อายหลาวก๊ก 哀牢国

การขุดค้นแหล่งโบราณคดี อายหลาวก๊ก ณ ตำบลเถียนเหยียนเจิ้น อำเภอช่างหนิงเสี้ยน เมืองเป่าซาน พบโบราณวัตถุยุคสำริดเป็นจำนวนมาก 昌宁县田园镇大甸山出土青铜文物

คอลัมน์ ชาติพันธุ์วรรณา

พรพล ปั่นเจริญ

(แปลจากเรื่อง อายหลาวกั๋ว จากเว็บ 百度百科 https://baike.baidu.com/item/%E5%93%80%E7%89%A2%E5%9B%BD/3561169?fr=aladdin)

คําว่า “อายหลาว” 哀牢 มาจากภาษาไท/ไตว่า “อ้ายหลวง” ในช่วง ๕ ศตวรรษก่อนคริสตกาล บรรพชนไต/ไท แถบตอนกลางของแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน มีศูนย์กลางอยู่ที่ “เมืองช้าง” (“勐掌” “เมิงจ่าง”, ภาษาฮั่น เรียกว่า “เสิงเซี่ยงกั๋ว” “乘象国” หรือ “เมืองขี่ช้าง”) เป็นศูนย์กลางของสหพันธ์นครรัฐ (อยู่ชาติพันธุ์วรรณาแถบอำเภอเป่าซานปัจจุบัน ซึ่งในยุคสามก๊ก เรียกว่า “หย่งชาง-เวงเซี้ยง) ประมุขเมืองช้าง เรียกว่า “เจ้าหลวง” ( ภาษาจีน “จิ่วหลง 九隆”) ประมุขแต่ละเมืองเรียก “อ้ายหลวง” (“哀隆” แปลว่า “พี่ใหญ่” ภาษาจีนฮั่นถอดคำเป็น “อายหลาว哀牢”)

เมืองช้างถูกเรียกเป็น “เมืองต๋ากวง” (“勐达光”ความหมาย “เมืองศูนย์กลาง” …ท่ากลาง?) สหพันธ์นครรัฐนี้จดหมายเหตุประวัติศาสตร์ของจีนเรียกเป็นภาษาจีน 哀隆 อ้ายหลวง ออกเสียงเป็น “อายหลาวกั๋ว” 哀牢国 ต่อมาในหนังสือพื้นสืบ (พงศาวดารภาษาไต/ไท เรียกชื่อสหพันธ์นครรัฐว่า “เมิงต๋ากวง” (เมืองตะโก้ง ?)

“อายลาวก๊ก” หรือ “เมืองต๋ากวง” เป็นบรรพบุรุษของชนเผ่าไต/ไท ที่สร้างสหพันธ์นครรัฐในแถบลุ่มแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำโขงใน ค.ศ.๖๙ เจ้าก๊กอายหลาวชื่อ 柳貌 – หลิ่วเม่า (สำเนียงกวางตุ้งว่า “โล้วโม้ว” ได้นำพาชาวเมืองในอำนาจ ๗๗ แห่ง จำนวนห้าหมื่นครัวเรือนจำนวนคนห้าแสนห้าหมื่นคน สวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์ฮั่น

ต่อมาใน ค.ศ.๗๖ เจ้าก๊กอายหลาว ชื่อ 类牢 – เล่ยหลาว ได้นำชาวอายหลาวแตกหักกับราชวงศ์ฮั่น และทำสงครามกับราชวงศ์ฮั่น ต่อมา ค.ศ.๗๗ หลังจากที่ เล่ยหลาว เจ้าก๊กอายหลาวทำสงครามพ่ายศึกราชวงศ์ฮั่น ชาวอายหลาวที่เหลือได้อพยพเคลื่อนย้ายไปทางตะวันตก ตั้งศูนย์กลางสหพันธ์นครรัฐขึ้นใหม่ ภาษาจีนเรียกว่า 掸国 ส้านก๊ก (จิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวถึงส้านก๊กไว้นิดหน่อยในหนังสือ “ความเป็นมาคำสยามฯ)

