เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๕)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๕)

เงินฮ้อยตอกตราจักรหรือธรรมจักษุ

สบายดีครับท่านผู้อ่าน เป็นอย่างไรกันบ้างครับหลังจากผ่านพ้นปีใหม่กันมา สําหรับผมแล้ว “มันกะคือเก่านั่นล่ะ” วันเวลาเป็นเพียงสิ่งที่สมมุติกันขึ้นมา แต่อย่างไรก็ตามผมก็อยากให้รักใคร่กันเอาไว้อยากให้บ้านเมืองของเราสงบร่มเย็นเป็นเหมือนเดิม

ฉบับนี้ผมก็คงมาเล่าเรื่องเงินตราโบราณของล้านช้างต่อจากฉบับที่ผ่าน ๆ มานะครับ เรื่องราวของเงินฮ้อยยังไม่จบ ยังมีเรื่องราวให้ค้นหาอีกมาก ตราประทับในเงินฮ้อยบางตรามีให้พบเห็นน้อย ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากผ่านกาลเวลามาค่อนข้างเนิ่นนานหรือมีการผลิตจำนวนไม่มาก

ตราประทับคล้ายธรรมจักร เป็นอีกตราประทับหนึ่งที่มักพบในเงินตราของอาณาจักรในแถบอุษาคเนย์ ซึ่งมีการเชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนา ทั้งศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ที่มีอิทธิพลในภูมิภาคนี้มาก่อน รวมถึงศาสนาพุทธที่ได้เข้ามามีบทบาทในภายหลัง และยึดพื้นที่ของความเชื่อดั้งเดิมในภูมิภาคนี้ได้มากพอสมควร

เงินตราที่ปรากฏรูปแบบของสัญลักษณ์ที่คล้ายธรรมจักร และอาจถือเป็นต้นกำเนิดของสัญลักษณ์นี้ก็คือ เงินตราพระอาทิตย์ ซึ่งปรากฏสัญลักษณ์ทางศาสนาพราหมณ์จำนวนมากรอบเหรียญ เหรียญนี้เป็นที่รู้จักในหมู่ของคนไทยว่าคือ เหรียญเงินของอาณาจักรพนมหรือฟูนัน อาจจะมีชื่อว่าพนมหรือฟูนันหรือไม่ก็ตาม แต่อาณาจักรแห่งนี้น่าจะเป็นอาณาจักรของกลุ่มคนเชื้อสายมอญ-เขมรอย่างแน่นอน เจริญรุ่งเรืองอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๕-๑๑ และน่าจะมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ในรัฐมอญของพม่าในปัจจุบัน (แต่เดิมเชื่อว่ามีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองออกแก้ว ลุ่มแม่น้ำโขง) เหรียญนี้ขุดพบบริเวณกว้างตั้งแต่ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคอีสานของไทย กัมพูชา และเวียดนามบางส่วน แต่ที่พบเป็นจำนวนมากคือในรัฐมอญของพม่า

สัญลักษณ์นี้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเจริญรุ่งเรือง ความอุดมสมบูรณ์ เพราะมนุษย์ในอดีตใหความเคารพพระอาทิตย์เสมือนเทพองค์หนึ่ง ในศาสนาพราหมณ์คือสุริยะเทพนั่นเอง เมื่อใดถ้าพระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้าก็เป็นการแสดงว่าชีวิตต้องดำเนินต่อไป เปรียบพระอาทิตย์ว่าเป็นดวงตาแห่งวันหรือ “ดวงตาวัน” ถ้าดวงตานี้เปิดออกบนโลกจะมีความสว่าง สรรพชีวิตทั้งหลายก็จะเติบโตและมีชีวิตรอดต่อไป

ความเชื่อและสัญลักษณ์นี้ได้ส่งต่อจากอินเดียมาสู่อุษาคเนย์ ผ่านความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ สัญลักษณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นปกครอง ในลักษณะเป็นตัวแทนของสุริยะเทพเพื่อปกครองมนุษย์ให้มีความสงบสุข และทำให้อาณาจักรมีความเจริญรุ่งเรือง

จนกระทั่งศาสนาพุทธนิกายเถรวาทได้เริ่มขยายอิทธิพลความเชื่อเข้ามาในอุษาคเนย์ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ สัญลักษณ์ของดวงตาสุริยะเทพหรือดวงตาวันนั้น ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นสัญลักษณ์ของ “ดวงตาแห่งธรรม” หรือเรียกกันว่า “ธรรมจักร” ที่จริงคำนี้ต้องเขียนว่า “ธรรมจักษุ” ซึ่งจักษุ แปลว่า ดวงตา หมายถึงการเข้าใจหลักธรรมคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า

สัญลักษณ์ของธรรมจักษุได้ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ทางการปกครอง ของผู้ปกครองที่รับศาสนาพุทธเข้ามา ในลักษณะที่ผู้ปกครองเป็นธรรมราชา แต่แท้ที่จริงยังมีความเชื่อเกี่ยวกับเทวราชาอยู่

นอกจากนี้แล้วอาณาจักรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรอยุธยา อาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านช้าง ซึ่งล้วนเป็นอาณาจักรของกลุ่มคนที่มีลักษณะทางเชื้อชาติ ประเพณี วัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน รวมถึงนับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท ซึ่งมีที่มาจากลังกาเหมือนกันด้วยแล้ว จึงรับเอาความเชื่อเกี่ยวกับสัญลักษณ์ธรรมจักษุมาด้วย สัญลักษณ์ดังกล่าวนี้ได้ปรากฏอยู่บนเงินตราของแต่ละอาณาจักรที่ผลิตขึ้น โดยตราธรรมจักษุนี้ได้ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระมหากษัตริย์ หรืออาจใช้เป็นตราแผ่นดิน

