เต่างอย : พื้นที่ทับซ้อนทางวัฒนธรรมความเชื่อที่ลงตัว
“ไม่มีพื้นที่ใดที่ไม่มีการทับซ้อนทางวัฒนธรรม”
คำกล่าวนี้บ่งบอกสัจธรรมการทำงานศึกษาภาคสนามว่าหากจะถามถึงความเป็นเจ้าแรกทางวัฒนธรรมในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งย่อมไม่มี เพราะปกติของมนุษย์ย่อมมีการอาศัยอยู่และเคลื่อนย้ายออกไปตามปัจจัยต่าง ๆ ทั้งความเสื่อมของการปกครอง ความเสื่อมของทรัพยากรในการดำรงชีพ หรือความเสื่อมทางความเชื่อ การศึกษางานภาคสนามจึงมีคำว่า “คนดั้งเดิม” และ “คนใหม่” เพื่อบอกสถานะบุคคลต่อพื้นที่เหล่านั้นในห้วงเวลาต่างกันไป และเป็นที่แน่นอนว่าคนดั้งเดิมย่อมมีการทิ้งร่องรอยไว้ในพื้นที่ไม่มากก็น้อย ร่องรอยนั้นอาจเป็นพื้นที่ทางความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม เรื่องเล่า ฯลฯ ซึ่งผู้เข้ามาอยู่ใหม่ก็อาจยกเลิกหรือปรับปรุงผสมกลมกลืนเพื่อให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมตนเอง จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นว่าขอมสร้างเทวสถานบนพื้นที่ศักดิ์ของคนก่อนประวัติศาสตร์ในขณะที่ล้านช้างและสยามปรับปรุงขอมมาเป็น
พุทธสถานตามความเชื่อของตน ซึ่งพบเห็นได้เป็นปกติของคนทำงานภาคสนาม
การศึกษาภาคสนามในทางคติชนวิทยาและทางวัฒนธรรม ย่อมเป็นที่เข้าใจกันว่าการหาจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของข้อมูลภาคสนามเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ และข้อมูลที่ได้จากภาคสนามก็ไม่ใช่ข้อมูลเชิงเดี่ยวเพราะสังคมชุมชนย่อมเกิดจากการรวมตัวกันของวัฒนธรรมต่าง ๆ บ้างก็ผสมผสานบ้างก็ทับซ้อนกัน การเข้าใจความทับซ้อนทางวัฒนธรรมความเชื่อจะช่วยให้เห็นถึงความหลากหลายของพื้นที่เหล่านั้น
ซึ่งสามารถอธิบายพื้นที่ได้หลายมิติและหลายลักษณะตามบริบทที่ทับซ้อนกันอยู่ บางสิ่งบางอย่างอาจมีการผสมผสานกันจนไม่สามารถบอกต้นเค้าได้อย่างแท้จริงแต่บางอย่างอาจทับซ้อนกันแบบแยกส่วนไม่ปะปนกัน สนามตัวอย่างเพื่อฉายภาพการทับซ้อนของวัฒนธรรมความเชื่อของบทความนี้คือบริเวณสวน
สาธารณะ อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร หรือในความรู้จักของคนในยุคก่อนคือ บริเวณหอผีปู่ตากุดนาแซง แต่คนปัจจุบันและคนทั่วไปเรียกว่า ลานพญาเต่างอย
เต่างอย คือ ชื่ออำเภอหนึ่งในจังหวัดสกลนคร มีภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบเชิงเขาไปจนถึงสันเขา
ภูพาน มีลำน้ำสำคัญหลายสาย อาทิ น้ำพุง ห้วยแคน ห้วยโท เป็นต้น เป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนหลากหลาย
กลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ ไทลาว ผู้ไท ไทญ้อ ตรี (โส้ตรี) เป็นต้น ได้สร้างชุมชนอาศัยอยู่ร่วมกันโดยมีความเชื่อเรื่องผี พุทธ และคริสต์ ร่วมกันตลอดมา โดยเฉพาะพื้นที่ตั้งรูปปั้นพญาเต่างอยที่ติดกับน้ำพุงที่ไหลจากยอดเขาลงสู่หนองหารในพื้นที่นี้เองมีเรื่องราววัฒนธรรมความเชื่อจากกลุ่มหนึ่งทับซ้อนอีกกลุ่มหนึ่งมาตลอดระยะเวลาอย่างพอเหมาะและลงตัว
