อุรังคธาตุ-นิทานพเนจร : สู่เมืองหนองหานหลวง (๓)

อุรังคธาตุ-นิทานพเนจร : สู่เมืองหนองหานหลวง (๓)

ร่องรอยพระเจ้าเหยียบโลกแห่งที่ ๒ นั้นอยู่ที่จังหวัดสกลนครนี่เอง แม้ในวันเดินทางจะมีฝนหลงฤดูตกกระหน่ำลงมาในช่วงเดือนธันวาคมทำให้อุณหภูมิยิ่งลดต่ำกว่า ๑๐ องศาเซลเซียส หนาวจนจับขั้วหัวใจ แต่อุปสรรคเพียงแค่นี้ก็ไม่สามารถทำลายความตั้งใจในการไปนมัสการรอยพระพุทธบาทของฉันได้ น่าเสียดายที่พ่อแม่เข็ดกับการช่วยลูกเก็บข้อมูลภาคสนามเสียแล้ว การเดินทางคราวนี้ฉันจึงต้องกลับไปใช้บริการเจ้าจีพีเอสเกลอเก่า เมื่อเช็คดูว่าโทรศัพท์มือถือและแบตเตอรี่สำรองพร้อม เสียงห้าวของพ่อก็ตะโกนเรียกให้ลงมากินมื้อเช้าพอดี หลังท้องอุ่นด้วยก๋วยจั๊บญวนตำรับเอาฤกษ์เอาชัยของพ่อ ฉันก็พร้อมเดินทาง

แต่ถึงจะพร้อมขนาดไหนเจ้าจีพีเอสเพื่อนยากยังพาหลงทางวกวนอยู่นานจนแทบสิ้นลายนักเดินทาง แต่ในที่สุดก็เข้าสู่เขตอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร จนได้ ข้างทางมีป้ายเชิญชวนเที่ยวชมปราสาทขอมบ้านพันนา ราวกับว่าเป็นระบบสั่งการอัตโนมัติที่ไม่ต้องพึ่งสมองส่วนกลาง ข้อมือขวาก็หักเลี้ยวรถวาบพาฉันไปเยือนดินแดนขอมทันที

หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งชื่อตามนายพรานที่เข้ามาล่าสัตว์แล้วตั้งหมู่บ้านขึ้น จึงได้ชื่อว่า “บ้านพรานนา” ก่อนจะเพี้ยนเป็น “บ้านพันนา” ส่วนปราสาทขอมบ้านพันนาเป็นอโรคยาศาล ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ อันเป็นยุคที่ขอมเรืองอำนาจสูงสุด

ดอกหญ้าที่ขึ้นอยู่รอบ ๆ อโรคยาศาลนั้นแก่จัดเต็มที่ แค่เดินเฉียดไป ๆ ปุยสีขาวที่มีเมล็ดติดอยู่ก็ปลิวขึ้นไปในอากาศราวกับร่มชูชีพ เจ้าควายสามสี่ตัวเล็มหญ้าอยู่ใกล้ ๆ ท่าทางสบายอุรา มีเจ้าตัวหนึ่งซ่าขนาดหนักถึงกับลุยลงไปกินน้ำในบารายข้าง ๆ อย่างไม่เกรงใจเจ้าของเดิมเสียบ้างเลย

แต่ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ใหญ่ ดอกหญ้า หรือเจ้าทุย กลับทำให้บรรยากาศโบราณสถานอันเปลี่ยวร้างกลับมีชีวิตชีวาขึ้นอีกมาครั้ง ฉันเลือกที่นั่งมุมเหมาะ ด้วยอยากจะวาดภาพสีน้ำกับเขาดูบ้าง แต่ก่อนที่ภาพร่างจะถูกละเลงจนเละก็มีเสียงตีกลองราวกับจะมีงานมหรสพ แต่เสียงที่ได้ยินไม่ใช่จังหวะตุ้ม ๆ เหมือนทั่วไป มันมีจังหวะท่วงทำนองและลูกสะบัดที่แปลกหูจนต้องขอตามไปดูเสียหน่อย

นึกขึ้นมาได้ว่าไม่รู้ว่าเป็นเสียงจากวัดไหนและไปทางไหน แต่ก็ไม่มีอะไรมาขวางกั้นความอยากรู้อยากเห็นของผู้หญิงได้ และแม่ใหญ่ที่กำลังนั่งจี่ข้าวเหนียวอยู่หน้าเรือนใกล้กับอโรคยาศาลก็ไม่ทำให้ฉันผิดหวังเลย

