อารยธรรม “เมืองเพีย”
บ้านเมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น
“เมืองเพีย” บ้านเกิดแม่ผม – แม่คำผาง (ชำนาญไพร) ข้าวบ่อ
ในวัยเด็ก ผมวิ่งเล่นลอดเลาะใต้ถุนเฮือนในเขตคุ้มบ้านของยายและญาติพี่น้องอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ยามบุญใหญ่ดูหนังกลางแปง ดูหมอลำ เล่นไฮโลจนซอดแจ้ง
ระยะทางจากบ้านเมืองเพียถึงตัวตลาดบ้านไผ่เพียง 5 – 6 กิโลเมตร เมื่อครึ่งค่อนศตวรรษเป็นทางเกวียน ผ่าผ่านโคกเนิน ป่าละเมาะ ทุ่งท่า โสกตม ต้องใช้เวลาสัญจรหลายชั่วโมง
วิถีชีวิตชาวบ้านยังเหมือนที่ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เขียนบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จตรวจราชการหัวเมืองภาคอีสาน พ.ศ.2449
“…ตั้งแต่เข้าเขตมณฑลอุดรมา ได้ไปเที่ยวตามหมู่บ้านราษฎรตามทางที่ผ่านมาหลายแห่ง บางแห่งเป็นบ้านใหญ่ตั้งมาช้านานหลายชั่วคน ลองไต่ถามถึงประเพณีการสมาคมของชาวบ้านเหล่านี้ ตามที่พวกชาวบ้านชี้แจง ได้ความประหลาดน่าพิศวงอย่างหนึ่ง คือชาวบ้านเหล่านี้ครัวหนึ่งก็มีบ้านอยู่แห่งหนึ่ง มีเหย้าเรือนพอกันอยู่ และมียุ้งข้าวเก็บไว้พอกินปีหนึ่ง ในลานบ้านปลูกพริก มะเขือ ข่า ตะไคร้ สำหรับต้มแกง นอกบ้านมีสวนผลไม้ เช่น กล้วย อ้อย หมาก มะพร้าว และมีที่ปลูกต้นหม่อนสำหรับเลี้ยงไหม ต่อเขตสวนออกไปถึงทุ่งนา ต่างมีเนื้อนาและโคกระบือพอทำได้ข้าวกินทุกครัวเรือน ถึงฤดูทำนาก็ช่วยกันทำนาทั้งชาย หญิง เด็ก ผู้ใหญ่ สิ้นฤดูนาผู้ชายไปเที่ยวหาของขาย ผู้หญิงอยู่บ้านเลี้ยงไหมและทอผ้าทำเครื่องนุ่งห่ม เศษอาหารที่เหลือบริโภคใช้เลี้ยงไก่และสุกรไว้ขาย
“การกินอยู่ของชาวบ้านแถวนี้ทำได้เองเกือบไม่ต้องซื้อหาสิ่งอันใด สิ่งที่ต้องซื้อก็คือเครื่องเหล็ก เช่น จอบ เสียม มีดพร้า เป็นต้น และเครื่องถ้วยชาม บางทีก็ซื้อด้ายทอผ้าหรือผ้าผืน และของอื่น ๆ ที่ชอบใจซึ่งพ่อค้าหาไปขาย เงินทองที่จะใช้ซื้อหาก็มีพอเพียง เพราะมีโคกระบือที่ออกลูกเหลือใช้ และมีหมูและไก่ที่เลี้ยงไว้ด้วยเศษอาหารเหลือบริโภค ขายได้เงินซื้อของที่ต้องการได้พอปรารถนา ต่างครัวต่างอยู่เป็นอิสระแก่กัน ไม่มีใครเป็นบ่าว ไม่มีใครเป็นนายใคร ลูกบ้านอยู่ในปกครองของผู้ที่เป็นหัวหน้าครัวของตน แล้วก็มีผู้ใหญ่บ้านและกำนันต่อขึ้นไป ดูปกครองกันง่ายดาย แต่ว่าทั้งตำบลนั้นจะหาเศรษฐีที่มั่งมีเงินแต่ 200 บาทขึ้นไปไม่มีเลย คนยากจนถึงต้องเป็นบ่าวคนอื่นก็ไม่มีเลยสักคนเดียว คงอยู่กันมาเช่นนี้นับด้วยร้อยปีแล้ว เพราะเหตุว่าพวกชาวบ้านทำไร่นาหาเลี้ยงตัวได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงิน ความรู้สึกต้องการตัวเงินไม่รุนแรง เงินก็ไม่มีอำนาจเหมือนในเมืองที่ว่าเป็นศิวิไลซ์ จึงไม่ใคร่มีใครสะสม แต่จะว่ายากจนก็ไม่ได้ เพราะเลี้ยงตัวได้โดยผาสุกไม่อัตคัด
