เสี่ยดำ (คนขายเกิบ)
ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๓ ปีที่ ๒ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: เฮาอยู่ยะลา
Column: Esan natives in Yala
ผู้เขียน: สฤษดิ์ ผาอาจ : เรื่องและภาพ
[๑]
จากเด็กหนุ่มอีสานบ้านนอก ร่อนเร่ไปเป็นกรรมกรในโรงงานน้ำตาลทรายแดงที่ภาคตะวันออก โชคชะตาฟ้าลิขิตให้เดินทางไกลไปจนสุดปลายด้ามขวาน อาศัยความขยัน หมั่นเพียร มุ่งมั่น ใฝ่เรียนรู้ ประหยัด อดทน อัธยาศัยดี มีความอ่อนน้อมถ่อมตน
วันนี้ เขากลายเป็นเจ้าของกิจการร้านขายรองเท้าแฟชั่นร้านใหญ่เป็นลำดับต้น ๆ กลางเมืองยะลา
“บ้านเฮาอยู่อำเภอศิลาลาด ศรีสะเกษกั้นเอ้งพุ่นล่ะ…” ‘ดำ’ หรือ เกษา ทองสุทธิ์ บอกเล่าเรื่องราวของเขา
“จบปอหกได้สี่ห้าปี เฮาไปเป็นกรรมกรเหยียบอ้อยเฮ็ดน้ำตาลทรายแดง…” โรงงานทำน้ำตาลทรายแดงที่ดำไปรับจ้างอยู่ที่จังหวัดชลบุรี
เขาเป็นกรรมกรในโรงงานแห่งนั้นได้สี่ห้าปี มีญาติผู้พี่คนหนึ่งชักชวนให้ล่องใต้ พี่คนนี้เคยเป็นข้าราชการครู แต่ลาออกเพราะมีปัญหาส่วนตัวบางอย่าง
ดำตัดสินใจตามพี่ลงไปอยู่ยะลา ปีนั้นคือ พ.ศ. ๒๕๓๒
“ตอนนั้นเมืองยะลาสงบเงียบกว่านี้ โจรอยู่แต่ในป่า ไม่อยู่ในเมืองเหมือนทุกวันนี้” เขาบอก
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ผมทำงานอยู่ที่สถานีอนามัยกลางหุบเขา ติดเขตชายแดนไทย-มาเลเซีย คือ สถานีอนามัยบ้านศรีนคร ตำบลธารโต อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ช่วงนั้น ‘โจร’ ที่ดำพูดถึงคือขบวนการโจรก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน (ขจก.) อย่างพูโลหรือบีอาร์เอ็น
“ใช่แล้วเพื่อน…” ผมเออออกับดำ “ผมเกือบได้เหยียบกับระเบิดของพวกนั้นคือกัน…”
วันที่พูดคุยกัน ผมกับดำนั่งกินลาบอยู่ที่ร้าน ‘แซปอีสาน’ เขาสนใจเรื่องที่ผมเฉียดตายจากการเหยียบกับระเบิด บอกผมว่าช่วยเล่าให้ฟังหน่อย
ช่วงที่ดำย้ายลงไปอยู่ยะลา ผมเองเพิ่งทำงานเป็นหมออนามัยได้สามปี สถานีอนามัยซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาห่างจากตัวอำเภอธารโตลึกเข้าไปในเขตเทือกเขาสันกาลาคีรี
กว่าจะถึงสถานีอนามัยต้องผ่านเส้นทางคดเคี้ยว ขึ้นเขา ลงห้วย ไปตามถนนดินแดงอีกสิบกิโลเมตร
เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่มีสองคนคือผมกับพี่พยาบาลผู้หญิง แต่บ้านพักมีอยู่หลังเดียว ผมจึงไปอาศัยบ้านพักครูที่ตั้งอยู่ด้านหน้าสถานีอนามัย
บ้านพักครูมีห้าหลัง มีครูพักอยู่แล้วสองหลังสามหลังที่เหลือยกให้ทหารพรานและผมพัก
