หญ้าคาหญ้าทิพย์จากสวรรค์

ทางอีศาน ฉบับที่๑๒ ปีที่๑ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๖
คอลัมน์: อัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์อีศาน
Column: Identity of the Esan Ethnics
ผู้เขียน: วีระ สุดสังข์


เมื่อนึกย้อนไปในอดีต ตั้งแต่การกำเนิดมนุษย์จนกระทั่งมนุษย์มีพัฒนาการในการสร้างที่อยู่อาศัย โดยโยกย้ายออกมาจากถ้ำหรือเพิงพักที่ใช้ใบไม้ปกเป็นหลังคาพอกันแดดกันฝน อย่างเช่นชนเผ่าตองเหลืองและชนเผ่าซาไก ที่ใช้ใบไม้ใบใหญ่ ๆ หนา ๆ มุงหลังคาเพิงพักพอเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวก่อนอพยพไปอาศัยอยู่แหล่งใหม่ แต่ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ใดเมื่อมีการสร้างบ้านเรือนและมุงหลังคาบ้านย่อมผ่านการทดลองใช้วัสดุอื่น ๆ มาแล้วพอสมควร ทั้งการใช้ใบกุง ใบชาด ใบสะแบง ใบตาล ใบลาน ใบจากและก้านใบหญ้าคา วัสดุที่ใช้ได้ดีที่สุดน่าจะเป็นใบจากและก้านใบหญ้าคาเท่านั้น

ก่อนที่ชุมชนใดจะกลายเป็นบ้านเป็นเมืองมีตึกสูงใหญ่ มีอาคารบ้านเรือนมุงหลังคาด้วยสังกะสีและกระเบื้อง ก่อสร้างกันด้วยอิฐด้วยปูน ต่างก็ผ่านการเป็นชุมชนหมู่บ้านขนาดเล็กแบบดั้งเดิมมาก่อนทั้งนั้น และชุมชนขนาดเล็กนั้นก็มักตั้งอยู่ในท้องทุ่ง ป่าเขาลำเนาไพร ริมฝั่งแม่น้ำ ห้วย หนองคลอง บึง แล้วจึงพัฒนากันต่อไปตามยุคตามสมัยชุมชนของผู้คนในชาติพันธุ์อีศานก็ไม่แตกต่างจากชุมชนใดในโลก เมื่อสร้างที่พักอาศัยก็เริ่มต้นจากการนำใบไม้มาสาน นำก้านใบหญ้าคามากรอง (ภาษาลาวเรียกการกระทำนี้ว่า “ไพหญ้า”) จากนั้นก็ใช้มุงหลังคาบ้าน กระท่อม และเพิงพัก แม้มาถึงยุคอุตสาหกรรมสังกะสีและกระเบื้องแล้ว หญ้าคาก็ยังมีประโยชน์ในการใช้มุงหลังคากระท่อมตามเรือกสวน ไร่ นา ฟาร์มสัตว์เลี้ยง และเพิงเล็ก ๆ ของร้านอาหาร ที่ไม่นิยมใช้ใบจากก็อาจจะเป็นเพราะว่าในอาณาเขตนี้ไม่มีกอจากนั่นเอง

หญ้าคาเป็นพืชเบิกป่าโดยแท้ เมื่อเมล็ดพันธุ์ไม้งอกขึ้นตามที่ดอน ที่โคก ที่เนินโล่ง ๆ ก้านใบหญ้าคานี่เองที่ช่วยคลุมไม่ให้พันธุ์ไม้เหล่านั้นตายลงเพราะแดดกล้าแผดเผา แต่ถ้าเมื่อใดไฟไหม้ป่าหญ้าคา พันธุ์ไม้เหล่านั้นก็จะถูกโหมไหม้อย่างหนักและอาจถึงตายไปเลย ยังหยัดอยู่ได้แต่หญ้าคาเท่านั้น เพราะเหง้าและรากอยู่ใต้ดิน หญ้าคาจึงเป็นพืชที่ทนทานต่อทุกสภาพอากาศ เติบโต ปราบไม่ตายง่าย ๆ แต่ก็ดีที่มันมีประโยชน์ต่อชาวบ้านฉะนั้นภารกิจหนึ่งของชาวบ้านหลังจากลงทำไร่ไถนาจนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิตขึ้นยุ้งฉางก็คือเกี่ยวหญ้าคามาไว้กรองสำหรับมุงหลังคา

