โอ้…ดวงจำปา มหัศจรรย์ดอกไม้แห่งจิตวิญญาณ

โอ้…ดวงจำปา มหัศจรรย์ดอกไม้แห่งจิตวิญญาณ

ดอกไม้ไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะต่อความสมดุลของระบบนิเวศโลก หากยังมีความสำคัญต่อชีวิตของมนุษย์ผู้อาศัยอยู่บนโลกไม่น้อยไปกว่ากัน นอกเหนือจากการใช้ดอกไม้เป็นอาหารยารักษาโรค และสิ่งบำรุงใจแล้ว มนุษย์ยังใช้ดอกไม้ในการแสดงความรัก ความศรัทธา ความเมตตากรุณา และความเคารพนับถือที่มีต่อผู้อื่น คงจะไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่านับตั้งแต่อรุณรุ่งของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ดอกไม้คือองค์ประกอบหนึ่งในการขับเคลื่อนอารยธรรม รูปทรง สีสัน และกลิ่นหอมของดอกไม้ตามธรรมชาติได้สร้างแรงบันดาลใจมากมายให้แก่ศิลปิน กวี และนักดนตรี ถ้าโลกนี้ปราศจากดอกไม้แล้ว คงไม่ใช่แค่โลกเท่านั้นที่เต็มไปด้วยความแห้งแล้ง หมองหม่น ไม่น่าอยู่ และไม่สวยงาม แต่จิตใจและจิตวิญญาณของมนุษย์ก็น่าจะไม่ต่างกันด้วย

พรรณพฤกษาและความหมายของดวงจำปา

“Plumeria” มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า “Plumeria rubra L” และมีชื่อสามัญอื่น ๆ ในภาษาอังกฤษอีกว่า “Frangipani, Pagoda Tree ,Temple Tree, Graveyard Tree” ชาวภารตะหรือชาวอินเดียเรียก Plumeria ว่าดอกจำปา (Champa) เช่นเดียวกับชาวลาวที่เรียก Plumeria ว่าดอกจำปา แต่ชาวไทยรู้จัก Plumeria ในนามดอกลั่นทม เมื่อมีการกล่าวถึงดอกจำปาในบทความนี้ขอให้ผู้อ่านเข้าใจว่าผู้เขียนหมายถึงดอกจำปาในภาษาสันสกฤตและดอกจำปาในภาษาลาว มิใช่ดอกจำปาในภาษาไทยภาคกลาง

เรื่องเล่าของดวงจำปาฉบับทางการ

เนื่องจาก Plumeria หรือดอกจำปา เป็นพืชเมืองร้อนหรือกึ่งเมืองร้อนจึงเจริญเติบโตและงอกงามได้ดีบนแผ่นดินของอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้คนจำนวนมากเข้าใจผิดคิดว่าอุษาคเนย์คือถิ่นกำเนิดของดอกจำปา แต่ความจริงก็คือว่าดอกจำปามีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบหมู่เกาะทะเลแคริบเบียน อเมริกากลาง และอเมริกาใต้

เรื่องเล่าของดวงจำปาฉบับโรแมนติกในอินเดีย

ตำนานการค้นพบ Plumeria ของ ชาร์ล พลูมิเยร์ ฉบับอินเดียไม่ได้กล่าวว่า Plumeria มีถิ่นกำเนิดที่อเมริกา แต่กล่าวว่า Plumeria เป็นพืชพื้นเมืองของอินเดียอยู่แล้ว เพียงแต่พลูมิเยร์มาค้นพบในภายหลัง ชาวอินเดียเรียก Plumeria ว่าดอกจำปา คำว่าจำปา (Champa) เป็นภาษาสันสกฤต ชาวอารยันในอินเดียถือว่าภาษาสันสกฤตเป็นภาษาชั้นสูงเพราะใช้ในคัมภีร์และบทสวดของศาสนาฮินดูเพื่อสื่อสารกับพระผู้เป็นเจ้า

