พระไม้…ลมหายใจคนไทยอีสาน (จบ)

“มีชายผู้หนึ่งชื่อว่า ‘ท้าวศรีโคตร’ เป็นคนที่มีร่างกายอ่อนแอ ในขณะที่เพื่อน ๆ ออกไปรบทัพจับศึก ท้าวศรีโคตรกลับมีหน้าที่เพียงเฝ้าหม้อข้าว อยู่มาวันหนึ่งขณะที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ หันมาอีกทีหม้อข้าวก็เดือดเสียแล้ว ท้าวจึงเหลียวซ้ายแลขวาหาที่คนหม้อข้าวไม่พบ บังเอิญเหลือบไปเห็นไม้สีดำท่อนหนึ่งวางพิงอยู่จึงหยิบเอามาคน

“ปรากฏว่าเมื่อคนลงไปแล้ว ข้าวในหม้อได้กลายเป็นสีดำ เกิดความกลัวว่าเพื่อน ๆ จะต่อว่า จึงลองชิมข้าวนั้นดู ก็พบว่านอกจากจะกินได้แล้ว ยังทำให้มีพละกำลังมหาศาลอีกด้วย ท้าวศรีโคตรจึงได้เหนี่ยวเอาต้นยางใหญ่ลงมา แล้วเอาหม้อข้าวไปแขวนบนปลายยอด เมื่อเพื่อนทหารกลับจากทำศึก ต่างพากันถามหาข้าวด้วยความโมโหหิว ท้าวคนเฝ้าหม้อข้าวจึงได้โอกาสแสดงพลังด้วยการเหนี่ยวปลายยอดต้นยางลงมา แล้วบอกกับเพื่อน ๆ ว่าเป็นเพราะกินข้าวสีดำในหม้อนั่นละจึงทำให้มีพลัง เพื่อนจึงกินบ้างทำให้ต่างก็มีพละกำลังเพิ่มขึ้นและรบได้ชัยชนะ…นั่นเองจึงเป็นที่มาของความเชื่อว่าไม้งิ้วดำจะช่วยให้แข็งแรงมีพละกำลัง”

ระหว่างที่กำลังพูดคุยกันเรื่องที่มาของพญาไม้ ฉันสังเกตเห็นว่าบริเวณฐานพระลึกเข้ามาถึงพระบาทข้างซ้ายนั้นมีรอยต่ออยู่ พ่อคำอ้ายอธิบายว่าเวลาเตรียมไม้ต้องตัดลงมาเป็นระนาบตรงก่อน เพื่อไม่ให้เสียทรัพยากรไปเปล่า ๆ ส่วนเกินที่สกัดออกไปจึงนำมาต่อเป็นพระบาทและฐาน พร้อมกันนั้นปราชญ์สูงวัยยังได้หยิบวัตถุเรียวยาวสีดำออกมาจากย่ามที่พกติดตัว

“นี่เป็นชิ้นส่วนที่เหลือจากการสลักตรงแขน ผมไม่ใช่คนรูปหล่อ จึงต้องให้ครูบาอาจารย์ช่วยลงคาถาอักขระให้” ฟังแล้วก็อดไม่ได้ที่จะเอ็นดูครูผู้เฒ่าที่ยังต้องพึ่งพาของขลังอย่างปลัดขิกให้ชนะใจสาว

พระไม้จากพิพิธภัณฑ์โฮงมูนมังเมือง
รอยต่อส่วนฐาน

สกุลศิลปะ

“ไม่สวยสะ แต่สวยซื่อ” อาจารย์นิยม ให้นิยาม ดูจะเป็นคำเปรียบเปรยที่เหมาะสมที่สุด เพราะงานแกะสลักพระไม้เป็นศิลปะที่มีความบริสุทธิ์ไร้การปรุงแต่ง ซึ่งหากพิจารณาความงดงามละเอียดประณีตแล้ว จะแบ่งลักษณะเชิงทัศนศิลป์ออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มช่างพื้นบ้าน และกลุ่มอิทธิพลช่างหลวง