ชื่อในภาษาจีน เรียกอายลาวก๊ก 哀牢国 และเรียกย่อๆ ว่า อายหลาว 哀牢 มีเมืองหลวง อยู่ที่ “เวียงช้าง 允掌” (ออกเสียงว่า อวิ๋นจ่าง ปรับใช้เป็นอักษรจีนว่า “หย่งชาง 永昌”) มีเมือง หลวงที่หย่งซาง (ภาษาฮั่นจีน) ภาษาทางราชการ ใช้ภาษาอายหลาว (ภาษาไต/ไท โบราณ) มีชื่อ เจ้าก๊กในภาษาจีน เช่น 九隆 กิ่วหลง (召隆 จาว หลง)、哀牢 อายหลาว (哀隆 อายหลง)、 柳貌 หลิ่วเม่า (ลาวเมือง?) , เล่ยหลาว (ลอลาว?) เป็นต้น ชนเผ่าอ้ายลาว (บรรพบุรุษชาวไต/ไท) มีประชากรประมาณ ๕๕,๐๐๐ คน นับถือบูชาสัญลักษณ์ประจำเผ่า (Totemism) เป็นหลัก

อายหลาวก๊ก มีประวัติความเป็นมาดึกดำบรรพ์ ดินแดน และอาณาเขตกว้างขวาง มีความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมยาวนาน ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ มีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มเป็นหนึ่งในอารยธรรมโบราณที่เก่าแก่ของมณฑลยูนนานปฐมกษัตริย์เผ่าอายหลาวคือ “จิ่วหลง” (ภาษาไท/ไต “เจ้าหลวง”) ช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ยาวนาน ประมาณ ๕ ศตวรรษ ก่อนคริสตกาล ค.ศ.๖๙ ยอมเป็น “เมืองออก” ของจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก มีเมืองหลวงคือ หย่งชาง ช่วงเวลาที่เมืองหย่งชางรุ่งเรือง มีอาณาเขตกว้างขวาง เขตแดนตะวันตก-ตะวันออก กว้าง ๓,๐๐๐ ลี้ เขตแดนเหนือ-ใต้ กว้าง ๔,๖๐๐ ลี้ พื้นที่ประมาณ ๑,๓๘๐,๐๐๐ ตารางลี้ ทิศตะวันออกติดเทือกเขาอายหลาว (อยู่ตอนกลางมณฑลยูนนาน) ทิศตะวันตกติดเทือกเขาหมินจินซาน ในภาคเหนือของพม่า ทิศเหนือติดภาคใต้ของเทือกเขาหิมาลัย ทิศใต้ติดภาคใต้ของสิบสองปันนา

โบราณวัตถุ อายหลาวก๊ก เมืองเป่าซาน มณฑลยูนนาน

เขตเป่าซาน อันเป็นศูนย์กลางของอายหลาวก๊ก เป็นต้นกำเนิดของมนุษย์ดึกดำบรรพ์ในมณฑลยูนนาน ภูมิอากาศในแถบนี้อบอุ่นในฤดูหนาวและเย็นสบายในฤดูร้อน เหมือนฤดูใบไม้ผลิตลอดปี จนมีคำกล่าวติดปากกันว่า “ภูมิอากาศของเป่าซาน ดีที่สุดในโลก” เป็นแหล่งกำเนิดและพัฒนาของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ รวมถึงมนุษย์ด้วย

ณ บริเวณแห่งนี้ได้มีการขุดค้นทางโบราณคดี ขุดพบฟอสซิลกระดูกขากรรไกรลิงโลกเก่า อายุประมาณ ๘ – ๔ แสนปีที่แล้ว จากการศึกษากระดูกขากรรไกรลิงโลกเก่าที่พบ โดยดูจากลักษณะฟันหน้าและรูปแบบของฟัน มีลักษณะคล้ายกับกระดูกขากรรไกรและลักษณะฟันของมนุษย์ปัจจุบัน นอกจากนี้ นักโบราณคดีได้ขุดพบเครื่องมือหินกะเทาะยุคหินเก่า และได้พบร่องรอยการใช้ต่อเนื่องมาจนถึงบรรพชนของอายหลาว คือ มนุษย์พู่เพียว 蒲缥人 อายุประมาณ ๘,๐๐๐ ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นมนุษย์โฮโมซาเปี้ยนยุคเริ่มต้น ในยูนนาน คนอายหลาวก๊กประกอบด้วยกลุ่มชนชาวอายหลาวดั้งเดิมมาอยู่รวมกัน แล้วก่อตัวเป็นอายหลาวก๊ก และพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนพัฒนาขึ้นเป็นก๊กใหญ่ มีครัวเรือนถึง ๕๔,๖๖๐ ครัวเรือน จำนวนประชากร ๕๗๑,๓๗๐ คน

