เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา
คอลัมน์ รากเมือง
โดย กาย อินทรโสภา*
*อยากสิร่วมงานด้วยครับ ผมศึกษาเเละสะสมเงินตราโบราณของอาณาจักรล้านช้างที่มีอาณาบริเวณตั้งเเต่ลาวเเละภาคอีสานของไทย อยากเผยเเพร่ของดีของคนอีศานเเละคนลาวให้เป็นที่ฮู้จักครับ
คือผมไม่ได้เป็นนักเขียนมืออาชีพ เเต่สนใจศึกษาวัฒนธรรมเเละเงินตราโบราณของอุษาคเนย์รวมถึงล้านช้างด้วย เเต่อยากเผยเเพร่ให้เป็นที่รู้จัก เเละผมก็เป็นคนอีสานนำ บ้านเกิดอยู่บุรีรัมย์ ปัจจุบันอาศัยอยู่กรุงเทพฯ.
เคยสงสัยกันบ่ครับว่าในอดีตปู่ย่าตาทวดของเฮาชาวอีสาน ใช้เงินตราอีหยังกันในการจับจ่ายใช้สอย ซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน เหมือนหรือต่างกับเงินตราที่เราใช้กันซุมื้อนี่หรือไม่ นั่นอาจสิเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจของไผหลาย ๆ คน บางคนอาจจะเคยเห็นเงินตราเหล่านั้นมากบ้างน้อยบ้างตามแต่ที่ท่านสนใจ หรือผู้เฒ่าผู้แก่เพิ่นได้เก็บไว้ให้ลูกหลานได้เบิ่งได้แยงกัน แต่มื้อนี้กระผมสิได้นำซุผู้ซุคนได้ย้อนกลับไปในอดีต ไปค้นหาร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของการใช้เงินตราในอดีตของบรรพบุรุษของเฮา เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้นเกี่ยวกับเงินตราที่เคยเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนของคนรุ่นก่อน ๆ บทความนี้เป็นบทความฉบับปฐมฤกษ์ที่จะยกตัวอย่างให้เห็นภาพของเงินตราแต่ละประเภทที่เคยใช้ แต่ฉบับต่อ ๆ ไปผมสิได้ลงรายละเอียดในเงินตราแต่ละประเภทให้ลึกลงไปอีกเทือหนึ่งเด้อพี่น้อง เงินตราที่ผมจะได้เล่าให้ฟังและมีรูปให้เบิ่ง ล้วนเป็นของจริงที่ผมได้ศึกษาและเก็บสะสมมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว รับรองได้ว่า บ่ได้ไปละเมิดลิขสิทธิ์ภาพของผู้ใดเลย
ก่อนเข้าเรื่องนั่นผมต้องขอบรรยายให้ทุกท่านได้ทราบว่าในอดีตนั้นเฮาชาวอีสานกับคนลาวในประเทศลาวนั่น ล้วนเป็นคนเชื้อชาติเดียวกัน ร่วมแผ่นดินเดียวกัน เพิ่งมาแบ่งแยกให้เราเกิดความแตกต่างบ่โดนมานี่เอง เมื่อก่อนผืนดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศลาวเป็นอาณาจักรหนึ่งเดียว เอิ้นกันว่า “อาณาจักรล้านช้าง” หรือกรุงศรีสัตนาคนหุต ดังในแผนที่
อาณาจักรแห่งนี้ถือกำเนิดเป็นรูปเป็นร่างประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ มีความเจริญทั้งทางด้านภาษา วัฒนธรรม ประเพณี พร้อม ๆ กับอาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรล้านนา ซึ่งมีลักษณะทางวัฒนธรรมที่คล้าย ๆ กันเพราะเป็นอาณาจักรของกลุ่มคนไทด้วยกัน ปกครองด้วยกษัตริย์ที่ชาวล้านช้างเอิ้นกันว่า “เจ้ามหาซีวิต” นั่นล่ะครับ แต่ที่ผมจะเล่าให้ฟังคือเรื่องของเงินตราที่อาณาจักรแห่งนี้ผลิตขึ้นใช้ภายในอาณาจักร รวมถึงใช้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในปัจจุบันเมื่อครั้งอดีตด้วยซึ่งเงินตราของล้านช้างมีรูปร่างเป็นแท่งยาว คล้ายกับเรือหรือกระสวยทอผ้า มีด้วยกัน ๓ ประเภทคือ