หลังบ้านพักครูเป็นลำคลองคดเคี้ยวไหลล่องลงมาจากภูเขาที่ทอดทะมึนสลับซับซ้อนกั้นเขตแดนไทย-มาเลเซีย
ยามเย็นช่วงแดดร่มลมตก ผมมักนั่งดื่มด่ำรสชาติสุรา ‘แม่โขง’ ฟังเสียงน้ำไหลกระทบโขดหินซ่า ๆ กับพี่หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ ๔๒ คือ พ.ท.เดชา กิ่งวงษา ผมเรียกแกว่า ‘พี่ปุ๋ย’
พอได้ที่สักหน่อย พี่ปุ๋ยมักเล่าเรื่องราวสมัยยังเด็กให้ผมฟังว่าเวลาตัวเองดื้อ แม่มักโยนความผิดให้พ่อว่า ‘ได้แนวพ่อมันนั่นล่ะ’ ฝ่ายพ่อก็จะบอกว่า ‘มันเป็นนำซุมเจ้านั่นล่ะ’
เล่าแล้วหัวเราะเสียงดัง ปัจจุบันนี้ผมได้ข่าวว่าพี่ปุ๋ยได้ครองยศนายพล และขยับขึ้นเป็นรองแม่ทัพภาคที่ ๔ ได้สองสามปีแล้ว
วันนั้นเป็นวันเสาร์ มีชาวบ้านห้าหกคนมาหาทหารพรานที่หน่วย บอกว่าให้ช่วยไปตามหาเพื่อนบ้านหน่อย พวกเขาสามคนไปหาล่าสัตว์บนภูเขาสามวันแล้วยังไม่กลับ เป็นตายร้ายดีอย่างไรไม่รู้
ผมรู้จักชาวบ้านที่หายไปทั้งสามคนนั้นดีเพราะพวกเขาเคยเอาเนื้อหมูป่า เนื้อนกเงือก หรือแม้กระทั่งเนื้อเสือปลามาให้ผมแกล้มเหล้าอยู่บ่อย ๆ (เนื้อเสือปลาคาวมาก ขอบอก)
หมออนามัยบ้านนอกกับชาวบ้านต่างพึ่งพาอาศัยกันอยู่เสมอ
ในปี พ.ศ. นั้นป่าดงดิบเหนือเทือกเขาสันกาลาคีรียังอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ผมพบเห็นซาก ‘หัวนกเงือก’ ประดับประดาอยู่ตามผนังบ้านของชาวบ้านจนชินตา
ชาวบ้าน ‘ศรีนคร’ เป็นไทยพุทธล้วน พวกเขาอพยพมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราชมาอยู่ในเขตนิคมสร้างตนเองธารโต หลังจากพายุไต้ฝุ่นถล่มแหลมตะลุมพุกเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๕๐๕
พี่ปุ๋ยสั่งลูกน้องจัดกำลังไปช่วยชาวบ้าน แต่วันนั้นจ่าที่เป็นเสนารักษ์ลากลับไปเยี่ยมบ้านที่นครศรีธรรมราช ‘พี่เบี้ยว’ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านศรีนครหันมาหาผมแล้วแหลงใต้ ‘หมอเม่นไปกันหวา พวกผมจะได้อุ่นใจสักหีด’
แกชวนผมไปด้วยจะได้อุ่นใจสักหน่อย
ผมไม่คิดอะไรมาก แต่นึกสนุกมากกว่า เลยเดินเข้าสถานีอนามัย จัดเวชภัณฑ์ปฐมพยาบาลลงกระเป๋า ยืมรองเท้าผ้าใบและกางเกงลายพรางของทหารพรานที่เป็นเพื่อนสนิทชื่อ ‘คาลอส’ มาใส่พร้อมปืนเอ็มสิบหกหนึ่งกระบอก
เคยจับแต่เข็มฉีดยา ไม่เคยจับปืนยิงปืน เห็นแต่ในหนังกับอ่านนิยาย นึกย้อนไปแล้วยังงง ๆ อยู่ว่าตัวเองทำอย่างนั้นได้อย่างไร
ก่อนเดินตามกันออกมาจากหน่วย ‘คาลอส’ ยืนสั่นหัวแล้วพูดว่า “ถ้ามึงเป็นอะไรไป ไม่รู้กูจะจำหน่ายมึงอย่างไรดี”
“เขาอวยพรให้เพื่อนแม่นบ่” ดำว่า
“สงสัยสิเป็นแนวนั้นล่ะ”
