อนาคตอีสาน เกษตรกรรายย่อยจะอยู่รอด ต้องติดอาวุธปัญญา
ทางอีศาน ฉบับที่๗ ปีที่๑ ประจำเดือนพศจิกายน ๒๕๕๕
คอลัมน์: เรื่องจากปก Column: Cover Story
ผู้เขียน: ทองแถม นาถจำนง
ภาพ: ธมนันท์ ประทุม
มองอดีตโดยสังเขป
หมุดหมายสำคัญทางเศรษฐกิจสังคมของภาคอีสานตามยุคสมัยคือ
๑. ช่วงปฏิรูปการปกครองในรัชกาลที่ห้า
๒. ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕
๓. ช่วงเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แผนที่ ๑-๗
๔. ช่วงเริ่มโลกาภิวัตน์มาจนถึงประชาคมอาเซียน
บทความนี้จะไม่ย้อนอดีตกล่าวถึงประวัติศาสตร์ เพียงขอตั้งข้อสังเกตว่า ภัยคุกคามจากฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ห้ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงด้านวัฒนธรรมของภาคอีสานอย่างใหญ่หลวง การปฏิรูปการปกครองเป็นระบบเทศาภิบาล การสร้างทางรถไฟไปถึงโคราช ความต้องการแรงงานอีสานมารับจ้างทำนาในภาคกลางเพื่อปลูกข้าวส่งขายต่างประเทศ การขยายตัวของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติฯ เหล่านี้ทำให้สังคมภาคอีสานเริ่มเปลี่ยนแปลง
แล้วอัตราเร่งในการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ มีการเมืองระบบเลือกตั้ง เกิดผู้นำทางการเมืองที่มีจิตสำนึกผลักดันการพัฒนาการเมืองและเศรษฐกิจของภูมิภาคอีสาน เกิดขบวนการผู้รักชาติรักประชาธิปไตยมีบทบาทดีเด่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ความขัดแย้งการต่อสู้ทางการเมืองภายในประเทศ และผลของ “สงครามเย็น” ทำให้การพัฒนาสะดุด ด้วยข้อหา “คอมมิวนิสต์” บ้าง “แบ่งแยกดินแดนอีสาน” บ้าง
สหรัฐอเมริกาเข้ามากำกับควบคุมประเทศไทยอย่างเต็มที่ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประเทศไทยเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามทิศทางที่สหรัฐอเมริกากำหนด ผลจากการนำพาประเทศเดินตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมนั้น มีทั้งผลดีและผลร้าย แต่สรุปผลสี่สิบปีแล้ว ผลเลวร้ายมีมากกว่า
แนวทางของแผนพัฒนาฯ ในช่วงทศวรรษต่าง ๆ นั้น มีท่านผู้รู้สรุปไว้อย่างกระชับดังนี้
ปี ๒๕๐๔-๒๕๑๒ จุดเปลี่ยนวิถีชุมชน ถ่ายเทชาวนาเป็นกรรมกร, ใช้ทฤษฎี “การพัฒนาที่ไม่สมดุล” (Unequal Development Theory)
ปี ๒๕๑๒ – ๒๕๒๑ ปฏิวัติเขียว ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ใช้ปุ๋ย ใช้สารเคมี (ยาพิษ), ปลูกฝังลัทธิบริโภคนิยม เศรษฐกิจทุนนิยมขยายตัว “ทุน” เข้ามาควบคุมการเมือง, เข้าป่า – เข้าเมือง ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ แต่ในที่สุดแนวทางการปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธต้องพ่ายแพ้
ปี ๒๕๒๑ – ๒๕๓๑ วิกฤติน้ำมัน, เกิดแผนแก้ปัญหาความยากจนในชนบท, ประคับประคองตัวรอด
ปี ๒๕๓๑ – ๒๕๔๐ พัฒนาเป็นนิคส์ (NICs) เศรษฐกิจฟองสบู่ ปั่นราคา หลอกตัวเองจนเจ๊ง
ปี ๒๕๔๑ – ๒๕๕๐ กลับสู่รากฐาน (Back to basics), พัฒนาคน พัฒนาชุมชน
ปี ๒๕๕๑ – ๒๕๕๕ (แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๐) ให้ความสำคัญต่อการเริ่มต้นจากชุมชน (bottom up) แต่กลุ่มอำนาจทางการเมืองไม่ใส่ใจ
