สังคมระบบบุญนิยม
ทางอีศาน ฉบับที่ ๘ ประจำเดือนธันวาคม ๒๕๕๕
คอลัมน์: หลงฮอยอีสาน
Column: Passion of E-shann Culture Trial
เรื่องและภาพ: นัทธ์หทัย วนาเฉลิม
Boon celebration of the 4th month or “Boon Phavet” festival is one of the Heet Sibsong traditions in which occurring one day before the day of Vessantara sermon, or known as Sook-Dib Day. Isan residents would describe this as “Muer Home.” In the afternoon, there will be an activity called the procession of Vessantara goodness; due to a belief that there would be great nuisance from evils, residents respectfully invite Shin Upagutta to protect, defend and bless the event.
“Once the 4th month is reached, picking Dok Jarn, weaving bamboo stripe and piercing Dok Jik” is the saying about local fl ower that bloom during this season. Hence it implies that bright orange from Dok Jarn or Bastard Teak are decorated in the temple?s pavilion.
It is culturally belief that whoever listens through all 13-gifts of Vessantara sermon within a day and committed only goodness, that person will result in a reborn. Such a reborn would be in the period of the future Maitreya, which only those with completed precepts, dharma and ethics would be reborn.
Kanyarat Wanachalerm
“คุณหมอขา ร่วมเฮ็ดบุญงานบุญมหาชาติบ้านเฮาค่า” เสียงแม่ใหญ่สมร ลูกค้าประจำของคลินิกตะโกนเอิ้น๑ จากหน้ารั้ว
“สิมีขบวนแห่เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคมเด้อ” แม่ใหญ่คนเดิมย้ำอีกครั้งฉันจุดรอยยิ้มยินดีขึ้น จะไม่ให้รู้สึกยินดีได้อย่างไร ก็เมื่อ ๖ ปีที่แล้ว แม่ใหญ่ผู้นี้ยังเป็นหัวเรือใหญ่ในการต่อต้านการรักษาในรูปแบบการแพทย์สมัยใหม่ของคลินิกอยู่เลย
“การเฮ็ดหมัน มันเป็นการเฮ็ดบาปสัตว์ อยู่ดี ๆ สิเอามีดมาปาดท้องมัน”
“เฒ่าพาบอกว่า คนเก่ง ๆ เขาเฮียนกัน ๒ ปีก็จบ นี่เรียนตั้ง ๖ ปี สิเอาความฮู่อีหยังมารักษา”
นั่นเป็นคำพูดที่แกเคยประกาศกับชาวบ้านคนอื่น ๆ ในชุมชนศรีธาตุ ฉันต้องใช้เวลาไม่น้อยในการใช้น้ำใสใจจริงเปลี่ยนแปลงความคิดที่ยึดติดกับอคตินั้นกระทั่งเป็นสหายงานบุญกัน
“หมอขา ข้าวต้มมัดจ้า มื่อนี่แล้วเด้อมื้อโฮมบุญ” แม่ใหญ่เตือนว่าถึงวันสุกดิบแล้ว พร้อมกับส่งข้าวต้มมัดถุงใหญ่ข้ามรั้วมาให้
“ยังบ่ทันได้อนุโมทนาบุญเลย” ฉันคิดด้วยหัวใจคนบาปว่าข้าวต้มมัดนี่คงเป็นอภินันทนาการสำหรับผู้ร่วมบริจาครายใหญ่เท่านั้น
“บ่ บ่เป็นหยัง เฮ็ดซอยกันไว้หลาย สำหรับเอามาแบ่งตามบ้านต่าง ๆ” แม่ใหญ่ทำท่าโบกมือราวกับว่าฉันกำลังกล่าววาจาไร้สาระ