“น้ำพุง” หรือ “ลำน้ำพุงสา” เป็นลำน้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงประชาชนชาวอำเภอเต่างอย
เพื่อใช้ในการเกษตรและใช้ในการอุปโภคต่าง ๆ จากการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นไม่ปรากฏว่าเหตุใดจึงชื่อน้ำพุง
แต่ที่แน่ชัดคืออาณาบริเวณรัศมี 5-7 กิโลเมตรรอบลำน้ำพุง มีร่องรอยอารยธรรมโบราณอย่างน้อย 3 กลุ่ม คือ 1) ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีการขุดค้นทางโบราณคดีพบโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์จำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตบ้านบึงสา บ้านบึงทวาย บ้านม่วง เป็นต้น 2) อารยธรรมทวารวดี มีกระจายในพื้นที่ลุ่มน้ำและเชิงเขา โดยเฉพาะดอนหินหลักบ้านนาตาล และพระนอนเชิงดอยที่บ้านม่วง และ 3) อารยธรรมขอม พบในเขตป่าเฮ้ว (ป่าช้า) บ้านบึงทวาย ปรากฏซากโบราณวัตถุขอมจำนวนหนึ่ง
น้ำพุง เป็นหนึ่งในสายน้ำไม่กี่สายที่ปรากฏชื่อในตำนานอุรังคธาตุทุกสำนวน ในตำนานอุรังคธาตุ บั้น (ตอน) ปาทลักษณะนิทาน ได้กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธเจ้ากับลำน้ำแห่งนี้ว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากภูกำพร้า (ที่ตั้งพระธาตุพนมในปัจจุบัน) เพื่อมายังเมืองหนองหารหลวงและได้พบกับพญานาคตนหนึ่งอันสืบเชื้อสายมาจากพญาศรีสุทโธนาคราช นามว่า โธทนะนาคราช (ตำนานอุรังคธาตุ
ในแต่ละสำนวนได้เขียนชื่อมีความแตกต่างกันเป็น โทธนะนาค, โททะนาค, โธทนนาค และโธทนาคะ)
ซึ่งเป็นนาคที่มีมิจฉาทิฐิไปในทางความโมโหร้าย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดโธทนะนาคราชจนละทิฐิหันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้วละสังขารไปเกิดเป็นเทวบุตรนาม “โธทนะนาคเทวบุตร” ภายหลังจึงลงมาเกิดเป็นมนุษย์และได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ในที่สุด จะเห็นได้ว่านับจากภูกำพร้า (พระธาตุพนม) มาจนถึงเมืองหนองหารหลวง พระพุทธเจ้าได้โปรดพญานาคแต่เพียงตนเดียวเท่านั้น
เป็นที่น่าเสียดายว่านามของพญานาคตนนี้ได้เลือนลางไปจากความทรงจำของชาวบ้าน จนกระทั่งมีการตั้งหอผีปู่ตาและพญาเต่างอยริมน้ำพุงขึ้นชื่อของพญาโธทนะนาคเทวบุตรก็หายสิ้นไป
ต่อมาเมื่อมีกลุ่มผู้คนในวัฒนธรรมล้านช้างเขามาแทนที่คนดั้งเดิมและมีการตั้งศาลผีมเหศักดิ์ของชุมชนเพื่อเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจในบริเวณข้างน้ำพุงเรียกว่า “ผีปู่ตากุดนาแซง”
“ศาลเจ้าปู่ตากุดนาแซง” เป็นดังศูนย์รวมใจของคนในชุมชนได้จัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2414 เดิมอยู่บริเวณริมน้ำพุง ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2546 ได้ย้ายมาตั้งห่างจากที่เดิมประมาณ 100 เมตร (ที่ตั้งปัจจุบัน)
