อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : บุกดอยนันทกังฮี – ๒ (๖)

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : บุกดอยนันทกังฮี – ๒ (๖)

ฮอยบาทพระเจ้าอยู่นี่ มีอยู่บ่เอื้อย” พนักงานต้อนรับของโรงแรมและมัคคุเทศก์สาวชาวลาวเวียงที่รอลูกค้าอยู่ในโถงล็อบบี้พร้อมใจกันย้อนถาม เมื่อฉันถามถึงตำแหน่งที่ตั้งของรอยพระพุทธบาท

นั่นเป็นเหตุการณ์ของคืนวาน ทำให้วันนี้ฉันต้องรีบตื่นก่อนที่ดาวประกายพรึกจะโดนแสงดวงอาทิตย์กลบ กระชากตัวเองขึ้นจากที่นอนอันอบอุ่นได้ก็รีบแต่งตัวนุ่งซิ่นห่มสไบ หวังใจไว้ว่าอานิสงส์จากการใส่บาตรข้าวเหนียวจะช่วยให้ได้ข้อมูลว่ารอยพระพุทธบาทนั้นอยู่ตำแหน่งใดของเมืองหลวงเก่าแห่งนี้

พระสงฆ์ที่นี่ระบุเวลาการออกบิณฑบาตแน่นอนไม่ได้ อาศัยว่าเห็นเส้นลายมือเมื่อใดก็ออกเมื่อนั้น ซึ่งก็จะราว ๆ ตี ๕ ครึ่ง จากจุดสีส้มที่อยู่ลิบ ๆ ค่อย ๆ ขยับใกล้เข้ามา ๆ จนเห็นหลวงตานำหัวแถวมาพร้อมเจ้าด่าง ทุกผู้ทุกนางหยุดการพูดคุย สำรวมจิตใจจกข้าวเหนียวกันมือเป็นระวิงแทบลืมหายใจเพราะอยากจะใส่ให้ทันทุกรูป

ชาวหลวงพระบางนิยมให้ลูกหลานบวชเรียน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนในระบบโรงเรียนนั้นค่อนข้างแพง เป็นเหตุให้เมืองหลวงเก่าแห่งนี้มีพระเยอะอย่างมหัศจรรย์ ตอนเช้าตักบาตรข้าวเหนียว ตอนสาย ๆ จึงหิ้วปิ่นโตใส่กับข้าวไปที่วัด ระหว่างที่กำลังจกข้าวเหนียวใส่บาตร พระรูปหนึ่งเกิดทำพวงกุญแจตก เสียงแซ่ด ๆ ก็ดังขึ้นทันที

“พระย่างก็แม่นเก้า ของตกก็แม่นหก หกหมดก็แม่นศูนย์ ก็ต้องเป็นเก้าหกศูนย์ อย่าลืมกลับเลขนำ”

อื้อหือ! เรื่องลุ้นให้ลมสูบฉีดของพี่น้องสองฝั่งโขงนี่ไม่แพ้กันเลยสักนิดเดียว แต่จะต่างกันสักหน่อยก็ตรงฉลากกินแบ่งรัฐบาลของลาวนี่เขาออกถี่กว่าสัปดาห์ละ ๒ ครั้งเชียว

หลังใส่บาตรเสร็จตามธรรมเนียมจะเหลือข้าวเหนียวไว้สัก ๓ ปั้น เพื่อเป็นทานแก่นกกา แต่คุณยายที่เบื้องหน้าคงจะนึ่งข้าวเผื่อไว้เยอะจึงกลายเป็นทานแก่เจ้าตูบที่มานั่งเฝ้าตัวละคำสองคำจนหมดกระติบ เห็นแล้วเอ็นดูจนอดเข้าไปชวนคุยไม่ได้

“สบายดี หมาเฮือนแม่ตามมานำบ่”

“บ่ดอก มันอยู่แถวนี้ล่ะ มาขอกินซุมื้อ”

“แม่ฮู้จักทางไปกราบฮอยบาทพระเจ้าบ่”