การเดินทางของดวงจำปาในลาวและสยามโบราณ

ดอกจำปาเดินทางเข้ามาสู่อุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่าน ๒ เส้นทางหลัก เส้นทางแรกผ่านมาทางอินเดียราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ (คริสต์ศตวรรษที่ ๑๒) เข้าสู่อาณาจักรขอมในยุคสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ (พ.ศ.๑๖๕๐-๑๗๐๐ หรือ ค.ศ.๑๑๐๗-๑๑๕๗) กษัตริย์ผู้สร้างพระนครวัด จากนั้นดอกจำปาจึงกระจายออกไปสู่พื้นที่อื่น ๆ รวมทั้งลาว ประวัติศาสตร์ลาวบันทึกว่าดอกจำปาเดินทางเข้าไปในลาวสมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม (พ.ศ.๑๘๕๙-๑๙๓๖ หรือ ค.ศ.๑๓๑๖-๑๓๙๓) มหาราชแห่งอาณาจักรล้านช้างผู้รวบรวมแผ่นดินลาวสองฝั่งโขงให้เป็นปึกแผ่น ในวัยเยาว์พระองค์ได้เคยไปพำนักที่อาณาจักรขอม และต่อมาได้อภิเษกสมรสกับราชธิดาของราชวงศ์นครวัด เมื่อพระเจ้าฟ้างุ้มเสด็จนิวัติกลับลาวพระองค์ได้นำต้นจำปาจากอาณาจักรขอมไปปลูกที่อาณาจักรล้านช้างด้วย ต้นจำปาที่พระเจ้าฟ้างุ้มทรงโปรดคือต้นจำปาขาว ตั้งแต่ยุคพระเจ้าฟ้างุ้มเป็นต้นมาต้นจำปาขาวได้รับการยกย่องให้เป็นต้นไม้ประจำชาติ

การเดินทางของดวงจำปาในลาวสมัยใหม่

ดอกจำปาสำหรับชาวลาวนับแต่โบราณไม่ได้มีความหมายเพียงแค่เป็นดอกไม้แห่งความสุข ความจริงใจ และความศักดิ์สิทธิ์ ดังประจักษ์ได้จากการที่ชาวลาวใช้ดอกไม้นี้ในงานมงคลและพิธีสำคัญต่าง ๆ เช่น นำดอกจำปาไปลอยในน้ำอบเพื่อใช้ในพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ใช้สรงน้ำพระในวันสงกรานต์ นำไปประดับตกแต่งเครื่องบายศรีสู่ขวัญให้สวยงาม นำไปร้อยเป็นพวงมาลัย และใช้ในการฟ้อนรำต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง รวมถึงปลูกไว้ตามบริเวณวัดต่าง ๆ เพื่อเป็นพุทธบูชา สืบทอดจารีตประเพณีดั้งเดิม แต่ความหมายของดอกจำปาในมโนทัศน์ของชาวลาวเมื่อครั้งอดีตยังสื่อถึงความเป็นอมตะของดวงวิญญาณ ดังปรากฏในตำนานกำเนิดของต้นจำปาว่ามาจากเถ้ากระดูกของร่างหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่มีความรักบริสุทธิ์ต่อกัน ดอกสีขาว ปราศจากเกสรตัวเมีย และกลิ่นหอมเย็น เป็นพยานรักยิ่งใหญ่ของคนทั้งสอง

*****

ติดตามอ่านฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๑๑๒ ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔

กิตติกรรมประกาศ

ขอบคุณ อาจารย์ประชาคม ลุนาชัย สำหรับภาพประกอบ

หนังสืออ้างอิง

Lei พวงมาลัย ThWiki.press. สืบค้นจาก htpps://www.thwiki.press

.

ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท

สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท

หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท

ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)

.

สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง

inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901

line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW

shopee : https://shp.ee/ji8x6b5

LnwShop : https://www.thaibookfair.com/seller/chonniyom-eshann

โทร. 086-378-2516 บริษัท ทางอีศาน จำกัด244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220.

Related Posts

ปิดเล่ม ทางอีศาน ๑๑๒
นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ 112
“ฟ้าทะลายโจร”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com