๑. เงินฮ้อย เป็นเงินที่มีมูลค่าสูงสุดของล้านช้าง ทำจากแร่เงินผสมกับโลหะอื่น ๆ อีกเล็กน้อยลักษณะเป็นทรงยาวเรียว คล้ายกระสวยหรือเรือ มีตุ่มด้านบนของตัวเงิน ด้านล่างเรียบ ที่เรียกว่าเงินฮ้อยก็เพราะว่ามาตรวัดของชาวลาวหรือล้านช้างในอดีตนํ้าหนักประมาณ ๑๒ กรัมจะเป็นบาทหนึ่งของลาว แต่ไทยสยามใช้บาทหนึ่งเท่ากับ ๑๕ กรัม นํ้าหนัก ๑๒๐ กรัมจึงเท่ากับ ๑๐ บาทลาว แต่คนลาวจะเรียกว่าฮ้อยหนึ่ง เมื่อแรกเริ่มผลิตคงผลิตเพียงขนาดเดียวคือฮ้อยหนึ่ง แต่ระยะหลังจึงมีการผลิตเพิ่มเติมอีกหลายขนาด โดยมักมีการตอกตราพญานาคหรืองูตราช้าง ตราดอกไม้ ตัวอักษรธรรม เป็นต้น ผลิตขึ้นรวม ๆ แล้วมี ๕ ขนาดด้วยกัน แต่ขนาด ๖๐-๑๒๐ กรัมจะมีปริมาณที่พบมากที่สุด ดังรูป
๒. เงินลาด เป็นเงินตราที่ผลิตขึ้นในยุคหลัง ๆ หลังจากที่ล้านช้างตกเป็นเมืองขึ้นของสยามแล้วคือตั้งแต่สมัยธนบุรีเป็นต้นมา ลักษณะเรียวยาวเหมือนเงินฮ้อยแต่ไม่มีตุ่ม ทำจากทองแดงแล้วมีการชุบเงินเคลือบไว้อีกชั้นหนึ่ง มักตอกตรา ๓-๔ ตรา ซึ่งตราหลักคือตราช้างและตราจักร ตราช้างหมายถึงอาณาจักรล้านช้าง ตราจักรเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์จักรี ซึ่งเป็นเจ้าประเทศราช และอีกตราหนึ่งจะเป็นตราของสัตว์ที่ชาวลาวล้านช้างให้การนับถือคือ ปลา ผีเสื้อ เต่า หอยกาบ โดยมีด้วยกัน ๓ ขนาดคือ ใหญ่ กลางและเล็ก ดังรูป
๓. เงินเฮือ หรือเงินเรือ แต่บางท้องที่ของบ้านเฮากะเอิ้น “เงินฮาง” มีลักษณะคล้ายลำเรือ ฝรั่งมักเอิ้น เงินแคนู เนื่องจากคล้ายกับเรือแคนู ทำจากทองแดงบ้าง สำริดบ้าง ทองเหลืองบ้าง เป็นเงินปลีกไว้จับจ่ายใช้สอยเล็ก ๆ น้อย ๆ ปัจจุบันยังพอมีให้เห็นถ้าผู้เฒ่าผู้แก่เพิ่นเก็บไว้ให้ลูกหลานได้เบิ่งครับมีมากมายหลายขนาด ราษฎรทั่วไปน่าจะผลิตขึ้นใช้เองตามแต่ผู้ใดจะมีโลหะในการผลิต
นอกจากเงินตราดังที่กล่าวไปแล้ว ในล้านช้างยังมีการใช้เงินตราอื่น ๆ ของอาณาจักรข้างเคียง เช่น เงินพดด้วงหรือเงินหมากค้อของสยาม เงินฮางของเวียดนาม เงินไซซีของจีน เงินเจียงของล้านนาเป็นต้น เงินตราพวกนี้คงจะใช้ต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีการผลิตเหรียญกษาปณ์กลม ๆ ใช้ครับเงินพวกนี้จึงทยอยหมดความสำคัญลงไป จนเลิกใช้ในที่สุด แต่บางท้องที่ในประเทศลาวก็ยังใช้เงินตราพวกนี้เป็นของสำคัญในพิธีแต่งงานอยู่นะครับ
เงินฮางเงินไซซีเงินหมากค้อ หรือเงินพดด้วงเงินเจียง
เอาล่ะฉบับนี้พอไว้สํ่านี้ซะก่อนเนาะพี่น้อง ฉบับหน้าและฉบับต่อ ๆ ไป จังสิมาเล่ารายละเอียดของเงินตราให้ชัดแจ้งไปกว่านี้ ฉบับนี้ซิมลางไปก่อนเด้อ สบายดี !
****
ติดตามตอนก่อนหน้าได้ที่
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๒)
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๓)
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๔)
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๕)
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๖)
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๗)
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com