ในยุคสมัยของโลกาภิวัตน์ คำที่ติดหูติดปากคงเป็นเรื่องของระบบ “ทุนนิยม” แต่ในวันนี้ข้าวต้มมัดถุงนี้ได้กลายเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงการดำรงอยู่ของสังคมระบบ “บุญนิยม” ฉันรับข้าวต้มมัดถุงใหญ่นั้นมาด้วยใจยินดี
“เริ่มแห่จั๊กโมงล่ะแม่”
“สี่ซาห้าโมงแลงพู่นแหล่ว”
“คือเพิ่งมาบอก กล้องแบตฯเหมิดแล้วมั้ง” ฉันบ่นกระปอดกระแปดแบบไม่จริงจังนัก
“ฮ่วย ก็บอกตั้งแต่โดนแล้วเนาะ” แม่ใหญ่ค้านยิ้ม ๆ
ข้าวต้มมัดอุ่น ๆ รสชาติหวานกำลังดี มันด้วยรสกะทิ สอดไส้ด้วยกล้วยผ่าซีกขนาดกำลังเหมาะหอมกลิ่นอ่อน ๆ ของใบตอง ไม่กี่วินาทีหลังจากแกะอุปสรรคในการกินออก ข้าวต้มมัดกลีบแล้วกลีบเล่าถูกส่งเข้าปากอย่างต่อเนื่องราวเครื่องจักรทำลายสสาร ลืมแม้กระทั่งกฎเหล็กในเรื่องของน้ำหนักที่ต้องควบคุม
“แต่ว แต๊ว แตว แต๊ว แต่ว” เสียงพิณจากวงหมอลำดังกระหึ่มผ่านเครื่องขยายเสียง เรียกเร้าให้ผู้คนเข้าร่วมขบวน “แห่พระเวสเข้าเมือง” ลำซิ่งจังหวะม่วน ๆ ผสานกับพิณบรรเลงลายแล้วลายเล่า๒ แสดงถึงอุปนิสัยที่ชอบความครึกครื้นสนุกสนานของชาวอีสาน ในที่สุดเมื่อถึงเวลาอันเป็นมงคลฤกษ์พ่อพราหมณ์จึงเริ่มพิธีสวดนิมนต์พระอุปคุตที่ริมน้ำบึงแก่นนคร
งานบุญเดือน ๔ หรือประเพณีบุญผะเหวดนั้นก่อนถึงวันเทศน์มหาชาติ ๑ วัน ซึ่งเป็นวันสุกดิบชาวอีสานจะเรียกว่า “มื้อโฮม” ช่วงบ่ายจะมีพิธีแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง เชื่อกันว่าในการทำบุญแต่ละครั้งมักมีมารเข้ามาผจญ จึงมีการนิมนต์พระอุปคุตมาเป็นผู้ปกปักษ์รักษาให้เกิดสิริมงคลสวัสดิรักษา
“ทำไมก่อนจะอัญเชิญพระอุปคุตขึ้นรถแห่ถึงต้องเอาท่านไปแช่ไว้ในบึงด้วยคะ” ฉันข้องใจเหลือเกิน ตอนที่หมอพราหมณ์สวดจบแล้วเรียกหาผู้ที่จะไปอัญเชิญพระอุปคุตขึ้นจากน้ำ
“ก็เพราะแต่เดิมท่านอยู่ในน้ำ” พ่อใหญ่ดีตอบ
อยู่ในน้ำหรือ ฉันรำพึงกับตัวเอง ด้วยเกิดความสงสัยตะหงิด ๆ ขึ้นในใจอีกแล้ว เที่ยวถามผู้เฒ่าผู้แก่ในงานไปเรื่อยจนได้ข้อสรุปว่า พระอุปคุตท่านเป็นพระเถระสำคัญในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ท่านได้มุ่งสันโดษบำเพ็ญเพียรจนอยู่ในกุฏิแก้วที่สะดือทะเล
ส่วนข้อสงสัยที่ว่า “ทำไมต้องเป็นท่านในการคุ้มครองงานพิธี ?” นั้นมีที่มาจากเรื่องราวแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชทรงรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุในพระวิหารและสถูปที่พระองค์ทรงสร้างทั้ง ๘๔,๐๐๐ องค์ เมื่อครบตามจำนวนจึงได้จัดงานสมโภชขึ้นถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน เพื่อป้องกันพญาวัสสวดีเทพบุตรมารมาก่อกวนจึงได้นิมนต์พระอุปคุตให้มาช่วยปกปัก
ฝ่ายพญามารได้บันดาลให้มีลมพายุเอย แปลงร่างเป็นสัตว์ป่าดุร้ายเอย สัตว์หิมพานต์เอย เพื่อทำให้งานสมโภชนั้นพังภิณท์ แต่พระอุปคุตเถระก็สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทุกครั้ง สุดท้ายเพื่อกันพญามารออกไปจากงานจึงเนรมิตหมาเน่าขึ้นและใช้ประคตของท่านผูกกับหมาเน่าแล้วคล้องคอพญามารไว้ สำทับว่านอกจากตัวท่านแล้วไม่ว่าใครก็ไม่สามารถเอาหมาเน่าออกจากคอพญามารได้
