OLYMPUS DIGITAL CAMERA

พุทธวนฺทิตฺวา สิรสา สสทฺธ มฺมคณุตฺตม

อิท เตภูมิสังฺเขปปวกฺมิ กกฺ อิธ

(เมื่อได้วันทาพระพุทธ พร้อมทั้งพระสัทธัมมที่ประเสริฐ ด้วยเศียรด้วยเกล้าแล้ว ข้าพเจ้าจะกล่าวเตภูมิสังเขป)

เมื่อครั้งที่โควิด-๑๙ ระลอก ๒ เริ่มตั้งเค้าจากแรงงานหลบหนีเข้าเมืองทางภาคเหนือ เป็นช่วงเวลาที่ต่อมนักเดินทางของฉันมีอาการอักเสบถึงขีดสุด อยากไปเที่ยวจนอยู่ไม่สุข เพราะวางแผนไว้หลายเดือนแล้วว่าจะไปสำรวจอู่อารยธรรมล้านนาดูบ้าง แผนการเที่ยวฝ่าไวรัสล้างโลกจึงเริ่มต้นขึ้น

หลังเจ้านกเหล็กหางแดงร่อนลงจอดที่สนามบินนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ ฉันอดใจไม่ไหว อยากค้นหาร่องรอยของฮูปแต้มฝีมือช่างเมืองเหนือเต็มทน จึงยังไม่เข้าที่พัก แต่ออกสำรวจวัดเก่าในเขตกำแพงเวียงโดยใช้วิธีเดินเท้า วัดแล้ววัดเล่าจากวัดที่ไกลที่สุด จนกระทั่งถึงวัดที่ใกล้ที่พักมากที่สุด มีเพียงแค่ถนนสองเลนกั้นเท่านั้น “วัดพระสิงห์”

ที่วัดโบราณแห่งนี้ฉันได้พบรอยพระพุทธบาทจำลองที่ดูแปลกตา  เนื่องจากที่พบส่วนใหญ่มักจะเป็นลวดลายมงคล ๑๐๘ ประการ หรือ ธรรมจักร แต่รอยพระพุทธบาทไม้องค์นี้เป็นรูปจักรวาฬ! ไม่ผิดแน่ภาพเขาพระสุเมรุชัดเจน รวมถึงวิมานบนสรรค์ชั้นต่าง ๆ ไปจนจรดขอบจักรวาฬ

พระครูที่ทำหน้าที่เฝ้าโบสถ์คงเห็นฉันจด ๆ จ้อง ๆ รอยพระเจ้าเหยียบโลกอย่างเอาจริงเอาจัง จึงได้เดินมาบอกว่า “รอยพระพุทธบาทจำลองอันจริง อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดเชียงใหม่ นะโยม” เอ๊ะ! มันยังไงกันนี่ ของปลอมแท้ ๆ กับของปลอม ๆ น่าเสียดายที่กว่าจะพบเบาะแสของถูกใจก็มืดค่ำเสียแล้ว ไปตั้งหลักที่โรงแรมก่อนก็แล้วกัน…

ตอนเช้าใช้ชีวิตกับจิ้นส้มห่อใบตองปิ้งและข้าวนึ่ง ส่งพลังงานจากกระเพาะไปสู่สมอง จากที่ลังเลตัดสินใจไม่เด็ดขาดว่าจะทำอย่างไรกับความอยากรู้อยากเห็นที่เพิ่มเข้ามาอย่างกระทันหัน ในที่สุดฉันก็ตัดสินใจขยับโปรแกรมของวันนี้ออกไป แล้วมุ่งหน้าสู่พิพิธภัณฑ์ประจำจังหวัด รอยพระพุทธบาทจำลองที่ฉันตามหานั้นอยู่บนชั้นสองของพิพิธภัณฑ์นี่เอง

