อีศานในสถานการณ์ไวรัส“โควิด-19” ลามระบาดทั่วโลก “ให้พี่น้องป้องปาย ซำบายดี ทุกผู่ทุกคน” – ไทลาว “บองปะโอน เซราะซะบาย คเนียนิจ” – ไทเขมร “เห้อพี้น้องป้องป๋าย ซ่ำบ๋ายดี๋ คู้คนเด้อ” – ไทผู้ไท “ให้อ้ายน้องป้องปาย สะบายดี สุคู่สุคนเด้อ” – ไทญ้อ ( 46 )
๐ ข้ อ มู ล คือ อำ น า จ
เขียนโดย รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ
“……………………………………
สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนบ้านเราไม่ใช่การไปฟื้นมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาล้าสมัย แต่เป็นการให้ความรู้แก่ประชากรจำนวนมาก (digital info literacy) ให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้วยสื่อเทคโนโลยียุคใหม่ ชาวไร่ชาวนา คนชายขอบ ผู้ประกอบการนอกระบบ เพื่อ “เพิ่มอำนาจ” (empower) ให้ประชาชน
ไม่ใช่เพิ่มแต่อำนาจรัฐหรือภาคธุรกิจที่ครอบงำเอาเปรียบประชาชน ที่เสียเงินรายเดือนเพื่อสื่อสาร ดูหนังดูละคร แต่ไม่รู้วิธีการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์เกี่ยวกับสุขภาพ การทำมาหากิน การจัดการชีวิต ไม่ว่ายามวิกฤติหรือยามปกติ ไม่ได้ใช้เพื่อพัฒนาอาชีพ การผลิต การตลาด
เมืองจีนส่งอาจารย์นักศึกษาลงไปทำข้อมูลครัวเรือนนานแล้ว จึงออกแบบงานพัฒนาบนฐานข้อมูลจริงถึงระดับครอบครัว แม้จะดูเป็นวิธีการเพื่อการ “ควบคุม” ตามระบอบคอมมิวนิสต์ แล้วต่างอะไรกับที่กูเกิล เฟซบุ๊ก อะเมซอน และอื่น ๆ มีข้อมูลของเราแต่ละคนจนครอบงำกำหนดการบริโภคของเราได้
บ้านเรามีเครื่องมือการทำข้อมูลชุมชน คือ “ประชาพิจัย” (PR&D) ที่แพร่ไปในหน่วยงานต่างๆ เป็นเครื่องมือของชุมชนให้ทำข้อมูลของตนเอง ไม่แต่เรื่องปัญหาและความต้องการ แต่รวมไปถึง การกินการอยู่การใช้จ่าย หนี้สิน โรคภัยไข้เจ็บในครอบครัว การเรียนรู้รากเหง้าของตนเอง เรียนรู้ที่มาเพื่อจะได้รู้ที่ไป เป็นการวิจัยเพื่อพัฒนาจิตสำนึกไปพร้อมกัน (conscientizing research)
การศึกษาที่ดี (education) เป็นการเรียนรู้การหาข้อมูล เชื่อมโยงข้อมูลให้เป็นความรู้ นำสู่การปฏิบัติให้เกิดปัญญา เป็นการปลดปล่อยให้เป็นไท (emancipation) จากความไม่รู้ โรคภัยไข้เจ็บ ความยากจน และทำให้เข้มแข็งมีพลังอำนาจ (empowerment) ในการพึ่งพาตนเอง และมีส่วนร่วมในบ้านเมือง
สังคมเป็นประชาธิไตยให้ความสำคัญกับการศึกษาเช่นนี้ และวัดที่เสรีภาพในเรื่องข้อมูลข่าวสาร ผู้คนไม่ถูกครอบงำจากข่าวข้างเดียวหรือบิดเบือนจากฝ่ายมีอำนาจ มีความโปร่งใสตรวจสอบได้”.
*จาก นสพ.สยามรัฐ, 13 พฤษภาคม 2563