กลุ่มช่างพื้นบ้าน แต่เดิมคนอีสานเชื่อว่าการขายพระนั้นเป็นบาป ลักษณะการแกะสลักพระจึงเป็นการสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในครัวเรือน ไม่ได้แกะกันเป็นอุตสาหกรรม ผลงานค่อนข้างเรียบง่าย อิสระ ตามข้อจำกัดของไม้เป็นสำคัญ ฝีมือและลวดลายค่อนข้างหยาบ

กลุ่มอิทธิพลช่างหลวง พระไม้ในกลุ่มอิทธิพลช่างหลวง ผู้สร้างได้ต้องที่มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ เช่น เจ้าเมืองหรือเจ้าแขวง จึงจะสามารถจ้างให้ช่างหลวงมาแกะ  หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นช่างพื้นบ้านที่รับเอาอิทธิพลช่างหลวงมา  อาจจะมีโอกาสเข้าไปเรียนหนังสือในบางกอก แล้วครูพักลักจำหรือมีโอกาสได้ฝึกฝีมือ  ทำให้พระไม้ที่แกะสลักขึ้นมีความงดงามตามสัดส่วนพุทธศิลป์  โดยอิทธิพลที่ได้รับมักมาจากเวียงจันทน์ หลวงพระบาง และบางกอก อาจมีส่วนน้อยที่ได้รับมาจากสุโขทัย

ปางที่นิยมในการแกะสลักพระไม้คือ ปางมารวิชัย เนื่องจากทำได้ง่ายที่สุด และมีความแข็งแรง คือ ตรงส่วนเปราะบางอย่างแขนไม่หักโดยง่ายเหมือนปางที่ยืน ส่วนปางอื่น ๆ ที่พบ ได้แก่  ปางสมาธิหรือปางตรัสรู้ ปางพิจารณาชราธรรม ปางประทับยืน ปางห้ามสมุทร ปางอุ้มบาตร  ปางรับสัตตูก้อนสัตตูผง ปางนาคปรก ปางสรงน้ำฝน ปางห้ามญาติ และปางห้ามพระแก่นจันทร์

ขั้นตอนในการสร้าง

๑. วาดแบบและเลือกท่อนไม้ หากเลือกบริเวณที่มีตาไม้จะแกะได้ยากเนื่องจากความแข็ง แต่จะได้งานที่มีลายไม้สวยงาม

๒. กำหนดความสูงของส่วนฐานแล้วใช้ปากกาวงเส้นให้รอบ และความกว้างของลำตัวองค์พระ โดยวาดสี่เหลี่ยมลงบนหน้าตัดของไม้

๓. ใช้สิ่วสกัดส่วนเกินทั้งสี่ด้านออกจนถึงบริเวณที่ทำเครื่องหมายไว้ให้เป็นฐาน

๔. วาดเค้าโครงองค์พระแล้วค่อย ๆ สกัดให้เกิดมิติและเก็บรายละเอียด

พิธีบ๋อตา (พิธีเบิกเนตรแบบอีสานโบราณ)

ถ้าหากแกะสลักพระสำเร็จแต่ไม่ทำพิธี ‘บ๋อตา’ หรือ ‘เบิกเนตร’ ก็ไม่นับว่าองค์พระนั้นสำเร็จโดยสมบูรณ์ ซึ่งหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนาผู้ทรงคุณวุฒิที่สามารถให้ความกระจ่างแก่ฉันได้ คงไม่มีใครเหมาะสมไปกว่าอาจารย์ชอบ บ่ายวันนี้ฉันจึงมุ่งหน้าไปยังสถานที่นัดหมาย ‘มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น’ อาคารที่นัดพบโอบล้อมไปด้วยต้นไม้ร่มรื่น ช่วยบรรเทาความร้อนของแสงแดดยามบ่ายได้มาก

อาจารย์ผู้ชำนาญการด้านศาสนาเล่าถึงสาเหตุที่เราต้องทำพิธีบ๋อตาว่า ในขั้นตอนการสร้างพระ ผู้สร้างอาจแสดงกริยาที่ไม่สมควรต่อองค์พระที่สร้าง  จึงเป็นกุศโลบายของคนโบราณว่าหากยังไม่เบิกเนตรถือว่ายังไม่ใช่พระพุทธรูปที่สมบูรณ์ การกระทำโดยไม่ตั้งใจระหว่างการสร้างถือว่าไม่บาป