แผน ๑๑ ปี ๒๕๕๕ – ๒๕๕๙ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมก็กำหนดไว้ดี แต่กลุ่มอำนาจทางการเมืองก็คงไม่ใส่ใจนำไปปฏิบัติเช่นเคย
มองแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแผนที่ ๑๑
สาระสำคัญของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ สรุปได้ดังนี้
เป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ชี้นำทิศทางการพัฒนาประเทศระยะกลาง เพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์ระยะยาว ที่ทุกภาคส่วนในสังคมไทยได้เห็นพ้องร่วมกันกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ปี พ.ศ.๒๕๗๐ ซึ่งกำหนดไว้ว่า
“คนไทยภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีมิตรไมตรีบนวิถีชีวิตแห่งความพอเพียง ยึดมั่นในวัฒนธรรม ประชาธิปไตย และหลักธรรมาภิบาล การบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่ทั่วถึง มีคุณภาพ สังคมมีความปลอดภัย และมั่นคง อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี เกื้อกูลและเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ระบบการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานอยู่บนฐานทางเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองและแข่งขันได้ในเวทีโลก สามารถอยู่ในประชาคมภูมิภาคและโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี”
วิสัยทัศน์และพันธกิจ การพัฒนาประเทศในระยะ ๕ ปีของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ กำหนดไว้ดังนี้
วิสัยทัศน์ คือ “สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง”
พันธกิจ คือ
๑) สร้างสังคมเป็นธรรมและเป็นสังคมที่มีคุณภาพ ทุกคนมีความมั่นคงในชีวิต ได้รับการคุ้มครองทางสังคมที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรและกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาค ทุกภาคส่วนได้รับการเสริมพลังให้สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา ภายใต้ระบบบริหารจัดการภาครัฐที่โปร่งใส เป็นธรรม
๒) พัฒนาคุณภาพคนไทยให้มีคุณธรรม เรียนรู้ตลอดชีวิต มีทักษะและการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย สถาบันทางสังคมและชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง สามารถปรับตัวรู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง
๓) พัฒนาฐานการผลิตและบริการให้เข้มแข็งและมีคุณภาพบนฐานความรู้ความคิดสร้างสรรค์และภูมิปัญญา สร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ปรับโครงสร้างการผลิตและการบริโภคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม
๔) สร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ยุทธศาสตร์การพัฒนาในระยะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
ยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมในสังคม
ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ความเข้มแข็งภาคเกษตร ความมั่นคงของอาหารและพลังงาน
ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน
ยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม
ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
