะลงคลุก อาหารนั้นก็จะขาดรสแซบเป็นอย่างมาก  แกงคั่ว, แกงอ่อม, น้ำพริกชนิดต่าง ๆ, ซุบอีสาน หรืออาหารจำพวกหมก หรือพร่า ก็ล้วนมีส่วนประกอบของปลาแดกหรือน้ำปลาแดกไม่มากก็น้อย จนกล่าวกันว่า ขึ้นชื่อว่าอาหารอีสานแล้ว “ถ้าขาดปลาแดกก็ไม่ใช่อาหารอีสาน”

ในทางสังคม ปลาแดก เป็นของฝากของต้อนที่จัดหามาฝากผู้ไปเยี่ยมยามพี่น้อง ปัจจัยหลักที่เป็นของฝากญาติ หรือของจัดให้ญาติพี่น้องของชาวอีสาน ได้แก่ พริก – มะเขือ – เกลือ – ปลาแดก และหมากพลู บุหรี่ (ยาเส้น)

ในอดีต หลังจากปักดำข้าวในนาเสร็จ ชาวอีสานจะมีกิจกรรม เส็งกลองคือตีกลองเส็ง หรือกลองกิ่ง  ระหว่างหมู่บ้านกับหมู่บ้าน ตำบลกับตำบล หรือแม้แต่ระหว่างจังหวัดด้วย บางโอกาสก็เป็นการแข่งขันกันโดยมี ปลาแดก เป็นรางวัล หรือไม่ก็จัดหาปลาแดกมารวมกันเพื่อเป็นของฝากแก่คณะเส็งกลองผู้มาเยือน

หลังฤดูเก็บเกี่ยว ชาวนาอีสานจะเกาะกลุ่ม  นำเกวียนเทียมวัวเป็นกลุ่ม ๆ ออกเดินทางไปยังแหล่งน้ำต่างถิ่นเพื่อหาปลา  ใช้เวลาอยู่ที่แหล่งน้ำคราวละ ๒-๓ เดือน เมื่อกองเกวียนกลับสู่หมู่บ้านเกวียนแต่ละลำก็เต็มไปด้วยไหปลาแดก เพื่อนำมากักตุนไว้กินตลอดฤดูการทำนาปีต่อไป หรือแลกเปลี่ยนซื้อขาย

ในเวลาต่อ ๆ มา สังคมเปลี่ยนแปลง ลูกหลานชาวอีสานออกจากท้องถิ่นไปทำงานที่กรุงเทพหรือต่างภูมิภาค ตลอดทั้งไปขายแรงงานต่างประเทศด้วย พวกเขาเหล่านั้นหาทางนำ ปลาแดก ไปบริโภค เพราะคุ้นชินกับรสอาหารที่ปรุงรสด้วยปลาแดกจนคิดว่าจะขาดเสียมิได้ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีการผลิตปลาแดกส่งขายในภูมิภาคอื่นหรือส่งไปต่างประเทศ  ผู้ผลิตปลาแดกที่จังหวัดกาฬสินธุ์ระบุว่าเมื่อปี ๒๕๔๓ มีมูลค่าส่งออกปลาแดกถึง ๒๐ ล้านบาท ขณะมูลค่าจำหน่ายในประเทศสูงถึง ๘๐๐ ล้านบาท โดยผลิตปลาแดกได้เป็นปริมาณ ๒๐,๐๐๐ – ๔๐,๐๐๐ ตัน/ปี

ถึงวันนี้ ปลาแดกและผลิตภัณฑ์จากปลาแดกนับวันจะขยายตัวสู่กลุ่มบริโภคมากขึ้นตามลำดับ  จากชาวอีสานสู่ภาคกลาง และภูมิภาคอื่น จากภายในประเทศสู่ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในซีกโลกอื่น จึงเป็นไปได้ว่าวัฒนธรรมปลาแดก จะกระจายสู่สังคมผู้บริโภคอย่างกว้างขวางต่อไป

สวัสดี “ปลาแดก”