อาจารย์ยังเล่าอีกว่า เคยไปคุยกับช่างแกะสลักพระไม้ที่บ้านโคกกลาง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ชื่อว่า พ่อใหญ่น้อย ดรหมื่นนอ (ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว) พ่อใหญ่คนนี้รับแกะสลักพระไม้ให้กับผู้ที่ไปบนบานว่าหากหายป่วยจะสร้างพระ คล้าย ๆ กับเป็นการต่ออายุ ในขณะเดียวกันชาวบ้านก็เชื่อว่า หากให้ผู้ที่เคยบวชเรียนแล้วอย่างพ่อใหญ่สร้างให้จะหมดเคราะห์หมดโศก แกจึงยินดีที่จะช่วยแกะให้ โดยใช้อุปกรณ์เพียง ๓ อย่างคือ มีดตอกสิ่ว สิ่วปากราบ และสิ่วโกบ พระไม้ที่แกะสลักส่วนใหญ่จะเป็นปางมารวิชัย นอกจากความเชื่อของชาวบ้านแล้ว มันเป็นเรื่องของความผูกพันและความมีน้ำใจต่อกันระหว่างคนในหมู่บ้านด้วย เพราะตัวพ่อใหญ่เองก็ไม่ได้เรียกร้องค่าบุญแต่อย่างใด

เมื่อแกะสลักองค์พระแล้วเสร็จ จึงมาถึงขั้นตอนของพิธีบ๋อตา นอกจากเจ้าของพระแล้วองค์ประกอบอื่นที่ต้องเตรียมมาร่วมในพิธีคือ พระสงฆ์ไม่น้อยกว่า ๔ รูป พานกะหย่องใส่พระไม้และดอกไม้ สายสิญจ์สำหรับโยงจากพระประธานที่โต๊ะหมู่บูชามายังพระไม้ที่จะทำพิธีบ๋อตา

            บทสวดนั้นให้ตั้งนะโม ๓ จบ

            ๑. สวดสรรเสริญพุทธคุณ ธรรมคุณและสังฆคุณ (อิติปิโส สวาขาโตและสุปฏิปันโน)

            ๒. สวดคาถาเบิกเนตร (คือ ส่วนหนึ่งในพระธรรมจักรกัปวัตนสูตร ใช้ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดปัญจวัคคี แล้วทำให้พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม)

            ๓. สวดพาหุง และภะวะตุสัพ เพื่อให้พรเจ้าภาพ

พิธีกรรมทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียง ๑o-๑๕ นาที ขณะสวดคาถาเบิกเนตร พระสงฆ์ผู้ทำพิธีจะใช้ดินสอดำขีดที่ดวงตาขององค์พระ อนุมานว่าเป็นรอยแยกเปลือกตาบนล่าง พิธีกรรมนี้จะทำในช่วงเวลาไหนก็ได้ ไม่ได้มีกำหนดตายตัว

หลังจากเสร็จพิธีกรรมเรามักจะเห็นพระที่ถูกนำไปวางไว้ใต้ต้นโพธิ์เสียเยอะ  แต่ในสมัยก่อนหลังทำพิธีบ๋อเสร็จแล้วจะนำไปวางไว้บนโต๊ะเล็ก ๆ หน้าห้องของเจ้าอาวาส หรือตามฐานพระในโบสถ์ เนื่องจากคนอีสานเดิมไม่นิยมเอาพระมาไว้ที่บ้านแต่จะเอาไปไว้ที่วัดแทน ส่วนหิ้งที่บ้านนั้นเป็นหิ้งเปล่าสำหรับบูชาเทวดา