วันนั้นพวกเราไปกันสิบสามคน เดินผ่านบริเวณโรงเรียนบ้านศรีนครที่ตั้งอยู่บนเนินเขาผ่านบ้านชาวบ้านที่ตั้งเรียงรายเป็นหลัง ๆ ทางด้านขวาด้านซ้ายมือเป็นสวนยางพาราสลับกับป่าดิบชื้นเขียวครึ้มสูงลาดขึ้นไปสุดลูกตา
หัวหน้าชุดยศสิบเอกชื่อวิโรจน์ เดินนำหน้าตามด้วยทหารพรานสองสามนายและชาวบ้านผมอยู่ในช่วงกลาง ๆ แถว ลำดับที่หกหรือเจ็ด ตามมาเป็นชาวบ้านและทหารพรานปิดท้าย
เส้นทางขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ บางช่วงต้องข้ามลำคลองที่เต็มไปด้วยก้อนหินระเกะระกะ ข้ามพ้นลำคลอง ทางเดินที่ถากถางด้วยแรงคนเริ่มสูงชันขึ้นไปเรื่อย ๆ เหงื่อแต่ละคนชุ่มแผ่นหลัง ยุงลายบินวนว่อนตอมหัวตอมหูวุ่นวายสุดรำคาญ แมลงป่ากรีดเสียงแข่งกันระงม เมื่อพวกเราผ่านเข้าไปใกล้จะเงียบลงชั่วขณะแล้วส่งเสียงแข่งกันใหม่
ผมหอบหายใจฟืดฟาด เมื่อถึงสันเขาเป็นที่ราบเสมอกันจึงค่อยยังชั่ว ไม่ต้องออกแรงดึงน้ำหนักตัวเองมากนัก
มีเพียงขอนไม้ที่พาดทับทางเดินแคบ ๆเท่านั้นที่ต้องใช้แรงเพื่อยกขาเหยียบข้ามมากหน่อย
ยิ่งสูงและลึกเข้าไปในป่าใจผมยิ่งเต้นตุ้ม ๆ ต้อม ๆ ถ้าพ่อแม่รู้ว่าผมกำลังเดินท่อม ๆ ถือปืนเอ็มสิบหกอยู่บนภูเขาแทนที่จะนั่งตรวจคนไข้บนสถานีอนามัยท่านจะรู้สึกอย่างไร และถ้ามีเสียงปืนปัง ๆ กราดมาจากราวป่า….
ทันใดนั้นเสียง ‘ตูม !!’ สนั่นก้องภูเขา หมู่วิโรจน์สั่ง “หมอบ ๆ ๆ ใครยิงลูกซอง ๆ”
มีเสียงดังมาจากด้านหลังว่า “ระเบิด ๆ พี่เกียนโดนระเบิด”
หมู่วิโรจน์สั่งผม “หมอ ๆ ไปดูหน่อยหมอ”
ใจผมเต้นระรัว เหงื่อชื้นเต็มฝ่ามือ เรี่ยวแรงไม่รู้หดหายไปไหนหมด ก้าวขาแทบไม่ออก อิพ่ออิแม่เอ้ยช่วยลูกด้วย…
“หมอ ๆ ไปดูหน่อยหมอ” หมู่วิโรจน์ย้ำ และสั่งให้ลูกทีมพาผมหมอบ ๆ คลาน ๆ ไปทางด้านหลัง
“คนที่ถูกระเบิดชื่อเกียน…” ผมบอกดำ “ตัวแกเตี้ยกว่าใครเพื่อน พวกนั้นฝังระเบิดติดกับขอนไม้ ขาแกสั้น ข้างที่ยันพื้นก่อนยกอีกข้างขึ้นเหยียบขอนเลยกดถูกระเบิดพอดี สงสัยเป็นเพราะขาเฮาขายาวกว่า เลยรอด”
“เพิ่นตายบ่” เสี่ยดำสงสัย
“บ่ตาย แต่ว่ากระดูกแตก เดินไม่ได้อยู่สองสามเดือน”
พี่เกียนใส่รองเท้าผ้าใบพื้นยางหนา ทำให้ซับเอาแรงกระแทกของระเบิดไว้ได้บ้างจึงไม่ได้รับอันตรายถึงกับชีวิต ระเบิดลูกนั้นคงมีสะเก็ดไม่มากและน้ำหนักคงมีไม่มากเช่นกัน อานุภาพการทำลายล้างจึงไม่รุนแรงนัก แต่เป็นการเตือนพวกเราว่า ‘อย่าตาม’ ชาวบ้านที่หายตัวไป
พวกเราหามพี่เกียนลงมาจากภูเขา ผมฉีดยาแก้ปวดให้แล้วยกแกขึ้นรถกระบะของหน่วยทหารพรานเพื่อส่งไปโรงพยาบาลธารโต
คาลอสเป็นคนขับ มันบอกผมว่า “มึงเห็นไหมไอ้หมอ ถ้ากูไม่อวยพรมึงก่อน กูว่ามึงโดนแน่” ผมได้แต่ยิ้มให้มัน