จากรูปจะเห็นได้ว่า ตราจักรหรือธรรมจักษุที่ปรากฏในเงินตราของทั้งอาณาจักรล้านนาและอาณาจักรล้านช้างนั้น มีความคล้ายคลึงกันมาก ทั้งนี้เพราะว่าทั้งสองอาณาจักรมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในลักษณะบ้านพี่เมืองน้องมาโดยตลอด และมีหลักฐานว่าอาณาจักรล้านช้างในสมัยพระเจ้าโพธิสาละราช ได้เคยสิ่งพระธรรมทูตไปนำพุทธศาสนาในล้านนามาเผยแผ่ยังล้านช้างด้วย ซึ่งเป็นพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ ต่างจากพุทธศาสนาที่มีเผยแผ่ในล้านช้างอยู่ก่อนหน้าแล้ว อันเป็นนิกายเถรวาทที่รับมาจากนครอินทปัตย์หรือเขมรในสมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม

ในครั้งนั้น พระเมืองเกษเกล้าเจ้าผู้ครองอาณาจักรล้านนานอกจากจะได้พระราชทานพระไตรปิฎก พร้อมทั้งพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่ให้ไปเผยแผ่พุทธศาสนายังล้านช้างแล้ว ยังได้พระราชทานพระราชธิดานามว่า พระนางยอดคำทิพ เพื่อเป็นพระมเหสีของพระเจ้าโพธิสาละราชด้วย พระนางให้กำเนิดพระราชโอรสนามว่า “เจ้าเชษฐวงศ์หรือเจ้าเชษฐวังโส” ซึ่งต่อมาคือ “พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช” ผู้ที่ได้ไปครองบัลลังก์กษัตริย์ล้านนา เพราะเมื่อพระเมืองเกษเกล้าสวรรคตลง พระองค์ไม่มีราชโอรสสืบราชบัลลังก์ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่จึงไปเชิญเจ้าเชษฐวงศ์จากล้านช้าง ซึ่งมีฐานะเป็นหลานของพระเมืองเกษเกล้ามาเป็นกษัตริย์ล้านนา แต่ครองบัลลังก์ล้านนาได้เพียง ๒ ปีก็ต้องกลับมาครองล้านช้าง เพราะพระเจ้าโพธิสาละราชสวรรคตกะทันหันจากเหตุไปคล้องช้างป่า แล้วช้างป่าล้มทับ จากนั้นเหตุบ้านการเมืองก็วุ่นวายจากการรุกรานของพม่าโดยพระเจ้าบุเรงนอง จนพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชต้องย้ายเมืองหลวงของล้านช้างจากเชียงทองหรือหลวงพระบางไปอยู่ที่เวียงจันทน์ เพื่อให้ห่างไกลจากการโจมตีของพม่า

ตราจักรหรือธรรมจักษุนี้ได้ใช้ในใบจุ้มหรือลายจุ้ม ซึ่งเป็นหนังสือทางราชการหรือพระราชโองการของล้านช้าง ซึ่งตราดังกล่าวใช้เป็นตราแผ่นดินหรือตราประจำพระองค์ของพระมหากษัตริย์ หรืออาจเรียกตราพระราชลัญจกร ซึ่งมีหลักฐานที่เป็นใบจุ้มจารึกลงในแผ่นผ้าฝ้ายดิบหรือกระดาษสา ท้ายใบจุ้มจะมีการประทับตราราชลัญจกรดังกล่าวไว้ด้วย

จากที่เล่ามาจะเห็นได้ถึงความสัมพันธ์และวิวัฒนาการของสัญลักษณ์ธรรมจักรหรือธรรมจักษุ อันเป็นสัญลักษณสำคัญในพระพุทธศาสนา และยังเป็นตราที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ในทางปกครองของอาณาจักรที่นับถือพุทธศาสนาด้วย โดยเฉพาะอาณาจักรล้านช้างที่ใช้ตรานี้เป็นตราแผ่นดินหรือตราพระราชลัญจกรของพระมหากษัตริย์

แต่ตราธรรมจักษุนี้ก็ไม่ได้พบในเงินตราของอาณาจักรล้านช้างมากนักและพบจำนวนน้อยด้วยซ้ำไป ทั้งนี้อาจเนื่องจากถือกันว่าเป็นตราประจำองค์พระมหากษัตริย์และนับถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ จึงไม่ค่อยนำมาตีตราลงในเงินฮ้อยหรือเงินตราชนิดอื่น ๆ อีกทั้งมีตราที่ใช้ตีในเงินตราอยู่แล้ว จึงทำให้พบเจอตรานี้ในเงินฮ้อยค่อนข้างน้อยทั้งในประเทศลาวและภาคอีสานของไทย

พระราชลัญจกรของกษัตริย์ล้านช้าง

เรื่องราวของเงินตราของอาณาจักรล้านช้างยังมีอีกมาก ผมจะได้นำมาเล่าให้ฟังในฉบับต่อ ๆ ไปนะครับ ฉบับนี้พอส่ำนี้ก่อนเนาะ สะบายดี

****

ติดตามตอนก่อนหน้าได้ที่

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๒)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๓)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๔)

สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท

หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท

ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)

.

สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง

inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901

line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW

อีบุค ที่ www.mebmarket.com

Related Posts

แล้วแต่… มึงอยากกิน
ภาษาไม่ใช่แค่เครื่องมือสื่อสาร
ทางอีศาน 22 : ปิดเล่ม
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com