“บ่ได้มีมหรสพคบงันอีหยังดอก เป็นการตีบอกเวลาซือ ๆ นี่ล่ะ” หญิงสูงวัยให้ข้อมูล พร้อมทั้งชี้บอกทางไปยังวัดเป้าหมาย

ก่อนจากกันหญิงสูงวัยยังยื่นน้ำใจเป็นข้าวจี่ร้อน ๆ มาให้แก้หนาว และชักชวนให้กลับมาเยือนที่นี่อีกครั้งตอนงานบุญข้าวจี่ที่จะจัดในเดือน ๓ ซึ่งจะมีข้าวจี่ยักษ์เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน ฟังแล้วอดยิ้มเอ็นดูคุณยายนักโฆษณาไม่ได้ ก่อนจะกระพุ่มมือไหว้ทั้งขอบคุณและอำลาในคราวเดียวกัน

เมื่อเดินตามเสียงกลองไปตามทางที่แม่ใหญ่ชี้บอก จึงพบพระภิกษุวัยกลางคนกำลังตีฆ้องกำกับห้องจังหวะให้พระหนุ่มที่ปฏิบัติกิจบนหอกลอง ภิกษุหนุ่มผู้กำเนิดเสียงกลองนั้นมีท่วงท่าลีลาราวกับเป็นนักกลองมืออาชีพทีเดียว ฉันเฝ้ารอไม่นานก็สบช่วงคลายความสงสัย

“พระที่บวชใหม่วัดนี้จะต้องมาฝึกตีกลอง ตีฆ้อง เพื่อบอกเวลาเป็นการสร้างบารมีของตัวเอง ที่วัดนี้จะสอนวิชาการตีกลองมาเป็นทอด ๆ ในการตีเซ็ตหนึ่งจะใช้เวลาประมาณสามถึงห้านาที” หลวงพี่อธิบายด้วยท่าทีภาคภูมิ ทั้งยังแนะนำให้ไปกราบขอพรจากศิวลึงค์ยักษ์ เมื่อฉันถามถึงสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ในหมู่บ้าน

กว่าจะออกจากหมู่บ้านพันนาได้ก็เกือบเที่ยง ข้าวราดกระเพราหมูสับโปะหน้าด้วยไข่ดาวยางมะตูมระหว่างทางเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีสำหรับนักแรมทาง หลังจากแวะเยี่ยมรุ่นพี่ที่ให้ความนับถือกันเมื่อครั้งเรียนมหาวิทยาลัยที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในที่สุดฉันก็มาถึงหนองหานเอาตอนพระอาทิตย์ใกล้ตก แสงสีชมพูระเรื่อบนท้องฟ้าค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยสีฟ้าหม่น เหม่อมองดูท้องน้ำกว้างใหญ่คิดถึงนิทานอุรังคธาตุตอนพญานาคล่มเมืองหนองหานหลวงจนกลายเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ พยายามเพ่งสายตามองตามริ้วคลื่นด้วยอยากจะเห็นพญานาคกับเขาบ้าง แต่บุญคงจะไม่ถึงสุดท้ายจึงไม่พบอะไรในกอไผ่

ที่หนองหานนี้ไม่เพียงแต่มีนิทานปรัมปราเกี่ยวกับพญานาคเท่านั้น คนเฒ่าคนแก่ยังเล่ากันมาว่าตรงจุดที่ลึกที่สุดของหนองนั้นมีหลวงพ่อสุวรรณแสนองค์จริงจมอยู่ หลวงพ่อทองคำองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ตามประวัติว่าสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๓ ครั้นถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เกิดศึกสงครามหลายครั้งจึงได้ย้ายเมืองไปอยู่ที่นครธม ก่อนย้ายก็ได้นำหลวงพ่อสุวรรณแสนไปซ่อนในจุดที่ลึกที่สุดของหนองหาน เรียกว่า “ขุมใหญ่” และได้สร้างหลวงพ่อองค์จำลองไว้ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุเชิงชุมวรมหาวิหาร

ผู้เฒ่าผู้แก่ยังเล่าอีกว่าในอดีตอาชีพหลักอย่างหนึ่งของชาวสกลนครคือการจับปลา มีอยู่วันหนึ่งมีคนออกทอดแหหาปลา แต่แหกลับติดอะไรบางอย่างใต้น้ำจึงดำน้ำลงไปดึงออก เมื่อดำลงไปกำลังดึงแหออกนั้นก็เห็นว่าตนเหยียบอยู่บนบ่าพระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่ จากเหตุการณ์นี้ทำให้คนทั้งสกลนครเล่าลือกัน และมีคนพบเห็นเรื่อยมา แต่ในปัจจุบันเวลาผ่านมาหลายปี อาจจะเป็นเพราะสาหร่าย วัชพืชน้ำ ตะกอนต่าง ๆ ทับถมกันสูงขึ้นทุกวัน จึงไม่มีคนพบเห็นอีก ด้วยเหตุนี้ชาวสกลนครจึงถือว่าหนองหาน เป็นหนองน้ำที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัดด้วย