“แม่นละโอ๋ มีอยู่สองฮอย ฮอยหนึ่งอยู่วัดพระบาทใต้ เดี๋ยวนี้จมอยู่ใต้น้ำโขง อีกฮอยหนึ่งกะอยู่ด้านหลังพูสี”

“โอ ขอบใจหลายเด้อแม่”

“จ้า ยินดีลูก”

ช่างเป็นความโชคดีที่แสนบังเอิญอะไรอย่างนี้ แต่ในเมื่อรอยพระพุทธบาทนั้นอยู่บนจุดที่เหมาะแก่การชมพระอาทิตย์ตกดิน เช่นนั้นแล้วคงต้องใช้เวลาในช่วงกลางวันให้คุ้มค่าที่สุดด้วยการ “เที่ยว”

วัดเซียงทองเป็นสถานที่ที่ฉันอยากไปมานานแล้วจึงนับเอาที่นี่เป็นหมุดหมายแรก ดูจากแผนที่ที่ปริ้นท์มาจากอินเตอร์เน็ตเส้นทางไม่สลับซับซ้อนสามารถไปด้วยตัวเองได้ ฉันจึงเดินลัดเลาะผ่านตลาดเช้าดูว่าบ้านเมืองเขามีอะไรน่าสนใจขายบ้าง แล้วแวะซื้อข้าวจี่จากร้านประซานิยมเป็นเสบียง แล้วเช่าจักรยานปั่นเรียบริมโขงไปราว ๆ ครึ่งชั่วโมงก็มาถึงวัดที่ได้ชื่อว่าเก่าแก่และงดงามอย่างที่สุด เจ้าตัวสิงห์ปากแดงที่ทำหน้าที่ยามเฝ้าหน้าบันไดมีข้าวเหนียวอยู่ในปากด้วย ทำให้ความน่าเกรงขามหายไปกว่าครึ่ง ดูน่าเอ็นดูจนอดยิ้มให้มันไม่ได้ 

พระสงฆ์แต่ละรูปเดินกันเร็วมากจนแทบจะจกข้าวเหนียวไม่ทันใจดี

ปลาจากแม่น้ำโขงมีทั้งปลาหนังและปลาเกล็ดตัวโตจนไม่กล้ากินเพราะนึกถึงตำนานโยนกนาคนคร

อาหารหลายอย่างที่ขายในตลาดดูคล้ายเมนูทางเหนือ เนื่องจากเป็นการถ่ายเททางวัฒนธรรมข้าวจี่…สเบียงระหว่างเดินทาง

เมืองหลวงเก่าแห่งนี้เดิมชื่อว่า “เมืองซัว” ก่อนจะเปลี่ยนเป็น “เมืองเซียงทอง” และ “เมืองหลวงพระบาง” ในที่สุด เห็นภาพสิม[๑]  ของวัดเซียงทองผ่านสื่อต่าง ๆ หลายต่อหลายครั้ง แต่เมื่อได้มาเห็นกับตาตัวเองฉันถึงกับยืนนิ่ง อย่างไม่มีคำพูดใดจะกล่าว เดินละเลียดชมความงามราวกับว่าอยู่ในสถานที่ที่กาลเวลาค้นหาไม่เจอ หลังคาทรงปีกนกอ่อนช้อยเยี่ยงสกุลช่างหลวงพระบางดูอ่อนหวาน