มีการสร้างอาคารขนาดย่อมแบบก่ออิฐถือปูน และมีการสร้างรูปเคารพเจ้าปู่เพียเมื่อ พ.ศ. 2550 ปัจจุบันศาลเจ้าปู่ตากุดนาแซงยังคงได้รับความเคารพเชื่อถือจากคนในพื้นที่อำเภอเต่างอยเช่นเดิมและยังมีการประกอบพิธีกรรมเซ่นสรวงอยู่เช่นเดิม โดยเชื่อว่าบริเวณแห่งนี้เป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาผีปู่ตานามว่า “เจ้าปู่เพีย” อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวอำเภอเต่างอยและผู้คนทั่วไป เป็นที่สังเกตว่าศาลปู่ตานี้มีคำว่า “กุด” ทั้งนี้เพราะน้ำพุงบางทีน้ำก็มากบางทีน้ำก็น้อยจนเกิดสันดอนในลำน้ำบ่อยครั้ง เมื่อน้ำแห้งขอดก็จะเหลือร่องน้ำสายเล็กเปลี่ยนทิศทางไปมาซึ่งชาวอีสานจะเรียกลำน้ำที่มีลักษณะเช่นนี้ว่า “กุด” นั่นเอง นอกจากนี้ชื่อของผีปู่ตาคือ เจ้าปู่เพีย ก็มีข้อสังเกตว่า “เพีย” ในภาษาท้องถิ่นอีสานหมายถึง พระยา ซึ่งใช้เรียกขุนนางหรือผู้นำในยุควัฒนธรรมล้านช้าง ทั้งนี้เจ้าปู่เพียผีปู่ตากุดนาแซงจึงถือเป็นผีบรรพชนของชาวอำเภอเต่างอยที่มีการตั้งบ้านเมืองมาก่อนการตั้งเมืองสกลนคร
การเซ่นสรวงบูชาในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “เลี้ยง” ชาวบ้านจะทำพิธีเลี้ยงผีปู่ตากุดนาแซงอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ เลี้ยงขึ้น (เมื่อยามจะขึ้นยุ้งข้าวเปิดเพื่อประตูนำข้าวมาบริโภค ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 และ
เลี้ยงลง (เมื่อยามจะลงทำนา ในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6) โดยมีผู้ทำการสื่อสารระหว่างผีปู่ตากับชาวบ้านคือ จ้ำ (ผู้ทำหน้าที่สื่อสารกับผีปู่ตา บ้างก็เรียก กวนเจ้า, เฒ่าเจ้า, เจ้าจ้ำ) นอกจากนั้นก็มีการบน (การวิงวอนร้องขอโดยมีเงื่อนไขแลกเปลี่ยน) ครั้นเมื่อได้ตามปรารถนาแล้วก็จะมาแก้บะแก้บน (การถวายของตามเงื่อนไขที่ได้บนไว้) ซึ่งเกิดขึ้นตลอดทั้งปี
ต่อมา มีการก่อสร้างพระพุทธรูปด้านข้างศาลเจ้าปู่กุดนาแซง มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ทาสีขาวทั้งองค์ และนำพระพุทธรูปนาคปรกมาประดิษฐานร่วมไว้ภายหลัง วัฒนธรรมความเชื่อคติพุทธศาสนาเข้ามาหลังคติผีจึงมีการสร้างพระพุทธรูปไว้ร่วมด้วย นับเป็นการทับซ้อนระหว่างความเชื่อผีและพุทธ แต่ก็ไม่ได้ถูกปฏิเสธจากชาวบ้านแต่อย่างใดทั้งนี้เพราะชาวบ้านได้ผนวกความเชื่อผีกับพุทธเช้าด้วยกันและมีวัฒนธรรมความเชื่อผสมผสานกันอย่างลงตัวและเหมาะสม
นอกจากวัฒนธรรมความเชื่อศาสนาพุทธจะเข้ามามีบทบาทจนสร้างศาสนสถานทับซ้อนในพื้นที่ ผีปู่ตากุดนาแซงแล้วนั้น ภายหลังยังมีการสร้างอาคารโล่งเพื่อวางท่อนซุงต้นตะเคียนไว้หน้าศาลเจ้าปู่กุดนาแซงซึ่งเมื่อจะไปสักการะผีเจ้าปู่เพียจะต้องเดินเลียบช่องข้างอาคารเจ้าแม่เข้าไป เจ้าแม่ตะเคียนนี้มีที่มาจากท่อนซุงต้นตะเคียน 3 ท่อน เชื่อว่ามีเจ้าแม่สถิตอยู่นามว่า เจ้าแม่สำเภา เจ้าแม่ดวงแข และเจ้าแม่แพรทอง ซึ่งบัดนี้ลำต้นขาวโพลนไปด้วยแป้งที่บรรดานักแสวงโชคใช้เป็นกลวิธีขัดถูหาตัวเลขเพื่อซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่เห็นได้จากชุดไทยที่มีผู้เคารพเชื่อถือนำมาถวายนับพันชุดเลยทีเดียว!