ฉันส่งสายตาไปถึงกลางหนองหานพลางจินตนาการถึงหลวงพ่อทองคำองค์ใหญ่ที่อยู่ใต้น้ำนั้น นึกเห็นภาพตัวเองสวมชุดประดาน้ำดำดิ่งลงไปผจญภัยค้นหาพระทองคำในตำนาน บู๊แหลกกับพวกมิจฉาชีพที่จะมาค้นหาขุมทรัพย์เช่นกัน เก่งกาจราวอินเดียน่า โจนส์ นักผจญภัยในนิยายล่าขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าก็ไม่ปาน

“น้อง…น้อง…เก็บลูกตะกร้อให้อ้ายแหน่” เสียงนักเดาะลูกหวายส่งเสียงโหวกเหวกพร้อมทั้งโบกไม้โบกมือ ทำให้ฉันสะดุ้งจากภวังค์อย่างแสนเสียดาย

‘แหม…คนกำลังฝันดีเชียว’ ฉันบ่นกระปอดกระแปดกับตนเองพลางเตะลูกหวายส่งคืนไปให้สุดแรง

ถึงตอนนี้ท้องฟ้าได้เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเข้ม ดาวประจำเมืองส่องแสงวาววามคล้ายจะเตือนว่าได้เวลาต้องไปตามหารอยพระเจ้าเหยียบโลกหมายเลข ๒ เสียที รอยพระพุทธบาทที่เมืองหนองหานหลวงนี้ไม่ธรรมดานะ แต่จะเป็นเพราะอะไรฉันจะเฉลยในภายหลัง วัดพระธาตุเชิงชุมฯ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทนั้นไม่ไกลจากหนองหานเท่าใดนัก ขับรถไม่นานก็มาถึงวัดทันเวลาที่เดือนดวงใหม่ลอยเด่นพอดี

ด้านหลังหลวงพ่อสุวรรณแสนองค์จำลองเป็นทางเข้าสู่ภายในพระธาตุเชิงชุม ซุ้มประตูเป็นศิลปะสมัยขอมเรืองอำนาจบ่อภูน้ำลอดตามตำนานกล่าวว่าเป็นทางน้ำใต้ดิน ลึกลับซับซ้อน ว่ากันว่าเคยมีผู้ทำถังน้ำตกลงไป แล้วทางน้ำใต้ดินพาถังน้ำไหลไปโผล่ที่สระพังทองใกล้กับหนองหานทีเดียว

ตำนานพระเจ้าเลียบโลกฉบับอีสานในส่วนนี้ได้จารไว้ว่า

“…จากภูกำพร้านี้พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปสู่เมืองที่มีรอยปาทาที่ริมหนองหานหลวง ยังมีพระยาผู้ปกครองตนหนึ่งชื่อว่า “สุวรรณพิงคละ” เป็นผู้มีกระโจมหัวทองคำและน้ำเต้าทองคำใบใหญ่

เมื่อพระยาสุวรรณพิงคารรู้ข่าวการเสด็จมาขององค์พระสัมมา จึงอาราธนานิมนต์ไปฉันภัตตาหารที่ปราสาทของตน หลังฉันภัตตาหารแล้วพระพุทธองค์ก็เทศนาสั่งสอนพระยาและคนทั้งหลาย ต่อจากนั้นจึงเสด็จลงจากปราสาท มาประชุมรอยพระบาทและทำปาฏิหาริย์ให้มีแก้ว ๓ ดวง ลอยออกมาจากรอยพระบาทเป็นลำดับ

พระยาผู้ครองเมืองหนองหานหลวงเห็นเป็นอัศจรรย์จึงไหว้ถามมหาบุรุษว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น พระผู้มีพระภาคจึงเล่าว่า

ที่ตรงนี้เป็นที่ประชุมรอยเท้าของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์ คือ พระพุทธเจ้ากุกกุสันโธ พระพุทธเจ้าโกนาคม และพระพุทธเจ้ากัสปะ