[๑] หมายถึง สีมา หรือโบสถ์

วัดเก่าแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๑๐๒ แล้วเสร็จเมื่อ ๒๑๐๓ โดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช สิมโบราณงดงามตระการตาด้วยลายฟอกน้ำคำ ภายนอกเป็นเรื่องราวของท้าวจันทะพานิด ท้าวผู้นี้เดิมชื่อจันทาเป็นพ่อค้าขายพลูอยู่เวียงจันทน์ ระหว่างเดินทางค้าขายได้มีพระมหาเถระทำนายดวงชะตาให้ว่า หากปฏิบัติตนด้วยความซื่อสัตย์ละทิ้งความละโมบจะได้พบโชคดีที่ยิ่งใหญ่ ท้าวมีชื่อก็ปฏิบัติตามโดยไม่ลังเล แม้จะมีหีบบรรจุทองคำอยู่ต่อหน้าเมื่อไม่ใช่ของตนก็ละทิ้งไปโดยไม่เสียดาย จนกระทั่งได้เป็นผู้ครองเมืองเซียงดง-เซียงทองในที่สุด ที่จริงแล้วการบริหารบ้านเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย ก็ไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วพระยาจันทะพานิดจะโชคดีหรือไม่ อ้อ! นอกจากนี้ลายฟอกน้ำคำภายในสิมมีเรื่องของท้าวสีทน-มะโนลา[๒] และท้าวสุตตโสมชาดก[๓] อีกด้วย

[๒] พระสุธน-มโนราห์อยู่ในปัญญาสชาดก

[๓] อยู่ในปัญญาสชาดก

ภายในสิมมีพระประธานนามว่า “พระองค์หลวง” ดูสง่างามเยี่ยงฝีมือของช่างหลวง เสริมให้บรรยากาศภายในดูขรึมขลังยิ่งนัก ธรรมาสน์ไม้แบบเสาเดียวก็งดงามแทบลืมหายใจ ที่มุมหนึ่งมีฮางฮด[๔] ตั้งไว้อย่างองอาจ ที่กล่าวเช่นนั้นเป็นเพราะธรรมาสน์ไม้และฮางฮดแบบพื้นบ้านอีสานนั้น มักจะถูกซุกไว้มุมใดมุมหนึ่งของสิมหรือศาลาการเปรียญ เพราะเห็นว่าขาดความทันสมัย บางวัดก็ทิ้งไป

[๔] รางรินรดน้ำพระพุทธมนต์สำหรับพิธีเถราภิเษก

ฮางฮดดังกล่าวทำเป็นรูปพญานาคเอี้ยวหัวกลับมาด้านหลัง ตอนแรกก็ลังเลอยู่ว่าดูคล้ายมังกร จะใช่ฮางฮดหรือไม่ แต่เมื่อพิศดูรายละเอียดให้ชัดก็พบว่าเป็นรูปมกรคายนาค ที่สำคัญนาคนั้นมีปีกอย่างขนบในการสร้างพญานาคของลาว จึงได้มั่นใจในความคิดตนว่า ที่แท้ก็รับอิทธิพลจากจีนตามประสาเมืองทางผ่านมานี่เอง ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ช่างได้สร้างนกหัสดีลิงค์เกาะที่ปลายหางนาคด้วยสันนิษฐานว่าผู้สร้างสรรค์คงจะมีเชื้อสายไทลื้อ จึงได้สอดแทรกความเชื่อลงในงานศิลปะของตนด้วย

ที่ด้านข้างสิมมีหอไหว้น้อย ประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานให้แก่เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ เห็นแล้วก็รู้สึกอบอุ่นในหัวใจว่ามีสิ่งให้ระลึกถึงยามไกลบ้าน ฉันหลับตารวบรวมสมาธิให้จิตใจตั้งมั่น กราบขอพรให้การงานประสบความสำเร็จ จากนั้นจึงเดินไปชื่นชมความงามของหอแดงที่อยู่ด้านหลัง


สิมสกุลช่างหลวงพระบาง หลังคาแอ่นทรงปีกนก ตำแหน่งช่อฟ้าแบบที่คนไทยภาคกลางเรียกนั้นทางอีสานและลาว เรียกว่า “โหง่”  และ ช่อฟ้าหรือสัตบริภัณฑ์นั้นอยู่ตรงกลาง สร้างตามคติความเชื่อเรื่องสวรรค์ซึ่งตั้งอยู่บนเขาพระสุเมรุล้อมรอบด้วยเทือกเขา ๗ เทือก ส่วนความเชื่อเรื่องหากมี ๗ ยอด คือกษัตริย์สร้าง มี ๕ ยอดคือขุนนางสร้าง และ ๓ ยอด คือ ประชาชนสร้างล้วนเป็นความเข้าใจผิด