(สามารถอ่านรายละเอียดได้จาก “ราชกิจจานุเบกษา” หรือเปิดอ่านจาก google)
แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ เขียนไว้ดี แต่ปัญหามันก็เป็นเหมือนอย่างที่แผนพัฒนาฯ ฉบับนี้สรุปเอาไว้เองว่า
“การบริหารภาครัฐอ่อนแอ ไม่สามารถขับเคลื่อนการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อำนาจรัฐถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนและระหว่างประชาชนกับประชาชนในบางพื้นที่มีช่องว่างมากขึ้น ประชาชนมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นแต่การมีส่วนร่วมตัดสินใจในระดับนโยบายมีน้อย เจ้าหน้าที่รัฐย่อหย่อนในการปฏิบัติตามหน้าที่ การบังคับใช้กฎหมายไม่จริงจังขณะที่ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นชี้ให้เห็นว่ายังคงมีการทุจริตประพฤติมิชอบและไม่โปร่งใสนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในมิติเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือของต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย”
ส่วนปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยก็ไม่สามารถรองรับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยได้ ยังคงพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกประเทศ ทั้งการส่งออกสินค้า การลงทุน และการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศอย่างมาก จึงมีความอ่อนไหวต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและปัจจัยแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป การขยายตัวทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับปัจจัยการผลิตดั้งเดิมโดยเฉพาะทุน และแรงงานราคาถูกที่มีผลิตภาพการผลิตต่ำ เป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศยังมีความเหลื่อมล้ำประชาชนระดับฐานรากซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรมีรายได้น้อยเมื่อเทียบกับนอกภาคเกษตรประสบความยากจนและมีปัญหาหนี้สินเป็นปัจจัยบั่นทอนความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย
เกษตรกรรายย่อยในอีสานก็คือ ประชาชนระดับฐานรากที่มีรายได้น้อย มีปัญหามากมายซึ่งแก้ไขไม่ได้ด้วยนโยบายประชานิยมหาเสียงทางการเมือง เกษตรกรรายย่อยในอีสานจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ จะต้องปรับตัวทั้งในด้านค่านิยมความเชื่อและความรู้ในการเกษตรยุคปัจจุบัน
ลักษณะพิเศษของโลกาภิวัตน์ หรือทุนนิยมขั้นที่ ๔
“ทุนนิยมโลกาภิวัตน์” พัฒนาจนมีลักษณะแตกต่างไปจากระบบทุนนิยมในอดีต นี่เป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจ เพื่อรู้เท่าทัน จะได้สร้างภูมิคุ้มกันไว้รับมือกับทุนสากล แต่เรื่องนี้มีรายละเอียดมาก (หนังสือ “ทุนนิยมสี่ขั้น” โดย ทองแถม นาถจำนง สำนักพิมพ์สุขภาพใจ) ในที่นี้จะขอเสนอข้อสรุปสั้น ๆ เท่านั้น
ลักษณะพิเศษของทุนนิยมโลกาภิวัตน์คือ
๑. ทุนนิยมพัฒนาขึ้นเป็น “ทุนนิยมโลก” อย่างแท้จริง การปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศได้ทำลายพรมแดนประเทศ ทำให้ “ทุนสากล” สามารถเข้าควบคุมได้ทุกหัวระแหง
๒. ทุนการเงินมีอิทธิพลเหนือทุนการผลิตธุรกรรมทางการเงินสร้างกำไรได้สูงกว่า “ภาคการผลิต”