จากจดหมายเหตุ “ฮัวหยางกั๋วจื้อ” 华阳国志 และจดหมายเหตุ 后汉书 บันทึกไว้ว่า

“มีธัญพืชทั้งห้าและหม่อนไหม มีแร่ทองแดง เหล็ก ตะกั่ว ดีบุก อีกทั้งยังมีแร่รัตนชาติที่มีค่าเช่น ทองคำ อำพัน คริสตัล หยก อาเกต และมีนกยูง แรด ช้าง หอยเบี้ย (น่าจะเป็นของมีค่าจากแดนที่ติดกับทะเล) สัตว์ป่าที่กินเหล็กและชะนีที่พูดได้ เป็นต้น” นอกจากนี้ ยังมีต้นไผ่ขนาดสูงใหญ่ “ปล้องหนึ่งยาววาหนึ่ง วัดโดยรอบถึงสามเชียะ”

หัตถกรรมอันมีชื่อเสียงที่สุดของที่นี่คือ ผ้า ถงหั้ว 桐华布 ผ้าหลานกานสี้ 兰干细布 ผ้า หลานกานสี้ เป็นผ้าเนื้อละเอียดทอจากต้นจู๋หมา 苎麻 ( Ramie ชื่อวิทยาศาสตร์ Boehmeria nivea (L.) Gaudich.) ลวดลายงดงามยิ่งดั่งผ้า ไหม ส่วนผ้าถงหั้วเป็นผ้าขาว ทอจากต้นงิ้ว 木 棉 ผ้าทั้งสองชนิดนี้เป็นผลิตภัณฑ์ของชาวอาย หลาว มีพ่อค้าชาวแคว้นสู่ (จ๊ก – เสฉวน) ขนส่ง ไปขายถึงชมภูทวีป “จางเชียน 张骞” ราชทูต ของฮั่นอู่ตี้ที่เดินทางไปถึงอินเดีย (ผ่านทางซิน เจียง – อัฟกานิสถาน ได้พบผ้าชนิดนี้) เข้าใจผิด เรียกกันว่า “ผ้าของแคว้นสู่ – สู่ปู้” 蜀布” ผ้า ชนิดนี้ในยุคราชวงศ์ฉินราชวงศ์ฮั่น ก็ได้แพร่ หลายไปถึงเอเชียใต้ และตะวันออกกลางแล้ว ได้ รับการยกย่องว่าเป็น “สิ่งสุดยอดแห่งบูรพาทิศ”

อายหลาวก๊ก ดึกดำบรรพ์จนไม่เหลือร่องรอยทางโบราณคดี มีเพียงร่องรอยเป็นรหัสวัฒนธรรม เช่น ชื่อเรียกสถานที่ต่าง ๆ ชื่อภูเขาชื่อแม่น้ำ และตำนาน

วัฒนธรรมสมัยหินเก่า วัฒนธรรมสำริดวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวอายหลาวด้านต่าง ๆ เช่นการเพาะปลูก การแต่งกาย อาหารการกิน การแต่งงาน พิธีศพ การละเล่น ร้องรำทำเพลง ฯลฯ อายหลาวก๊กมีความอุดมสมบูรณ์และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นอย่างมาก แต่ทว่าในบันทึกโบราณของชาวจีนได้บันทึกกล่าวถึงไว้น้อยเหลือเกิน คงมีอยู่เพียงเล็กน้อยใน “ฮัวหยางกั๋วจื้อ” และ “โห้วฮั่นซู” เท่านั้น

ปัจจุบันการศึกษาวัฒนธรรมอายหลาวซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ “เป่าซาน” ได้รับความใส่ใจ มีการค้นคว้าก้าวหน้าขึ้นมาก

