“เมืองเลยฉันรักเธอ”
เสียงแผ่นดิน สื่อสารสุขไทเลย
จังหวัดเลยเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อในเรื่องของแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติภูเขาป่าไม้ที่สวยงามและยังเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศให้หมุนเวียนกันเข้ามาเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเลยอย่างไม่ขาดสาย
แต่ใครจะไปคิดว่าภูเขาป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติที่ชาวเมืองเลยต้องการอนุรักษ์ไว้ให้อยู่คู่คนเมืองเลยไปนาน ๆ กลับเป็นที่หมายตาของเหล่านายทุนที่จะเข้ามากว้านซื้อและทำลายพื้นป่าเพื่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งการมีอยู่ของเหมืองแร่นั้นไม่ได้ช่วยให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเลย แต่กลับทำลายธรรมชาติ แหล่งอาหารและความเป็นอยู่ของชาวบ้านจนหมดสิ้น
ปริพนธ์ วัฒนขำ หรือครูไฝ หัวหน้าโครงการสปาร์คยู “เสียงแผ่นดิน สื่อสารสุขไทเลย” ภายใต้แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงพาเด็ก ๆ เยาวชนลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูล และเรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุนชนทั้ง ๓ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการปนเปื้อนของสารพิษที่เกิดจากการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ได้แก่ ชุมชนบ้านห้วยม่วง อ.เมือง ชุมชนบ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง และชุมชนบ้านอุมุง อ.เชียงคาน เพื่อให้เยาวชนนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาสะท้อนผ่านรูปแบบของหนังสั้น ภาพยนตร์และภาพถ่าย ที่มีทั้งมุมมองสะเทือนใจและมุมมองของความสุขของคนในชุมชนที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของพื้นที่ ให้เผยแพร่ออกไปสู่สาธารณะเพื่อสื่อสารให้คนไทเลยได้ตะหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยกัน โดยภายหลังการลงเรียนรู้พื้นที่ได้นำเสนอข้อมูลที่พบเพื่อให้คนเมืองเลยและนักท่องเที่ยวได้รับรู้ ณ ถนนคนเดินตลาดเลาะเลยเพื่อหวังว่าเสียงเล็ก ๆ ของพวกเขาจะทะลุถึงหัวใจคนฟังบ้าง โดยงานวันนั้นมี กิตติคุณ บุตรคุณ นายอำเภอเมืองเลยเป็นประธานในการเปิดงาน และรับฟังเสียงของพวกเขา
“เยาวชนได้ไปลงพื้นที่และได้เรียนรู้ชุมชนในมิติที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน แล้วเขาก็สะเทือนใจในมุมที่นึกไม่ถึงว่า ในเมืองเลยจะมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากมายขนาดนี้ ” ปริพนธ์ วัฒนขำ กล่าว
จากการลงพื้นที่สำรวจของครูปริพนธ์และกลุ่มเด็ก ๆ เยาวชนก่อการดี พบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับทั้ง ๓ พื้นที่จะเป็นปัญหาคล้าย ๆ กันในเรื่องของผลกระทบจากสารพิษที่กระทบแหล่งอาหาร ป่าไม้ แหล่งน้ำของคนในชุมชน อาทิ เช่น บ้านนาหนองบง เป็นพื้นที่ที่สามารถต่อต้านเหมืองแร่ออกไปได้สำเร็จ แต่ไร่นาข้าว พื้นที่ไร่สวน พืชผักที่ปลูกไว้ไม่สามารถรับประทานได้เนื่องจากผลกระทบที่มาจากเหมืองแร่ทำให้ไร่นาที่อยู่ใกล้ ได้รับสารพิษที่ไหลมากับน้ำที่มาจากเหมือง ทำให้น้ำในไร่นามีสีน้ำตาลเหลือง ทำให้คนในชุมชนไม่กล้านำข้าวที่ปลูกไว้มารับประทาน
ด้านกลุ่มเยาวชนก่อการดี แรก ๆ พวกเขาก็รู้สึกหวั่นและเกิดคำถามในใจขึ้นมาว่า เสียงเล็ก ๆ ของพวกเขาจะสามารถทำเรื่องใหญ่ขนาดนี้ได้หรือ? หลังจากพวกเขาลงพื้นที่ไปรับรู้ปัญหาจากปากของคนทั้ง ๓ ชุมชนด้วยตนเองทำให้พวกเขาได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพื้นที่และคนในชุมชนบ้าง และเกิดคำถามว่าทำไมเมืองเลยที่ขึ้นชื่อในเรื่องเมืองท่องเที่ยวด้านธรรมชาติ กลับมีนายทุนที่หวังจะเข้ามาทำลายธรรมชาติบ้านเมืองเรา จึงอยากมาช่วยกันรณรงค์เป็นกระบอกเสียงในการช่วยเผยแพร่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนให้คนภายนอกได้รับรู้
“จากครั้งแรกที่คิดว่าเสียงเล็ก ๆ ของพวกเราจะสามารถทำได้หรือ? มันเป็นเรื่องที่ยากและเกิดกับตัวเรา เราจะสามารถชักจูงคนที่คิดต่างให้หันมาเข้าใจเราได้หรือ? พอไปเห็นปัญหาสามารถนำมาบอกกล่าวเล่าต่อได้ พบปัญหาทรัพยากรที่เคยมีในหมู่บ้านที่เคยมีมันหายไปอยากรักษาสิ่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในหมู่บ้านไว้ให้รู้ว่าหมู่บ้านเรายังมีดี” ปิ่นเพชร ศรีสุรัง กลุ่มเยาวชนก่อการดีกล่าว
***
อ่านเรื่อง “เมืองเลยฉันรักเธอ” เสียงแผ่นดิน สื่อสารสุขไทเลย ฉบับเต็มได้ในคอลัมน์ “ปลุกใจเมืองอีสานบ้านเฮา”
นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๑๐๕ เดือนมกราคม ๒๕๖๔