เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๔)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๔)

คอลัมน์: รากเมือง Column: Esan Root

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๒๑

ปีที่ ๒ ประจำเดือนมกราคม ๒๕๕๗

เงินฮ้อยตราช้าง

สบายดีครับท่านผู้อ่าน ฉบับนี้ก็มาคุยกันต่อเกี่ยวกับเงินฮ้อยของอาณาจักรล้านช้าง ที่ค้างไว้จากฉบับก่อน ๆ นะครับ ฉบับนี้จะมาเล่าถึงตราประทับอกตราหนึ่งที่พบในเงินฮ้อย และพบเป็นจำนวนค่อนข้างมากรองลงมาจากตรางูหรือพญานาคที่กล่าวไปแล้ว เงินฮ้อยตราช้างมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของอาณาจักรแห่งนี้ได้พอสมควร

ช้างเป็นสัตว์ที่ผู้คนในภูมิภาคอุษาคเนย์ให้ความเคารพนับถือ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับศาสนาทั้งศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ทั้งยังใช้ประโยชน์จากช้างในการทำศึกสงคราม จึงทำให้ช้างกลายเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์และกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของชนชาติหลายชนชาติหลายอาณาจักรในอุษาคเนย์ เช่น อาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรอยุธยา อาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านช้าง  เป็นต้น ทำให้สัญลักษณ์ของช้างถูกนำมาใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น อยู่บนธงรบ อยู่บนเครื่องใช้ไม้สอย รวมถึงเป็นตราประทับในเงินตราที่เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนด้วย

อาณาจักรล้านช้างก็เป็นอีกอาณาจักรหนึ่ง ที่ได้ใช้สัญลักษณ์นี้ในเงินตราที่ผลิตขึ้นเอง และให้ความสำคัญของตรานี้มาก เสมือนหนึ่งว่าตรานี้คือสัญลักษณ์ของอาณาจักร

สืบเนื่องมาจากอาณาจักรล้านช้าง มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการอีกชื่อหนึ่งว่า “กรุงศรีสัตนาคนหุต” คำว่า “ศรี” มีความหมายว่า ดีหรือมงคล “สต” หมายถึง หนึ่งร้อย เช่นเดียวกับคำว่าสตางค์ ซึ่งมาจากคำว่า สต+องค์ หมายถึงหนึ่งร้อยอัน (เป็นหนึ่งบาท) ส่วนคำว่า “นาค” นั้นแปลว่า ช้าง อีกคำ คือ “นหุต” เป็นคำโบราณแปลว่า หมื่น รวมกันแล้ว ศรีสัตนาคนหุต ก็คือ ศรีร้อยหมื่นช้าง หรือ ศรีล้านช้าง นั่นเอง เรียกสั้น ๆ ว่า อาณาจักรล้านช้าง

คำว่า ล้านช้าง นั้นเป็นการสื่อให้เห็นว่าอาณาจักรแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์เป็นดินแดนที่มีช้างจำนวนมากมายมหาศาลนับล้าน ๆ ตัว ซึ่งก็ตรงกับความเป็นจริง ด้วยมีช้างจำนวนมากในดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำโขงนี้อีกทั้งช้างมีขนาดตัวที่ใหญ่โต ต้องกินมาก ดังนั้นพื้นที่ที่มีช้างอยู่ต้องอุดมไปด้วยพืชพรรณธัญญาหาร จึงจะมีอาหารเพียงพอให้กับบรรดาช้างทั้งหลาย

เงินฮ้อยที่อาณาจักรล้านช้างผลิตขึ้น และตอกตราสัญลักษณ์ของช้างนั้น มีหลากหลายรูปแบบทั้งนี้เนื่องมาจากผลิตขึ้นต่างยุคต่างสมัยกัน แต่ยังคงรูปร่างและรูปทรงของเงินฮ้อยที่มีมาแต่เดิม

ใน พ.ศ.๒๒๓๘ เมื่อพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชสิ้นพระชนม์ลง ได้เกิดการแย่งชิงราชสมบัติขึ้นในหมู่พระราชวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของอาณาจักรล้านช้าง เนื่องจากพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ไม่มีพระราชโอรสสืบราชสมบัติ

จนกระทั่งใน พ.ศ.๒๒๕๐ อาณาจักรล้านช้างได้แตกออกเป็นสองอาณาจักรคือ อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์และอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง และอีก ๗ ปีต่อมาคือ พ.ศ.๒๒๕๗ ก็ได้เกิดอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ขึ้น โดยแยกตัวออกจากอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์เดิม และได้เกิดอาณาจกรเล็ก ๆ ขึ้นอีกอาณาจักรหนึ่ง คืออาณาจักรพวน ซึ่งก็คือเมืองเชียงขวางในปัจจุบันเป็นที่อยู่ของคนลาวพวนจำนวนมาก แต่อาณาจักรนี้ไม่มีความเป็นอิสระมากนัก บางครั้งขึ้นกับอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ แต่บางครั้งที่อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางเข้มแข็งก็ขึ้นกับอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง ดังในแผนที่

แผนที่แสดงที่ตั้งของอาณาจักรล้านช้างที่แตกออกเป็น ๓ อาณาจักร

การขัดแย้งกันเองทำให้อาณาจักรล้านช้างที่มีความยิ่งใหญ่แต่เดิมนั้นอ่อนแอลง เนื่องจากความแตกแยกของคนในชาติโดยที่อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางและอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ นั้นมีความขัดแย้งกันค่อนข้างรุนแรง มีการทำสงครามกันต่อเนื่อง จนกระทั่งอาณาจักรทั้งสามได้สูญเสียเอกราชให้แก่ราชอาณาจักรสยาม ซึ่งก็คืออาณาจักรธนบุรีใน พ.ศ.๒๓๒๒ โดยความช่วยเหลือของอาณาจกรล้านช้างด้วยกันเองที่มีความเกลียดชังกัน จึงทำให้อาณาจักรของคนลาวล้านช้างตกเป็นเมืองขึ้นของสยามอย่างง่ายดาย