ขอนึกย้อนไปถึงวัยเด็กของข้าพเจ้าเอง ช่วงหน้าแล้งหลังเก็บเกี่ยว ข้าพเจ้าเคยนั่งเกวียนไปเกี่ยวหญ้าคากับผู้ใหญ่หลายคน การเกี่ยวหญ้าคาต้องเลือกหญ้าที่สูงประมาณท่วมหัวและยังไม่ออกดอก เกี่ยวก้านชิดโคนมากที่สุดและต้องกำมือให้แน่น ถ้ากำหลวม ๆ จะรูดมือและคมจะบาดมือได้ เกี่ยววางตากแดดไว้หนึ่งถึงสองวันเพื่อให้แห้งและจะไม่เกิดเชื้อรา วันถัดไปจึงไปสางหญ้าคาการสางหญ้าคานี้ เขาจะใช้ไม้เนื้อแข็งทำเป็นลิ่มตอกลงบนไม้ท่อนที่มีขาหยั่ง กลายเป็นฟันไม้ลักษณะคล้ายคราดหงาย สางหญ้าคาเพื่อให้เศษใบต่าง ๆ ที่แก่ผุหลุดล่อนออกไป เหลือแต่ก้านใบที่สวยงาม แข็งแรง คงทน สางแล้วก็มัดเป็นฟ่อนใหญ่ ๆ บรรทุกใส่เกวียนกลับบ้าน เมื่อมาถึงบ้านก็ทำร้านสำหรับวางฟ่อนหญ้าคา ที่ไม่วางกองไว้บนดินก็เพราะกลัวมดปลวกจะแทะทำให้ก้านใบหญ้าคาผุพังได้ และต้องทำร้านไว้ห่างบ้านพอสมควรเพราะเกรงว่าหากไฟไหม้หญ้าคาไฟจะลามไหม้ไปถึงตัวบ้าน ผู้ใหญ่มักจะห้ามเด็ก ๆ เล่นไฟใกล้ร้านหญ้าคา

เมื่อได้หญ้าคามาพอสมควรแล้ว ผู้ใหญ่ก็จะเดินทางเข้าป่าอีกครั้งเพื่อเสาะหาต้นไม้ที่มีลำต้นขนาดนิ้วโป้ง ลำต้นตรง เนื้อแข็ง คงทน คุณภาพดีส่วนมากเป็นต้นลำดวน ต้นคันจ้อง ซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีปุ่มปมน้อย ยาวชะลูดประมาณเมตรครึ่งถึงสองเมตร และชาวบ้านรู้ว่าเป็นพันธุ์ที่มอดไม่กิน ขณะเดียวกันก็ยังเสาะหาเครือหรือเถาวัลย์สำหรับไพหญ้าด้วย ส่วนใหญ่จะใช้เครือย่านางที่เรี่ยอยู่กับพื้น เพราะมีเส้นเล็ก ยาว เหนียว และลื่นดีกว่าเถาวัลย์อื่นที่เหนียวหนืดไพหญ้าได้ไม่แน่นนอกจากนี้ก็ใช้เชือกปอพรานซึ่งเป็นไม้ป่าชนิดหนึ่งจนถึงวันนี้ก็เปลี่ยนมาใช้เชือกฟาง ซึ่งคงทนไม่แพ้เครือย่านาง ระหว่างไพหญ้าก็จะพรมน้ำให้หญ้าคาอ่อนนุ่ม ดึงเข้าไม้ได้แน่น หากไม่รีบร้อนที่จะใช้หญ้าคามุงหลังคา ชาวบ้านก็มักจะไพหญ้าเองไปทีละเล็กละน้อยจนเสร็จ แต่ถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วนก็จะมีการลงแขกไพหญ้า ข้าพเจ้าชอบการลงแขกไพหญ้า เพราะว่ามันเป็นงานที่อยู่ในร่มใต้ถุนบ้านหรือใต้ร่มไม้บริเวณบ้าน แขกที่มาไพหญ้าก็พูดคุยกันสนุกสนาน ผลัดกันเล่าเรื่องการทำมาหากินการล่าสัตว์ การผจญภัย จนถึงนิทานคติสอนใจ นิทานก้อม ตลก ขำขัน รับรู้ได้ถึงบรรยากาศที่อบอุ่นของคนในหมู่บ้าน ยิ่งได้จอกขันเหล้าสาโทเหล้าต้มกลั่นเข้าไปด้วยคนทำงานก็ยิ่งสนุก ปากก็พูดและหัวเราะ ขณะมือก็ทำงานไปโดยอัตโนมัติ

