อุโบสถไม้ที่วัดโพธิ์ย้อย


วัดโพธิ์ย้อย ตำบลไทยเจริญ อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งอยู่ริมถนนสาย 224 ใกล้สามแยกปะคำ ภายในวัดมีอุโบสถไม้หลังเก่าซึ่งสร้างซ้อนทับลงบนฐานศิลาแลงสูงเด่น มีใบเสมาปักอยู่โดยรอบ เสมาเหล่านี้สลักเป็นรูปโยคีนั่งชันเข่าอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว รูปสถูปที่ส่วนฐานของเสมาถูกเทปูนล้อมทับไว้ เนื่องจากเมื่อราว พ.ศ. 2535 มีกลุ่มคนพยายามจะเข้ามาขโมยโบราณวัตถุเหล่านี้ไปขาย ทางวัดจึงพยายามหาวิธีป้องกัน คุณชิงชัย จงวงษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 (บ้านปะคำ) ได้เล่าถึงความทรงจำในอดีตที่มีต่ออุโบสถไม้หลังนี้ว่า“ทางวัดเลิกใช้งานโบสถ์ไม้หลังนี้ไปเมื่อราว 10 -20 ปีมาแล้ว เนื่องจากโบสถ์มีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก ไม่สามารถดำเนินการบูรณะหรือซ่อมแซมได้ เพราะกรมศิลป์ไม่อนุญาต สมัยก่อนพื้นที่ในบริเวณวัดและรอบ ๆ โบสถ์มีระดับต่ำกว่าปัจจุบันมาก โบสถ์ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงสูงเด่น คนที่มาบวชที่นี่จะขี่ช้างวนรอบโบสถ์ และลงจากหลังช้างที่ฐานศิลาแลงด้านหน้าโบสถ์ได้พอดี ส่วนด้านหลังของโบสถ์เคยมีศาลาหลังใหญ่ตั้งอยู่ แต่ทางวัดได้รื้อและปรับพื้นที่ลานโล่งไปแล้ว” ปัจจุบันอุโบสถหลังนี้ไม่ได้ใช้งานแล้ว ด้านในจึงกลายเป็นที่เก็บสิ่งของเหลือใช้ รวมถึงโบราณวัตถุอีกหลายรายการ เช่น ใบเสมาสลักรูปโยคี เสมาสลักรูปธรรมจักร เสาประดับกรอบประตู ทับหลัง และฐานโยนี เป็นต้น ทับหลังที่พบภายในอุโบสถหลังนี้ ทางวัดได้นำมาก่อปูนล้อมรอบฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระประธาน แต่มีบางชิ้นที่ตั้งวางไว้ด้านหน้า พบทั้งสภาพสมบูรณ์ และชำรุดแตกหัก กลุ่มทับหลังที่พบมีร่องรอยการแกะสลักเป็นภาพเล่าเรื่องต่าง ๆ แตกต่างกันไป เช่น พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้วเหนือพนัสบดี พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้ว รายล้อมด้วยลวดลายพันธุ์พฤกษาและรูปบุคคลประทับนั่งท่ามหาราชลีลาสนะในซุ้มเรือนแก้ว เป็นต้น โบราณวัตถุต่าง ๆ เหล่านี้ ถูกเคลื่อนย้ายมาจากปราสาทโคกงิ้ว ปราสาทตาดำ และปราสาทตาเสา ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากวัดโพธิ์ย้อยไม่ไกลนักนอกจากนี้มีเรื่องเล่าว่า เคยพบพระพุทธรูปทองคำองค์ใหญ่ภายในบริเวณวัด เป็นพระประธาน แต่ไม่ทราบว่าสูญหายไปเมื่อใด และยังได้พบพระพุทธรูปนาคปรกอีกด้วย ซึ่งทางวัดได้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี โดยจะอัญเชิญออกมาให้ประชาชนได้สรงน้ำในช่วงวันสงกรานต์เพียงปีละครั้งเท่านั้น. (ขอบคุณข้อมูลและภาพ จาก วารสาร”เมืองโบราณ”, เกสรบัว อุบลสรรค์ / 13 ต.ค. 2018)



Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com