“แม่เจ้าโว้ย! คุ้มแล้วที่ถ่อมาถึงนอกเมือง” ฉันตะลึง

แผ่นไม้รูปรอยเท้าขนาดใหญ่ ทาด้วยชาดประดับเปลือกหอยมุกเป็นชิ้นเล็ก ๆ อย่างประณีต ชิ้นส่วนมุกแต่ละชิ้นร้อยเรียงเป็นจักรวาฬ ท้องฟ้า และดารากร  และที่สำคัญไม่ผิดไปจากคติไตรภูมิแม้แต่น้อยนิด ไม่ว่าจะเป็นสรรค์ชั้นต่าง ๆ โสพสพรหม เทวดา และสัตว์หิมพานต์

คำว่า “จักรวาฬ” ที่หมายถึง โลกธาตุนั้น ในเวิ้งฟ้าอันไพศาล ตามคติทางพุทธศานาไม่ได้มีเพียงจักรวาฬเดียว หากแต่มีมากมายอเนกอนันต์ อย่างที่ภาษาวิทยาศาสตร์ใกล้เคียงกับคำว่า “กาแลคซี่” แม้จะมีขนาดใหญ่เล็กต่างกัน แต่โครงสร้างของจักรวาฬทุกจักรวาฬจะมีส่วนประกอบอย่างเดียวกัน และเหมือนกันทุกประการคือ มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลางของไตรภูมิ

เขาพระสุเมรุเป็นภูเขาลูกแรกที่ถือกำเนิดขึ้นหลังจากการพินาศไปของจักรวาฬ เป็นแกนแห่งความหมุนเวียนที่พระอาทิตย์ พระจันทร์ และดวงดาวต่างโคจรโดยรอบ

ถ้าหากล่าวประมาณว่าภูเขาทองคำลูกนี้มีสัณฐานเป็นทรงกลม สูงเหนือระดับน้ำมหานทีสีทันดร ๘๔,๐๐๐ โยชน์ และจมลึกลงไปอีก ๘๔,๐๐๐ โยชน์ เส้นรอบวง ๒๕๒,๐๐๐ โยชน์ เพียงเท่านี้ก็ดูจะหยาบเกินไป เพราะที่จริงแล้วโครงสร้างของเขาพระสุเมรุเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ ตั้งแต่ส่วนฐานไปถึงเวิ้งฟ้าเหนือเขาทีเดียว  เรามาชมภาพประกอบและเปิดจินตนาการไปพร้อม ๆ กันดีกว่า

ไล่กันไปตั้งแต่ โครงสร้างเบื้องล่างเขาพระสุเมรุ ที่บริเวณนี้จะมีเขา ๓ ลูก เรียงกันแหมือนก้อน ๓ เส้า รองรับเขาพระสุเมรุเอาไว้ ชื่อว่า “ตรีกูฏ” (เขาสามยอด) ใต้เชิงเขาตรีกูฏเป็นเมืองอสูร มีเมืองใหญ่ ๔ งดงามด้วยปราสาทราชมณเฑียร ประดับประดาไปด้วยทองและแก้ว ๗ ประการ คือ สุวรรณ (ทอง) หิรัญ (เงิน) มุกดาหาร วิเชียร มณี ไพฑูรย์ และประพาฬ เมื่อตอนที่ศึกษาโครงสร้างเหล่านี้ใหม่ๆ ก็ทำให้ฉันอดคิดในในไม่ได้ว่า มลังเมลืองขนาดนี้ เวลาแสงตกกระทบแล้วสะท้อนออกมาถ้าไม่ใส่แว่นกันแดดผู้อยู่อาศัยอาจจะตาบอดเอาได้