ฮูปแต้ม[๕] ประดับสิมนั้นมีอยู่ด้วยกัน ๔ ประเภท คือ ภาพที่ใช้สีแต้ม ภาพที่ระบายบนประติมากรรมนูนต่ำ ภาพที่เกิดจากการลงรักปิดทอง และแบบที่ใช้มุกงาหรือแก้วประดับ

[๕] ภาพจิตกรรมฝาผนัง

หอพระนอนสีกุหลาบนี้ก็ใช้แก้วหลากสีประดับ จัดเรียงเป็นนิทานพื้นบ้านเรื่อง เสียวสวาด สอดแทรกด้วยวิถีชีวิตพื้นบ้าน และสัตว์หิมพานต์ เป็นศิลปะที่งามโดยไร้มารยา ฉันละเลียดชมด้วยอย่างไม่รู้อิ่มตามประสาคนรักโบราณสถานอยู่เป็นนาน ก่อนจะเข้าไปกราบพระภายในหอ พิศดูพระนอนด้านในเป็นศิลปะล้านช้างแบบอิทธิพลช่างหลวงอายุราว ๔๐๐ ปี ประดิษฐานอยู่ ฉันกราบขอพรให้ประสบความสำเร็จในการเผยแพร่ตำนานอุรังคธาตุ และลองยกพระสำหรับเสี่ยงทาย ส่วนผลนั้นเป็นอย่างไร…บอกไม่ได้เดี๋ยวจะไม่ขลัง

ข้างหอแดงเป็นหอพระม่าน (พม่า) ได้ชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์มากในการขอลูกและขอฝน เชื่อว่าหากนำองค์พระออกมาจะทำให้ฝนตกหนัก ประตูไม้สลักปิดทองนั้นทั้งลงดาลและคล้องกุญแจเสียแน่นหนา แต่ยังอุตส่าห์มีรูสำหรับให้ผู้นมัสการมองลอดเข้าไป รูล่างของชาวเอเชียตัวเล็ก ส่วนรูที่อยู่สูงหน่อยเป็นของชาวตะวันตก ฉันยลตามช่องเข้าไปดวงหน้าขององค์พระนั้นสงบงามพาให้จิตใจเบาสบาย


ภาพติดกระจกด้านหลังสิมรูปต้นทองเพื่อระลึกถึงเมืองเซียงทอง ด้านบนเป็นสวรรค์ด้านล่างเป็นโลกมนุษย์


ศิลปะไร้มารยาประดับกระจกเรื่องเสียวสวาด เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับชายผู้มีความฉลาดเฉลียวอย่างศรีธนชัย แต่อักษรไทน้อยอย่างที่ลาวใช้นั้นไม่มีอักษร ฉ. เพราะเป็นการใช้อักษรตามการออกเสียง จึงใช้อักษร ส. แทน

พระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทราหูหรือปางไสยาสน์แบบศิลปะตามฝีมือช่างหลวงล้านช้าง สัดส่วนจะสมดุลงดงาม พระเกศาขดเล็กละเอียดเป็นระเบียบอย่างหนามขนุน พระกรรณใหญ่ พระขนงเดินเส้นคู่ พระนาสิกใหญ่ และมีรอยยิ้มอย่างที่เรียกว่า “ยิ้มแบบล้านช้าง” ปลายนิ้วทั้ง ๔ เสมอกัน สังฆาติปลายตัด