ช่วงหน้าแล้งหลังเก็บเกี่ยวนี้ ตกกลางคืนพรานจะออกล่าหนูพุก หนูชนิดนี้มีขนาดใหญ่เกือบเท่าแมว กับดักเอามันไม่อยู่เด็ดขาดจำเป็นต้องใช้ปืนแก๊ปและหน้าไม้ยิงตอนกลางคืน หรือไม่ก็ใช้น้ำเทลงรูตอนกลางวัน พอน้ำเต็มทุกรูหนูจะวิ่งออกมา พรานก็ดักจับอยู่ที่ปากรู ในป่าหญ้าคาเต็มไปด้วยหนูพุกที่ขุดรูลงไปเพื่อกินรากหญ้าคาเพราะรากหญ้าคามีรสหวานเหมือนน้ำอมฤตบริเวณป่าหญ้าคาจึงพรุนไปด้วยรูหนู ตอนกลางคืนหนูจะออกมาหากิน พรานนักล่ามีไฟส่อง พอไฟส่องเข้าตาหนูจะนิ่ง เป็นโอกาสให้พรานเล็งปืนและหน้าไม้ยิง พรานนักล่ามือแม่น ๆ ไม่เคยพลาดรุ่งเช้าก็ต้องได้กินคั่วหนู อ่อมหนูหรือย่างหนูอย่างแน่นอน แต่ข้าพเจ้าไม่ชอบเข้าป่าหญ้าคาเลยเพราะใบหญ้าคมเหมือนมีดโกน โดนจัง ๆ ก็เป็นรอยมีเลือดซึม ทั้งคันระคายอีกด้วย โดยเฉพาะป่าหญ้าคาหลังไฟไหม้แล้วเข้าช่วงฤดูฝน พอฝนตกลงมาหญ้าคาก็แทงยอดจากดิน มันแข็งและคมเหมือนตะปูก็ว่าได้ เดินตีนเปล่าเผลอเหยียบเข้าก็ปวดไปหลายวัน

อีกหนึ่งความทรงจำเกี่ยวกับหญ้าคาของข้าพเจ้าก็คือ มีครอบครัวหนึ่งในหมู่บ้าน ปลูกบ้านไม่ใหญ่โตกว่ากระท่อมมากนัก เพราะเป็นคู่ผัวเมียที่กำลังเพิ่งสร้างเนื้อสร้างตัว สองผัวเมียมีลูกชายอายุราว ๓ ขวบ ส่วนลูกสาวคนเล็กเพิ่งคลอดได้ไม่กี่เดือน ตอนค่ำเมียก็ก่อไฟหุงข้าวรอผัวกลับจากทำงาน โดยมีลูกชายเล่นอยู่ข้าง ๆ กัน แต่พอเผลอลูกจุดไม้ลำปอเล่นตามประสาเด็กแล้วก็ยกไม้ลำปอที่ติดไฟขึ้นสูงเหนือหัว บ้านที่มุงหลังคาด้วยหญ้าคาก็ไม่สูงนัก ไฟจากไม้ลำปอไหม้ชายหญ้าคาพอดีแล้วก็ลุกลามอย่างรวดเร็ว กว่าผู้เป็นแม่จะรู้สึกตัวก็สายไปเสียแล้ว แม้ลูกสาวที่นอนอยู่ในเปลยังไม่มีปัญญาจะไปอุ้มออกมาได้ทัน ชาวบ้านต่างมาช่วยดับไฟก็ดับไม่ลง เมื่อไฟเริ่มมอดดับลงก็เห็นแต่ร่างของทารกนอนหงาย กำมืออยู่บนพื้น ดำเป็นตอตะโก ทุกคนต่างรู้สึกเวทนาและร่ำไห้กันไม่น้อยกว่าผัวเมียคู่นั้น นับว่าเป็นโศกนาฏกรรมโดยแท้ ส่วนที่เป็นโทษของหญ้าคาก็น่าจะเป็นเพราะมันติดไฟได้เร็วจนไม่สามารถดับได้ทันนี่เอง

ข้าพเจ้าถือกำเนิดในบ้านที่มุงหลังคาด้วยหญ้าคา และแม้ต่อมาบ้านจะเปลี่ยนหลังคาเป็นกระเบื้องไม้และสังกะสีแล้วก็ยังเห็นเพื่อนบ้านญาติพี่น้องเพื่อนวัยเด็กหลายครอบครัวอาศัยอยู่ในบ้านมุงหญ้าคา ซึ่งเป็นบ้านที่อุ่นในฤดูหนาวและเย็นในฤดูร้อน เมื่อมีใครไปพักอาศัยในบ้านมุงหญ้าคาจึงเกิดเป็นสำนวนพูดกันว่า “พึ่งชายคา” ชายคาคือส่วนที่ยื่นออกจากตัวเรือน ที่ตรงนั้นเวลาฝนตกชายคาจะถูกฟั่นเกลียวกันด้วยหยาดน้ำฝนและเมื่อไม่มีหยาดน้ำฝนแมลงหวี่ก็มักจะเกาะกันอยู่ที่ชายคาเป็นกระจุก หรือไม่ก็จับเกาะกันอยู่ที่ก้านใบซึ่งหักห้อยลงมา เด็ก ๆ จะถูกสอนว่า ห้ามเอากล่องไม้ขีดไฟไปเหน็บไว้กับไพหญ้าคาที่มุงหลังคา เพราะกลัวแดดร้อนจัดจะทำให้ไม้ขีดไฟลุกเป็นประกายไหม้บ้านได้ นอกจากนี้ก็สอนว่าอย่าปล่อยให้พวกเครือบวบหรือพันธุ์ไม้เลื้อยไต่หลังคาหญ้าคา เพราะจะทำให้หญ้าคาผุพังเร็ว เวลากินข้าวเสร็จพวกผู้ใหญ่มักจะหักก้านหญ้าคามาแคะฟัน เวลาพายุฝนพัดกระหน่ำต่างก็กลัวกันมากเพราะลมพายุจะเปิดไพหญ้าคาขึ้นหรือหลุดลิ่วไปทำให้ฝนรั่วเปียกบ้าน ฉะนั้นบางครอบครัวจึงใช้ท่อนไม้ยาว ๆ ขนาดพอเหมาะมัดทับหลังคาที่มุงด้วยหญ้าคาอีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันเหตุดังกล่าว

หญ้าคานี้เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าด้วย ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ได้เสด็จไปยังต้นพระศรีมหาโพธิ์ ระหว่างทางก่อนถึงต้นพระศรีมหาโพธิ์ได้พบคนตัดหญ้าชื่อโสตถิยะ คนตัดหญ้าเกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระองค์จึงถวายฟ่อนหญ้ากุสะ (หญ้าคา) ๘ ฟ่อนเล็ก ๆ เมื่อทรงรับฟ่อนหญ้าคาแล้วก็เอามาปูลาดเป็นสันถัด ประทับนั่งบำเพ็ญเพียรที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์แล้วจึงสำเร็จพระอรหันต์ ต่อมาจึงมีพระพุทธรูปปางทรงรับหญ้าคา เป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถพระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายื่นออกมาข้างหน้า เป็นกิริยาทรงรับหญ้าคา บางแบบทำเป็นพระอิริยาบถทรงถือหญ้าคาก็มี บางแบบมีรูปพราหมณ์กำลังยื่นหญ้าคาถวายด้วย และเป็นเพราะหญ้าคามีความเกี่ยวเนื่องกันกับศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ในปัจจุบันจึงพรมน้ำมนต์ด้วยฟ่อนหญ้าคาและแม้แต่หมอพราหมณ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูก็พรมน้ำมนต์ด้วยฟ่อนหญ้าคา

ตำนานการเกิดหญ้าคาบางตำนานกล่าวว่าเมื่อครั้งที่เทพและอสูรร่วมกันกวนน้ำอมฤตเส้นผมของเทวดาที่ร่วมกันชักนาคเพื่อกวนน้ำนั้นหลุดร่วงลงในเกษียรสมุทรเป็นจำนวนมาก และถูกคลื่นซัดไปติดฝั่ง ต่อมาจึงงอกรากกลายเป็นต้นหญ้าคา บางตำนานกล่าวว่า เมื่อได้น้ำอมฤตจากกวนเกษียรสมุทรแล้ว พระนารายณ์ได้แปลงกายเป็นนางอัปสรกระเดียดหม้อน้ำอมฤตแจกให้เทวดาดื่ม ทำให้หม้อไปขูดผิวหนังที่เอวของพระนารายณ์ถลอก เศษหนังเมื่อตกสู่พื้นดินก็งอกเป็นหญ้าคา ดังนั้นจึงนับถือหญ้าคาว่าเป็นหญ้าศักดิ์สิทธิ์ เพราะเห็นว่าเกิดจากชิ้นส่วนของเทพผู้ยิ่งใหญ่

หญ้าคาเป็นจึงเป็นหญ้ามงคล ใช้เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ การทำพิธีการทั่ว ๆ ไป โดยนำมาพันรอบนิ้วนางข้างขวาแทนแหวน เชื่อกันว่าทำให้นิ้วนั้นบริสุทธิ์จะได้ใช้จุลเจิมประกอบพิธีต่าง ๆ ได้ใช้ในการอาบน้ำชำระบาป การประพรมน้ำศักดิ์สิทธิ์ การสรงสนานเทวรูปก็ใช้หญ้าคาโดยถือว่าเป็นของที่ทำให้บริสุทธิ์ นอกจากนี้ยังใช้หญ้าคาพันสายสิญจน์ในพิธีแต่งงานด้วย