ความเชื่อเรื่องเจ้าแม่ตะเคียนน่าจะเป็นความเชื่อใหม่มาก ๆ ของชาวอีสาน ที่นำมาผสมกับความเชื่อดั้งเดิมบางส่วน กล่าวคือ ในภาคอีสานเรียกต้นตะเคียนว่า “ต้นแคน” และก็ไม่ได้มีความเชื่อว่าต้นแคนจะมีผีผู้หญิงสิงสถิตอยู่แต่อย่างใดหากแต่ความเชื่อนี้ไหลเลื่อนมาจากภาคกลางของประเทศไทยจึงพาให้คนอีสานพลอยเชื่อไปด้วยและด้วยคติความเชื่อของชาวอีสานเดิมเชื่อว่าต้นไม้จะมีผีหรือรุกขเทวดาอาศัยอยู่ดังคำผญากล่าวว่า
“กกไม้ใหญ่บ่มีผี สาวผู้ดีบ่มีชู้ ธรณีอกสิแตก” (ความว่า ต้นไม้ใหญ่หากไม่มีผีเทวดาอารักข์ หญิงสาวหากไม่มีคู่ครอง แผ่นดินจะถล่มเป็นแน่)
ความเชื่อเรื่องเจ้าแม่ตะเคียนจึงถูกนำมาผสมกับความเชื่อผีหรือรุกขเทวดาในต้นไม้ใหญ่ของชาวอีสานจนกลายเป็นเจ้าแม่ตะเคียนดังที่ปรากฏเห็นในพื้นที่ศาลเจ้าปู่กุดนาแซงและบริเวณอื่น ๆ ทั่วไปในภูมิภาคอีสาน อนึ่งการตั้งอาคารโล่งเพื่อประดิษฐานรูปจำลองและท่อนซุงตะเคียนก็วางทับในพื้นที่หน้าศาลเจ้าปู่กุดนาแซงและเยื้องห่างพระพุทธรูปเพียงเดินชั่ว 5 ก้าว เท่านั้นเอง การว่างทับซ้อนเหล่านี้จึงทำให้เหลือพื้นที่ทางความเชื่อผีปู่ตาในทางกายภาพลดลง ส่วนในทางความเชื่ออาจเบาบางลงบ้างตามแต่มุมมองและความศรัทธาที่เกี่ยวกับกับโชคลาภนั่นเอง
การสร้างรูปปั้นพญาเต่างอยนั้นประกอบขึ้นจากความเชื่อและเรื่องเล่าพื้นบ้านที่กล่าวว่า บริเวณหน้าผาบนเขาภูพานมีหินลักษณะคล้ายเต่าจับอยู่ปลายผานั้นอาการเหมือน “งอย” (เกาะ, จับ) หน้าผาอยู่ เรียกว่า “เต่างอย” จึงกลายเป็นภูมินามมาจนถึงปัจจุบัน ในการสร้างรูปปั้นเต่าครั้งแรกนั้นขนาดไม่ใหญ่เท่าใดนัก ในขณะที่วัดศิริมังคะละเต่างอย ได้สร้างรูปปั้นเต่างอยเมื่อ พ.ศ. 2518 เรียกว่า “ปู่กัสสโป” ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 มีการจัดสรรงบเพื่อจัดสร้างเป็นสัญลักษณ์ (Landmark) จึงได้ปั้นรูปเต่าขนาดใหญ่ขึ้นบริเวณริมน้ำพุงโดยมีการบรรจุพระธาตุและวัตถุศักดิ์สิทธิ์ในรูปปั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการบรรจุดินจากดอนปู่ตา จำนวน 32 หมู่บ้านในเขตอำเภอเต่างอย และดินจากวัดในเขตอำเภอเต่างอยจำนวน 35 วัด นับเป็นกุศโลบายในการสร้างความสำนึกและการเป็นเจ้าของร่วมกัน ชั้นแรกถือกันเป็นสัญลักษณ์ท้องถิ่นครั้นต่อมามีผู้โชคดีหลังจากฝันว่าได้รับพรจากพญาเต่างอย และจากนั้นมาก็มีนักแสวงโชคเสี่ยงดวงมากราบไหว้บูชามิได้ขาดจนมีสภาพเศรษฐกิจของอำเภอเต่างอยเริ่มดีขึ้นกระแสแห่งความโชคดีแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็วจึงทำให้ผู้คนยิ่งเดินทางมาจากทั่วสาระทิศ การบูชาบวงสรวงหลังจากได้โชคลาภก็นับวันจะยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เป็นดังมนต์สะกดให้คนเดินทางมามากยิ่งขึ้น