ไม่ว่าจะเป็นพระอินทร์ ท้าวยามา ท้าวสันดุสิต ท้าวนิมิตเทวราช ตลอดจนท้าวสหัสบดีพรหมล้วนไม่สามารถช่วยได้ พญามารจึงต้องกลับไปอ้อนวอนให้พระอุปคุตช่วยโดยสัญญาว่าจะไม่มาก่อกวนอีก
พระอุปคุตจึงนำพญามารไปยังเขาลูกหนึ่ง เอาซากหมาเน่าทิ้งลงเหว แล้วเนรมิตให้สายประคตยาวขึ้นพันคอพญามารไว้กับเขาลูกนั้น บอกว่าเมื่อพิธีสมโภชพระมหาเจดีย์สิ้นสุดลงแล้วจึงจะมาปล่อยให้เป็นอิสระ
เมื่อครบกำหนดพระอุปคุตพบว่าพญามารละพยศลงไปมาก พร้อมทั้งยังกล่าวสรรเสริญพระพุทธโคดม จึงปล่อยพญามารให้เป็นอิสระและขอขมาพญามารว่ามิได้มีเจตนาล่วงเกิน พญามารก็เข้าใจเป็นอย่างดี
พระอุปคุตจึงได้ขอให้พญามารเนรมิตกายเป็นพระพุทธองค์ ปรากฏว่าด้วยมหาปุริสลักษณะและฉัพพรรณรังสีอันวิจิตรพร้อมด้วยอัครสาวกทั้งซ้ายขวาทำให้พระเถระและพุทธบริษัทพากันก้มกราบพญามารจึงรีบคืนร่างเดิมด้วยความตกใจ ติงว่าทำให้ตนมีบาปหนัก แต่พระเถระกล่าวว่าเป็นการกราบไหว้พระพุทธเจ้า พญามารจึงมีแต่จะได้กุศล
เมื่อสบายใจกันทั้งสองฝ่าย พญามารจึงได้กลับคืนวิมาน ณ สวรรค์ชั้นที่ ๖ หมดสิ้นน้ำใจริษยาในมิจฉาทิฐิ บำเพ็ญบารมีเพื่อพุทธภูมิต่อไป
ตัวแทนชาวบ้านที่แต่งเป็นพระเวสสันดรและพระนางมัทรีนั่งสงบเป็นสง่าอยู่บนรถหัวขบวนงานแห่พระเวสเข้าเมืองคงไม่สมบูรณ์หากขาดสีสันเยี่ยงพราหมณ์ชูชก ซึ่งแกล้งทำท่าเฆี่ยนตีกัณหาและชาลีในชุดดาบสน้อย แต่ที่เป็นที่ขบขันของชาวบ้านหลายคนคือ ตัวแทนชาลีในปีนี้เป็นเด็กสู้คนเสียด้วย ชูชกเฆี่ยนมา ชาลีสู้กลับทั้งเตะทั้งต่อยเรียกเสียงครึกครื้นเฮฮาไปตลอดทาง
หลาย ๆ คนเข้าไปเบียดเสียดขอถือจับผ้าผะเหวดซึ่งวาดเรื่องราวในชาดกนั้น นัยว่าจะได้เฉลี่ยบุญกันได้อย่างทั่วถึง พ่อใหญ่แม่ใหญ่ที่ได้ยาชูกำลังกันคนละกรึ๊บสองกรึ๊บพากันเซิ้งเสียมืออ่อนทีเดียว คืนนี้จะมีงานมหรสพทั้งคืน ราตรีนี้คงยาวนานสำหรับหลายคน
เช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้นเป็นอีกวันที่ฉันมีนัดเดทสำคัญ ไม่ใช่กับหนุ่มที่ไหน แต่เป็นการร่วมตักบาตรกับชาวบ้านในชุมชน ข้าวปลาอาหารพร้อมสรรพบรรจงเรียงลงตระกร้า โดยของสำคัญที่ลืมไม่ได้คือ “น้ำหยาด” อันเปรียบเสมือนทางด่วนในการอุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวรญาติพี่น้องที่ล่วงลับ แล้วหลังจากนั้นจึงจะร่วมฟังเทศน์มหาชาติด้วยกัน
“ฮอดเดือน ๔ ให้เก็บดอกจาน สานบั้งไม้ไผ่เสียบดอกจิก…” เป็นผญาที่กล่าวถึงดอกไม้ท้องถิ่นที่บานตามฤดูกาล ทั้งศาลาฟังเทศน์จึงประดับด้วยสีส้มสว่างของดอกจานทั้งดอกจริงดอกประดิษฐ์ห้อยระย้าไปทั้งศาลาการเปรียญ ดูแล้วกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นตัวดีแท้