ตำนานอ้ายลาว

ตำนานของชาว ไต/ไท มีเรื่องเกี่ยวพันถึง “อายหลาว” เช่นเรื่องตำนานประมุขผู้ก่อตั้งอายหลาวก๊ก

มีเรื่องย่อดังนี้

แถบเทือกเขาอายหลาว มีหญิงนางหนึ่งชื่อซาหู ไปจับปลาในแม่น้ำ สัมผัสเข้ากับท่อนไม้ที่จมน้ำอยู่ แล้วนางตั้งครรภ์ คลอดลูกชายมาสิบคน ต่อมาท่อนไม้นั้นกลายร่างเป็นมังกร ร้องเรียกว่า ลูกข้าอยู่ไหน เด็กชายเก้าคนตกใจหนีไปเหลือแต่น้องชายคนเล็กไม่กลัว ขึ้นนั่งบนหลังมังกร จึงได้ชื่อว่า จิ่วหลง

จิ่วหลงโตขึ้นมาเก่งกล้าสามารถมาก ได้รับการคัดเลือกเป็นประมุข เวลานั้นมีผู้หญิงอีกคนหนึ่งชื่อ หนูปอซือ ได้ให้กำเนิดลูกสาว ๑๐ คน พี่น้องของจิ่วหลงแต่งลูกสาวของนางหนูปอซือเป็นเมีย ให้กำเนิดลูกหลานเต็มบ้านเต็มเมืองและแยกย้ายกันไปตั้งหลักแหล่งตามสายน้ำในหุบเขา หลังจากที่จิ่วหลงตายแล้ว เหล่าลูกหลานได้สืบทอดเป็นเจ้าเมือง (อ่อง) น้อยใหญ่

ว่ากันว่า กลุ่มชาวไตเอวลาย (คำที่จีนเรียกพวก ไตหย่า, ไตซาย, ไตแข่ ที่อยู่เชิงเขาอายหลาวตอนใต้) เป็นเชื้อสายหนึ่งของพี่น้องจิ่วหลง

อย่างไรก็ตาม ตำนานนี้ไปตรงกับตำนานกิ่วหลงของหนานจาวก๊ก (น่านเจ้า) ซึ่งประชากรหลักน่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไป๋ ส่วนชนชาติไต/ไทแถวเป่าซานนั้น ได้ถูกผนวกเข้าอยู่ใต้อำนาจการปกครองของหนานจาวซึ่งมีราชธานีอยู่แถบเมืองต้าหลี

จดหมายเหตุจีนบันทึกว่าอายหลาวสวามิภักดิ์ฮั่น

หลิวเม่า เป็นเจ้าก๊กอายหลาวที่ปกครองต่อจากจิ่วหลงอ๋อง ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่หนึ่ง เป็นบุคคลอันเป็นห่วงโซ่สำคัญในประวัติศาสตร์ของอายหลาว

ราชวงศ์ตงฮั่น (ฮั่นตะวันออก) หย่งผิงศกที่ ๑๒ (ตรงกับ ค.ศ.๖๙) หลิวเม่า นำพาหัวหน้าชุมชน (เมือง?) ๗๗ แห่ง มีราษฎรห้าหมื่นครัวเรือน จำนวนห้าแสนห้าหมื่นคน เข้าสวามิภักดิ์ราชวงศ์ตงฮั่น

ราชวงศ์ตงฮั่นจึงฉวยโอกาสนี้ จัดตั้งระบบปกครองแบบ อำเภอ และแคว้น (จวิ้น) ในพื้นที่ “ตะวันออก-ตะวันตก สามพันลี้ เหนือ-ใต้ สี่พันหกร้อยลี้” ของดินแดนอายหลาว และสร้างศูนย์ปกครองให้เป็นเอกภาพชื่อว่า แคว้นย่งชาง 永昌郡 (สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลังเรียกว่าเวงเชี้ยง) เพื่อให้รางวัลแก่ “หลิวเม่า” ที่ยอมสวามิภักดิ์ “ฮั่นหมิงตี้” ฮ่องเต้ มอบรางวัลทำนองเดียวกับที่ “ฮั่นอู่ตี้” ฮ่องเต้เคยให้กับเตียนอ๋อง (ราชลัญจกรเตียนอ่อง ภาษาจีน “哀牢王章” ) นั่นคือ ราชลัญจกรอายหลาวอ๋อง 哀牢王章 และจัดราชพิธีต้อนรับอย่างใหญ่โต