“เมื่อได้ความดังกล่าวมา ได้อธิบายให้หมอแบรดด๊อกเข้าใจ แล้วถามว่า ประชุมชนเช่นนี้ฝรั่งจะเห็นว่ามีความสุขหรือมีความทุกข์ประการใด หมอแบรดด๊อกเป็นชาวอเมริกันตอบว่า พวกโซเชียลลิสต์ในเมืองฝรั่งที่วุ่นวายกันต่าง ๆ ก็ต้องการจะเป็นอย่างพวกชาวบ้านนี้นั่นเอง ที่แท้สมาคมอย่างที่พวกโซเชียลลิสต์ต้องการมีอยู่ในเมืองนี้มานับด้วยร้อยปีพันปีแล้ว สมกับสุภาษิตที่กล่าวว่า ‘ไม่มีอะไรแปลกใหม่ในโลกนี้’…”
โดยทำเลที่ตั้ง “บ้านเมืองเพีย” ตั้งซ้อนทับชุมนุมชนตั้งแต่ยุคขอม ยุคทวารวดี และไหลเคลื่อนในยุคอาณาจักรล้านช้าง เห็นชัดจากลักษณะกายภาพทางภูมิศาสตร์ ทั้งใต้ผืนดินที่อยู่อาศัยและตามท้องไร่ท้องนาเต็มด้วยโบราณวัตถุ แม้ทุกวันนี้ ถ้าขูดขุดลงไปในเนื้อดินก็จะพบเศษถ้วยชามลามไหได้ไม่ยากเลย เห็นชัดจากฮีต คอง ภาษา อาหารการกิน ฯลฯ ที่เป็นหนึ่งเดียวกับฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
นอกจากนั้น “บ้านเมืองเพีย” ยังเป็นแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์ “บ่อกระถิน” ผู้คนทั้งใกล้ไกลต่างเดินทางมาซื้อขายแลกเปลี่ยนเอาเกลือไปกินไปใช้ ที่สำคัญใช้ตีเหล็ก เกลือจากบ้านเมืองเพียเดินทางไกลไปถึงเมืองพิมาย เมืองพนมรุ้ง กระทั่งไต่ลงช่องเขาเทือกพนมดงเร็กไปถึงแผ่นดินเขมรต่ำ
“บ้านเมืองเพีย” อยู่ใกล้ “แก่งละว้า” แหล่งน้ำใหญ่เชื่อมติดแม่น้ำซี อุดสมบูรณ์ด้วยกุ้งหอยปูปลาผักหญ้าสารพัด คนจากหมู่บ้านต่าง ๆ จึงมุ่งหน้ามาหาอยู่หากิน โดยเฉพาะเป็นต้นธารหนึ่งของวัฒนธรรม “ปลาแดก”
ย้อนไปเมื่อพันปี อาณาบริเวณที่บ้านเมืองเพียตั้งอยู่ หรือแวดล้อมแก่งละว้าและใกล้ลำซีแหล่งนี้ จึงเป็นศูนย์กลางหนึ่งบนที่ราบสูงที่พี่น้องทุกชาติพันธุ์วรรณนาได้มาอาศัยเกิดและตาย ได้เดินทางไปมาหาอยู่หากินและทำการค้าการขาย
หลักฐานที่ส่องแสดงนั้น ส่วนหนึ่งยืนยันปรากฏไว้ที่ชื่อบ้านนามเมือง นอกจากบ้านเมือง”เพีย”แล้ว หมู่บ้านละแวกนั้นชื่อ บ้าน”ละว้า”, บ้านโนน”ข่า”, บ้านกุดเพีย”ขอม”, บ้าน”หินตั้ง”, บ้าน”ภูเหล็ก” เป็นต้น
ประวัติอารยธรรมคนลาวภาคอีสาน วิถีชีวิตผู้คนลุ่มน้ำซี มูล แม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา ล้วนมีความเป็นมาเช่น”บ้านเมืองเพีย”นี้ แต่หลักฐานรายละเอียดหยั่งลึกยังต้องการการศึกษา สืบค้น บันทึก เพื่ออนุรักษ์ สืบส่อต่อยอด นำภูมิปัญญาบรรพชนมาปรับรับใช้ปัจจุบัน
หนทางลึกซึ้งรากเหง้าจะสำเร็จได้ด้วยเลือดเนื้อเชื้อไขผู้คนทุกเผ่าพงศ์บนที่ราบสูงอีสาน ในทุกหมู่บ้านตำบลเมือง และเมื่อถึงวันนั้น ทุกอุปสรรคปัญหาย่อมสามารถก้าวข้าม อนาคตก็ไม่ต้องถามจากใคร.
__________________________________
ขอบคุณภาพจาก “ขอนแก่นลิงก์” และแหล่งอื่น ๆ ที่ระบุไม่ได้