หลังจากตกเป็นเมืองขึ้นของสยาม ความบาดหมางของอาณาจักรทั้งสามนั้นก็มิเคยลดลงเลย โดยเฉพาะอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางกับอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์มักมีเรื่องหรือปัญหาขัดแย้งกันอยู่เสมอ

เงินพดด้วงตอกตราช้าง ขนาดหนึ่งบาท ของอาณาจักรสุโขทัย
เงินพดด้วงตอกตราช้าง ขนาดสองสลึง สลึง เฟื้อง และสองไพ ของอาณาจักรอยุธยา

ในเรื่องของเงินตราเช่นเดียวกันพบว่าอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง ได้ผลิตเงินตราของตัวเองให้มีความแตกต่างจากอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ โดยเงินฮ้อยที่อาณาจักรแห่งนี้ผลิตขึ้นมักทำเป็นติ่งตัวเงินมีตุ่มไม่มากและมีหลุมที่ตัวเงิน มีการประทับตราทั้งที่ตัวเงินและที่ติ่ง โดยตราที่ประทับยังเป็นตรางูหรือพญานาค และตราช้างดังเช่นเดิม แต่ตราช้างที่ตอกมีลักษณะแตกต่างจากช้างของอาณาจักรล้านช้างแต่เดิม ซึ่งก็คืออาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ในขณะนั้น โดยตราช้างเป็นช้างทรงเครื่องยศ มีลวดลายของผ้าที่พาดบนตัวช้าง เงินฮ้อยชนิดนี้ส่วนมากจะพบเพียงขนาดเดียวคือ ๑๒๐ กรัม ซึ่งมีราคาฮ้อยเงิน หรือสิบบาท

นอกจากนี้แล้วเงินฮ้อยชนิดมีติ่ง ยังพบว่าส่วนมากจะมีการตอกตราจักรของสยามไว้ที่ตัวเงิน ซึ่งตราจักรดังกล่าวคือสัญลักษณ์ ของราชวงศ์จักรีและรูปแบบของตราจักรนั้น เป็นรูปแบบตราจักรในสมัยรัชกาลที่ ๒ ของสยาม ซึ่งเป็นเจ้าประเทศราชขณะนั้น

อาณาจักรที่มีบทบาทค่อนข้างน้อยคืออาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ เนื่องจากมีความเข้มแข็งไม่มากนัก บางยุคบางสมัยก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ไม่มีหลักฐานว่าอาณาจักรแห่งนี้ได้ผลิตเงินตราในรูปแบบของตัวเอง เฉกเช่นกับอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง เงินตราที่ใช้นำจะเป็นเงินตราที่มีอยู่เดิม และใช้เงินตราของอาณาจักรข้างเคียง เช่น อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ อาณาจักรไดเวียตหรือเวียดนาม รวมถึงเงินตราของอาณาจักรสยามด้วย

เงินตราเหล่านี้พบว่ามีใช้ในดินแดนของภาคอีสานด้วยแต่พบค่อนข้างน้อย ผู้เขียนเองเป็นผู้เก็บสะสมและศึกษาแหล่งที่มาของเงินพวกนี้ พบว่าส่วนมากของเงินตราที่กล่าวไปจะพบแถวภาคเหนือของลาวในปัจจุบัน คือเมืองหลวงพระบาง เมืองหลวงน้ำทา เมืองเชียงขวาง ซึ่งในอดีตคือดินแดนที่รวมอยู่กับอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง

นอกจากนี้แล้วยังมีเงินฮ้อยและเงินตราประเภทอื่น ๆ ที่อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง และอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ได้ผลิตขึ้นภายหลังแบ่งแยกดินแดนกันแล้ว ในฉบับนี้จะขอเล่าเฉพาะเงินฮ้อยตราช่างที่มีการผลิตขึ้นเท่านั้น ส่วนตราอื่น ๆ หรือเงินตราประเภทอื่น ๆ คงจะได้เล่าในฉบับต่อ ๆ ไป เพราะรายละเอียดมาก

เรื่องราวของเงินตรายังเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก การศึกษาเรื่องนี้นอกจากจะได้รับรู้เกี่ยวกับลักษณะเงินตรา หน่วยเงินตรา การใช้จ่ายเงินตรา  ฯลฯ แล้วยังสามารถเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ของดินแดนแถบนี้ได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนจะพยายามนำข้อมูลและเรื่องราวของเงินตราที่เคยผลิตใช้ในดินแดนแถบนี้รวมทั้งประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงของคนสองฝั่งโขงมาให้รับชมและรับทราบในโอกาสต่อไปครับ

ฉบับนี้พอสํ่านี้ก่อน สบายดีครับพี่น้อง

เงินฮ้อยแบบดั้งเดิม ตอกตราช้างทรงเครื่องยศแบบหลวงพระบาง
เงินฮ้อยแบบมีติ่ง ตอกตราช้างทรงเครื่องยศ ด้านหลังตอกตราจักรของสยาม
เงินฮ้อยแบบมีติ่งตอกตรางูหรือพญานาคและตราจักรของสยาม

*****

ติดตามตอนก่อนหน้าได้ที่

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๒)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๓)

สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท

หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท

ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)

.

สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง

inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901

line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW

อีบุค ที่ www.mebmarket.com

Related Posts

เสมา “พิมพาพิลาป”
ทางอีศาน 21 : ฟ้อนรับปีใหม่
เรื่อย ๆ มาเรียง ๆ : สวัสดีปีใหม่
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com