***

ภายในวัดเก่าแก่แห่งนี้ยังมีโฮงเมี้ยนโกศ (โรงเก็บพระโกศ) สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๕ ออกแบบโดยเจ้ามณีวงศ์ และแกะสลักลายโดยเพียตัน ช่างฝีมือชั้นเอกประจำพระองค์ของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา ผนังด้านนอกเป็นไม้สลักลายปิดทองวิจิตรเป็นเรื่อง พะลักพะลาม มีหลายตอนด้วยกัน เช่น พิเภกบอกที่ซ่อนกล่องดวงใจของท้าวราพนาสูรแก่พะลาม พะลักและนางสีดา  ตอนสีดาลุยไฟ พะลามรบกับยักษ์ ท้าวราพนาสูรสู้กับนกชดายุ และตอนท้าวราพนาสูรโดนศรพะลามล้ม

ราชยานนั้นประดิษฐานพระโกศ ๓ องค์ ตรงกลางเป็นพระโกศองค์ใหญ่ของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา องค์เล็กด้านหน้านั้นเป็นของพระเจ้าอา และองค์เล็กด้านหลังเป็นของพระราชมารดา แม้จะอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมแต่ก็ไม่อาจปิดบังความสง่างามเมื่อครั้งอดีตได้เลย

หลังชมวัดเก่าแล้วฉันย้อนกลับทางเดิมเพื่อไปชมวัดใหม่… “วัดใหม่สุวรรณภูมาราม” บ้าง เมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๘ จีนฮ่อธงดำได้เข้าปล้นสะดมหลวงพระบาง โดยตั้งทัพอยู่ที่วัดเซียงทอง พวกโจรได้เผาวัดวาอารามจนราบ หลงเหลือเพียงวัดเซียงทองไม่ว่าจะเพราะเป็นที่ตั้งทัพหรือสำนึกบุญคุณที่เป็นที่พึ่งพิงหรือไม่ก็ตาม ถือว่าเดชะบุญ ไม่เช่นนั้นอัญมณีแห่งสกุลช่างหลวงพระบางคงพินาศสิ้นไป เมื่อเหลือเพียงวัดเซียงทองแล้ว ภายหลังได้สร้างวัดใหม่ขึ้นมาจากวัดแห่งนี้จึงได้ชื่อว่าวัดใหม่สุวรรณภูมาราม

จากข้อมูลของฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียอาคเนย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ ได้รับการอุปถัมป์จากเจ้ามหาชีวิตจึงได้รับการบูรณะและต่อเติมหลายครั้ง เช่น รัชสมัยพระเจ้ามังทาดลาด ได้สร้างพระพุทธรูป พระธาตุ หอขวาง และในรัชสมัยพระเจ้ามะหินทะละเทบนิพาทอน (อุ่นคำ) โปรดให้สร้างระเบียงคดเพิ่มเติม เป็นต้น

ที่วัดแห่งนี้ไม่เพียงแต่สมเด็จพระสังฆราชยอดแก้วพุดทะซิโนลด อดีตสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกของลาวได้เคยมาพำนัก ทั้งยังเคยเป็นที่ประดิษฐานพระบาง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบางในรัชสมัยของเจ้ามหาชีวิตสักรินทรฤทธิ์ จนกระทั่งพุทธศักราช ๒๔๓๗ จึงได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่หอพระบางภายในพระราชวังหลวง

พระม่านลักษณะศิลปะแบบผสมผสานของสิมวัดใหม่สุวันนะพูมาลามภาพสลักลงรักปิดทองเรื่องพระเวสสันดรที่ผนังด้านนอกของสิมงดงามอร่ามตา ชาดกเรื่องนี้ชาวลาวให้ความสำคัญมากด้วยถือว่าเป็นชาติที่พระพุทธเจ้าได้สร้างบุญใหญ่ราชรถบรรจุพระโกศสลักเสลาลวดลายจากเรื่องพะลักพะลาม