“อายหลาว” คือชื่อชาติพันธุ์

คำว่า “อายหลาว” คนไท/ไต รุ่นหลัง ให้ความหมายคำว่า “อาย-ไอ” ว่าหมายถึง กลิ่น, รสชาติ ส่วนคำว่า “หลาว” คือ “เหล้า” “อายหลาว” มาจาก กลิ่น รส ของเหล้า และบรรยากาศในวงเหล้า

“อายหลาว” ยังมีอีกความหมายหนึ่ง “อาย” คือ “อ้าย” หมายถึงพี่ใหญ่ “หลาว” น่าจะเป็นชื่อคน ในจดหมายเหตุก็มีบันทึกว่า เจ้าก๊กคนหนึ่ง ชื่อ “อายหลาว 哀牢”

ในจดหมายเหตุ “โห้วฮั่นซู บรรพ ประวัติอายหลาว” บันทึกว่า

“เจี้ยนอู่ศก ปีที่ ๒๗ (ค.ศ.๕๑) เซียนหลี่ 贤栗 ฯ (เป็นชื่อประมุขของพวกอายหลาว ในภาษาจีนมีคำว่า “เป็นต้น” ตามหลัง แสดงว่าประมุขของอายหลาวคงมีหลายลำดับชั้น “เซียนหลี่” เป็นประมุขสูงสุดได้นำพาประมุขระดับรอง ๆ ลงไปของชนอายหลาวกลุ่มอื่น ๆ เข้ายอมสวามิภักดิ์กับราชวงศ์ฮั่น) ได้นำ “ชนเผ่า” (ตรงนี้ภาษาจีนใช้คำว่า “种人” 种 แปลว่า ชนิด, ประเภท 人 แปลว่า คน ข้าพเจ้าตีความว่า ชาวจีนใช้คำนี้เรียกชนกลุ่มอื่น ๆ ที่มีวัฒนธรรม จารีตประเพณี ผิดแผกแตกต่างจากคนฮั่นจีน) ๒๗๗๐ (ครัว) จำนวน ๑๗,๖๕๙ คน มายอมสวามิภักดิ์ต่อ เจิ้งหงหลง 郑鸿降 ข้าหลวงไท่โส่ว 太守 แคว้นเยวี่ยซี 越西 “กวงอู่ตี้” ฮ่องเต้ จึงสถาปนาตั้งให้ เซียนหลี่ฯ เป็นประมุข 君长 ให้มาเข้าเฝ้าทุก ๆ ปี

หย่งผิงศก ปีที่ ๑๒ (ค.ศ.๖๙) หลิวเม่า – เจ้าก๊กอายหลาว นำชนเผ่า 种人 เข้าสวามิภักดิ์ (内属) มีผู้เรียกว่าเป็นระดับ “อ๋อง” (ราชะ) ๗๗ คน ครัวเรือน ๕๑,๘๙๐ ครัว ผู้คน ๕๕๓,๗๑๑ คน

จากซีหนาน (ภาคตะวันตกเฉียงใต้) ถึงลั่วหยาง (ล๊กเอี๋ยง) ระยะทางเจ็ดพันลี้ เซียนจ้งฮ่องเต้ ตั้งให้เป็นอำภออายหลาว และอำเภอป๋อหนาน”

จากบันทึกข้างต้น ยืนยันว่า ชื่อ “อายหลาว” คือ นามชนเผ่า หรือชื่อชาติพันธุ์ 种人 นั่นเอง

เครื่องดนตรี ประเภทเครื่องตี สำริด อายหลาวก๊ก เมืองเป่าซาน มณฑลยูนนาน

******

คอลัมน์  ชาติพันธุ์วรรณา นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๗๓| พฤษภาคม ๒๕๖๑

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

วัฒนธรรมแถน (๕) ปู่แถน ย่าแถน
ห่ากวาดเมือง
คำโตงโตย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com