ในครั้งนั้นพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์ ได้มาบิณฑบาตในเมืองศรีโคตรบอง เมื่อฉันข้าวที่ภูกำพร้าแล้วจึงเสด็จมาไว้รอยพระบาทที่นี้ทุก ๆ พระองค์เป็นประเพณี และท้ายสุดแก้วดวงที่ ๔ ที่ลอยออกมาก็เป็นของตถาคตในกาละบัดนี้เอง ครั้นพระพุทธเจ้าประทับรอยพระบาทใส่แผ่นหินก็ได้ทำนายเหตุการณ์หลังจากที่พระองค์เสด็จปรินิพพานไปแล้ว ว่าสถานที่ใดที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายประทับรอยพระพุทธบาทไว้ สถานที่นั้นจะเป็นที่ตั้งบ้านเมือง รุ่งเรืองด้วยพระพุทธศาสนา รวมทั้งเรื่องราวของเมืองหนองหานหลวงและเมืองหนองหานน้อยด้วย

พระยาสุวรรณพิงคารได้ฟังก็เกิดความเลื่อมใส อยากจะตัดเอาศีรษะของตนบูชารอยพระพุทธบาท แต่พระเทวีได้ห้ามไว้ได้อย่างทันท่วงที โดยให้เหตุผลว่า หากมหาราชยังทรงมีชีวิตอยู่ ยังจะได้สร้างบุญทำทาน พระยาแห่งเมืองหนองหานหลวงได้ฟังดังนั้นจึงปลดกระโจมหัวของตนบูชารอยพระพุทธบาทแล้วสร้างเจดีย์ครอบไว้แทน…”

คงจะได้คำตอบกันแล้วว่าเหตุใดรอยพระพุทธบาทแห่งนี้จึงพิเศษกว่าที่อื่น ๆ และเหตุใดจึงเรียกสถานที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทนี้ว่า “พระธาตุเชิงชุม”

พระธาตุเชิงชุมเดิมเป็นปราสาทขอมอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ ภายหลังได้ซ่อมแซมเพิ่มเติมเป็นพระธาตุแบบศิลปะล้านช้างราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔ มีซุ้มประตูยอดทรงปราสาท ทรงสูงแนบติดกับผนังเรือนธาตุขึ้นไป ต่อด้วยชั้นซ้อน ฐานบัวลูกแก้วอกไก่ยืดสูงรองรับองค์บัวเหลี่ยมขนาดเล็กและยอดสุด

ปรกติแล้วฉันเป็นพุทธศาสนิกชนที่ค่อนข้างห่างเหินวัดวา แต่ในยามนี้เมื่อทราบว่าที่ด้านหลังประตูหินศิลปะแบบขอมนั้นเป็นที่ชุมนุมรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าถึง ๔ พระองค์ จึงยอบตัวลงกราบด้วยความรู้สึกศรัทธาและปีติที่ได้ใกล้ชิดบริโภคเจดีย์ พลางจินตนาการถึงรอยพระพุทธบาทภายในพระปรางค์ว่าจะเป็นเช่นไร จะเป็นเหมือนคนทั่ว ๆ ไปหรือไม่ กราบขอพรหลวงพ่อสุวรรณแสงขอให้การเดินทางตามหารอยพระพุทธบาทตามตำนานอุรังธาตุเป็นไปโดยราบรื่น

พระจันทร์กับความเย็นของอากาศจับมือเป็นพันธมิตรกันตั้งแต่เมื่อไรไม่ทราบ ยิ่งลอยสูงเด่นฟ้าอากาศก็ยิ่งหนาว หลังสำรวมจิตเดินเวียนรอบองค์พระธาตุก็แล้ว กราบหลวงพ่อองค์แสนก็แล้ว เสี่ยงเซียมซีก็แล้ว แต่ฉันยังไม่อยากกลับเพราะยังรู้สึกตื่นเต้นกับการได้มาพบและอยากซึมซับบรรยากาศความศรัทธาของประชาชนอีกสักหน่อย แต่อากาศที่เย็นเฉียบก็ไม่เป็นใจเอาเสียเลย น้ำมูกใส ๆ ของฉันเริ่มไม่อยู่ในความควบคุม ใช้แค่หลังมือป้ายก็เริ่มจะเอาไม่อยู่ ต้องขยับมาซับทิชชู่ก็ซับเสียจนชุ่ม จนแม่ใหญ่ที่ขายข้าวจี่พยายามสบตา ในที่สุดฉันก็ยอมแพ้

ข้าวเหนียวปิ้งชุบไข่ร้อน ๆ ช่วยให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น เมื่อฉันพร้อมจะไปแม่ค้าข้าวจี่ที่เงียบมาตลอดจึงเอ่ยปากขึ้นเป็นครั้งแรก