ถึงโรงพยาบาลธารโต สาวพยาบาลทั้งเพื่อนทั้งน้องต่างสอบถามกันวุ่นวายว่าเกิดอะไรขึ้น หมออนามัยอย่างผมกลายเป็นทหารพรานตั้งแต่เมื่อไหร่ ผมหัวเราะ อำเภอธารโตเป็นอำเภอเล็ก ๆ ข้าราชการหรือชาวบ้านร้านตลาดแทบทุกคนจะรู้จักกันหมด แม้แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ก็เถอะ
ชาวบ้านศรีนครยังไม่ละความพยายามในการตามหาคนที่หายตัวไป สองสามเดือนให้หลังมีชาวบ้านที่ขึ้นไปตามหาถูกกับระเบิดขาขาดไปหนึ่งราย
คนที่ขาขาดชื่อ ‘เตื้อน’ พวกเราเรียกแกเป็นเชิงหยอกล้อว่า ‘ผู้พันเตื้อน’ เพราะแกชอบแต่งตัวคล้ายทหาร และคุยโม้เสียงดัง วันที่แกเหยียบระเบิดผมออกไปราชการที่ตัวอำเภอธารโต กลับมาที่บ้านพักในตอนเย็น คาลอสเดินไปล้วงเอาสิ่งหนึ่งจากถุงย่ามเก่า ๆ ออกมายื่นให้ผมดู
“ตีนผู้พันเตื้อนว่ะ” มันบอกผม “ตอนนี้ตัวแกอยู่ รพ.ยะลา”
เท้าผู้พันเตื้อนหลุดออกมาเพียงข้อ เลือดสีดำแห้งเกาะเกรอะกรัง ซากเท้าซีดเซียวปนเขม่าสีดำ… เย็นวันนั้นรสชาติของแม่โขงไม่กลมกล่อมเท่าไรนัก
“แล้วชาวบ้านที่หายตัวไปล่ะเพื่อน หาพบบ่” ดำถาม
“พบอยู่ ทหารพรานเป็นคนไปพบ เหลือแต่หนังเปื่อยหุ้มกระดูก หนอนเจาะยั้วเยี้ย ตายกองกันอยู่ในฐานของพวกโจรนั่นล่ะ”
ผมทำงานอยู่ที่สถานีอนามัยศรีนครจนถึงปีพ.ศ. ๒๕๓๕ จึงได้ย้ายไปอยู่ที่สถานีอนามัยจะกว๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
ในปี พ.ศ. นั้น ดำขาย ‘ภาพโปสเตอร์’ อยู่บนฟุตบาธกลางเมืองยะลาได้สามปีแล้ว พี่คนที่ชักนำให้ดำลงมาอยู่ยะลาย้ายกลับอีสานบ้านเฮา ไปสอบบรรจุเข้ารับราชการครูใหม่อีกครั้ง ปัจจุบันญาติผู้พี่ของดำท่านนี้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์
“ช่วงเฮาขายโปสเตอร์ เฮาลำบากหลายเติบกินข้าวกับไข่ต้มเกือบทุกวัน บ้านก็เช่า ข้าวก็ซื้อ” ดำย้อนความหลัง “ยังดีที่เฮาบ่ได้จ่ายค่าเช่าที่ขายของให้กับใคร”
โปสเตอร์ที่ดำขายจะเป็นภาพต่าง ๆ ตั้งแต่ภาพดารา ภาพวิวทิวทัศน์ ภาพเด็ก ๆ ในวัยน่ารักเขาจะวางภาพโปสเตอร์เหล่านั้นบนผ้ายางที่ปูบนฟุตบาธหน้าร้านขายเสื้อผ้า
“เจ้าของร้านขายเสื้อผ้าเขาก็ไม่ว่าอะไร เขาใจดีอยู่”
ดำขายภาพโปสเตอร์อยู่สี่ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เริ่มมีเงินเก็บ เขามองเห็นลู่ทางการค้าขายสินค้าใหม่ นั่นคือเสื้อผ้าเด็กสินค้าจำพวกกิ้ปช็อป และรองเท้าแฟชั่น จากพ่อค้าแบกะดินหันมาตั้งแผงเป็นที่เป็นทาง
เขากลายเป็นเสี่ยเจ้าของอาคารพาณิชย์กลางเมืองยะลา มีทรัพย์สินมูลค่านับสิบล้านได้อย่างไร ฉบับหน้าผมจะอาสาพาท่านผู้อ่านไปรู้จักเขาให้มากขึ้นครับ