“หนังสือ” ไม่มีวันตาย

หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย “หนังสือจดหมายเหตุ (บางกอกรีคอร์เดอร์)” โดย หมอบรัดเลย์
ฉบับปฐมฤกษ์วางตลาดเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๘๗

สำหรับประเทศไทย ถือกันว่า “หมอบรัดเลย์” มิชชันนารีชาวอเมริกัน เป็นผู้นำแท่นพิมพ์และตัวพิมพ์อักษรไทยมาใช้ในประเทศไทยเป็นคนแรกเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๘

ย้อนก่อนหน้านั้น นับจาก พ.ศ.๒๒๒๙ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส ได้ศึกษาเรื่องโรงพิมพ์ และนำความรู้กลับมาด้วย แต่ก็หยุดพัฒนาไปในสมัยสมเด็จพระเพทราชา

พ.ศ.๒๓๕๖ ภรรยาบาทหลวงชาวอเมริกันที่เมียนมาร์ได้พบเชลยคนไทยที่ถูกกวาดต้อนไปเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่สอง จึงได้ศึกษาภาษาไทยพร้อมออกแบบตัวพิมพ์เพื่อเผยแผ่คำสอนศาสนาของตน ต่อมาได้นำแท่นพิมพ์เข้าไปในประเทศพม่า จึงมีการพิมพ์ตัวหนังสือไทยเป็นครั้งแรก

พ.ศ.๒๓๖๒ เกิดสงครามระหว่างเมียนมาร์กับอังกฤษ บาทหลวงคู่สามีภรรยานำตัวพิมพ์ไทยไปที่ประเทศอินเดียด้วย ที่นครกัลกัตตานี้เอง นายเจมส์โลว์ได้จัดพิมพ์หนังสือไทยขึ้นชื่อ ตำราไวยากรณ์ไทย

เมื่อย้ายแท่นพิมพ์ไปที่สิงคโปร์อีก หมอบรัดเลย์จึงรับมอบแท่นพิมพ์และขนย้ายมากรุงเทพฯ ถึงวันนี้นับเวลาที่เรามีแท่นพิมพ์มาแล้วเพียง ๑๘๗ ปี ห่างจากปีที่คิดแท่นพิมพ์ขึ้นบนโลกนี้ถึง ๕๗๒ ปี

หนังสือเป็นเครื่องมือสื่อสารด้วยภาษา เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างภูมิปัญญาสร้างวิธีคิดวิธีทำงาน สร้างจารีตประเพณี สร้างประวัติศาสตร์ สร้างอำนาจและการรักษาอำนาจ
ในห้วงคืนวันแห่งการปฏิวัติประชาธิปไตย พ.ศ.๒๔๗๕ วัฒนธรรมการพิมพ์การอ่านหนังสือได้นำองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาสู่สังคมไทย รวมถึงกระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ และปัญญาชนชั้นกลางในภาคอีสานก็เช่นกัน ต่างได้ข้อมูลความรู้ข่าวสารจากการอ่านอย่างกว้างขวาง

จนถึงยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน พ.ศ.๒๕๑๖ นับเป็นช่วงแห่งการผลิตหนังสือออกมาอย่างมากมาย จนถึงกับทำให้ธุรกิจหนังสือเป็นทางเลือกลำดับต้น ๆ ของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในสมัยนั้น

แต่ด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง ทำให้วัฒนธรรมการอ่านของสังคมไทยยังไม่หนักแน่นมั่นคง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับโลกตะวันตก พลเมืองของเขาอยู่กับหนังสือและสืบทอดกันมาหลายร้อยปี ส่วนเมืองไทยเราเปรียบไปเพียงหน่ออ่อนที่กำลังโต แล้วโลกก็วิวัฒน์เข้าสู่ยุคดิจิตอล เกิดโซเชียลมีเดียดูดดึงคนให้ก้มหน้าอยู่กับจอมือถือ บวกรวมกับวิกฤติโรคโควิด ตามด้วยปัญหาเศรษฐกิจสังคมการเมือง วงงานหนังสือทั้งระบบจึงซวนเซ และต้องปรับปรุงเพื่อพัฒนากันอีกขนานใหญ่

สำหรับคนไทยผู้เกิดในยุคของหนังสือกระดาษ และโดยเฉพาะผู้มีอาชีพมีธุรกิจธุรกรรมในวงงานหนังสือ หัวเด็ดตีนขาดก็ยังยืนยันว่า “หนังสือ” ไม่มีวันตาย

Related Posts

บทที่ 9 แบ่งปัน
ปิดเล่ม ทางอีศาน 127
นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ 127
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com