“แต่ปัจจุบันนี้เวลามีพิธีพุทธาภิเษกที่ไหนก็จะมีการนำองค์พระไปเข้าร่วม หรือเวลาที่ลูกหลานบวชก็เอาองค์พระพุทธรูป หรือแม้แต่พระเครื่องห้อยคอนั้นใส่ในบาตรเข้าไปในโบสถ์ด้วยถือว่าจัดการบวชไปพร้อมลูกหลานเลย นัยว่าเป็นการเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ด้วย” ผู้ทรงภูมิด้านพิธีกรรมทางพุทธศาสนาส่ายหน้าดิกกับวิถีที่พลิกแพลงไปของโลกยุคดิจิตัล

กระตุกชีพจรพระไม้       

จากงานเสวนาพระไม้เมื่อหลายเดือนก่อนฉันได้ยินอาจารย์นิยมเล่าถึงชั้นเรียนที่ต้องผ่านการแกะสลักพระไม้ และการจัดสร้างพระไม้ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น ไม่ทราบว่าการฟื้นฟูศิลปะแขนงนี้มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง เมื่อคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดงานสัมมนามรดกล้านช้างขึ้น ฉันจึงได้มีโอกาสพบอาจารย์อีกครั้งและสอบถามถึงข้อสงสัยที่ติดค้างอยู่ในใจ

อาจารย์เล่าถึงที่มาในการให้เด็กนักศึกษาต้องผ่านการแกะสลักพระไม้ทุกคน และโครงการสร้างพระไม้ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า ตัวอาจารย์เองสอนวิชาภูมิปัญญาท้องถิ่น เมื่อได้เห็นงานที่แสดงถึงภูมิปัญญาจึงทำเป็นงานวิจัย และเขียนหนังสือขึ้น เมื่อลงภาคสนาม ๑๙ จังหวัด (ในขณะนั้น) เพื่อเก็บข้อมูล ก็พบว่าภูมิปัญญานี้กำลังถูกทอดทิ้ง เราจะทำอย่างไรให้ดำรงอยู่

อาจารย์จึงให้นักศึกษามาแกะพระไม้ในวิชาภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เด็ก ๆ รู้ว่าคนสมัยก่อนเขาไม่มีความรู้แต่เขาแกะได้เพราะมี ‘ศรัทธา’ พวกเด็ก ๆ ที่แกะก็จะแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ พวกที่ลอกแบบมา และพวกที่แกะไปโดยอิสระ

“ในเรื่องความสำเร็จ ถ้าเป็นชิ้นงานก็ถือว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ในเรื่องของจิตใจต้องดูอีกทีอย่างน้อยก็เป็นการให้เขาเรียนรู้เป็นการเพาะต้นกล้า”

สำหรับในเรื่องพระไม้ประจำมหาวิทยาลัยนั้น สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยจะครบ ๕o ปี ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๘ อาจารย์จึงได้เสนอแนวความคิดว่าให้มีการจัดทำพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ๑ องค์ จากช่างฝีมืออาชีพ โดยจะแกะตามแบบของราชสำนักหลวงพระบาง และพระองค์เล็กด้วยฝีมือชาวบ้านอีก ๔๙ องค์ ซึ่งน่าจะแล้วเสร็จจนทำพิธีบ๋อตาในตอนสิ้นปี

แม้ว่าขณะนี้จะมีกลุ่มผู้ที่อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน แต่ก็มีเพียงกลุ่มย่อยที่กระจัดกระจาย แต่หากมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เปรียบได้กับขุมกำลังทางปัญญาของภาคอีสาน ได้มีการรื้อฟื้นภูมิปัญญานี้อย่างจริงจัง ฉันก็แน่ใจว่าจากอาการขั้นโคม่าของพระไม้จะมีสัญญาณชีพกระตุกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

พระศรี ๕๐ ปี ม.ข.
อ.ชอบ ดีสวนโคก

อ้างอิง

ฐานข้อมูลพระไม้ สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น www.aca.kku.ac.th/woodenbuddha 

***

คอลัมน์  รายงาน “ทางอีศาน”  นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๙ | พฤษภาคม ๒๕๕๙

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com


โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

คําผญา (๔)
ฮูปแต้มวัดจักรวาฬภูมินิมิต
นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับเมืองนางรอง [๔]
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com