“บ่อน้ำที่เฮ็ดพญานาคอ้อมนั่นน่ะ คนเฒ่าคนแก่เอิ้นว่า ‘บ่อภูน้ำลอด’ ว่ากันว่า…” เท่านั้นเอง ข้าวจี่ชิ้นที่ ๒ ๓ ๔ และ ๕ ก็ลงไปนอนอุ่นอยู่ในกระเพาะของฉัน เพื่อแลกกับนิทานก่อนที่จะทำให้ฉันได้ฝันถึงความเร้นลับของนครโบราณหนองหานหลวง

คุณพระช่วย

๒ ปีผ่านไป ฉันได้มีโอกาสกลับไปกราบรอยประชุมพระพุทธบาทที่วัดพระธาตุเชิงชุมฯ อีกครั้ง และครั้งนี้พิเศษมาก ๆ เพราะทางวัดได้เปิดประตูหินออกให้คนทั่วไปได้มีโอกาสเห็นภายในองค์พระธาตุ

“ห้ามแม่ยิงเข้า” ป้ายที่ติดไว้ด้านหน้าประตูทำให้เป็นอีกครั้งที่ฉันนึกหงุดหงิดกับความเป็นผู้หญิงของตนเองไม่ได้ แม้จะเข้าใจในธรรมเนียมปฏิบัติก็ตามที

อยากจะเข้าไปเห็นรอยพระพุทธบาทด้วยตาเนื้อของตนเอง อยากจะอ่านจารึกโบราณที่อยู่ในนั้นด้วย มันเป็นความรู้สึกที่เหมือนกับคนที่อยู่ในคุกใต้ดินที่กรีดร้องอย่างไรก็ไม่มีใครได้ยิน

“ช่วยไหมคุณโยม” เสียงที่ได้ยินด้านหลังราวเสียงสวรรค์จริง ๆ

พระอาจารย์ผู้มีน้ำใจผลุบเข้าไปในห้องครรภคฤหะเพียงชั่วครู่ก็ออกมา พร้อมกับถามว่าภาพที่ถ่ายนั้นใช้ได้หรือไม่ ฉันก้มลงตรวจสอบภาพจากหน้าจอกล้องถ่ายรูปมิลเลอร์เลสตัวเล็กคู่ใจ ภาพคุณพระช่วยไม่เพียงแต่ใช้ได้ ยังทำให้เกิดความรู้สึกปีติอยากจะสืบทอดพระศาสนาให้ยืนยาวถึง ๕,๐๐๐ วัสสา ดังคำทำนาย และปรารถนาจะได้กลับมากราบรอยประชุมพระพุทธบาทอีกครั้งในยุคสมัยของพระศรีอาริยเมตไตรยอีกด้วย

(โปรดติดตามการออกพเนจรต่อไป)

เจดีย์สีขาวภายในพระธาตุเชิงชุม เป็นเจดีย์ที่ครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ในเอกสารเกี่ยวกับประวัติเมืองสกลนครบางฉบับก็กล่าวว่าสุวรรณนาคได้นำแผ่นหินที่ประชุมรอยพระบาทนั้นลงไปยังเมืองบาดาล พญาสุวรรณภิงคารจึงได้สร้างเจดีย์สีขาวครอบไว้เป็นสัญลักษณ์เมื่อได้มามนัสการพระธาตุเชิงชุมอย่าลืมแวะไปกราบพระในสิมโปร่งด้านข้างด้วย สถาปัตยกรรมโบราณหลังเล็กจะได้ไม่เงียบเหงาเกินไปนัก สิมหลังนี้สร้างเมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏ แต่บูรณะปฏิสังขรครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๓ สังเกตจากมุมอาร์คโค้งของประตูและหน้าช่างที่สร้างจึงน่าจะเป็นช่างชาวญวนที่ได้รับอิทธิพลด้านสถาปัตยกรรมมาจากประเทศฝรั่งเศส

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๗
ปีที่ ๗ ประจำเดือนกันยายน ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

ติดตามตอนต่อไป

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : แผนการจาริก (๑)

อุรังคธาตุ-นิทานพเนจร : จุดเริ่มต้น (๒)

อุรังคธาตุ-นิทานพเนจร : สู่เมืองหนองหานหลวง (๓)

Related Posts

เมืองเสือพยัคฆภูมิพิสัย “ชื่อน่ากลัวแต่ตัวน่ารัก”
จาก “นายผี” ถึง “ทางอีศาน”
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com