สิมของวัดใหม่ฯ ค่อนข้างต่างจากวัดเซียงทองอยู่มาก ด้วยความเป็น “สิมแบบผสมผสาน” คือ ตรงที่เป็นอาคารทรงโรงขนาดใหญ่ มีการรับอิทธิพลจากรัตนโกสินทร์เข้ามาในการสร้างเครื่องประกอบหลังคาอย่างช่อฟ้า ใบระกาและหางหงส์ ส่วนโครงสร้างหลังคาได้รับอิทธิพลด้านโครงสร้างซ้อนชั้นแบบเซียงขวาง มีคอสองแบบไทลื้อ ไม่เพียงเท่านี้ยังมีการสลักลวดลายมังกรแบบศิลปะจีนที่บริเวณด้านล่างของประตูอีกด้วย และสุดท้ายลักษณะแบบหลวงพระบางที่คงไว้คือ หลังคาแอ่นโค้ง มีโหง่ สัตตบูริพัน และตกแต่งด้วยลายฟอกคำ

แม้ว่าวัดแห่งนี้จะอยู่ใกล้กับพูสีแค่เพียงถนนเล็ก ๆ กั้น แต่ฉันก็ทำใจแข็งเดินผ่านไปราวคนไม่รู้จักกัน ไว้รอช่วงพระอาทิตย์ใกล้ตกจึงจะขึ้นไปทีเดียว กลั้นใจเดินตรงดิ่งไปชมพระราชวังหลวง

บริเวณส่วนหน้าของพระราชวังมีหอพระบางซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระคู่บ้านคู่เมือง พระบางนั้นเป็นที่เคารพสักการะไม่เพียงแค่เพราะความเก่าแก่โบราณเท่านั้น แต่ยังมีความศักดิ์สิทธิ์เนื่องจากบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ถึง ๕ ตำแหน่งด้วยกันคือ พระนลาฏ พระศอ พระอุระ ข้อพระกรทั้ง ๒ ข้าง และพระชานุทั้ง ๒ ข้าง ทุก ๆ วันที่ ๑๓  เมษายน จะมีการอัญเชิญออกมาให้ประชาชนได้สรงน้ำ

ตอนที่ฉันได้อ่านนิยายเรื่อง คู่สันยา ดังที่เล่าไปข้างต้นแล้วว่าประทับใจนักหนา ไม่เพียงตามไปชิมอาหารพื้นเมืองที่พระเอกของเรื่องชำนาญเท่านั้น ยังอุตส่าห์ไปเสาะหาตำราอาหารตำรับหลวงพระบางมาอ่านด้วย ตอนนั้นค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตอยู่นานจนพบหนังสือ “ปื้มคัวกินลาว ของ เพียสิง จะเลินสิน” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แมงกะเบื้อ  เป็นข้อมูลการครัวที่เพียสิงผู้เป็นเจ้ากรมพิธีการและหัวหน้าห้องเครื่องในพระราชวังได้บันทึกไว้

แรกเห็นราคาหนังสือ ๖๙๔ บาท ก็อดติงในใจไม่ได้ว่าแพงจริง แต่เมื่อได้อ่านในบันทึกแล้วพบว่า ก่อนจะเสียชีวิตเพียสิงได้ปรารถนาให้ตำรับอาหารที่ท่านรวบรวมไว้ได้จัดพิมพ์เพื่อนำรายได้ไปสร้างบุษบกใหม่ประดิษฐานพระบาง แม้ว่าภายหลัง อแลน เดวิดสัน (อดีตเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศลาว) ผู้นำตำรับหลวงนี้พิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกจะพิจารณาแล้วว่า รายได้จากการรวมเล่มนี้ หากนำไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวลาวในต่างประเทศจะเหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นมากกว่า เมื่ออ่านบันทึกจบแล้วฉันรู้สึกอนุโมทนากับเพียสิง และอดีตท่านเอกอัคราชทูตเดวิดสันเป็นอย่างยิ่ง

หอพระบางสัญลักษณ์รูปช้างสามเศียรที่หน้าพระราชวังหลวงหมายถึงล้านช้าง ๓ อาณาจักร คือ หลวงพระบาง จำปาสักและเวียงจันทน์ภายในพระราชวังหลวงมีปั๊มน้ำมันของตัวเองเพื่อให้บริการราชยานหลวง