ในชาติพันธุ์ลาวมีความเชื่อเรื่องผีปอบ ถ้าปรากฏว่าผีปอบเข้าคนในหมู่บ้าน ผู้นำหมู่บ้านก็จะประกาศให้แต่ละครอบครัวไปเกี่ยวหญ้าคามาเตรียมไว้ และนำหญ้าคามาถักเปียเหมือนเปียผมต่อกันทุกครัวเรือนจนอ้อมหมู่บ้าน นิมนต์พระมาสวดใส่หญ้าคาเสมือนหญ้าคาเป็นสายสิญจน์ เชื่อกันว่าผีปอบผีกระสือกลัวหญ้าคาแทงท้อง แทงพุง แทงไส้ ผีปอบจึงหนีไป เมื่อเสร็จพิธีแล้วจะสับเป็นท่อนแบ่งกันไปบูชา ถือว่าเป็นเครื่องรางของขลังชนิดหนึ่ง บางคราวถึงกับต้องแย่งกัน

ในชาติพันธุ์กวย เมื่อปู่ย่าตายายหรือพ่อแม่ตาย ญาติจะเลือกลูกหลานคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนจูงศพผู้ตายออกจากบ้านไปยังป่าช้าหรือเมรุ ภาษากวยเรียกว่า “เตือะซอยปรัง (จูงหางหญ้าคา)” ลูกคนนี้จะได้มรดกที่ผูกพันกับคนตายมากที่สุด

การก่อเกิดของชุมชนในทุกชาติพันธุ์ ส่วนใหญ่ตั้งชุมชนอยู่ในป่าลึก บ้างอยู่ริมแม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง บึง หรือไม่ก็ที่ราบสูงเชิงเขานอกจากต้องอาศัยหญ้ามุงหลังคาบ้านแล้ว ยามเจ็บไข้ได้ป่วยชาวบ้านก็ค้นพบว่าส่วนของใบหญ้าคาสามารถนำมาใช้เป็นยาต้มอาบ แก้ผดผื่นคัน แก้ลมพิษ และแก้ปวดเมื่อยตามร่างกายได้เป็นอย่างดีส่วนดอกหญ้าคาใช้ปรุงเป็นยารับประทานแก้ปวดนำมาตำเป็นยาพอกแผลอักเสบบวม ฝีมีหนองและอุจจาระเป็นเลือด ในส่วนของรากหญ้าคาก็นำมาใช้ปรุงเป็นยาแก้ร้อนใน แก้ไอ กระหายน้ำ เป็นยารับประทานเพื่อห้ามเลือด แก้เลือดกำเดาไหล และแก้พิษอักเสบในกระเพาะอาหาร นับว่าเป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่าที่สืบทอดมาถึงปัจจุบันนี้

หญ้าคามีก้านใบสูงประมาณ ๕๐-๑๕๐ เซนติเมตร ลักษณะก้านเป็นทรงกลมเรียวยาวขนาดเล็กประมาณไม้จิ้มฟัน จึงใช้จิ้มฟันได้ดีเช่นกัน ใบเป็นขนกระจุก ขอบใบคมกริบ ออกดอกเป็นช่อก้านยาวสีขาวคล้ายหางกระรอก เจริญเติบโตได้ดีทุกฤดูกาล แม้แต่ถูกไฟเผา ถูกเกี่ยว ถูกตัด ก็จะแตกหน่อขึ้นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ปัจจุบันนี้หญ้าคามีประโยชน์ในฐานะพืชเศรษฐกิจมีหลายหมู่บ้านแถบชายแดนเกี่ยวหญ้าคาและนำมากรองแล้วขายเป็นตับ ๆ มีผู้สนใจซื้อไปมุงหลังคากระท่อม คอกเลี้ยงหมู เล้าไก่ เล้าเป็ดหรือโรงเรือนต่าง ๆ จึงสร้างรายได้และเกิดทุนหมุนเวียนอยู่พอสมควร

หญ้าคาถือเป็นหญ้าทิพย์จากสวรรค์ก็ว่าได้เป็นหญ้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนกระทั่งมีศาสนา ทั้งศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและศาสนาพุทธก็เกี่ยวข้อง หญ้าคาจักดำรงอยู่ต่อไปตราบใดที่ยังมีแผ่นดินและจะเป็นหญ้าที่ให้ประโยชน์แก่มนุษย์ทุกชาติพันธุ์ตลอดไป

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
งานสงกรานต์ของคนอีสาน

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com