๓. ตลาดการเงินไร้เสถียรภาพ
๔. หลงมายาของเครดิต (หนี้สิน) เกือบทุกประเทศตกเป็นเหยื่อของการสร้างหนี้สาธารณะ “ทุน” ได้ประโยชน์ แล้วผลักหนี้สินให้กลายเป็นหนี้ของพลเมือง (หนี้สาธารณะ) วิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกาและยุโรปขณะนี้ เกิดจากความฉ้อฉลของธุรกรรมการเงิน และการโยนบาปให้พลเมืองเป็นหนี้
๕. เศรษฐกิจใหม่ (NEW ECONOMY) หรือเศรษฐกิจไร้น้ำหนัก ที่มีรากฐานจากการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้กฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจหลายส่วนเปลี่ยนไป เป็นต้นว่าหลักกฎเกณฑ์ในอดีตคือ สินค้าที่หายาก มีน้อยย่อมราคาแพง แต่ในธุรกิจสารสนเทศ หลักกฎเกณฑ์คือสินค้าที่มีมาก หาได้สะดวก มีผู้ใช้เยอะ จะหาผลกำไรได้มาก อย่างเช่นการเติบโตทางธุรกิจของเฟซบุ๊ค เป็นต้น ธุรกิจแนวนี้แข่งขันกันให้มีผู้ใช้มาก ๆ ยิ่งมากจะยิ่งมีรายได้สูงขึ้น
ธุรกิจที่มีศักยภาพในการพัฒนาสร้างรายได้ (กำไร) ได้ดี ในยุคนี้คือ เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร อินเตอร์เน็ต, ปัญญาคือทรัพย์สินที่มีค่าสูง สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ แบรนด์เนม (ยี่ห้อ) การโฆษณาการบริการทางการเงิน การขายคำปรึกษา, การแลกเปลี่ยนทางการเงิน, การบริการด้านสุขภาพ, ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพ, การศึกษา (โรงเรียน มหาวิทยาลัยนานาชาติ), ธุรกิจเกี่ยวกับฐานข้อมูล ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ สื่อไฮเทคเครือข่ายการถ่ายทอดสัญญาณ, เทคโนโลยีชีวภาพเภสัชศาสตร์ การแพทย์ (ฮับการแพทย์ โรงพยาบาลนานาชาติ)
ชนชั้นบนในสังคมไทยรับรู้เรื่องนี้ดี ทุนใหญ่ทุนขนาดกลางของไทยไม่เพียงเตรียมตัวพร้อมแล้วแต่ยังรุกคืบหน้าไปมากด้วย เป็นต้นว่า ยุทธศาสตร์อาหารสำเร็จรูปของเซเว่น-อีเล็ฟเว่น จะลงไปถึงระดับหมู่บ้านต่างจังหวัด, ยุทธศาสตร์ข้าวของซีพีจะพัฒนาการทำนาเป็นอุตสาหกรรมฟาร์มขนาดยักษ์ ใช้เครื่องจักรกล โดยรวบรวมที่ดินจากเกษตรกรรายย่อย จัดตั้งชาวนาในรูปสหกรณ์แบ่งปันรายได้กับซีพี ซึ่งอาจจะพัฒนารูปแบบจากสหกรณ์ชาวไร่อ้อย, ฮับทางการแพทย์ ที่จะดึงเอาบุคลากรไป จนทำให้คนไทยชั้นกลางและชั้นล่างเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ยากขึ้น ฯลฯ
ชนชั้นบนรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ แต่ชนชั้นล่างเล่า !
เราจะต้องช่วยกันสื่อสารให้พวกเขารับรู้ และปรับตัวให้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง
๖. บรรษัทข้ามชาติผูกขาดการค้าโลก
๗. องค์กรโลกาภิมุข (องค์กรเหนือรัฐ) เช่นธนาคารโลก, IMF ฯลฯ มีอิทธิพลมาก
๘. การค้าจะเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (trade block) เช่นที่ประเทศในอาเซียนจะร่วมเป็นประชาคมอาเซียน ในปี ๒๕๕๘ นี้
๙. วิกฤติทางจริยธรรม ความสัมพันธ์ของมนุษย์ถูกแทนที่โดยการซื้อขายแลกเปลี่ยนสังคมแบบซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นสังคมที่ทุกคนต่างดูแลผลประโยชน์ตัวเอง ต้องแก่งแย่งแข่งขันในระบบสังคมแบบนี้การคำนึงถึงศีลธรรมอาจเป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาความร่ำรวย จึงไม่ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางสังคม และหย่อนยานในเรื่องคุณค่าทางศีลธรรม
