เพลงรำโทน มาจนถึงเพลงรำวง

เพลงรำโทน มาจนถึงเพลงรำวง

สมัยเป็นเด็ก โตพอรู้ความ ประมาณปี ๒๔๙๐ กว่า ๆ ผมจำได้ว่าภาคอีสานไม่ใช่มีแต่หมอลำ ยังมีเพลงพื้นเมือง ยังมีเพลง “รำโทน” ที่เขาร้องเชียร์รำวง ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวอีสานมาแต่โบราณ ที่เรียกว่ารำโทน คงเป็นเพราะนอกจากจะมีการร่ายรำของหนุ่มสาว หญิง-ชายรำฟ้อนเกี้ยวกันแล้ว ดนตรีเครื่องบรรเลงจะมีแต่กลองอย่างเดียวที่เรียกว่า“กลองโทน” ผู้ร้องที่เรียกว่ากองเชียร์ก็จะร้องเพลงพื้นเมืองเข้ากับจังหวะกลองโทนใบเดียว จึงเรียกว่า “รำโทน”

กลองโทนของภาคอีสานที่ใช้กันประจำมีอยู่ ๒ แบบ ตัวกลองทำด้วยไม้เนื้อแข็ง หนังหน้ากลองจะใช้หนังวัว โทนชนิดนี้เวลาตีจะมีเสียงดังแน่นและเป็น ที่นิยมใช้ เพราะใช้ได้ทนนานคุ้มค่า

กลองโทนอีกแบบหนึ่ง ตัวกลองจะหล่อด้วยดินเผา หนังหน้ากลองจะใช้หนังงูเหลือมลายสวย โทนชนิดนี้เวลาตีเสียงจะดังก้องกังวานมีเสียงโจ๊ะ เสียงพรึมดังชัดเจนกว่า แต่กลองชนิดนี้ใช้ไม่ทน ตัวกลองแตกง่ายเพราะทำด้วยดินเผาหนังหน้ากลองถ้าปล่อยให้แห้งกรอบจะฉีกขาดง่ายเพราะทำจากหนังงูเหลือม

การเล่นรำโทนของภาคอีสานจะเริ่มต้นในยุคไหนยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่มาเป็นที่นิยมในยุคนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีนโยบายส่งเสริมการรำวงให้เป็นวัฒนธรรมของไทย ในช่วงปี ๒๔๘๑ – ๒๔๘๗ และให้เรียกว่า “รำวง” เหตุเพราะฟ้อนรำกันเป็นวง ยุคจอมพลป. พิบูลสงคราม ยังให้ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภรรยาท่านนายก แต่งเพลงรำวงร่วมกับนักแต่งเพลงคนอื่นรวม ๑๐ เพลง และให้กรมศิลป์ออกแบบท่ารำให้สอดคล้องกับเพลงทั้ง ๑๐ เพลง ให้เรียกว่า “รำวงมาตรฐาน” เผยแพร่ไปสู่โรงเรียนต่าง ๆ ในหัวเมืองต่างจังหวัด

ในยุคการละเล่น รำวงในภาคอีสานเฟื่องฟูมาก มีปราชญ์ นักคิด นักเขียน ชาวบ้าน แต่งเพลงรำโทนพื้นเมืองออกมาร้องกันมากมาย แต่ก็ร้องกันในท้องถิ่น เผยแพร่และแลกเปลี่ยนกันเฉพาะในจังหวัดต่าง ๆ แถบภาคอีสานเท่านั้น มีหลายเพลงที่เป็นที่นิยมและถูกนักแต่งเพลงยุคใหม่นำมาดัดแปลง ในยุคที่มีแผ่นเสียงได้อัดแผ่นเสียงออกมาเผยแพร่ต่อ ๆ มา เช่น เพลง “ผู้ใหญ่ลี” “สาวบ้านแต้” “สาวตางาม” ฯลฯ ก่อนหน้าจะมีเพลงพื้นเมืองซึ่งเป็นต้นฉบับของเพลงเหล่านี้สมัยเป็นเด็กผมเคยได้ฟังเพลงที่ชาวบ้านเขาร้องกันในงานต่าง ๆ ที่มีเนื้อร้องว่า “พ.ศ. สองสี่แปดเก้า ไทยเราเงียบเหงากันทุกคน สมเด็จอานันทมหิดล สิ้นพระชนม์ไปเสียก่อนเรา” ผมจำเนื้อเพลงได้แค่นี้