ฉันพยายามที่จะจับใจความในแต่ละกัณฑ์เทศน์ โดยเฉพาะกัณฑ์มัทรีที่เสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าไพเราะหนักหนา แต่กว่าจะถึงก็ตั้งกัณฑ์ที่ ๑๐ เจ้าความง่วงเริ่มเข้าครอบงำตั้งแต่กัณฑ์แรก ด้วยเป็นคนไม่ค่อยอยู่นิ่งประกอบกับตื่นมาเตรียมตัวแต่เช้า แต่แล้วก็ต้องสะดุ้งจากการสัปหงกเพราะเสียง “ฮิ้ว” จากรอบตัวที่ดังโดยพร้อมเพรียงพร้อมกับมีการซัดข้าวสารไปข้างหน้า คนข้างหน้าก็ซัดต่อ ๆ กันไป
“แก้ง่วงเด้อ แก้ง่วง” แม่ใหญ่สมรยิ้มล้อ ๆ พร้อมกับอธิบายว่ามันเป็นกุศโลบายให้หายเบื่อและอุปมาอุปไมยว่าเป็นการให้ทาน เพราะบุญมหาชาติเป็นประเพณีการบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่ตามประเพณีบุญฮีต ๑๒ ของชาวอีสาน
ภายหลังได้ซักถามความหมายในเรื่องของการปาข้าวสารข้าวตอกจากผู้เฒ่าผู้แก่หลายคน เช่นคนใกล้ตัวอย่าง แม่สุวรรณ จันทร์ฝาง ซึ่งมีศักดิ์เป็นป้าของพี่สะใภ้เล่าว่า มีความหมายถึงการหลุดจากวัฏสังสารคือการไม่เวียนว่ายตายเกิดอีก ที่ใช้ข้าวสารหรือข้าวตอกก็เพื่อเป็นการสื่อความหมายว่า สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเพาะให้งอกเงยออกผลได้อีก ส่วน แม่คำเอื้อง ซึ่งเป็นมารดาของเพื่อนที่อยู่ทางฝั่งเวียงจันทน์ให้ข้อมูลว่าทางฝั่งลาวถือเป็นการเรียกข้าวเรียกขวัญ หรือจากแม่ใหญ่เสงี่ยม ธรรมเจริญ ซึ่งบอกว่าเป็นการสื่อความหมายว่าให้อยู่เย็นเป็นสุข ในส่วนของพระสงฆ์องค์เจ้า เช่น พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ ท่านได้อนุมานว่าเป็นฝนจากเทวดาเพราะเมล็ดข้าวเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ การตามล่าหาความหมายยังคงดำเนินต่อไปเนื่องจากยังไม่ได้บทสรุปที่แน่ชัด เพราะผู้อาวุโสแต่ละท่านล้วนสรุปไปตามความเข้าใจของตนเอง
ว่ากันว่าผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียวและประกอบกรรมดี จะได้อานิสงส์ไปเกิดในยุคพระศรีอริยเมตไตรย์ที่จะมาถึงในกาละข้างหน้าอันเป็นยุคสมัยของผู้ที่ถึงพร้อมด้วยศีล ธรรมจริยา
ในที่สุดก็มาถึงกัณฑ์สุดท้ายกัณฑ์ที่ ๑๓ รู้สึกปลื้มใจกับตัวเองนักที่อดทนกับความอยากที่จะขยุกขยิก อดทนกับอาการเหน็บชาอย่างถึงที่สุดตั้งแต่เช้าตรู่กระทั่งแดดบ่ายราแสงไป
“หมอเมือ๓ ร้านไปก่อนเด้อ เดี๋ยวสิไปช่วยเขาล้างจานก่อน” แม่ใหญ่บอกพร้อมกับเดินลิ่ว ๆ ไปทางโรงครัวของวัด ปล่อยให้ฉันยืดเส้นสายคลายความเมื่อยขบ หลังจากอาการเหน็บชาทุเลาฉันกลับพบแต่ความว่างเปล่า รองเท้าของฉันหายไป ! หรือว่าจะมีคนหยิบไปผิด แต่ถ้าเช่นนั้นก็ควรจะเหลืออีก ๑ คู่สิ แต่นี่เหลือแต่เจ้าดิ๊กหมาวัดที่นอนทำหน้าระแวงกลัวว่าฉันจะไปวุ่นวายอะไรกับมัน
เห็นจะเป็นอานิสงส์จากการมาทำบุญพระครูท่านคงสงสารจึงช่วยสงเคราะห์รองเท้าแตะฟองน้ำให้สวมกลับไป มิเช่นนั้นคงได้เดินเท้าเปล่ากลับบ้านอย่างแน่นอน… บุญรักษาจริง ๆ.
๑ เอิ้น – เรียก
๒ ลาย – ท่วงทำนองของเพลงพิณมีหลายทำนอง
๓ เมือ – กลับ