การรวมกลุ่ม Trade Block ประชาคมอาเซียน
คนอีสานต้องยอมรับว่า เราจะหลบเลี่ยงจากการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนไม่ได้แล้วถึงเราจะหนีอย่างไรมันก็ตามมาถึงทุกหัวระแหง
ความเป็นประชาคมอาเซียนนั้น มันไม่เพียงจะลากดึงให้คนอีสานต้องผูกพันกับเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียนอีกเก้าประเทศเท่านั้น แต่มันผูกโยงกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่สำคัญคือสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีนและอินเดียด้วย
ลาวกลายเป็น “หม้อแบตตารี่” ของสุวรรณภูมิ สร้างเขื่อนขายไฟฟ้า, ท่าเรือน้ำลึกทวาย และ “ระเบียงตะวันตก-ตะวันออก” เชื่อมอันดามันกับแปซิฟิค ก็เป็นผลจากการวิจัยและผลักดันของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียตั้งแต่สี่สิบปีที่แล้ว
ระบบโลจิสติกส์ในอีสาน เหนือ – ใต้, ออก – ตก กำหนดกันเอาไว้นานแล้ว
ทรัพยากรใต้ดิน, ดิน – น้ำ อีสาน, แรงงานอีสาน ฯลฯ จะถูกใช้อย่างไร ถูกกำหนดโดยสำนักยุทธศาสตร์ของประเทศทุนนิยมศูนย์กลางไว้แล้วโดยมีจีนเป็นตัวเล่นที่เข้ามาทีหลังแต่ก็มีอิทธิพลสูงมาก
ขอสรุปยุทธศาสตร์เปลี่ยนแปลงอีสานอย่างกว้าง ดังนี้
สิ่งที่ “ทุนสากล” ต้องการจากอีสาน คือพลังงาน, อาหาร, สินแร่ใต้ดิน, นิคมอุตสาหกรรมและแรงงาน ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร (ทำเป็นระบบอุตสาหกรรม ฟาร์มขนาดยักษ์ ใช้เครื่องจักรกล)
ในอนาคตภาคอีสานจะเกิดนิคมอุตสาหกรรมใหม่เป็นจำนวนมาก สิ่งที่ตามมาคือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเติบโต ขณะนี้อสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดนครราชสีมาและอุดรธานีกำลังบูมมาก
รัฐบาลพยายามโฆษณาเรื่อง “นิคมอุตสาหกรรมสีเขียว” เพื่อบั่นทอนการต่อต้านแต่ภาคประชาชนก็ไม่ควรมึนชา ต้องติดตามตรวจสอบตลอดไป เพราะขึ้นชื่อว่านิคมอุตสาหกรรมแล้ว ก็ยากที่จะเขียว (Green) แท้จริง
เรื่องการถือครองที่ดินก็น่าเป็นห่วง ตามที่เอ็นจีโอพูดกัน สิทธิ์การถือครองที่ดินนั้นถูกถ่ายเทไปเป็นของต่างชาติเป็นจำนวนมากแล้ว
แรงงานจะถ่ายเทจากภาคเกษตรกรรม มาสู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการมาก
ชุมชนจะกลายเป็น “เมือง” (Urbanization) ไปหมด และจุดที่น่าห่วงคือ มันเป็นการพัฒนาอย่างมืดบอด มีปัญหาที่สำคัญคือการระบายน้ำต่อไปนี้ตัวเมืองจะถูกน้ำท่วมเมื่อฝนตกหนักทุกครั้ง
การทำการเกษตรก็จะถูกแทนที่ด้วยระบบฟาร์มขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องจักรกล การทำนาก็จะกลายเป็นระบบที่เครือเจริญโภคภัณฑ์เรียกว่า “อุตสาหกรรมข้าว” โดยรวมที่ดินเป็นฟาร์มยักษ์รวมเกษตรกรรายย่อยจัดตั้งเป็นสหกรณ์ อ้างข้อดี
๑. ทำการปฏิรูปที่ดินได้ง่ายขึ้น
๒. วางระบบคลองส่งน้ำ ชลประทานได้ง่ายขึ้น
๓. คุ้มค่ากับการนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้
๔. การเข้าถึงและการใช้เทคโนโยลีจะมีประสิทธิภาพมากกว่า
โดยจะนำโมเดลสหกรณ์ (ลูกไร่) ชาวไร่อ้อยมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมข้าว