เอาล่ะต่อมาเป็น โครงสร้างเบื้องกลางเขาพระสุเมรุ หากจะเล่าถึงโครงสร้างส่วนนี้ คงต้องเท้าความไปต้องถึงตอนที่พระอินทร์และเหล่าอสูรต่างอาศัยอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ภายหลังพระอินทร์และเทวดาใช้เล่ห์กลมอมเหล้าพวกอสูรเพื่อขับไล่ให้ลงไปอยู่ใต้เขาพระสุเมรุ กระนั้นพวกอสูรก็ยังพยายามกลับขึ้นไป อิทธิฤทธิ์ของพวกอสูรคงจะมีไม่น้อย เพราะทำให้พระอินทร์ไม่กล้าประมาท ต้องตั้งทัพไว้คอยขัดขวางถึง ๕ ชั้น ด้วยกัน คือ

ชั้นแรก ที่ใต้มหานทีสีทันดรเป็นทัพนาค

ชั้นที่ ๒ ที่ป่างิ้วเชิงเขาเป็นทัพครุฑ

ชั้นที่ ๓ ถัดจากป่างิ้วเป็นกุมภัณฑ์

ชั้นที่ ๔ เป็นที่อยู่ของพวกยักษ์

ชั้นที่ ๕ จะมีท้าวจตุโลกบาลคอยอารักขาไว้ทั้ง ๔ ทิศ

ส่วนรอบๆ เขาพระสุเมรุ สูงขึ้นไปเทียมเขายุคันธร (เขาสัตบริภัณฑ์ชั้นที่อยู่ติดเขาพระสุเมรุ) เป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นที่ ๑ ชื่อว่า “จตุมหาราชิกา” เหนือยอดเขายุคันธรขึ้นไปอีก เป็นเมืองใหญ่ตั้งอยู่ ๔ ทิศปกครองโดยท้าวจตุโลกบาล

ทิศเหนือ ปกครองโดยท้าวไพรศรพ มีบริวารเป็นพวกยักษ์และเทวดา

ทิศใต้ ปกครองโดยท้าววิรุฬหก มีบริวารเป็นพวกกุมภัณฑ์ และเทวดา

ทิศตะวันออก ปกครองโดยท้าวธตรฐ มีบริวารเป็นพวกคนธรรพ์ และเทวดา

ทิศตะวันตก ปกครองโดยท้าววิรูปักษ์ มีบริวารเป็นพวกนาคและเทวดา

และ โครงสร้างบนยอดเขาพระสุเมรุ เป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นที่ ๒ คือ “ดาวดึงส์” มีไพชยนต์ปราสาทตั้งอยู่เป็นศูนย์กลาง ปราสาทนี้เป็นที่ประทับของพระอินทร์ ผู้เป็นใหญ่เหนือเทวดาทั้งปวง ประดับประดาด้วยแก้ว ๗ ประการ 

ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมหานครดาวดึงส์มีพระมหาจุฬามณีเจดีย์ อันเรืองรองด้วยอินทนิล ทำให้องค์เจดีย์เปล่งประกายเจิดจรัสเป็นสีเขียว นอกจากนี้แล้วยังมีปราสาทแก้ว ปราสาททอง ของเหล่าเทวาชั้นสูง แผ่ขยายไปในอากาศจากยอดเขาพระสุเมรุจรดกำแพงจักรวาฬทีเดียว

ยัง เรื่องราวยังไม่จบแค่นั้น เหนือยอดเขาพระสุเมรุขึ้นไป บนอากาศเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นที่ ๓-๖ คือ ชั้นยามา ดุสิต นิมมานนรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ส่วนพรหมและอรูปพรหมอยู่สูงขึ้นไปจากสวรรค์ชั้นปรมิมมิตวัตตีอีกตามลำดับ

ขอแถมอีกสักหน่อย เมื่อเราขยับสายตาให้กว้างขึ้น มองไปยังบริเวณที่อยู่ ถัดจากเขาพระสุเมรุออกไป สิ่งแรกที่เราจะพบคือ เขาสัตตบริภัณฑ์ เป็นวงแหวนล้อมรอบเขาพระสุเมรุเป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันลงไปเป็นลำดับ มีชื่อเรียกแต่ละเขาจากชั้นในสุดไปชั้นนอก คือ ยุคันธร สิรินธร กรวิก สุทัศนะ เนมิธร วินันตา และ อัสสกัณณะ เขาสัตบริภัณฑ์แต่ละลูกมีส่วนที่พ้นน้ำและจมเป็นระยะเท่ากัน เขาแต่ละชั้นจะถูกกั้นด้วยมหาสมุทรใหญ่ทั้ง ๗ ที่เรียกรวม ๆ ว่า “มหานทีสีทันดร”