ที่หอพระบางนี้ห้ามถ่ายรูป แต่ปรากฏว่ามีนักท่องเที่ยวผู้หนึ่งยกกล้องขึ้นเล็งโดยไม่ละอาย เจ้าหน้าที่สาวเห็นดังนั้นก็รีบเข้ามาเตือนทันที ฉันแอบสังเกตการณ์อยู่เงียบ ๆ คิดในใจว่าเจ้าหน้าที่หญิงตัวเล็ก ๆ ท่าทางเรียบร้อย คงไม่กล้ากับผู้ชายตัวโตแบบนั้นแน่ แต่ผิดคาดเธอเตือนนักท่องเที่ยวนั้นอย่างเข้มแข็ง มิไยที่ชายคนนั้นจะทำสัญญาณมือว่า “นิดเดียว ๆ” แต่หัวเด็ดตีนขาดเธอก็ไม่ยอม จนในที่สุดนักท่องเที่ยวคนนั้นก็ยอมลบรูปจากกล้องไป ฉันแอบไชโยให้กับชัยชนะของเธออยู่ในใจ

กราบพระบางแล้วจึงเข้าชมในพระราชวังหลวง ที่นี่ก็ห้ามถ่ายรูปแต่อนุญาตให้วาดได้ แต่จะวาดไหวหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉันเก็บของในล็อคเกอร์เรียบร้อยจึงเดินอย่างสำรวมเข้าสู่โถงภายใน ภายในห้องใหญ่นั้นมีกระจก ๒ บาน สะท้อนเงาของกันและกันอย่างไม่รู้จบสิ้น เป็นสัญลักษณ์ว่าประเทศลาวจะเจริญอย่างไม่หยุดยั้ง

เดินวนขวาไปยังห้องแรกเป็นห้องประกอบพิธีสมเด็จพระสังฆราช ห้องถัดมาเป็นห้องว่าราชการ มีภาพจิตรกรรมชนเผ่าต่าง ๆ เช่น ลาวลุ่มจะไว้มวยผม ลาวม้งจะโพกผ้าแดง ลาวเทิงไว้มวยผมเฉียงข้าง นอกจากนั้นยังมีภาพความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ในวัดใหม่สุวรรณภูมาราม และวิถีชีวิตชาวบ้านอย่างไอ้หนุ่มเป่าแคนจีบผู้สาวทอผ้า

ห้องถัดไปเป็นห้องยาวบนผนังประดับกระจกสี ลักษณะฝีมือคล้ายกับที่วัดเซียงทองเป็นเรื่อง สังสินไซ นางผมหอม และ เสียวสะหวาด นอกจากนิทานพื้นบ้านยังมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์องค์พระบาง ปู่เยอย่าเยอ การเดินทางไปนมัสการพระธาตุหลวงที่เวียงจันทน์ของเจ้ามหาชีวิต และบุญส่วงเฮือ (บุญแข่งเรือ) ภายในห้องมีตู้กระจกแสดงพระบุเงิน บุทอง พระสลักจากรัตนชาติ ฝีมือละเอียดเยี่ยงช่างหลวง กลางห้องจัดแสดงบัลลังก์และเครื่องราช-กกุธภัณฑ์ของเจ้ามหาชีวิต

จากท้องพระโรงฉันเดินลึกเข้าไปยังห้องชั้นในซึ่งเป็นห้องบรรทม ประดับภาพเจ้ามหาชีวิต เจ้านางคำผุย และเจ้าราชบุตร ทางเดินริมหน้าต่างมีตู้กระจก มีหลักจารึกเรื่องราวต่าง ๆ ของหลวงพระบาง ดวงเมือง หนังสือผูก ยังมีถ้วยโถโอชาม พานเงินพานทองตอกดุนลวดลายประณีตงดงาม

