พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ที่จะเป็นต้นแบบในการสร้างศิลปะในนาบุญ ข้าวหอม ประจำปีนี้
หอมข้าวละมุนที่นาบุญข้าวหอม
“๗ กันยายน ๒๕๖๒ อีกหนึ่งความทรงจำที่ได้เกิดมาในแผ่นดินรัชกาลที่ ๙ และ รัชกาลที่ ๑๐ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกความทรงจำ ปลูกข้าวเป็นรูปพ่อหลวง ๐๙.๐๐ น. เป็นต้นไป”
นี่คือข้อความเชิญชวนที่ปรากฏบนหน้า แฟนเพจ เฟซบุ๊ก ที่ชื่อ “เที่ยวทุ่งกับลุงจี๊ด #นาบุญข้าวหอม” ซึ่ง “ลุงจี๊ด” ท่านนี้จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก คุณนริษ เจียมอุย หรือ “บุญข้าว บุญชีวิต” เจ้าของนาบุญข้าวหอม ณ หมู่บ้านสะพานยี่หน ตำบลไร่ส้ม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ผู้ทุ่มเทชีวิตให้กับการฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมชาวนาแบบดั้งเดิม สวนทางกับรถไถนา รถเกี่ยวข้าว ที่กรีฑาทัพเข้าไปยื่นข้อเสนอให้ชาวนา หันมาใช้เครื่องจักรกลการเกษตรพร้อมกับใช้ปุ๋ยเคมี และยากำจัดศัตรูพืช จนคนไทยวันนี้เหมือนคนป่วยทั้งประเทศจากการรับพิษภัยสารเคมี ซึ่งมีนายทุนใหญ่ ผู้ร่ำรวยติดอันดับโลกหลายคน มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเข้าสารพาราควอต
ตามปี ๒๕๖๐ ไทยนำเข้าสารพาราควอตถึง ๔๔,๕๐๑ ตัน มูลค่า ๓,๘๑๖ ล้านบาท เป็นมูลค่าสูงเป็นอันดับหนึ่งของวัตถุอันตรายที่นำเข้ามาในไทย ตามด้วยสารไกลโฟเซต ที่ไทยนำเข้า ๕๒,๘๕๒ ตัน คิดเป็นมูลค่า ๓,๒๘๓ ล้านบาท ที่สำคัญนายทุนกลุ่มนี้ยังมีอิทธิพลใน “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” ซึ่งเมื่อต้นปีนี้ มีมติ 16 ต่อ 5 เสียง สนับสนุนให้นำเข้าสารพาราควอต หนึ่งในสารเคมีอันตรายทางการเกษตรต่อไป ทั้ง ๆ ที่หลายประเทศ “แบน” สารอันตรายชนิดนี้
เช่นนี้แล้ว คนไทยจะไม่ป่วยกันทั้งประเทศได้อย่างไร
พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ศิลปะในแปลงนาบุญข้าวหอมของคุณนริษ เจียมอุย (ภาพ – สมศักดิ์ ล่ำพงษ์พันธ์)
“นาบุญข้าวหอมไม่ใช่ร้านกาแฟกลางทุ่งนา หรือทุ่งนามีกาแฟขาย แต่คือนาข้าวที่เราปลูกข้าวกันจริง ๆ เป็นข้าวอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็เป็นสถานที่พักผ่อนในวันหยุดที่สามารถสั่งอาหารชุดปิ่นโตล่วงหน้าได้เหตุผลเพราะต้องคัดเลือกอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมีมาผลิต จะไม่มีการสต็อกวัตถุดิบที่มีความเสี่ยงทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากร แล้วเรากำลังจัดทำหลักสูตรวิถีข้าว วิถีคน โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นฐานองค์ความรู้”