เพลงรำโทนพื้นเมืองของภาคอีสานยุคแรก ๆ มักจะเป็นเพลงกล่าวถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้น ๆ ผมว่าน่าจะเป็นต้นแบบของเพลงลูกทุ่ง สมัยต่อมา เพราะเพลงลูกทุ่งส่วนมากก็มักจะจารึกบอกกล่าวถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมแต่ละยุคสมัย ผู้แต่งเพลงรำโทนยุคก่อนจะสะท้อนประสบการณ์ บรรยายออกมาเป็นเพลง เช่นอีกเพลงหนึ่งที่ผมได้ฟังจากกองเชียร์รำวงบ่อย ๆ จนจำได้คือ..

“ฉึกกะฉัก ฉึกกะฉัก เครื่องจักรกำลังติดไฟรถจี๊ปเขามีมากหลาย ลากไม่ไหวทิ้งไว้กลางทางฉันจนไม่มีสตางค์โอ๊ยโอ๊ยฉันจนไม่มีสตางค์ จะขึ้นรถรางก็ไม่มีตั๋วฟรี คนเราเกิดมาทุกคน น้อยนักน้อยหนทุกคนจะได้ดี คนไหนเขามั่งเขามี เขาเป็นเศรษฐีนั่งกินนอนกิน”

นอกจากเพลงรำโทนพื้นเมืองที่ศิลปินชาวอีสานแต่งเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมชาติ เหตุการณ์ความเป็นอยู่ของชาวอีสานแล้ว ต่อมาก็มีเพลงแนวรำวง ซึ่งน่าจะเป็นเพลงจากภูมิภาคอื่น ๆ ที่เผยแพร่เข้าไปสู่ภาคอีสาน และเป็นที่ยอมรับนำไปร้องต่อจนกลมกลืนกลายเป็นที่ยอมรับของชาวอีสานยุคต่อมา เช่นเพลงที่มีเนื้อร้องว่า สายลมทะเลพัดต้อง นกยูงทองออกมาร้องรำแพน จากถิ่นหากินไกลแดน นกยูงรำแพนจากแดนวิมาน หรือ รำวงประสงค์หาคู่ มองดูหาคู่ไม่เจอ และ ไก่งามเมื่อยามจะบิน โผผินบินไปไกลรัง นาน ๆ หันหน้ามามอง แนะ ๆ นาน ๆ หันหน้ามามอง อยากขอจับจองมีเจ้าของหรือยัง

เพลง “ไก่งามเมื่อยามจะบิน” นี้ สมัยเป็นเด็กอีกนั่นแหละ ผมเคยได้ยิน “พี่เขยของเพื่อน” คนหนึ่งร้องให้ฟังจนผมจำได้ ในตอนนั้นผมเข้าใจว่าเพลงนี้คงเป็นเพลงของคนไทยเชื้อสายลาวพวนที่ลพบุรี เพราะคนร้องให้ผมฟังเป็นคนลพบุรี ไปมีครอบครัวอยู่ที่อีสาน จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ได้ดูสารคดีท่องเที่ยวทางรายการทีวีได้ยินชาวไทยเชื้อสายเขมรที่จังหวัดฉะเชิงเทราเขาร้องรำ เล่นเพลงกัน เขายืนยันว่าเพลง “ไก่งาม” นี้แปลมาจากภาษาเขมร จึงน่าจะยืนยันได้ว่า เพลงรำวงในยุครัฐบาล “จอมพล ป.” ส่งเสริมได้หลั่งไหลถ่ายเทแลกเปลี่ยนกันระหว่างกลุ่มรำวงแถบภาคตะวันออก เช่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และภาคกลางแถบลพบุรี ไปสู่อีสาน