ส่วนแรงงานที่ล้นเกินเพราะเครื่องจักรมาแทนที่ จะต้องไปขายแรงงานในโรงงาน หรือภาคบริการ
อีสานมีทรัพยากรใต้ดินมหาศาล ทั้งพลังงานน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ทั้งแร่โปแตสทั้งทองคำ ทั้งหินอุตสาหกรรม (กำลังแก้กฎหมายให้ทำเหมืองหินอุตสาหกรรมในเขตวนอุทยานได้)
น่าห่วงว่า สัมปทานทรัพยากรเหล่านี้ถูกขายไปเกือบหมดแล้ว โดยชาติไทยเสียเปรียบ และผลประโยชน์ไม่ตกถึงชุมชนและพลเมืองเจ้าของพื้นที่เลย
ความพยายามขุดแร่โปแตสจะแรงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะนี้แนวโน้มคือ รัฐบาลไทยตั้งโครงการอาเซียนโปแตส หาองค์การรัฐวิสาหกิจไทยมาสวมหัวโขนเป็นตัวนำหน้า มีข่าวว่าพยายามจะให้บริษัทน้ำมันบางจากมารับหน้าที่ แล้วอ้างว่าเป็นการลงทุนร่วมกันของอาเซียน แต่ทุนที่ต้องการแร่โปแตสมากที่สุดคือจีน ซึ่งนายกรัฐมนตรีจีน นายเวินเจียเป่าได้กดดันให้ไทยยอมให้จีนเข้าร่วมทุน
ถ้าหากภาคประชาชนพ่ายแพ้ ไม่อาจต้านทานเหมืองโปแตสได้ สิ่งที่คนไทยจะได้รับคือ “เกลือ” ที่ถูกทิ้งไว้ปริมาณมหาศาล อันจะทำลายให้ดิน-น้ำ อีสาน “เค็มปี๋” สภาพแวดล้อมการเกษตรวายวอดไปแน่
ความจริงอีสานรุ่งเรืองได้โดยไม่ต้องขุดแร่โปแตสขึ้นมา
สินค้าทำรายได้ดีในอนาคตคือ พลังงานและอาหาร สองสิ่งนี้เราสามารถทำมันขึ้นมาได้จากพื้นดิน ซึ่ง “ทุน” ก็ทำอยู่แล้ว
นั่นคือ พลังงานจากเอทานอล ซึ่งได้จากอ้อยและมันสำปะหลัง
อาหารมากมายที่เป็นครัวให้โลกได้ก็เพาะปลูกได้ในอีสาน และยิ่งถ้าระบบชลประทานทำได้ดีได้มากขึ้น ชาวอีสานก็สามารถมีรายได้จาก “อาหาร” ตลอดไป เพราะสภาพแวดล้อมไม่เน่าเสีย
อีสานน่าเป็นห่วงเพราะกำลังอยู่บนทางแพร่งถ้ารัฐบีบบังคับให้เดินไปตามเส้นทางสายละโมบรีบขุดทรัพยากรแร่ธาตุใต้ดินขึ้นมา จะทำให้ภาวะแวดล้อมของอีสานเสียหายจนฟื้นตัวไม่ได้อีกเลย
แต่ถ้าพัฒนาอย่างสมดุล เลือกยุทธศาสตร์การสร้างพลังงานและอาหารที่ยั่งยืน ผลิตได้ไม่จบสิ้นลงทุนพัฒนาการเกษตรอย่างถูกต้องและครบถ้วนสมบูรณ์รอบด้านในทุกระดับ เศรษฐกิจอีสานก็รุ่งเรืองได้ ที่สำคัญคนอีสาน เกษตรกรอีสาน ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างยั่งยืน
แม้เรายังไม่รู้ว่าภาคประชาชนจะต้านทานความละโมบของ “ทุนสากล” ได้เพียงใด แต่เราก็ต้องไม่หมดกำลังใจ ต้องช่วยกันติดอาวุธทางปัญญาให้ทั่วอีสาน ทั่วประเทศ ใช้วัฒนธรรมที่ดีงามให้เป็นจุดรวมพลังสามัคคี
ทางรอดของคนอีสาน
สรุปอย่างย่อ ๆ คือ ต้องใช้ข้อดีงามของวัฒนธรรมอีสานรักษาสัมพันธภาพระหว่างคนอย่าให้กลายเป็นระบบที่ต้องซื้อขายแลกเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่าง
• พัฒนาคุณภาพของคน
• พัฒนาการศึกษาอย่างเข้าถึงมวลชนและใช้ประโยชน์ได้จริง
• ปรับอัตราส่วนระหว่างเศรษฐกิจกระแสหลัก (ทุนนิยมเสรีโลกาภิวัตน์) กับเศรษฐกิจทางเลือกแบบต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจพอเพียง, เกษตรกรรมอินทรีย์, สหกรณ์ (สังคมนิยม)
• สร้างเครือข่ายพลเมืองให้มีพลังแท้จริงต้านทานกระแสการผูกขาดเทคโนโลยีการเกษตร, พันธุกรรม, ขยายตลาดโดยเครือข่ายพลเมือง
• ยุติการเมืองระบบอุปถัมป์ – พึ่งพา สร้างความเป็นไททางเศรษฐกิจ
• ฟื้นฟูระบบนิเวศให้ดี.