นริษ เจียมอุย หรือครูจี๊ด ในฐานะประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีไทยไร่ส้ม ยังร่วมมือกับสภาวัฒนธรรมตำบลไร่ส้ม องค์การบริหารส่วนตำบลไร่ส้ม และกรมการข้าว จัดกิจกรรมฟื้นฟูวัฒนธรรมข้าว และวิถีชีวิตชาวนาไทย เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลงในการทำนา ส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอันส่งผลให้ทั้งเกษตรกรผู้ผลิต และประชาชนผู้บริโภคปลอดภัยจากสารเคมีและยาฆ่าแมลง
นอกจากนั้น ยังเป็นการฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาการทำนา อาทิ การนวดข้าวด้วยวัวแบบดั้งเดิม การลงแขกเกี่ยวข้าว พิธีกรรมทำขวัญข้าว บูชาพระแม่โพสพ ที่นับวันจะสูญหายไปจากสังคมไทย กิจกรรม “ลานข้าวเล่าเรื่อง” ที่นาบุญข้าวหอมจัดขึ้น จึงเป็นการสืบสานหรือต่ออายุวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทยให้ดำรงคงอยู่ และเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้เรียนรู้อีกด้วย
“การสืบทอดภูมิปัญญาที่ตกผลึกระหว่างความเชื่อในธรรมชาติกับความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา เป็นองค์ความรู้ อันเต็มไปด้วยกุศลธรรมนำมาซึ่งความสุข ความยั่งยืนมั่นคงต่อชีวิตผู้คนสัตว์ สิ่งแวดล้อม สื่อสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งคือวิถีชาวนาไทย”
กิจกรรมปลูกข้าวเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และเป็นรูปแม่โพสพ เทวะนารีผู้บันดาลความอุดมให้ท้องทุ่งนา ตามคติความเชื่อของคนไทยแต่ดั้งเดิม เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่นาบุญข้าวหอมจัดขึ้นในวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๒ จึงไม่น่าแปลกใจที่ “ครูจี๊ดใจดี” ของเด็ก หรือคุณนริษ เจียมอุย จะได้รับยกย่องเป็น “ผู้มีผลงานดีเด่นด้านการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมข้าว” ในงานเปิดตัวหนังสือ “สู่ขวัญข้าว พระเจ้าแผ่นดิน” จัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ส่วนนายทุนใหญ่ผู้สร้างความมั่งคั่งให้ตนเองด้วยการมีผลประโยชน์กับการนำเข้าสารเคมีอันตราย สมควรหรือไม่ ที่จะได้สมญานาม “ฆาตกรเลือดเย็น”
หมายเหตุ ติดตามกำหนดการจัดกิจกรรมตลอดทั้งปีของนาบุญข้าวหอม ได้ทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก “เที่ยวทุ่งกับลุงจี๊ด#นาบุญข้าวหอม” และเพจ “บุญข้าว บุญชีวิต”
เด็ก ๆ ไปเรียนรู้วิถีชาวนาไทยกับครูจี๊ด ใจดี ที่นาบุญข้าวหอม (ภาพจากเพจ เที่ยวทุ่งกับลุงจี๊ด)ฝรั่งตาน้ำข้าว ยังมาเรียนดำนากับลุงจี๊ด (ภาพจากเพจ เที่ยวทุ่งกับลุงจี๊ด)กิจกรรมในงาน “ลานข้าวเล่าเรื่อง” ที่นาบุญข้าวหอม จัดขึ้นทุกปี (ภาพ – จิรา ชุมศรี)การนวดข้าวด้วยวัวแบบดั้งเดิม ยังหาดูได้ที่นาบุญข้าวหอม (ภาพ – จิรา ชุมศรี)พิธีบายศรีสู่ขวัญข้าว บูชาพระแม่โพสพ ที่นาบุญข้าวหอม (ภาพ – จิรา ชุมศรี)คุณนริษ เจียมอุย ได้รับการยกย่องเป็น “ผู้มีผลงานดีเด่นด้าน การอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมข้าว” (ภาพ – จิรา ชุมศรี)