จากเพลงรำโทนพื้นเมืองของภาคอีสานที่พอจะมีหลักฐานว่าเกิดในราวปี ๒๔๘๐ กว่า ๆ ที่ชาวบ้านเขาร้องประกอบรำวงกันปากเปล่า มีเสียงกลองโทนและเสียงปรบมือเป็นจังหวะเท่านั้น ก็พัฒนามาเรื่อยจนถึงยุคเพลงรำโทนได้มาบันทึกแผ่นเสียงเป็นที่นิยมกันในภาคกลางโดยนักร้องชาวอีสานจังหวัดร้อยเอ็ด คือ เฉลิมชัย ศรีฤาชา ชุดแรก ๆ เฉลิมชัยจะร้องประกอบกับเสียงแคนและกลองโทนเท่านั้น เช่นเพลง

แอ่วสาวลาวใคร” “สาวริมโขง” “เขมรรำวง เป็นต้น แต่ในชุดต่อมา ชื่อเพลง แม่นํ้ามูลแห่งความหลังและ เบิ่งโขง จึงมีดนตรีสากลประกอบเต็มวง และเป็นช่วงที่เพลงรำวงกำลังดังเต็มที่ โดยมีนักร้องชาวจังหวัดอุบลราชธานีชื่อ เบญจมินทร์ มาร้องเพลงรำวงประกอบดนตรีสากลเต็มวงดนตรี ประเภท ทรัมเป็ต แซกโซโฟน กลอง มีเพลงดังติดตลาดมากมายเช่น สาริกานกน้อย” “เมขลาล่อแก้ว” “เย็น เย็น

มาจนถึงยุคเพลง รำเต้ย

ผมจึงสันนิษฐานเอาเองว่า เพลงยุคแรกของ “เฉลิมชัย ศรีฤาชา” ที่ร้องโดยมีเสียงแคนตัวเดียวกับเสียงกลองโทนนั้นน่าจะเรียกว่า “รำโทน” แต่เพลงที่ “เบญจมินทร์” ร้องประกอบกับดนตรีสากลแล้วน่าจะเรียกว่าเพลง “รำวง” ก็คือพัฒนาจากพื้นเมืองมาเป็นสากลตามนโยบายของผู้นำยุคนั้นคือ “นายกจอมพล ป.” ครูเบญจมินทร์ จึงได้รับฉายาว่าเป็น “ราชาเพลงรำวง” ตัวจริง

ยุคต่อมาในช่วงปี ๒๕๐๗ วงการเพลงได้แตกแขนงแบ่งประเภทเกิดขึ้น เป็นแนวเพลง “ลูกกรุง” และเพลง “ลูกทุ่ง” เพลงแนวลูกกรุงบางส่วนก็รับเอาจังหวะใหม่ ๆ จากตะวันตกหรือเพลงสากลมาใช้ เช่นจังหวะเต้นรำบอลรูม คือ จังหวะ แทงโก้ รุมบ้า ชะชะช่า ออฟบิท บั้มอโกโก้ โซล ฯลฯ

แต่แนวเพลงลูกทุ่งก็ยังเป็นที่นิยมจังหวะรำวงอยู่ มีนักร้องรุ่นที่สืบทอดจังหวะรำวงเช่น เพลิน พรมแดน” “กุศล กมลสิงห์” “นิยมมารยาท เป็นต้น

ส่วนเพลงรำโทนพื้นเมืองของอีสานก็เปลี่ยนมาเรียกว่าเพลงรำวงเช่นกัน จนพัฒนามาเป็นเพลงลูกทุ่ง และรับเอาจังหวะสากลใหม่ ๆ มาใช้เหมือนเพลงลูกทุ่งทั่วไป โดยเฉพาะจังหวะช่าช่าช่า ของต่างประเทศ คนไทยได้กลืนเอามาเป็นจังหวะของไทยเรียกว่าจังหวะ “๓ ช่า” เป็นที่นิยมจนลืมจังหวะ “รำวง” ของไทยแท้ ๆ ไปเกือบหมด

เพลงรำโทน รำวงพื้นเมืองของภาคอีสานก็พัฒนาจนเป็นแนวเพลง ลูกทุ่งอีสานในปัจจุบันนี้


ขอบคุณภาพจาก https://sites.google.com/site/ajanthus/ra-thon

Related Posts

พระไม้…ลมหายใจคนไทยอีสาน (๑)
ต้นงิ้ว กามารมณ์ และการลงทัณฑ์
ฮูปแต้มวัดไชยศรี
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com