กระทรวงสาธารณสุข ได้เริ่มดำเนินงานควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๗  โดยได้จัดหน่วยเฉพาะกิจขึ้นในภาคอีสาน และต่อมาในปี ๒๕๓๑ ได้ขยายงานควบคุมพยาธิใบไม้ตับ ไปในทุกพื้นที่ภาคอีสานเพราะพบว่า ภาคอีสานมีความชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับถึงร้อยละ ๒๔

ข้อมูลการสำรวจทางระบาดวิทยาของโรคหนอน พยาธิ ในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙ พบว่ามีอัตราความชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับในภาคอีสาน ร้อยละ ๑๒.๔ ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญโรคพยาธิใบไม้ตับแห่งชาติ โดยมีผู้เขียนนี้รวมอยู่ด้วย  ได้ชี้ตรงมาที่ปลาแดกว่า เป็น “ผู้ร้ายตัวที่ ๓” ที่นำโรคพยาธิใบไม้ตับมาสู่คน จากนั้นการ “ต่อสู้” กับปลาแดกก็อุบัติขึ้นอย่างเอาจริงเอาจัง โดยมอบหมายให้ผู้เขียนสร้างยุทธศาสตร์การรณรงค์ “อีสานไม่กินปลาดิบ”

คณะผู้เชี่ยวชาญชี้ชัดว่า ตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ตับ (เมททาเซอร์คาเรีย) จะตายภายใน ๑๒ ชั่วโมงในน้ำเกลือ ๒๐% และจะตายภายใน ๑ ชั่วโมงในน้ำเกลือ ๓๐%

คณะผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ถ้าความร้อนอุณหภูมิ ๗๐ องศาเซลเซียส ตัวอ่อนพยาธิใบไม้ตับจะตายภายใน ๓๐ นาที และจะตายภายใน ๑๕ นาที ถ้าอุณหภูมิ ๘๐ องศาเซลเซียส

ตัวเลขทางวิชาการที่ระบุข้างต้น ทำให้ผู้เขียนสร้างแผนรณรงค์ “อีสานไม่กินปลาดิบ” ด้วยสื่อที่เข้าถึงผู้บริโภคปลาแดก เพื่อบอกให้พวกเขาทราบว่าปลาแดกต้มสุก ปลอดภัยจากโรคพยาธิใบไม้ตับ  และเดี๋ยวนี้ทุกแผงตำหมากหุ่ง, ทุกชนิดของอาหารที่ปรุงด้วยปลาแดก ต่างก็ใช้ปลาแดกสุกทั้งนั้น ปลาแดก จึงกลับตัวจาก “ผู้ร้าย” มาเป็น “ผู้ดี” ในรสชาติของอาหารอีสานในปัจจุบัน

อ้างอิง

  • เอกสารรายงานทางวิชาการโรคพยาธิใบไม้ตับแห่งชาติ, ฉบับปรับปรุงใหม่ พ.ศ.๒๕๔๑
  • โดยคณะผู้เชี่ยวชาญโรคพยาธิใบไม้ตับแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข
  • เอกสารการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาร้า จังหวัดกาฬสินธุ์,
  • โดยคณะวิจัย สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดกาฬสินธุ์
  • ฟื้นวิถีชีวิตวัฒนธรรมปลาแดก คำสัมภาษณ์ของ ศ.ดร.ศรีศักร วัลลิโภดม พ.ศ.๒๕๔๓
  • แผ่นดินอีสาน โดย สุรพล ดำริห์กุล พ.ศ.๒๕๔๗
  • อดีต รวมเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์โดย ชิน อยู่ดี และ สุด แสงวิเชียร  พ.ศ.๒๕๑๗
  • วารสาร สารศิริราช ปีที่ ๓๙ ฉบับที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๐
  • เอกสารโครงการรณรงค์ “อีสานไม่กินปลาดิบ” โดย บุญเรือง ถาวรสวัสดิ์

***

คอลัมน์ เวทีพี่น้อง นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๓๑ | พฤศจิกายน ๒๕๕๗

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com


โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

เงินตราโบราณในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๑๔)
กลับจากอบรม
ทางอีศาน 31 : ปิดเล่ม
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com