ถัดจากเขาอัสสกัณณะที่อยู่ชั้นนอกสุดออกมาเป็น “โลณสาคร” เป็นมหาสมุทรน้ำเค็มปรกติที่ไม่ใช่น้ำทิพย์อย่างมหานทีสีทันดร

ทางทิศเหนือ เป็นมหาสมุทรชื่อ “ปิตสาคร” มหาทวีปที่ตั้งอยู่ทางทิศนี้คือ “อุตรกุรุทวีป” ที่นี่มีต้นกัลปพฤกษ์อยู่ต้นหนึ่ง

ทิศใต้ เป็นมหาสมุทรชื่อว่า “นิลสาคร” มหาทวีปที่อยู่คือ “ชมพูทวีป” ป่าหิมพานต์ก็ตั้งอยู่บนทวีปนี้เอง 

ส่วนทิศตะวันออก มีมหาสมุทรชื่อว่า “ขีรสาคร” มหาทวีปที่ตั้งอยู่คือ “ปุพพวิเทหทวีป” และ ทิศตะวันตก มีมหาสมุทรชื่อว่า “ผลิกสาคร” มหาทวีปที่ตั้งอยู่คือ “อมรโคยานทวีป”

พ้นจากมหาสมุทรและมหาทวีปทั้ง ๔ จะเป็นกำแพงกั้นเป็นขอบว่าส้นสุดเขตแดนของจักรวาฬหนึ่ง

คติเรื่องจักรวาฬนี้ได้ถูกนำมาสร้างพุทธศาสนสถาน เป็นต้นว่า บันไดนาคคือสะพานรุ้งสู่สวรรค์ ประตูวัดเปรียบได้กับประตูทางเข้าสู่สวรรค์ ลานทรายรอบๆ อุโบสถ คือ มหานทีสีทันอันสุขุมละเอียด และอุโบสถคือเขาพระสุเมรุ…นั่นคือทั้งหมดของจักรวาฬ

จิตใจที่ล่องลอยไปจนชนกับกำแพงจักรวาฬคล้ายกับมีแรงปะทะ ปลุกให้ฉันตื่นจากภวังค์ สติกลับมาจดจ่อที่มุกงามแห่งแดนล้านนาอีกครั้ง ที่รอยพระพุทธบาทองค์นี้ตรงส้นเท้าเป็นจักรวาฬและเขาพระสุเมรุแบบตัดขวาง ทำให้เราเห็นโครงสร้างจักรวาฬได้อย่างชัดเจน ส่วนกลางรอยพระบาทเป็นภาพจักรวาฬในลักษณะมุมสูงอย่าง เบิร์ด อาย วิวส์ ตรงบริเวณปลายนิ้วทั้ง ๕ ที่เป็นวงกลมซ้อนกันถี่ยิบราวกับไม่รู้จบสิ้นนั้น สื่อความหมายถึงการเพ่งกระแสจิตสู่อนัตตา

แม้ไม่ปรากฏนามในจารึกด้านหลังว่าผู้ที่สร้างรอยพระพุทธบาทไม้องค์นี้เป็นใคร แต่พิจารณาจากภูมิรู้ในเรื่องพุทธจักรวาฬทัศน์อย่างถ่องแท้ และเชิงช่างที่ไม่ธรรมดา จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระนักปฏิบัติสมณะศักดิ์สูง ที่ได้ศึกษาไตรภูมิกถาอย่างแตกฉาน

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com