จากความ “ขลัง” และผลการบันดาลโชค ผู้คนจึงเดินทางมาเพื่อสักการะมากยิ่งขึ้น รูปปั้นพญาเต่างอยจากเป็นสัญลักษณ์ในสวนสาธารณะจึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์กราบไหว้บูชาบนพื้นที่ของเจ้าปู่เพียผีปู่ตากุดนาแซงทันที ในครั้งแรกผู้คนหลั่งไหลไปขอโชคลาภเพียงกับพญาเต่างอยเท่านั้นภายหลังจึงเริ่มมีการสร้างอาคารโล่งคลอบพระพุทธรูป และนำท่อนตะเคียนมาเพื่อเพิ่มช่องทางการแสวงหาโชคลาภให้นักเสี่ยงดวงทั้งหลายและมีการทำป้ายบอกเส้นทางไปสักการะเจ้าปู่เพียเพิ่มขึ้นด้วย
จากที่เล่ามาจะเห็นว่าภายในพื้นที่ที่มีความเชื่อเรื่องพญานาคตามตำนานอุรังคธาตุก็ถูกทับซ้อนด้วยความเชื่อเจ้าปู่เพียผีปู่ตากุดนาแซง ตามมาด้วยความเชื่อพระพุทธศาสนา และสุดท้ายความเชื่อเจ้าแม่ตะเคียน การทับซ้อนเหล่านี้ไม่ได้มีลักษณะการขัดขืนหรือต่อสู้ทางความเชื่อแต่อย่างใด ตรงกันข้ามการทับซ้อนเหล่านั้นเป็นการสร้างความเชื่อที่ท้องถิ่นพึงพอใจและมีความสุขที่ได้เชื่อถือเคารพบูชา
ความลงตัวที่เกิดจากความเชื่อที่ทับซ้อนกันเหล่านี้ชักจูงให้ผู้คนทั่วสารทิศเดินทางไปยังอำเภอเต่างอยมากขึ้นซึ่งเดิมเป็นอำเภอขนาดเล็กผู้คนสัญจรไปมาน้อย วัฒนธรรมความเชื่อจึงทำให้เกิดการสร้างพื้นที่ทางเศรษฐกิจ ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การขยายเส้นทางสัญจรตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพิ่มมากยิ่งขึ้น ความเจริญในด้านเศรษฐกิจวิ่งกระโจนเข้าสู่อำเภอเต่างอยเพราะอำนาจพื้นที่ทับซ้อนทางความเชื่อเหล่านี้เป็นแรงกระตุ้นสำคัญนั่นเอง
ลานพญาเต่างอยวันนี้ มีเส้นทางสัญจรสะดวกสบาย มีพื้นที่จอดรถนับร้อยนับพันคัน มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ในบริเวณพญาเต่างอยเพื่อให้สามารถถ่ายภาพเป็นที่ระลึก มีการสร้างสะพานข้ามลำน้ำพุงและมีการออก ร้านขายของที่เป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น อาทิ ไม้กวาด หมากกระบก เป็นต้น การทับซ้อนของวัฒนธรรมความเชื่อในพื้นที่ริมน้ำพุงนำมาซึ่งการสร้างรูปปั้นพญาเต่างอยจึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอำเภอเต่างอยมาจนถึงปัจจุบัน อำเภอเต่างอยก็ก้าวเข้าสู่พื้นที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของจังหวัดสกลนครที่รองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศมาเยี่ยมยลพร้อมกับการเสี่ยงดวงเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลและขอพรให้มั่งมีโภคทรัพย์ตลอดไป
พื้นที่เต่างอย จึงเป็นตัวอย่างของการทับซ้อนทางความเชื่อของพื้นที่ที่มีความผสมผสานของวัฒนธรรมที่หลากหลายอย่างลงตัว ทำให้สังคมท้องถิ่นสามารถพัฒนาตนเองภายใต้การยอมรับความหลากหลายทางความเชื่อและความคิด ลดความเลื่อมล้ำทางความเชื่อ ตลอดจนสามารถสร้างความเป็นอัตลักษณ์และเป็นความภาคภูมิใจของท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี