เมื่อนักเดินทางมาถึง เมืองพยัคฆภูมิพิสัย (นาข่า)


เมื่อนักเดินทางมาถึง เมืองพยัคฆภูมิพิสัย (นาข่า)

ภายหลังจากตั้งเมืองพยัคฆภูมิพิสัยได้ 5 ปี ตามบันทึกการเดินทางของ เอเจียน แอมอนิเย (Etienne Aymonier) ตรงกับ พ.ศ.2427 เขาได้เดินทางเข้ามายังเมืองพยัคฆภูมิพิสัย ขณะนั้นเมืองพยัคฆภูมิพิสัยยังไม่
ได้โยกย้ายไปตั้งที่บ้านปะหลานซึ่งเป็นสถานที่ในปัจจุบัน สถานภาพของความเป็นเมืองยังคงตั้งอยู่บ้านนาข่า เราทราบได้อย่างแน่ชัดจากข้อความตอนหนึ่งในบันทึกของเขา ความว่า “เมืองพยัคฆภูมิพิสัยแต่ก่อนคือบ้านนาข่า”1

1 เอเจียน แอมอนิเย (เขียน) ทองสมุทร โดเร และ สมหมาย เปรมจิตต์ (แปล). “บันทึกการเดินทางในลาวภาคสอง พ.ศ.2440.” สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทบวงมหาวิทยาลัย ตุลาคม พุทธศักราช2541, หน้า 51.

เอเจียน แอมอนิเย นักสำรวจชาวฝรั่งเศส เดินทางเข้ามาสำรวจหาโบราณสถานและจารึกในหัวเมืองทางภาคอีสาน ในหนังสือ “Angkor : An Introduction” ที่เขียนโดย ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Cedes) ระบุว่า “เขาเป็นผู้คัดลอกศิลาจารึกภาษาสันสกฤตและภาษาเขมรลงในกระดาษมากถึง 350 ชิ้น”2 ในหนังสือดังกล่าวยังระบุอีกว่า จากการคัดลอกจารึกแล้วเขายังมีหนังสือชื่อ “กัมพูชา (Cambodge)” ถึง
3 เล่ม ได้รับการตีพิมพ์ใน ค.ศ.1900, 1901 และ 1903 ตามลำดับ3

2ยอร์ช เซเดส์ (เขียน) ปรานี วงษ์เทศ (แปล). “เมืองพระนคร นครวัดนครธม นครธม (Angkor : An Introduction).” กรุงเทพฯ ; มติชน : 2545, หน้า 20.
3 เพิ่งอ้าง, หน้าเดิม.

ในการเดินทางสำรวจตรวจหาโบราณวัตถุสถานของเอเจียน แอมอนิเย เขาได้เดินทางเข้ามาพำนักที่เมืองพยัคฆภูมิพิสัยเป็นเวลา 2 วัน (ขณะนั้นยังตั้งอยู่ที่ชุมชนบ้านนาข่าดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น)

ภายในระยะเวลาเพียง 2 วันนี้ เขาได้บันทึกและบอกเล่าเรื่องราวสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในเมืองพยัคฆภูมิพิสัยในขณะนั้นไว้ได้อย่างดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นประเพณี วัฒนธรรม วิถีความเป็นอยู่ของชาวเมือง ระบบการบริหารราชการของเมืองพยัคฆภูมิพิสัย การทำมาหากินของชาวเมือง การเกษตรแบบยังชีพ หรือแม้กระทั่งความเชื่อมโยงกันระหว่างเมืองพยัคฆภูมิพิสัยกับเมืองสุวรรณภูมิซึ่งเป็นเมืองแม่ เมืองพยัคฆภูมิพิสัยได้ทำราชการขึ้นตรงอีกด้วย

ดังนั้น ผู้เขียนขอเสนอทัศนคติและความเห็น รวมทั้งเล่าเรื่องราวจากบันทึกของชาวฝรั่งเศสผู้นี้เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาและข้อถกเถียง อันเป็นสิ่งที่จะนำเราไปสู่ข้อสรุปที่ดีกว่า

เอเจียน แอมอนิเย จดบันทึกเกี่ยวกับการเดินทางเมื่อเขามาถึงเมืองพยัคฆภูมิพิสัยไว้ว่า

“วันพุธ ที่ 30 มกราคม พวกผมพากันเดินทางออกจากบ้านกลางไป โดยปล่อยให้เกวียนเดินทางตามไปอย่างช้า ๆ ส่วนเส้นทางนั้นจะเต็มไปด้วยดินทราย ภายใต้ป่าละเมาะผมแลเห็นเตาหลอมเหล็กก่อนจะมาถึงระดับบ้านหนองจาน (Ban Nong Chan) ซึ่งเป็นหมู่บ้านใหญ่มีกระท่อมอยู่ 200 หลัง ทางด้านขวา และมีป่า
ผลไม้มากมาย ซึ่งพวกเราผ่านหมู่บ้านดังกล่าวและผ่านหมู่ป่าละเมาะอีก เวลา 07.30 น. จึงพากันหยุดพักที่เมืองพยัคฆภูมิพิสัย”4

4เอเจียน แอมอนิเย (เขียน) ทองสมุทร โดเร และสมหมาย เปรมจิตต์ (แปล). “บันทึกการเดินทางในลาว
ภาคสอง พ.ศ.๒๔๔๐.” สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทบวงมหาวิทยาลัย ตุลาคม พุทธศักราช
๒๕๔๑, หน้า ๕๐.

จากข้อความดังกล่าว ทำให้เราทราบว่า แอมอนิเยเดินทางมาถึงเมืองพยัคฆภูมิพิสัย (ชุมชนบ้านนาข่า) เวลา 07.30 น. วันพุธที่ 30 มกราคม และในระหว่างทางก่อนที่เขาจะมาถึงเมืองพยัคฆภูมิพิสัย เขาได้เดินทางผ่านบ้านหนองจาน

เหตุการณ์ในตอนนี้ที่มีน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้เราเห็นสภาพชุมชนของบ้านหนองจานเมื่อ 130 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นชุมชนที่มีผ้คนอาศัยอยู่มากถึง 200 หลังคาเรือนน่าจะสอดคล้องกับการแยกตัวออกไปตั้งเป็นหมู่บ้านต่าง ๆ ในเวลาต่อมา

ปัจจุบันนี้ในเขตพื้นที่การปกครองของตำบลนาข่า หรือตำบลข้างเคียง ไม่ปรากฏชื่อหมู่บ้านนี้ จะมีก็แต่ “บ้านวังจาน” หมู่ที่ 4 ตำบลนาข่า อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม

บ้านวังจานแต่เดิมหมายความรวมถึง บ้านวังจาน หมู่ที่ 4 บ้านวังใหม่ หมู่ที่ 13 บ้านวังเหนือ หมู่ที่ 16 ตำบลนาข่า และบ้านโนนสำราญ หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านหวาย

หมู่บ้านเหล่านี้เพิ่งมีสถานะเป็นหมู่บ้านโดยการแยกตัวออกมาจากบ้านวังจานเมื่อไม่นานนี้ เนื่องจากบ้านนาข่าได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นตำบล และเพื่อความสะดวกในการดูแลเขตพื้นที่ให้มีความทั่วถึงของทางราชการ

ชุมชนบ้านวังจานมีจำนวนประชากรอาศัยอยู่มาก ตัวเลขที่เรามีอย่างน้อย ๆ ก็ราว ๆ 200 หลังคาเรือนตามที่แอมอนิเยได้บอกไว้ใน พ.ศ.2427

สาเหตุที่ “บ้านหนองจาน” กลายมาเป็น“บ้านวังจาน” เราสามารถที่จะสืบสาวราวเรื่องได้ว่า คำว่า “วัง” ในภาษาอีสานมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “หนอง” หมายถึงบริเวณที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ การเรียกของชาวบ้านระหว่างคำว่า “หนอง” และคำว่า “วัง” น่าจะไม่แตกต่างกันมากนัก หรือความหมายแทบจะเป็นความหมายเดียวกัน นี้จึงน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คำว่า “หนองจาน” กลายมาเป็น “วังจาน” ในปัจจุบัน อันมีความหมายว่า สถานที่ที่ซึ่งเป็นอ่างกักเก็บน้ำ ที่ซึ่งมีต้นจานเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้นชาวบ้านจึงเรียกบริเวณดังกล่าวว่า “หนองจาน” หรือ “วังจาน” ในเวลาต่อมา

เมื่อแอมอนิเยเข้ามาถึงเมืองพยัคฆภูมิพิสัยที่บ้านนาข่าแล้ว ตามบันทึกของเขาบอกว่ามีกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ประจำเมืองนามว่า “เมืองจัน”5 ออกมาต้อนรับ และเชื้อเชิญให้แอมอนิเยพักพิงอยู่ในเมืองเป็นเวลา 2 วัน เพราะชาวบ้านกำลังอยู่ในช่วงทำบุญ “บุญข้าวจี่ (ในปัจจุบันกลายเป็นบุญประจำตำบลนาข่า)” ข้อความในบันทึกการเดินทางดังกล่าวเล่าถึงเหตุการณ์ในบุญข้าวจี่ไว้ว่า

5เมืองจัน โดยปกติแล้วยังมีหน้าที่ออกหนังสือเดินทางแก่ราษฎรที่จะไปมายังเขตแขวงต่าง ๆ ด้วย รายงานใบบอกข่าวสารบ้านเมือง เป็นตุลาการตัดสินคดีของราษฎร หากคู่ความไม่ยินยอมกัน อุทธรณ์ ฎีกา ไปยังคณะอาญา ๔ ได้ ดูแลว่ากล่าวบังคับลูกบ้านหลานเมืองระงับทุกข์บำรุงสุขของพลเมือง ดูแลกิจการทั่วไป

“ผมได้รับการต้อนรับจากเมืองจัน (Moeuong Chan) ซึ่งเป็นคนแก่ที่มีอายุ 77 ปี แบบอ่อนน้อมพินอบพิเทา อารีอารอบดี เขาได้จัดให้ผมอยู่ที่ศาลาเล็ก ๆ แต่มุงบังดีและขอให้ผมพักอยู่ที่นี้ 2 วัน เพราะชาวบ้านกำลังทำบุญอยู่ พวกผู้หญิงที่ผมได้เห็นในวันนั้น ก็แต่งตัวสดใสสวยงามดี แต่ก็ยังนุ่งผ้าซิ่นสีขาวของพวกคนลาว แต่ทว่าก็มีการตัดผม ห่มผ้าเฉวียงบ่าสีแดง สีน้ำเงิน หรือสีม่วง แต่ไม่ใช้สีเหลืองเหมือนพวกผู้หญิงลาวในภาคตะวันออก ซึ่งจะเป็นที่สังเกตได้ว่า พวกเรากำลังขยับเข้าใกล้เขตภาคพื้นสยาม วันนี้พวกผู้หญิงได้พากันมาฟังเทศน์ที่วัด และพวกเขาจะทำการถวายข้าวจี่ทาด้วยไข่ในวันรุ่งขึ้น”

บันทึกตอนนี้ นอกจากจะให้ภาพของประเพณีและวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นแล้วยังเป็นหลักฐานที่สำคัญอีกด้วย กล่าวคืออย่างน้อย ๆ ข้อความในบันทึกตอนนี้ก็ทำให้เราทราบว่าชาวบ้านได้ทำพิธีบุญข้าวจี่มาแล้วอย่างน้อย130 กว่าปี

นอกจากนี้ บันทึกดังกล่าวยังได้บอกเล่าถึงการบริหารและการปกครองภายในเมืองพยัคฆภูมิพิสัย ซึ่งเป็นระบบการปกครองแบบ “อาญา 4” ตามแบบของลาว เราทราบได้จากข้อที่แอมอนิเยบันทึกไว้ว่า

“เมืองพยัคฆภูมิพิสัยแต่ก่อนคือบ้านนาข่าเพิ่งได้สถาปนาขึ้นเป็นเมืองเมื่อ 8 ปีก่อน (ประมาณ 1876) โดยบุตรชายคนโตของเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ซึ่งเพิ่งได้เสียชีวิตไป เขาได้รับยศเป็นเจ้าเมืองมาได้ 5 ปี อุปราชและราชวงศ์เป็นน้องชายของเขาแต่ไม่มีราชบุตร นอกจากขุนนาง 3 คนนี้แล้วยังมี เมืองแสน เมืองจัน เมือง
ขวา เมืองซ้าย ซึ่งทั้งสองคนสุดท้ายนี้ ก็เป็นหัวหน้าศาล ต่ำกว่านี้ลงมามี ซานน ซาเนต พันนา ไผ่ลุ่ม”

เอเจียน แอมอนิเย เป็นนักเดินทางที่ใส่ใจในรายละเอียดทุก ๆ มิติของกลุ่มคนวัฒนธรรมลาว เราเห็นได้จากการจดบันทึกการประกอบอาชีพของชาวบ้าน ซึ่งเรื่องเหล่านี้นับว่าเป็นเรื่องพื้นฐานในระดับการใช้ชีวิตของผู้คน เขาบอกเล่าภาพการทำมาหากินของชาวบ้านที่เมืองพยัคฆภูมิพิสัยไว้ว่า

“พวกชาวบ้านมีอาชีพทำนาและทำการผลิตเกลือ ส่วนข้าวไม่ค่อยขาดแคลนเท่าใดนักแต่ไม่มีปลา ไม่มีตลาด แต่ก็หาซื้อเป็ด ไก่ และหมูได้ง่าย”7

7 เพิ่งอ้าง, หน้าเดิม. “จากบันทึกของเอเจียน แอมอนิเย เมื่อสอบทานกับ พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ปฐม คะเนจร) แล้วจะเห็นได้ว่า ปีที่ เอเจียน แอมอนิเย เดินเข้ามาในเมืองพยัคฆภูมิพิสัยนั้นตรงกับปี 2427 และบอกว่าเจ้าเมืองครองเมืองได้ 5 ปี แต่ตามพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานแล้ว พระศรีสุวรรณวงศา (ไม่ระบุนามเดิมแต่น่าจะเป็นท้าวขัตติย) ถึงแก่กรรมในปี 2431 ห่างกัน 4 ปี เข้าใจว่า เอเจียน แอมอนิเย จดคลาดเคลื่อน”

การประกอบอาชีพของชาวบ้านนับว่าเป็นการเกษตรเพื่อยังชีพโดยแท้ ไม่เน้นในเชิงการค้าเพื่อกำไร ที่จะต้องผลิตในปริมาณมากเพื่อป้อนต่อความต้องการของผู้คนในจำนวนมาก

ชาวบ้านในเมืองพยัคฆภูมิพิสัยส่วนใหญ่ทำอาชีพการเกษตร การผลิตเกลือ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่สูง น้ำท่วมไม่ถึง และพื้นที่โดยรอบของหมู่บ้านเป็นท้องนา เหมาะแก่การทำการเกษตรโดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าว

ปัจจุบันมีพื้นที่ทำการเกษตรโดยประมาณ ๒๓,๘๙๐ ไร่ พื้นที่ทำนา ๒๐,๐๐๐ ไร่ พื้นที่ปลูกพืชไร่ ๓,๐๐๐ ไร่ ประเภทพืชที่นิยมปลูกได้แก่ข้าว ไม้ยืนต้นที่นิยมปลูก มะม่วง น้อยหน่า มะพร้าว มะนาว พืชผักที่นิยมปลูก ต้นหอม กระเทียม ผักกาด ผักชี ต้นยาสูบ ข่า ตะไคร้ พริก ถั่วต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์ มีการทำการประมงน้ำจืด นั้นก็คือการเลี้ยงปลา การเลี้ยงปลาจะเลี้ยงในไร่นา และแหล่งน้ำอื่น ๆ เป็นส่วนใหญ่ มีการเลี้ยงในบ่อบ้าง แต่ไม่มาก ส่วนสัตว์อื่น ๆ ได้แก่ โค กระบือ สุกร สัตว์น้ำ ได้แก่ ปลา และสัตว์ปีก ได้แก่ ไก่ เป็ด เป็นต้น

ในระยะเวลาเพียงแค่ 2 วัน ที่เขาพำนักอยู่ในเมืองพยัคฆภูมิพิสัย เหตุการณ์หนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ การเดินทางไปที่กู่สันตรัตน์ ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่เขตของอำเภอนาดูน

ในอำเภอนาดูนมีกู่อยู่ 2 แห่ง คือ “กู่สันตรัตน์ใหญ่” และ “กู่สันตรัตน์น้อย”อยู่ห่างกันประมาณ 500 เมตร ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาที

การเดินทางไปยังกู่ของแอมอนิเย บอกว่าได้หยุดพักรับประทานอาหารที่ “บ้านหนองป้าน” จากนั้น จึงออกเดินทางต่อโดยมีเป้าหมายคือ การไปเที่ยวชมและศึกษากู่สันตรัตน์โบราณสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ข้อความในบันทึกระบุว่า

“วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม สไรคนแปลว่าภาษาของผม ได้ไปเที่ยวศึกษาดูซากวัตถุโบราณอยู่ทางทิศใต้ของเมืองพยัคฆภูมิพิสัย โดยเดินทางเท้าไปและได้ข้ามทุ่งนา ป่าละเมาะ และผ่านติดต่อกันไปที่ด้านขวาคือ หนองกาง หนองไท หนองหาง (Nong Kang, Nong Thai, Nong Hang) ซึ่งพอถึงท้ายฤดูฝน น้ำก็จะแห้งหมด สไรได้หยุดพักรับประทานอาหารที่บ้านหนองป้าน (Ban Nong Pan) มีวัดและกระท่อมที่เป็นของ
คนลาวอยู่ 30 หลัง โดยมากชาวบ้านจะทำนาและต้มเกลือ สไรได้ไปอาบน้ำที่กุดลม (Kut Lom) พอเลยเวลาบ่าย สไรไปหยุดพักที่บ้านกู่แสนตราด (Ban Kou Sen Talat) ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีกระท่อมอยู่ 20 กว่าหลัง มีซากโบราณกู่แสนตราดใหญ่ (Ban Kou Sen Talat Nhai) กู่นั้นจะอยู่ห่างจากหมู่บ้านไป 10 นาที โดยไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ และมีซากโบราณวัตถุกู่แสนตลาดน้อย (Ban Kou Sen Talat Noi) อยู่ห่างจากกู่แสนตลาดใหญ่ไปทางทิศใต้ 20 นาที พอเวลาประมาณบ่ายสามโมง สไรก็เดินทางกลับเมืองพยัคฆภูมิพิสัย และมาถึงที่นี่ในเวลา 1 ทุ่ม”

วันต่อมาซึ่งตรงกับ วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ แอมอนิเย และผู้ติดตามออกเดินทางจากเมืองพยัคฆภูมิพิสัยเพื่อที่จะเดินทางไปต่อยังเมืองพุทไธสง แต่ในวันนั้นแอมอนิเย ก็ไม่สามารถเดินทางไปยังเมืองพุทไธสงได้สะดวกมากนักเนื่องจากในตอนเช้าเกิดฝนตก จึงทำให้การเดินทางออกจากเมืองพยัคฆภูมิพิสัย (บ้านนาข่า) ช้า
ลง กล่าวคือต้องออกเดินทางในตอนเที่ยง ความในบันทึกบอกว่า

“วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ ตั้งแต่เช้ามืด ก็มีฝนตกหนักพอสมควร พอถึงเวลาเที่ยงฝนก็หยุดตก แล้วพวกเราก็พากันเดินทางออกจากเมืองพยัคฆภูมิพิสัย โดยใช้เกวียนเทียมวัวของพวกเรา พากันเดินทางอย่างช้า ๆ มุ่งไปทางทิศตะวันตกแล้วผ่านป่าละเมาะมากมายโดยจะสลับกับทุ่งนาเป็นระยะ”

เอเจียน แอมอนิเย ใช้เวลาอยู่ในเมืองพยัคฆภูมิพิสัยเป็นเวลา 2 วัน ตามที่เมืองจันขอกล่าวคือ นับตั้งแต่ วันพุธที่ 30 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่เดินทางมาถึง (เวลา 07.30 น.) ไปจนถึงวันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งออกเดินทางออกจากเมืองพยัคฆภูมิพิสัยในเวลาเที่ยง (12.00 น.) ซึ่งเข้าใจว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ชาวบ้านกำลังทำ “บุญข้าวจี่” อยู่

อย่างไรก็ตาม การเดินทางเข้ามาของเขานับว่ามีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (Local history) เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีศึกษาของ “บ้านนาข่าสถานที่ตั้งเมืองพยัคฆภูมิพิสัยในระยะแรกเริ่ม” บันทึกดังกล่าวให้รายละเอียดที่สำคัญในหลาย ๆ สิ่ง หลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นบุญเดือนสามซึ่งเป็นบุญประจำาตำบลนาข่าในปัจจุบัน (บุญข้าวจี่) ความเป็นอยู่ของชาวเมือง การใช้ชีวิตที่พึ่งพาระบบการเกษตร การปกครองโดยระบบอาญาสี่แบบลาว สภาพการเดินทางไปยังเมืองและชุมชนต่าง ๆ ข้างเคียง

 

ดังนั้น บันทึกการเดินทางในลาว (Voyage dans le Laos) ของเอเจียน แอมอนิเย จึงทำให้ภาพอดีตของเมืองพยัคฆภูมิพิสัย ณ บ้านนาข่า ฟื้นคืนมามีชีวิตอีกครั้ง ผ่านตัวหนังสือซึ่งเป็นตัวแทนภาพและเรื่องราวที่เขาได้พบเห็นเมื่อ 130 กว่าปีที่ผ่านมา




“บันทึกการเดินทางในลาว ภาคสอง ๒๔๔๐” ของ เอเจียน แอมอนิเย ทองสมุทร โดเร และสมหมาย เปรม
จิตต์ (แปล) จัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๑ โดยสถาบันวิจัยสังคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Related Posts

มะอื่อสูง… สวัสดีปีใหม่ (๕)
ผลงานของซาตานโรงงานผลิตเม็ดเงิน
ลมหายใจแห่งอดีตที่ “นราธิวาส-เบตง”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com