ติดกันกับห้องบรรทมของเจ้ามหาชีวิตเป็นห้องกว้าง ที่ตรงมุมห้องมีวิทยุรุ่นโบราณที่มีผ้าไหมบุตรงลำโพง ฉันมองมันไม่วางตา ติดอกติดใจเอามาก ๆ เพราะมันดูคล้ายกับของที่บ้านย่า นึกถึงตอนนั้นที่ชอบเอามือไปลูบ ๆ บริเวณลำโพงที่บุผ้านุ่มมือจนเป็นคราบดำปี๋เชียว พอย่าบ่นทีก็แกล้งทำหน้าซื่อตาใส พอย่าใจอ่อนก็จะแอบหัวเราะคิก ๆ คัก ๆ แล้ววิ่งหนีปรูดไปเล่นกับพวกลูกพี่ลูกน้อง

วิทยุรุ่นนี้ผลิตจากเยอรมันได้ยินว่าเป็นของขวัญจากประเทศรัสเซีย เดิมห้องนี้เป็นห้องที่ลูกหลานจะมานอนรวมกันเวลาที่มีการจัดงานพิธีต่าง ๆ ที่พระราชวัง ดูแล้วเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีความอบอุ่นมากทีเดียว ปัจจุบันเมื่อระบอบกษัตริย์ยกเลิกไปแล้ว พระราชวังหลวงได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ห้องนี้จึงกลายเป็นห้องจัดแสดงเครื่องดนตรี เช่น ระนาด ฆ้องโมง ฆ้องวง ตะโพน รำมะนา ฉิ่ง ขิม และซอ ซึ่งไม่ต่างจากของไทยเราเลย คงเป็นเพราะช่วงหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลของเขมรมากระมัง

ตู้กระจกสองสามตู้ริมทางเดินยาวแสดงฉลองพระองค์ปักดิ่งทอง ทำให้ฉันนึกถึงเมื่อตอนที่ได้รับความรู้และความเมตตาจาก เจ้านิดถาพง สมสะหนิด ที่เคยให้ความรู้และความเมตตาเมื่อครั้งที่ท่านมาบรรยายในงานประชุมวิชาการผ้าล้านช้าง-อีสาน ท่านเล่าว่าสมัยเด็ก ๆ ท่านซุกซนมาก ไม่อยู่นิ่งเลย จนเจ้าย่าต้องจับมาฝึกสมาธิด้วยการปักดิ่งทอง และจากวันนั้นจนวันนี้ท่านได้กลายเป็นนักปักดิ่งที่มีฝีมือและความคิดสร้างสรรค์อันเป็นเอกอุทีเดียว

ก่อนจะถึงห้องสุดท้ายเป็นห้องที่แสดงเอกสารหลักฐานว่า หลวงพระบางได้จดทะเบียนเป็นมรดกโลกในวันที่ ๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๘ และห้องสุดท้ายมีภาพเขียนสีน้ำมันของเจ้ามหาชีวิตสว่างวัฒนา และพระราชบุตร ที่รัสเซียมอบให้เป็นของขวัญ แต่นี่ไม่ใช่ภาพเขียนธรรมดานะ เพราะใช้เทคนิค ๓ มิติ คือ ดวงตาจะมองตามและปลายเท้าจะชี้ตามเรา ราวกับว่าประชาชนชาวลาวอยู่ในสายพระเนตรของท่านตลอดเวลา

นี่ถ้าไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ศิลป์มาก่อน แล้วผ่านมาตอนกลางดึก คงได้เผ่นป่าราบกันไปข้างหนึ่ง

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๘๐
ปีที่ ๗ ประจำเดือนธันวาคม ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

ติดตามตอนต่อไป

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : แผนการจาริก (๑)

อุรังคธาตุ-นิทานพเนจร : จุดเริ่มต้น (๒)

อุรังคธาตุ-นิทานพเนจร : สู่เมืองหนองหานหลวง (๓)

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : พญานาคเกเรแห่งรอยพระพุทธบาท หมายเลข ๓ (๔)

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : บุกดอยนันทกังฮี – ๑ (๕)

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com